สัมภาษณ์พิเศษ
ปี 2553 เป็นปีที่มีการทำนายทายทักกันทั้งทางวิชาการและโหราศาสตร์ว่า สถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะเดินทางเข้าสู่ภาวะวิกฤติครั้งสำคัญที่สุดอีกครั้งหนึ่ง กระทั่งเป็นที่คาดหมายว่า จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงจนอาจถึงขั้นนองเลือด
หลายคนวิตกว่า กองกำลังคนเสื้อแดงของ “นช.ทักษิณ ชินวัตร” จะก่อเหตุรุนแรงอย่างหนักก่อนที่คดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านจะมีคำพิพากษาออกมา
หลายคนฟันธงว่า ปี 2553 รัฐบาลของ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” จะประกาศยุบสภาเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง
และหลายคนเชื่อว่า ทหารจะตัดสินใจทำ “รัฐประหาร” อีกครั้งหนึ่ง
ทุกข้อสันนิษฐานต่างๆ นานาเหล่านั้น กล่าวได้ว่า ล้วนแล้วแต่มีโอกาสที่จะกลายเป็นความจริงได้หมดทั้งสิ้น แต่จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ฉบับปีใหม่นี้ มีโอกาสได้สัมภาษณ์ 2 นักคิดคนสำคัญของแผ่นดินไทยที่ได้รับการยอมรับในความน่าเชื่อถือ นั่นคือ “ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช” และ “ศ.นพ.ประเวศ วะสี” ซึ่งทั้งสองท่านได้ให้แง่คิดและมุมมองต่อทิศทางทางการเมืองปีเสือเอาไว้อย่างมองเห็นเป็นรูปธรรมเลยทีเดียว
- เท่าที่อาจารย์ติดตามสถานการณ์การเมืองในปีที่ผ่านมา ในปี 53 ต้องระวังตรงจุดไหนเป็นพิเศษ
โดยทั่วไปรัฐบาลเองก็สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจไปได้ในระดับหนึ่ง เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจดีขึ้น คิดว่าคงทำให้รัฐบาลไม่ถูกกดดันทางการเมืองมากนัก ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลแม้ว่าจะมีข่าวขัดแข้งขัดขากันบ้างแต่ก็ไม่ได้มีมากมายถึงขนาดเกิดการไร้เสถียรภาพ ก็คงอยากจะร่วมมือกันต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องการใช้งบประมาณในปีใหม่นี้ที่เป็นไตรมาสแรก เขาคงอยากให้โครงการต่างๆ ใช้งบประมาณไปได้ด้วยดี และไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไร ก็คงไม่มีเหตุจูงใจที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนขั้วการเมืองในระหว่างนี้
แม้จะมีการประท้วงจากเสื้อแดง หรือมีการเคลื่อนไหวของทักษิณ แต่โดยภาพรวมมันก็ไม่ใช่เหตุที่ทำให้รัฐบาลไร้เถียรภาพ รัฐบาลคงรู้ว่าถ้าพยายามไม่ไปตกหลุมพราง ปล่อยให้คดีเป็นไปตามครรลอง ทักษิณก็คงเป็นฝ่ายเสียเปรียบ แต่การที่เสื้อแดงจะก่อหวอดโจมตีรัฐบาลทำให้เกิดความรุนแรง ก็คงยากที่จะทำให้ฝ่ายคุณทักษิณได้เปรียบ
