xs
xsm
sm
md
lg

"วรรรณรัตน์" โยนบาป กฟผ. ปล่อยน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“วรรณรัตน์”โยนบาปให้ กฟผ. โบ้ยความเสียหายจากน้ำท่วมที่เกิดจากการปล่อยน้ำในเขื่อนศรีนครินทร์ เป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ควบคุมระบบไฟฟ้าที่กรุงเทพฯสั่งเดินเครื่องไฟฟ้า บี้กฟผ.ตั้งคณะทำงานสอบสวน และทบทวนแผนภาวะฉุกเฉินทุกเขื่อน ส่วน”ปตท.”ลอยตัว รอผลตีความสาเหตุการหยุดส่งก๊าซฯแหล่งบงกชเป็นเหตุสุดวิสัยก็ไม่ถูกปรับ

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพลังงานได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้เปิดน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เพื่อมาผลิตไฟฟ้าจนทำให้บ้านเรือนประชาชนน้ำท่วมเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา สาเหตุเกิดจากกฟผ.ขาดก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ากระทันหัน จึงต้องสั่งให้เดินโรงไฟฟ้าจากน้ำมันเตาและระบายน้ำจากเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โดยผลสอบพบว่าเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ควบคุมระบบไฟฟ้ากฟผ.ที่กรุงเทพฯ เป็นผู้พิจารณาสั่งการให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า 5 ตัวจากเขื่อนศรีนครินทร์ จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วม สร้างความเสียหายแก่ประชาชน 318 ราย

ดังนั้น ตนจึงได้สั่งการให้กฟผ.ตั้งคณะทำงานเพื่อสอบสวนในเรื่องนี้โดยเร่งด่วน ส่วนกรณีของการหยุดส่งก๊าซฯนั้นก็คงต้องไปดูรายละเอียดว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนผลกระทบต่อค่าไฟนั้นจะต้องให้เรกูเลเตอร์ไปพิจารณา โดยปริมาณก๊าซฯที่ขาดหายไปมี 3 แหล่ง คือ แหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) ซึ่งได้ทำการปิดซ่อมบำรุงตามปกติในวันที่ 9 ส.ค. ส่วนแหล่งบงกช เกิดจากท่อส่งก๊าซฯรั่ว จึงต้องหยุดส่งและปิดซ่อมแซมเมื่อวันที่ 13 ส.ค. และแหล่งยานาดา สหภาพพม่า ติดขัดไม่สามารถส่งก๊าซมาป้อนได้ 1- 2 ชั่วโมงในวันที่ 15 ส.ค.

นพ.วรรณรัตน์ กล่าวว่า เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เกิดขึ้นอีก จึงสั่งให้กฟผ.ทบทวนแผนภาวะฉุกเฉินทุกเขื่อน โดยให้พิจารณาถึงลำน้ำท้ายเขื่อนที่ปัจจุบันมีสภาพเปลี่ยนแปลงมาก อาจมีสิ่งก่อสร้างกีดขวางการระบายน้ำ การปล่อยปริมาณน้ำที่เคยทำได้ในอดีตอาจเปลี่ยนไป

นายนพดล มัณฑจิตร กรรมการเรกูเลเตอร์ในฐานะประธานคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีระบบท่อส่งก๊าซจากพม่าเกิดขัดข้องจนส่งผลกระทบให้กฟผ.ต้องปล่อยเขื่อนในการผลิตไฟแทนที่จ.กาญจนบุรีจนท่วมพื้นที่ของชาวบ้าน กล่าวว่า จะเร่งสรุปในเรื่องดังกล่าวภายในเดือนนี้ โดยขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะผลักภาระให้กับประชาชนหรือไม่อย่างไรเพราะจะต้องดูความเหมาะสม

“ เราก็จะต้องดูข้อเท็จจริงก่อนอย่างกรณีท่อก๊าซที่เขาปิดซ่อมบำรุงตามแผนกฟผ.หันไปเดินเครื่องผลิตไฟจากน้ำมันเตาแทนส่วนนี้ก็คงจะต้องให้เขา แต่หากกรณีความผิดพลาดก็จะต้องดูว่าใคร อย่างระบบท่อที่ขัดข้องที่เป็นอุบัติเหตุเป็นไปได้หรือไม่ที่ปตท.จะต้องไปเจรจากับแหล่งผลิต”นายนภดลกล่าว

นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามสัญญาการส่งก๊าซฯแหล่งบงกช ระบุว่า หากขาดส่งก๊าซฯด้วยการละเลย จะต้องถูกปรับตามสูตรการคำนวณ แต่หากขาดส่งเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ก็ไม่ต้องถูกปรับ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างการตีความอยู่

ส่วนการหยุดส่งก๊าซฯของพม่าจากแหล่งยาดานา เพียง 1-2 ชั่วโมง ไม่ถือว่าเป็นการขาดส่งก๊าซฯ เนื่องจากมีปริมาณก๊าซฯค้างท่ออยู่ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีคณะทำงานพิจารณาอยู่

ส่วนการนำเงินกองทุนน้ำมันมาอุดหนุนราคาก๊าซ ธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี)เพื่อให้ตรึงราคาอยู่ที่ 8.50 บาท/กก. ทำให้ปตท.ลดภาระการขาดทุนลงเล็กน้อยจากปีนี้ที่คาดว่าปตท.ต้องแบกรับภาระขาดทุนจากเอ็นจีวีจำนวน 5,000 ล้านบาท ซึ่งการชดเชย 2 บาท/กก.นั้นยังไม่คุ้มต้นทุนที่แท้จริงของก๊าซเอ็นจีวีที่มีราคากก.ละ 14 บาท ดังนั้นปตท.จำเป็นต้องหาทางลดค่าใช้จ่ายลงเช่นการสร้างสถานีบริการเอ็นจีวีตามแนวท่อก๊าซฯ รวมทั้งส่งเสริมให้เอกชนลงทุนเปิดสถานีเอ็นจีวีแทนปตท.เพื่อลดภาระการลงทุน โดยปตท.ได้เพิ่มขึ้นอัตราผลตอบแทนให้เอกชนที่มาลงทุน จากเดิม 2บาท/กก.อีก10-20 สต./กก.ขึ้นอยู่พื้นที่

สำหรับในวันนี้ (5 ก.ย.) ผู้ค้าน้ำมัน ได้ปรับลดราคาไบโอดีเซล(บี5) ลง 60 สตางค์ ต่อลิตร เหลือ 25.39 บาทต่อลิตร
กำลังโหลดความคิดเห็น