xs
xsm
sm
md
lg

คดี 258 ล้าน – กกต.กระทงที่ลอยหลงทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตามที่ได้ตกเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ว่า กกต.หรือนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้ปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะเป็นสองมาตรฐานในการพิจารณากรณีการกล่าวหาว่า พรรค ปชป.ได้รับเงินบริจาคจำนวน 258 ล้านบาท จากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน)โดยไม่เปิดเผยนั้น เพื่อให้สาธารณะได้เข้าใจและได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง จึงขอเสนอบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ดังนี้

1.กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการยุบพรรคการเมือง

การดำเนินการยุบพรรคการเมืองนั้น ในปัจจุบันต้องดำเนินการให้เป็นไปตามวิธีการใน ส่วนที่ 3 การยุบพรรคการเมือง หมวด 4 การสิ้นสภาพ การเลิกและการยุบพรรคการเมือง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 ที่ได้บัญญัติไว้เท่านั้น โดยไม่อาจดำเนินการโดยอาศัยช่องทางกฎหมายอื่นได้เลย ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมกำกับดูแลการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง โดยตรง ซึ่งในกรณีของพรรคประชาธิปัตย์นี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน คือ เป็นกรณีการกล่าวหาและพิจารณาดำเนินการตาม

(1)มาตรา 93 ประกอบกับมาตรา 82 (เกี่ยวกับกรณีการใช้จ่ายเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง) และ

(2)มาตรา 94(4)และ(5) ประกอบกับมาตรา 65 และมาตรา 66(เกี่ยวกับกรณีพรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับเงินบริจาค โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรฯลฯ)

2.ขั้นตอนของการดำเนินการ พอสรุปได้ ดังนี้

2.1 การดำเนินการในกรณีกล่าวหาว่าพรรคการเมืองมีเหตุต้องยุบตามมาตรา 93 มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้

ขั้นที่ 1.นายทะเบียน ต้องมีความเห็นว่าพรรคการเมืองไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 82

ขั้นที่ 2.นายทะเบียน ต้องเสนอเรื่องเพื่อขอความเห็นชอบต่อ กกต.เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมืองนั้น

ขั้นที่ 3.เมื่อ กกต.ได้รับเรื่องจากนายทะเบียนแล้ว ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อพิจารณาว่าสมควรให้ความเห็นชอบหรือไม่ โดย กกต.อาจทำการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมประกอบการวินิจฉัยได้(ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 236(5) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 10(10)

ขั้นที่ 4.เมื่อ กกต.มีมติอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว นายทะเบียนต้องปฏิบัติตามมตินั้น เช่น หาก กกต.ไม่ให้ความเห็นชอบ เรื่องก็จะเป็นอันต้องยุติ แต่หากให้ความเห็นชอบ นายทะเบียนก็จะยื่นคำร้องด้วยตนเอง โดยในส่วนนี้จะไม่ผ่านการพิจารณาของอัยการสูงสุด เพราะเป็นกระทำที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการภายในของพรรคการเมืองโดยตรง ซึ่งไม่ถือว่าเป็นกรณีร้ายแรงเท่ากับเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย

2.2 การดำเนินการในกรณีกล่าวหาว่าพรรคการเมืองมีเหตุต้องยุบตามมาตรา 94มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้

เนื่องจากกรณีนี้ เป็นกรณีที่ต้องอาศัยข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเป็นหลัก ซึ่งจะต้องมีการดำเนินคดีและต่อสู้คดีในศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ในการดำเนินการในกรณีนี้กฎหมายจึงบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุด เป็นองค์กรที่มีหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้

ขั้นที่ 1.นายทะเบียน ต้องมีความเห็นว่าพรรคการเมืองกระทำการที่เข้าเหตุตามมาตรา 94

ขั้นที่ 2.นายทะเบียน ต้องเสนอเรื่องเพื่อขอความเห็นชอบต่อ กกต.เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยุบพรรคการเมืองนั้น

ขั้นที่ 3.เมื่อ กกต.ได้รับเรื่องจากนายทะเบียนแล้ว ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อพิจารณาว่าสมควรให้ความเห็นชอบหรือไม่ โดย กกต.อาจทำการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมประกอบการวินิจฉัยได้(ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 236(5) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 10(10)