ถ้าจะมีการเลือกตั้งใหม่คิดว่ารัฐบาลก็คงพยายามให้พ้นปี 53 ไป เว้นแต่ทักษิณจะใช้วิธีให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยลาออก และจะมีการเลือกตั้งใหม่ แต่ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ก็จะมีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง คือมีพรรคการเมืองเกิดขึ้น อาจจะมีการให้ ส.ส.บางส่วนเกิดการย้ายพรรคได้ คือพรรคพวกทหาร พ่อค้า นักธุรกิจ เช่นพรรคมาตุภูมิ ก็คงจะเอา ส.ส.เก่าเข้าไปรวมตัว ส่วนพรรคการเมืองใหม่ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญ ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียวจะทำให้พรรคการเมืองใหม่น่ากลัวพอสมควร เพราะว่าจะสามารถเข้ามาร่วมรัฐบาลได้ ทำให้ทักษิณยิ่งลำบากใจมากขึ้น การเปลี่ยนขั้วทางการเมืองมันจะเกิดขึ้นได้ แต่ถ้ายังไม่มีการเลือกตั้งใหม่ พรรคการเมืองใหม่ก็คงจะสร้างฐานไปเรื่อยๆ คงจะขยายการสนับสนุนไปเรื่อยๆ และจะทำให้พรรคการเมืองที่มีอยู่จะต้องปรับตัวพอสมควร
-ให้ช่วยขยายความเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งแบบเขตเดียว เบอร์เดียว ว่าพรรคการเมืองใหม่จะได้เปรียบอย่างไร
การเลือกตั้งปัจจุบันมันเป็นพวง 2-3 คนดังนั้นผู้ที่มีคะแนนเสียงในเขตเดียวก็อาจจะไม่ได้รับเลือกตั้ง ถ้าเปลี่ยนเขตเดียวเบอร์เดียวเหมือนอย่างที่เคยมี พรรคการเมืองใหม่มีการสนับสนุนค่อนข้างหนาแน่นในเขตเมือง เพราะฉะนั้นในเขตหนึ่งของจังหวัดอาจจะได้รับการสนับสนุน 40-50 คน รวมปาร์ตี้ลิสต์อีก และพรรคเพื่อไทยก็รู้ทาง เห็นว่า ตอนนี้ก็ชะลอการแก้รัฐธรรมนูญ ตอนแรกการแก้รธน. ทุกคนอยากจะผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว แต่ตอนนี้มีการวิเคราะห์ว่าถึงแก้ใหม่แล้วเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง แต่พรรคเพื่อไทยอาจจะสูญที่นั่งได้
-จริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญปี 50 สมควรแก้ไขหรือไม่
มันก็อาจจะมีบางมาตรา เช่นมาตรา 190 ให้ข้อตกลงผ่านสภามันอาจจะมีบางเรื่องที่ไม่ต้องผ่านสภา หรือเรื่องระบบการเลือกตั้งและเรื่องการยุบพรรคอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ คือไม่ใช่ผิดแล้วยุบทั้งพรรค อาจจะเอาผิดเฉพาะตัวบุคคลที่ทำผิด เท่าที่ดูๆ คงไม่มีการแก้ ถ้าแก้ก็ต้องปลีกย่อย ให้ยกเลิกเลยคงมีปัญหา
-ช่วงหลังๆ พรรคที่เกิดขึ้นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพรรคมาตุภูมิ พรรคการเมืองใหม่ หรือว่าพรรคภูมิใจไทยเอง พรรคไหนเป็นตัวแปรที่น่าจับตามอง
เวลานี้ที่เห็นก็คือพรรคภูมิใจไทย(ภท.) และถ้าเพื่อพรรค ภท. เขายังร่วมรัฐบาลอยู่ โอกาสที่จะสร้างการสนับสนุน อำนาจ การหาเงินเข้าพรรคมีมากขึ้น แต่คิดว่าพรรคมาตุภูมิเองก็คงจะอาจจะเป็นพรรคเล็กๆไปก่อน แต่คงมี ส.ส. เก่าเข้าไปหลายคน ซึ่งถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ก็จะมีคนใหม่เข้ามามากขึ้นแล้วการเมืองบ้านเราก็น่าจะดีขึ้น ส่วนทักษิณก็อาจจะแย่ลง อาจจะมีปัญหามากขึ้นในการกลับมา
