ผู้จัดการ360องศารายสัปดาห์-- ใช้เวลาไม่กี่ปีบริษัทน้ำมันของจีน สามารถคืบคลานเข้าพม่าแบบหน้ากระดานเรียงงหนึ่ง และ ปีนี้เริ่มปูพรมสำรวจและผลิตทรัพยากร ตั้งแต่ทะเลเบงกอลลงไปจนถึงอ่าวเมาะตะมะในทะเลอันดามัน เคียงไหล่บริษัทน้ำมันของไทยกับอีกหลายประเทศที่เคยเป็นเจ้าถิ่น
ปลายฝนต้นหนาวเป็นช่วงดีที่สุดในการสำรวจธรณีศาสตร์ใต้สมุทร เพราะเป็นช่วงเดือนที่ทะเลราบเรียบกว่า คลื่นใหญ่จะมาอีกทีก็ในช่วงฤดูแล้ง และจะแรงขึ้นในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
แต่สิ่งใหม่ในปีนี้ก็คือ กลุ่ม "ซีนุค" (CNOOC) หรือ China National Offshore Oil Corp เปิดประเดิมสำรวจพร้อมกัน 3 แปลงรวดในอ่าวเมาะตะมะ
นับเป็นครั้งแรกที่บริษัทน้ำมันจากจีนคืบคลานลงไปถึงอาณาบริเวณอันเป็นถิ่นของบริษัทโตตาล (TOTAL SA) จากฝรั่งเศส กับเชฟรอน (Chevron Corp) จากสหรัฐฯ และ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จากประเทศไทย
"ซีนุค" บริษัทน้ำมันใหญ่อันดับ 3 ของจีน จะลงมือสำรวจแปลง M-10 M-12 กับ M-13 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ไปจนถึงสิ้นปี ด้วยเงินทุนรวมประมาณ 40 ล้านดอลลาร์ สำนักข่าวมิสซิมานิวส์ (Mizzima News) ที่มีสำนักงานในอินเดียรายงานเรื่องนี้อ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าววงใน
ในอดีตมิสซิมาไม่เคยพลาดในข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับทรัพยากรในพม่า ซึ่งบริษัทน้ำมันและก๊าซจากอินเดียร่วมมีลประโยชน์อยู่ในนั้น และ บริษัทลูกของ ปตท.สผ. อาจช่วยยืนยันได้อีกแรงหนึ่ง
บริษัทน้ำมันของไทยก็กำลังจะสำรวจแปลง M-3 ในช่วงเดียวกันนี้ หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ของทางการได้ตีพิมพ์ประกาศของทางการที่เตือนเรือประมงในอ่าว ให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพิกัดอันเป็นอาณาบริเวณแปลงสัมปทานของบริษัทน้ำมันของไทย ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.เป็นต้นไป
ตามรายงานของสื่อทางการ แปลงสำรวจของบริษัทน้ำมันจีนทั้ง 3 แปลง อยู่ติดกับแปลง M-9 ของ ปตท.สผ. ซึ่งเมื่อปีที่แล้วได้ประกาศการพบน้ำก๊าซในบ่อเจาะทดสอบที่นั่น
ซีนุคไม่ได้มีเพียง 3 แปลงในอ่าวเมาะตะมะแค่นั้น มองภาพว้างออกไป บริษัทน้ำมันใหญ่กลุ่มนี้เป็นเจ้าของงสัมปทานแปลงสำรวจทั้งบนบกและในทะเลรวม 5 แห่งด้วยกัน
ตามตัวเลขของทางการยังมีบริษัทน้ำมันจากจีนอีก 3 แห่ง คือ ซิโนเป็ก (SINOPEC) บรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ หรือ CNPC (China National Petroleum Corporation (CNPC) กับ บริษัทชินเนอรีแอสเส็ต (Chinnery Assets) ต่างกำลังค้นหาขุมทรัพย์พลังงานอย่างเอาจริงเอาจังในพม่า ควบคุมแปลงสัมปทานรวมกัน 10 แห่ง