ขั้นที่ 4.เมื่อ กกต.มีมติอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว นายทะเบียนต้องปฏิบัติตามมตินั้น เช่น หาก กกต.ไม่ให้ความเห็นชอบ ก็ต้องยุติเรื่อง

ขั้นที่ 5.แต่หาก กกต.ให้ความเห็นชอบ นายทะเบียนก็จะแจ้งต่ออัยการสูงสุด พร้อมด้วยหลักฐาน เพื่อพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ขั้นที่ 6.เมื่ออัยการสูงสุดได้รับแจ้งจากนายทะเบียนต้องพิจารณาเรื่องให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียน

ขั้นที่ 7.ถ้าอัยการสูงสุดเห็นสมควรให้ยุบพรรค ก็จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป โดยกระบวนพิจารณาจะเป็นไปตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 17(2)

ขั้นที่ 8.ถ้าอัยการสูงสุดเห็นสมควรไม่ยื่นคำร้องเพื่อยุบพรรค ต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

(1)ให้นายทะเบียนตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีผู้แทนจากนายทะเบียนและจากสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการรวมรวมพยานหลักฐานอีกครั้งหนึ่ง

(2) หากคณะทำงานเห็นสมควรยื่นคำร้องเพื่อยุบพรรค ให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไปเช่นเดียวกับขั้นตอนที่ 7

(3) ในกรณีที่คณะทำงานไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการยื่นคำร้องได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่แต่งตั้งคณะทำงาน ต้องเสนอต่อนายทะเบียนพิจารณาต่อไปว่าสมควรจะดำเนินการอย่างไร

(4) หากนายทะเบียนเห็นด้วยกับความเห็นของอัยการสูงสุด เรื่องจะเป็นอันยุติ

ขั้นที่ 9 หากนายทะเบียนยังยืนยันความเห็นเดิมให้ยุบพรรค นายทะเบียนต้องเสนอเรื่องเพื่อขอความเห็นชอบต่อ กกต.อีกครั้งหนึ่ง เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ขั้นที่ 10 เมื่อ กกต.ได้รับเรื่องจากนายทะเบียน พร้อมความเห็นของอัยการสูงสุดและคณะทำงานแล้ว ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อพิจารณาว่า สมควรให้ความเห็นชอบหรือไม่

ขั้นที่ 11 เมื่อ กกต.มีมติอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว นายทะเบียนต้องปฏิบัติตามมตินั้น เช่น หาก กกต.ไม่ให้ความเห็นชอบ ก็ต้องยุติเรื่อง แต่หากให้ความเห็นชอบ นายทะเบียนก็จะยื่นคำร้องและดำเนินคดีด้วยตนเองโดยไม่ผ่านอัยการสูงสุด

ตามกระบวนการที่ได้กล่าวมานั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า การที่นายทะเบียนจะใช้อำนาจหน้าที่ให้กระทบต่อพรรคการเมืองนั้น กฎหมายได้วางมาตรการต่างๆไว้เพื่อเป็นคานอำนาจของนายทะเบียนไว้แล้ว เพื่อที่ว่าพรรคการเมืองจะไม่ถูกยุบได้โดยง่ายนักและต้องเข้าใจว่า กกต.กับนายทะเบียนนั้นมีสถานะทางกฎหมายและอำนาจหน้าที่ที่ต่างกัน

3.การยุบพรรคการเมืองที่ผ่านมา มีการดำเนินการจาก 2 ช่องทาง ดังนี้

ช่องทางที่ 1. ช่องทางที่มีการเริ่มดำเนินการโดยนายทะเบียนโดยตรง ซึ่งเป็นกรณีที่พรรคการเมืองไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมืองในเฉพาะกรณีมีเหตุตามมาตรา 93 (ตามกฎหมายพรรคการเมือง ฉบับเดิมคือมาตรา 65) โดยตามกฎหมายฉบับเดิม พ.ศ.2541 นั้นนายทะเบียนมีอำนาจดำเนินการได้เองโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบของ กกต.ก่อน และมีการดำเนินการยุบพรรคไปแล้วประมาณ 70 พรรคการเมือง แต่กฎหมายพรรคการเมือง ฉบับปัจจุบัน พ.ศ.2550 มาตรา 93 ได้บัญญัติให้นายทะเบียนต้องได้รับความเห็นชอบจาก กกต.เสียก่อน จึงจะดำเนินการยุบพรรคการเมืองได้