-มองตัวละครทางการเมืองอย่าง เนวิน ชิดชอบ, สนธิ บุณยรัตกลิน, สนธิ ลิ้มทองกุล คนพวกนี้จะเข้ามามีบทบาทต่อการเมืองมากขึ้นหรือไม่
ก็น่าจะมีพรรคการเมืองใหม่ ที่คงมีบทบาทในสภาฯหรือบทบาทในรัฐบาล อย่างสนธิ คงจะมีผลสะเทือนสูงเพราะว่าเขาไม่ใช่นักการเมืองทั่วไป มีความสามารถสูงที่จะอธิบายให้คนเข้าใจได้ ถ้าเทียบตัวกันแล้ว สนธิ มีภาษีกว่า เพราะในแง่ของการที่เป็นผู้นำได้ เขามีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้นำประเทศได้ ตอนนี้ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งสุขุมระวังตัวมากขึ้น ก็เป็นผลดี
-มองการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่ว่าจะเกิดผลกระทบกับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่
ก็มีบ้าง แต่ไม่ถึงเป็นศัตรูกัน ก็คงเป็นพันธมิตรกัน ถ้าเกิดตกลงกันได้ในเรื่องของเขต แต่บางทีบางเขตก็ต้องแข่งกัน
-จุดอ่อนเรื่องตัวบุคคลที่ร่วมคณะรัฐมนตรีอย่างเช่น กษิต ภิรมย์อาจจะทำให้ปีหน้ามีการปรับ ครม.หรือไม่
การปรับครม. เท่าที่ผ่านมามันไม่ใช่การปรับเพราะว่าต้องการเอาคนที่มีความสามารถ แต่ปรับเพราะว่าผลัดกันเป็น ดูแล้วก็ไม่มีผลอะไรเท่าไร่ และปรับกษิตยิ่งยาก เพราะว่าฝ่ายค้านเรียกร้อง และกดดันให้ปรับ คิดว่าเขาอยู่ต่อไปอีกพักหนึ่ง
-ในช่วงที่ยังไม่มีการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ พรรคร่วมรัฐบาลจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาหรือไม่
เท่าที่เห็นยังไม่มีปัญหาอะไร พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เองก็คงจะไม่ต้องการขัดแย้งกับพรรคภท. มาก แต่พรรคภท.ก็คงลำบากเหมือนกัน ถ้าเปลี่ยนขั้วก็ไม่สามารถไปรวมกับพรรคพท.ได้ ไม่มีโอกาสเลย เขาก็คงจะประคองให้พรรคร่วมดำรงอยู่ต่อไป นอกนั้นก็มีชาติไทยพัฒนาที่ไม่มีปัญหาอะไรกับใคร การเมืองในปีหน้าก็ไม่น่าจะมีปัญหามาก ก็อยู่ที่ทักษิณ กับพวกเสื้อแดง พวกนี้มีหนทางเลือก 2 ทาง คือรอเลือกตั้งใหม่ และก่อกวนรัฐบาลไปเรื่อยๆ เช่นที่ผ่านมามีความพยายามเปิดเผยเรื่องเอกสารลับ เอาเรื่องเขมรมาเป็นเหตุ แต่กลับทำให้แย่ลงเพราะว่าคนมีความรู้สึกว่า เอ๊ะ! เป็นคนไทยทำไมไปทำอะไรที่ไม่เป็นผลดีต่อไปเทศชาติ
-เป็นเกมที่ทักษิณ เดินทางมาผิดหรือไม่ ที่เอาความเป็นชาติมาเล่นกับประเทศไทย
ก็ใช่ ก็เป็นกลยุทธ์ที่ไม่ดี
-ช่วงที่ผ่านมา มีพวก ตท.10 แห่กันไปสมัครเข้าพรรค พท. อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร
ก็ไม่มีอะไร พวกนี้ถ้าไม่ได้คุมกำลังแล้ว เป็นทหารเกษียณแล้ว ไม่น่ามีอะไร