จนถึงวันที่ 31 มี.ค.2552 ซึ่งเป็นวันสิ้นปีงบประมาณ 2551-2552 ในพม่า จีนเข้าลงทุนในประเทศนี้รวม 1,330 ล้านดอลลาร์ เป็นการลงทุนสำรวจพลังงาน 124 ล้านดอลลาร์ ที่เหลือเป็นทุ่มทุนเข้าไปในแขนงเหมืองแร่กับการผลิตไฟฟ้ารวม 866 ล้าน
สำหรับแขนงพลังงาน นี่คือการลงทุนในขั้นตอนสำรวจเท่านั้น จะต้องใช้ทุนรอนมากกว่านี้อีกสิบเท่าตัวในขั้นตอนการผลิต ทั้งในด้าน บุคลากร เครื่องจักรเครื่องกล และเทคโนโลยี ยิ่งพบก๊าซปริมาณมากก็ยิ่งจะต้องลงทุนมากขึ้น ในการนำขึ้นมาใช้
แต่ประเด็นสำคัญก็คือ บริษัทน้ำมันของจีนสามารถผงาดขึ้นสู่แถวหน้าในแขนงผลิตพลังงานนของพม่าได้ เร็วมาก ในขณะที่โตตาลกับเชฟรอนเคลื่อนไหวอย่างระมัดระวังยิ่ง เพราะเป็นเป้าสายตาของชาวโลก ฐานเป็นบริษัทของโลกตะวันตก ที่ตกค้างอยู่ในดินแดนที่ระบอบทหารกดขี่ย่ำยีสิทธิมนุษยชนอย่างสูง ซึ่งทั้งฝรั่งเศส และสหรัฐฯ ต่างกล่าวประณาม
ส่วนบริษัทน้ำมันจากเกาหลีและอินเดีย กำลังวุ่นวาย กับแปลงสำรวจ แหล่งน้ำลึก ในทะเลเบงกอลซึ่ง อยู่ไกลออกไปจากชายฝั่ง
ปัจจุบันโตตาลถือหุ้นใหญ่ในหลุมก๊าซยาดานา (Yadana) ซึ่งอยู่ในอ่าวเมาะตะมะ เชฟรอนกับ ปต.ท.สผ. ถือหุ้นส่วนน้อยรองลงมา ก๊าซที่ผลิตได้เกือบทั้งหมดส่งจำหน่ายให้แก่ไทย เป็นมูลค่าปีละกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ โดยส่งผ่านระบบท่อที่มีความยาวกว่า 400 กม. สู่ จ.ราชบุรี
ปตท.สผ.ได้แตกตัวไปร่วมทุนกับรัฐวิสาหกิจก๊าซและน้ำมันแห่งพม่าหรือ MOGE (Myanmar Oil and Gas Enterprise) ในแปลงอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งแปลง M-9 ที่พบก๊าซนั้นด้วย
เดือน ธ.ค.2551 บริษัทน้ำมันจากจีนประสบความสำเร็จในการขอซื้อก๊าซทั้งหมดที่ผลิตจากแปลงสำรวจ A-1 กับ A-3 นอกชายฝั่งรัฐยะไข่ (Rakhine) ทั้งๆ ที่ขุมพลังงานใหญ่นี้ ค้นพบโดยกลุ่มบริษัทร่วมทุนเกาหลี-อินเดีย ที่นำโดยแดวูอินเตอร์เนชั่นแนล กับ Oil and Natural Gas Corp จากนิวเดลี
ต้นปีนี้จีนกับพม่าได้เซ็นสัญญาสร้างท่อส่งก๊าซความยาวกว่า 1,000 กม. จากริมทะเลเบงกอล ไปยังมณฑลหยุนหนัน ด้วยเงินทุนราว 3,000 ล้านดอลลาร์ พร้อมๆ กับสร้างท่อน้ำมันคู่ขนาน สำหรับการส่งน้ำมันดิบที่จีนซื้อจาจากแหล่งในตะวันออกกลางกลับประเทศ
ทั้งหลายทั้งปวงนี้ เป็นผลจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลปักกิ่ง ที่อยู่เคียงข้างพม่าทุกกรณีไป รวมทั้งช่วยปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากข้อมติใดๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่จะเป็นพิษเป็นภัยต่อความมั่นคงของระบอบทหารด้วย
นอกจากนั้นบริษัทน้ำมันจากจีน จะต้องขอบคุณโลกตะวันตกที่ปล่อยให้บริษัทน้ำมันใหญ่ ทั้งสองแห่งจาก ฝรั่งเศสและสหรัฐฯ ตกอยู่ในสภาพเป็ดง่อย ภายใต้สถานการณ์คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ.