เอเชียนวอลสตรีท – บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของจีนไชน่า เนชั่นแนล ปีโตรโตรเลียม คอร์ป(ซีเอ็นพีซี) ปฏิเสธการเกี่ยวดองกับอเมริกา ปัดข้อเสนอหุ้นส่วนในแปลงน้ำมันอ่าวเม็กซิโกของบริษัทเชฟรอน
เจ้าหน้าที่ ซีเอ็นพีซี เปิดเผยว่าในเดือนกุมภาพันธ์บริษัทเชฟรอนได้เสนอข้อมูลด้านเทคนิกของบ่อน้ำมันอ่าวน้ำลึกบิ๊กฟุต (Big Foot) ทางตอนใต้ของเมืองนิว ออลีนส์ รัฐลอสแองเจลิส พร้อมข้อเสนอให้ ซีเอ็นพีซี เข้าถือหุ้นในบ่อน้ำมันดังกล่าว 12.5 % แต่ล่าสุดทางซีเอ็นพีซีได้แสดงจุดยืนว่า บริษัทสมควรได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่านี้ หลังจากเคยอนุญาตให้เชฟรอน คอร์ป (Chevron Corp) ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับสองของสหรัฐฯ เข้าไปสำรวจขุดเจาะแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีนในมณฑลเสฉวน เมื่อปี 2550
“ตอนนี้บริษัทได้ระงับการเจรจาข้อตกลงดังกล่าวไว้ก่อน เพราะเราหวังว่าจะสามารถเข้าซื้อกรรมสิทธิ์ที่มากกว่าในข้อเสนอดังกล่าวของเชฟรอน”
โดยกลุ่มบริษัทเชฟรอนซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองซาน รามอน รัฐแคลิฟอร์เนียนั้น ถือกรรมสิทธิ์หุ้น 60 % ในบิ๊กฟุต ขณะที่บริษัท สแตททอยล์ ไฮโดร เอเอสเอ ของนอร์เวย์ และ โรยัล ดัตช์ เชลล์ พีแอลซี ถือกรรมสิทธิ์บริษัทละ 27.5 % ซึ่งการที่เชฟรอนเสนอหุ้น 12.5 % แก่ซีเอ็นพีซีนั้น จะทำให้กรรมสิทธิ์ที่ถืออยู่เหลือเพียง 47.5 %
แหล่งข่าววงในของ ซีเอ็นพีซี เผยสาเหตุที่เชฟรอนสมัครใจยื่นเสนอให้บริษัทเข้าไปมีส่วนร่วมในแปลงบิ๊กฟุต เนื่องจากในปี 2550 กลุ่มเชฟรอนได้รับสัมปทานในการเข้าพัฒนาในแปลงก๊าซฉวนตงเป่า ในมณฑลเสฉวนเป็นระยะเวลา 30 ปี ซึ่งถือเป็นดีลยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ที่สุดระหว่างบริษัทน้ำมันจีนและต่างชาติ
โดยจากข้อมูลซึ่งนำเสนอโดย พอล ซีเกล รองประธานโครงการดีฟ วอเทอร์ เอ็กโพลเรชั่น แอนด์ โปรเจคส์ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2550 ได้จัดอันดับให้แปลงบิ๊กฟุตใหญ่เป็นอันดับ 8 ของบ่อน้ำมันอ่าวน้ำลึกที่ขุดพบในอ่าวเม็กซิโก โดยมีน้ำมันมากถึง 200 ล้านบาร์เรล
อย่างไรตามนัยสำคัญที่จีนปฏิเสธโอกาสในแปลงบิ๊กฟุตของบริษัทน้ำมันสหรัฐ อาจเป็นสัญญาณว่าซีเอ็นพีซีกำลังจับตามองสินทรัพย์ที่น่าสนใจยิ่งกว่าของเชฟรอน หรือไม่ก็เป็นแหล่งน้ำมันภูมิภาคอื่นๆ ในสหรัฐฯ
ด้านนักวิเคราะห์มองว่า บริษัทน้ำมันของจีนควรเริ่มจากการเป็นหุ้นส่วนขนาดเล็กในบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของสหรัฐฯ หากจีนต้องการเข้าไปมีบทบาทในประเทศดังกล่าว
ทั้งนี้ที่ผ่านมาบรรดาบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของจีนได้รุกแสวงหาสินทรัพย์ด้านพลังงานธรรมชาติ และถือโอกาสกักตุนน้ำมันเข้าคลังสำรองในขณะที่น้ำมันราคาต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐ / บาเรลล์ในปีที่แล้ว
ทว่าข้อตกลงการค้าในภาคพลังงานของวิสาหกิจรัฐของรัฐบาลจีนที่รุกคืบเข้าไปในประเทศออสเตรเลียเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้รัฐบาลออสเตรเลียต้องเข้มงวดพร้อมเรียกร้องให้วุฒิสภาเร่งดำเนินการตรวจสอบการลงทุน ซึ่งมีมูลค่าของดีลมากกว่า 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังครอบคลุมถึงดีลของบริษัทอะลูมิเนียมรายใหญ่ของจีน “ไชนาลโค” (อะลูเนียม คอร์ป ออฟ ไชน่า) และอัลโค ผู้ผลิตเกี่ยวกับอลูมิเนียม และอลูมิเนียมแปรรูปชั้นนำระดับโลก ที่จับมือรุกซื้อหุ้นสามัญในบริษัทเหมืองแร่ “ริโอ ทินโต” เหมืองแร่รายใหญ่ในออสเตรเลีย
ฝั่งรัฐบาลต่างชาติที่ต่อต้านการขยายกิจการของจีนระบุว่า รัฐบาลจีนไม่ได้ดำเนินนโยบายการค้าต่างตอบแทน เนื่องจากบริษัทต่างชาติไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าร่วมกับธุรกิจที่รัฐบาลจีนมีส่วนในการบริหาร เช่นในกรณีที่กระทรวงพาณิชย์จีนปฏิเสธข้อเสนอเทคโอเวอร์บริษัทน้ำผลไม้ฮุ่ยหยวนของบริษัทโคคา-โคล่า จากสหรัฐฯ (18 มี.ค.) ซึ่งมีมูลค่า 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