-นี่เป็นยุทธศาสตร์ของทักษิณที่ต้องการสร้างภาพว่าเขามีผู้ให้การสนับสนุนหรือไม่
มันก็ไม่เป็นผลนะ จะมีก็มีการก่อกวนนิดหน่อย ว่าทหารพรานจะเข้ามาสนับสนุน ก็ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น
-ท่าทีการเคลื่อนไหวของทักษิณหลังถูกรัฐประหาร เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากขึ้นหรือไม่
เขาคงคิดหาหนทาง จากการที่เข้ามาใกล้ประเทศมากขึ้น และดำเนินการอย่างที่เราเห็น มีความรู้สึกว่าเขาอยากจะหาวิธีการบางอย่างเพื่อเข้ามาประเทศ แต่มันก็เป็นวิธีที่ใช้ความรุนแรงอย่างที่เขาเคยทำ หรือว่าการจะล่อให้เกิดการปะทะกันระหว่างพันธมิตรฯ กับเสื้อแดงมันก็เป็นไปไม่ใช่ เพราะว่าพันธมิตรฯ รู้ทัน ช่วงนี้ก็ไม่มีหนทางเพราะอำนาจการต่อรองก็ไม่มี การสนับสนุนก็มีอยู่เท่าที่เห็นคือไม่มากนัก
สถานการณ์ทางการเมืองที่มีกลุ่มประท้วง จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาก็ทำให้กลุ่มประท้วงมีความระมัดระวังสูงมากขึ้น เพราะเห็นว่าการทำความรุนแรงไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ที่น่าสังเกตคือว่าทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีมีการเคลื่อนไหวเพิ่มจากเดิม คือแต่เดิมเคลื่อนไหวโดยใช้การประชาสัมพันธ์ ใช้สื่อ แต่เวลานี้ที่เดินทางมาเขมร ก็คาดว่าคงจะใช้เขมรให้เป็นประโยชน์ ซึ่งคงเห็นว่ารัฐบาลนี้มีจุดอ่อนในแง่ของนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศที่ไปว่านายกฯเขมร ทักษิณก็คงพยายามทำให้รัฐบาลเกิดปัญหา แต่ก็คงทำอะไรไม่ได้มาก เพราะว่าคนไทยคงไม่สนับสนุนให้ผู้นำทางการเมืองเอาเขมรมาทำให้บ้านเมืองเกิดปัญหา
แต่ที่น่าจับตามองก็คือคดีของทักษิณ ในปีใหม่นี้ ก่อนครึ่งปีแรกก็คงมีการตัดสินคดียึดทรัพย์ ตัวทักษิณเองก็คงอยากให้มีการเปลี่ยนแปลง ในแง่ของการให้มีการเลือกตั้งใหม่ และพรรคเพื่อไทยก็คงคิดว่าจะได้คะแนนเสียงมากขึ้น และจัดตั้งรัฐบาลได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงโอกาสที่เขาจะแทรกแซงทางการเมือง หรือกระบวนการยุติธรรม อย่างน้อยก็ทำให้เรื่องของคดีความอาจจะยืดเยื้อสิ้นสุดไม่ได้ ถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ
ทักษิณไม่ได้เป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงมาก ปัญหาทักษิณไม่ใช่ปัญหาสาธารณะ ในเมื่อไม่ใช่ปัญหาสาธารณะ จึงทำให้คนเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับประของประเทศชาติ จริงๆ การที่เราบอกว่าสังคมเราแตกแยก ก็ไม่ใช่ความแตกแยกที่หยั่งรากลึก ไม่ใช่ความแตกแยกทางอุดมการณ์ ฝ่ายของทักษิณที่มาชุมนุมก็มีคนที่เห็นว่าทักษิณดีบางอย่างเช่น 30 บาทรักษาทุกโรค ก็ยังมีอยู่ แต่ถ้ารัฐบาลอยู่นาน ทำอะไรให้ประชาชนมากๆ คนจะไปคิดถึงทักษิณทำไม ยิ่งนานวันทักษิณยิ่งหายไป เขามีปัญหาเรื่องคดี ต้องใช้เวลา และยังมีคนออกมาเตือนเป็นระยะว่า ทักษิณเป็นยังไง
