xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ตีปีก! กพช.อนุมัติแผนซื้อก๊าซฯ ป้อนโรงไฟฟ้า-ความมั่นคง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปตท.ตีปีก! กพช.อนุมัติแผนซื้อก๊าซฯ ป้อนโรงไฟฟ้า ยาวถึงปี 58 โดยเห็นชอบเซ็นซื้อขายแหล่งก๊าซในพม่าแปลง M9-11 กำลังผลิตที่ 240 ล้านลบ.ฟุต/วัน หนุนความมั่นคงด้านพลังงานของไทย หลังความต้องการก๊าซฯ ของโรงไฟฟ้าโตปีละ 6% ภาคขนส่งขยายตัวปีละ 23% ผู้บริหาร ปตท. แย้มแผนลงทุนเชื่อมต่อท่อส่งก๊าซเส้นใหม่ พร้อมหาโครงการลงทุนเพิ่ม

น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยระบุว่า ที่ประชุมเห็นชอบลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแหล่งซอติก้า จากประเทศสหภาพพม่า โดยแหล่งซอติก้าตั้งอยู่ในแปลง M9 และ M11 ในอ่าวเมาะตะมะ สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติในเชิงพาณิชย์ได้ประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ซึ่งในจำนวนดังกล่าว แบ่งเป็นการจำหน่ายภายในสหภาพพม่าประมาณ 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเป็นสัญญาซื้อขายกับไทยในปริมาณที่เหลือ 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยจะพัฒนาและพร้อมผลิตได้ตั้งแต่ปี 2556 เป้นต้นไป

โดยการหารือในวันนี้ ที่ประชุมได้ถกถึงแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติระยะสั้นปี 2552-2558 โดยคาดว่า ความต้องการก๊าซฯ จะขยายตัวปีละ 6% ในอีก 7 ปีข้างหน้า เพราะแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 จะมีไฟฟ้าเข้าระบบ 6,890 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 5 โรง กำลังผลิต 3,690 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) 2 โรง กำลังผลิต 3,200 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายการใช้ก๊าซฯในภาคอุตสาหกรรมที่โตปีละ 11% และภาคขนส่ง โตปีละ 23% ขณะที่โรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 6 และโรงแยกก๊าซอีเทนของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่กำหนดเสร็จในไตรมาส 2 ปี 2553 ส่งผลให้ความต้องการก๊าซฯ เพิ่มเป็น 5,142 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2558

ส่วนความต้องการก๊าซฯ ระยะยาวตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไปนั้น ขึ้นอยู่กับแผนพีดีพีฉบับใหม่ปี 2010 ซึ่งตามแผนพีดีพีฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 คาดว่าความต้องการใช้ก๊าซฯ สิ้นปี 2564 จะอยู่ที่ 6,157 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นปีละ 3% ช่วงปี 2559-2564

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯยังเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) การรับซื้อไฟฟ้าโครงการน้ำงึม 3 จากสาธารณะรัฐประชาชนลาว ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้ง 440 เมกะวัตต์ โดยได้มอบหมายให้กฟผ.นำร่าง MOU ที่ได้รับความเห็นชอบไปลงนามร่วมกับผู้ลงทุนต่อไป

ด้านนายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ผลจากการลงนามดังกล่าว คาดว่าจะสามารถนำเข้าก๊าซฯมาใช้ในไทยได้ภายในปี 2556-2557 โดยราคาก๊าซจะอ้างอิงกับราคาสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ระหว่างพม่ากับไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ หลังจากที่ประชุม กพช.มีมติรับซื้อก๊าซฯจากแหล่ง M9 เชื่อว่าจะทำให้ความมั่นใจด้านก๊าซมั่นคงมากขึ้น โดยตอนนี้ ปตท.มีแหล่งปิโตรเลียมในพม่า 3 โครงการ นอกจากนี้ ปตท.ยังมองหาการลงทุนโครงการใหม่ๆ ในพม่าเพิ่มด้วย

อย่างไรก็ดีหากการเจรจาสำเร็จและมีการนำเข้าก๊าซฯ จากแหล่ง M9 ได้จริง จะต้องให้ ปตท. ทำการต่อเชื่อมท่อก๊าซฯ จากแหล่ง M9 ไปยังท่อก๊าซฯ แหล่งยาดานา เพื่อส่งก๊าซฯ เข้ามายังประเทศไทย ตามเส้นทางท่อก๊าซฯ ที่เชื่อมต่อกันไว้แล้วและคาดว่าจะดำเนินการเชื่อมท่อก๊าซฯ เสร็จและสามารถใช้ได้จริงประมาณปี 2554

โดยการนำเข้าก๊าซฯจากแหล่ง M9 ดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเพิ่ม หรือลดโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากการซื้อก๊าซฯจากแหล่งดังกล่าวเป็นเพียงการเสริมระบบความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศเพราะปัจจุบันก๊าซที่ไทยผลิตเองและซื้อจากต่างประเทศถือว่ามีเพียงพอต่อความต้องการใช้

นอกจากนี้ การพิจารณารับซื้อก๊าซในแหล่ง M9 ยังรองรับกรณีการปิดซ่อมบำรุงประจำปีทำให้เกิดการขาดแคลนก๊าซฯบางช่วงดังนั้นก๊าซฯ จากแหล่ง M9 จะเข้ามาช่วยเสริมระบบก๊าซฯ ของประเทศได้

มีรายงานเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม กพช.ยังได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับแผนการจัดหาก๊าซฯ ทั้งระบบเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการผลิตไฟฟ้า และเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2551-2564 (พีดีพี 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2)

อย่างไรก็ตาม การประชุม กพช.วันนี้ ยังไม่มีการพิจารณาในเรื่องราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) แต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น