-มีการคาดการณ์ว่าปีหน้าคุณทักษิณ จะมีการรุกหนัก ถ้าเกิดขึ้นจริงจะมีสิทธิ์ยุบสภาฯ ได้หรือไม่
คือถ้าสภาวะเศรษฐกิจดี รัฐบาลแก้ไขปัญหาได้ ประชาชนไม่เดือดร้อนอะไรมาก ก็ไม่มีสาเหตุ ถ้าจะทักษิณเคลื่อนไหวหนัก มันก็ไม่มีประเด็น อันนี้ก็อยู่ที่สภาวะทางเศรษฐกิจด้วยว่าคนจะเดือดร้อน และเกิดความไม่พอใจรัฐบาล และเรื่องใหญ่คือรัฐบาลคอร์รัปชั่นจึงจะเป็นเหตุมากกว่า
-เรื่องปัจจัยแทรกซ้อน เรื่องรัฐประหารมีโอกาสหรือไม่
ไม่มีนะ เพราะว่ามันไม่มีปัญหาอะไรมาก ที่จะทำให้ทหารไม่พอใจ ในหมู่ทหารก็ไม่มีการขัดแย้งแย่งอำนาจกัน ผลประโยชน์งบประมาณทหารก็ได้รับอย่างเต็มที่ ถ้ารัฐประหารไปไม่เกิดประโยชน์อะไรมาก การแทรกแซงยังไม่มี จะมีก็ต่อเมื่อเกิดการก่อหวอดของฝ่ายทักษิณที่ทำให้เกิดการปั่นป่วน ทหารก็น่าจะเข้ามาเกี่ยวข้อง การเมืองปีหน้าไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ทักษิณเองได้ข่าวว่าไม่สบาย ถ้าเป็นจริง คงทำให้การต่อสู้น้อยลง
-เรื่องของทักษิณจะจบยังไง
ก็คงลงโทษยึดทรัพย์
-แต่เขาคงจะไม่หยุด
ก็แน่นอน เขาคงจะเคลื่อนไหวก็ในช่วงต้นปีหน้า เพราะใกล้เวลาที่จะตัดสินคดียึดทรัพย์ ก็ต้องรอดู
-กรณีกลุ่มคนเสื้อแดงจะทำให้เขาเข้าใจอะไรมากขึ้นได้อย่างไร หรือปล่อยให้เป็นพัฒนาการทางการเมือง
ถ้าเผื่อเสื้อแดงไม่เคลื่อนไหวรุนแรง ก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ เพราะเป็นการดีที่คนกลุ่มหนึ่งมีความเชื่อในทางการเมือง หรือสนับสุนนคนหนึ่งเป็นเรื่องปกติ ถ้าเขาไม่ใช่ความรุนแรง ถ้าเขาไม่ใช่วิธีการเก่าๆ สมมติมีการก่อความรุนแรง ก็บอกว่าเป็นคนของรัฐบาลปลอมไป หรืออภิสิทธิ์ ไม่ได้นั่งอยู่ในรถอะไรทำนองนี้ ถ้าไม่ใช่วิธีการแบบนี้การเคลื่อนทางการเมืองก็ปกติ
-แสดงว่ายุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวของคนแดงผิดพลาดเป็นเรื่องที่ผิดพลาด
ก็แน่นอน คงแก้ไม่ได้ คงต้องรุนแรง แต่ก็คงไม่มีน้ำหนักอะไรเพราะบรรดาผู้นำที่โผล่มา อาจจะได้รับการยอมรับจากคนส่วนหนึ่ง นอกนั้นคนก็ไม่ศรัทธาอะไร
-ถ้าขาดท่อน้ำเลี้ยงการชุมนุมอาจจะยุติ
ก็คงเป็นอย่างนั้นทุกคนก็รู้แต่เขาไม่พูดกัน เท่าที่พรรคพวกบอกมา พวกคนรับใช้ในบ้าน คนขับรถที่เคยไปก็ได้เงินน้อยลง ตอนแรกได้ 1000 -1500 แต่ตอนนี้ลดเหลือ 300-500 คนก็ไม่ไปแล้ว ทำให้คนน้อยลง
-แสดงว่าถ้าปีหน้าสามารถยึดทรัพย์ทักษิณได้ เงิน เขาอาจจะมีเงินน้อยลง การชุมนุมอาจจะยุติก็ได้
ถ้ายึดทรัพย์ได้ ทักษิณก็ไม่รู้จะเคลื่อนไหวอะไร ไม่มีมูลเหตุจูงใจไม่มีเป้าหมาย จริงๆ ปัญหาทักษิณไม่ค่อยน่ากลัวเพราะมันไม่ใช่ปัญหาสาธารณะ มันเป็นปัญหาส่วนตัวค่อนข้างมาก ถ้าเป็นปัญหาสาธารณะสิน่ากลัว
-มองอนาคตของพรรคเพื่อไทยอย่างไร
เขามีปัญหาเรื่องผู้นำ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ ถ้าไม่มีทักษิณก็แย่ เพราะว่าพรรคนี้อยู่ได้เพราะทักษิณ แต่เดิมสมัยทักษิณอยู่ พรรคมีคนที่มีความสามารถ อย่างหมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ คือบังเอิญคนที่เป็นส่วนแข็งแกร่งและมีคุณภาพไม่ได้อยู่พรรคเพื่อไทย จึงทำให้พรรคเพื่อไทยเหลือแต่ ส.ส.กับคนที่ไม่ค่อยจะมีความสามารถมากเท่าไหร่
-โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะปิดฉากลง ขึ้นอยู่กับทักษิณใช่หรือไม่
ถ้าเรื่องทักษิณจบ พรรคนี้ก็จบ บางส่วนของพรรคเพื่อไทย อาจจะย้ายไปอยู่พรรคอื่นเช่นพรรคมาตุภูมิ
-การบริหารประเทศในสายตาอาจารย์คุณอภิสิทธิ์ สอบผ่านหรือไม่
ก็น่าจะผ่านนะ เพราะว่าก่อนหน้านั้นมีปัญหาถูกก่อกวนมากใน 3 เดือนแรก แต่สิ่งที่ทำไม่สำเร็จก็คือเรื่องการศึกษา ยังไม่มีวิธีการแก้ปัญหาให้ชัดเจน นโยบายเรียนฟรีไม่ค่อยเป็นผลงานเท่าไหร่ เพราะเรื่องการเสมอภาคของการศึกษาเรามีสูง แม้ไม่เรียนฟรี ค่าใช้จ่ายการเรียนไม่มาก ต่างจังหวัดคนเข้าถึงการศึกษาได้ แต่เรื่องการทำให้การศึกษามีคุณภาพมากขึ้นไม่ค่อยเห็นชัดเจน เว้นแต่เร็วๆ นี้มีการปรับหลักสูตรให้มีกิจกรรมมากขึ้น แต่กว่าจะตั้งตัวได้ก็ปีหนึ่งพอดี
-แล้วเรื่องสภาวะการไร้ความเป็นผู้นำตรงนี้มองอย่างไง
ก็เป็นธรรมดาของพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องประคับประคอง พรรคปชป. ไม่ได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียว เป็นรัฐบาลผสมก็ต้องเป็นแบบนี้มันธรรมดา
-คุณอภิสิทธิ์ เข้มแข็งขึ้นหรือไม่
ความเข้มแข็งที่คนต้องการมันไม่จำเป็นต่อพัฒนาการทางการเมืองของเราในระยะนี้ แต่การอะลุ้มอล่วยการประคับประคองการรักษาอารมณ์ ความซื่อสัตย์ที่เขามีอยู่แล้ว อันนี้เป็นสิ่งสำคัญกว่า ถ้าเรามองอภิสิทธิ์เราอย่าไปมองที่ความเข้มแข็ง เราต้องมองที่ความสุภาพ ความซื่อสัตย์ ความสามารถในการที่จะไม่ขัดแย้งกับใครอะไรมาก อันนี้ก็เป็นคุณสมบัติที่ต้องมองมากกว่า และเขาก็มีอย่างเต็มที่ และก็ดีกว่าทุกคนที่มองเห็น
-ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นอย่างไร จะดีขึ้นหรือแย่ลง
มันคงไม่สามารถแย่ไปจนถึงขั้นวิกฤตได้ กรณีของเขมร มันเป็นเรื่องเล็กมาก เขมรเองก็รู้ว่าเขาก็ต้องพึ่งไทยมากในเรื่องอุปโภคบริโภค จะเห็นว่าในขณะที่มีขัดแย้งทางการเมือง แต่ทางทหารเขายังสามารถรักษาระดับความสัมพันธ์ไว้ได้ดี ปัญหาทางการเมืองก็มีอยู่แค่ที่ฮุนเซนพูด ส่วนทักษิณจะไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองในเรื่องไหนก็ไม่เห็นว่าจะมีทางแย่ พวกเอาเทปลับมาเปิดเผย ที่เขมรแอบดักฟัก เอาเอกสารลับจากกระทรวงการต่างประเทศมาก็ไม่มีปัญหา ที่บอกว่าการขจัด คือการไปฆ่าไม่ใช้ การขจัดปัญหาคือทำให้ปัญหาหมดไป ไม่ใช่ทำให้ตัวทักษิณหายตัวไป ทุกวันนี้ทักษิณ ไม่ใช่คนที่สังคมเชื่อถือ ไม่มีสถานะภาพของสังคมเพียงพอ
-มองพัฒนาการเมืองไทยอย่างไร ช่วงนี้มีการพัฒนาขึ้นมากแค่ไหน
มันก็ยังไม่มีการพัฒนามาก เว้นแต่จะมีเรื่องที่สำคัญคือว่า ในแง่ของประชาชนก็มีความตื่นตัวมากขึ้น และสาเหตุที่การเมืองไทยไม่ได้ไปไหนไกลก็เพราะการเมืองบ้านเรา นอกจากการเลือกตั้งก็ไม่มีกิจกรรมทางการเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่จะมีส่วนร่วม เป็นอย่างนี้มานาน พรรคการเมืองเองก็ไม่ได้จัดกิจกรรมให้ประชาชนสามารถเข้าร่วมได้ ทำให้ประชาชนกับการเมืองแยกส่วนกัน
อีกประการหนึ่งคือ คนไทยเราที่ผ่านมาไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมทางการเมือง ไอ้ประสบการณ์ร่วมทางการเมืองสำคัญมาก เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร ขบวนการกอบกู้เอกราชมันก็ไม่มี ประชาชนในประเทศอาณานิคมที่มีประสบการณ์ร่วมในการต่อต้านชาติอื่น ที่มีการกอบกู้เอกราชมีผู้นำในการกอบกู้เอกราชเกิดขึ้น ผู้นำสามารถสัมพันธ์กับมวลชนได้ ซึ่งไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามันก็เกิดพันธมิตรฯขึ้น พันธมิตรฯ สร้างประสบการณ์ร่วม เป็นชุมชนทางการเมืองที่มีการต่อเนื่องอยู่ร่วมกันนาน มีแกนนำมีภาวะผู้นำเกิดขึ้นนอกเหนือระบบการเมือง
หลังจากนั้นพันธมิตรฯ ก็รวมตัวตั้งพรรคการเมืองเป็นพรรคที่พยายามขึ้นจากล่างสู่บน เราจะเห็นว่ามันน่าสนใจที่ว่า พรรคนี้มีสื่อ มีจานดาวเทียม มีการขยายตัว มีการระดมทุนจากสมาชิก ด้วยการขายของ มีกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง มีคอนเสิร์ต มีการพูดต่างจังหวัด นี่คือเป็นกิจกรรมที่ควรจะทำ ซึ่งในสมัยก่อนประชาชนพอเลือกตั้งหนหนึ่งก็กลับไปอยู่บ้าน ในสมัยที่เกิดความสนใจก็เกิดความสนใจในแง่ลบ คนชอบรอให้มีเงินไปแจกให้กองทุนหมู่บ้าน พวกประชานิยม
แต่พอมีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้น ประชาชนเป็นผู้ให้ มันไม่เคยมีในเมืองไทยที่ประชาชนคือผู้บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนพรรคที่เขามีความรู้สึกผูกพัน เป็นสิ่งที่การเมืองไทยไม่เคยมีมาก่อน เกิดพรรคการเมืองที่แท้จริง ผู้นำก็ผ่านภัยอะไรต่างๆ ประชาชนก็ผ่านการถูกยิง ทำให้มีความรู้สึกร่วมกัน แล้วยิ่งนานไปมีสื่อด้วยคนก็ฟังทุกวันมันทำให้เกิดความสนใจทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้เป็นที่น่าสนใจ ต้องดูว่าถ้าเป็นพรรคการเมืองแล้วจะเป็นยังไง
ภาพโดย...วรวิทย์ พานิชนันท์