ช่องทางที่ 2. ช่องทางที่มีการเริ่มดำเนินการโดย กกต.หรือโดยศาลฎีกา ซึ่งเป็นกรณีที่ กกต.ได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป และเป็นกรณีที่ กกต.ได้ใช้อำนาจหน้าที่ทำการสืบสวนสอบสวนตามกฎหมายเลือกตั้ง เมื่อมีเหตุว่าผู้สมัครกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งมิใช่เหตุตามกฎหมายพรรคการเมือง และเมื่อ กกต. (หรือศาลฎีกา ในกรณีที่ประกาศผลการเลือกตั้งไปแล้ว) เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครนั้น และปรากฏว่าผู้สมัครนั้นเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองด้วย ดังนี้ กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 103 บัญญัติให้ถือว่าพรรคการเมืองที่ผู้สมัครนั้นสังกัดได้กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติใว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้งได้บัญญัติให้ กกต.ส่งเรื่องให้นายทะเบียนเพื่อดำเนินการยุบพรรคนั้นต่อไป โดยช่องทางที่ 2 นี้ ดำเนินมาแล้ว 7 พรรคการเมือง(โดยเริ่มจากการวินิจฉัยของ กกต. 6 พรรค คือ ไทยรักไทย พัฒนาชาติไทย แผ่นดินไทย ประชาธิปไตยก้าวหน้า...มัชฌิมาธิปไตย และชาติไทย โดยการวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง 1 พรรค คือ พลังประชาชน ) และจะเห็นได้ว่า ช่องทางที่ 2 นี้เป็นการดำเนินการมาจากองค์กรที่สูงกว่านายทะเบียนทั้งสิ้นไม่ว่าจะโดยคำวินิจฉัยของ กกต.ซึ่งวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ หรือคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งและถือเป็นกรณีที่นายทะเบียนถูกจำกัดดุลยพินิจ กล่าวคือต้องดำเนินการยุบพรรคการเมืองนั้นสถานเดียว โดยจะใช้ดุลยพินิจเพื่อไม่ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดไม่ได้

ในกรณีของพรรค ปชป.นี้จึงเป็นการดำเนินการตามแนวทางช่องทางที่ 1. โดยเมื่อ กกต.สืบสวนสอบสวนแล้วต่อมาได้พิจารณาในข้อกฎหมายโดยเห็นว่า กกต.ไม่มีอำนาจวินิจฉัยในเรื่องนี้ แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนโดยตรง และส่งเรื่องให้นายทะเบียนพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายพรรคการเมือง (ซึ่งจะเป็นผลให้การลงมติของกรรมการการเลือกตั้งคนอื่นในมติว่าพรรคกระทำความผิดหรือไม่ นั้นไม่มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด)

4.การพิจารณาของนายทะเบียนพรรคการเมือง

ขณะนี้จึงยังถือไม่ได้ว่านายทะเบียนพรรคการเมืองได้ทำการพิจารณาวินิจฉัยการกระทำของกรรมการบริหารพรรคและการกระทำของพรรค ปชป.แล้ว เนื่องจากการลงมติของประธาน กกต. เมื่อ 17 ธ.ค.52 นั้น ได้ลงมติในฐานะที่เป็น กรรมการการเลือกตั้งซึ่งน่าจะไม่มีผลทางกฎหมายเพราะมิใช่การลงมติในฐานะที่เป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง ดังนั้น ในทางกฎหมายจึงยังถือไม่ได้ว่าการลงมติดังกล่าวของประธาน กกต.เป็นความเห็นของนายทะเบียนตามมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 และเนื่องจากกรณีนี้เป็นกรณีที่มีความสำคัญยิ่ง จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่านายทะเบียนจะดำเนินการจัดทำความเห็นเป็นหนังสือ โดยมีการระบุข้อเท็จจริง กฎหมาย และเหตุผลในการวินิจฉัยอย่างสมบูรณ์ เพื่อให้เป็นที่เข้าใจต่อสาธารณะและสามารถตรวจสอบได้

อย่างไรก็ดี ในการดำเนินการของนายทะเบียนได้ประสบปัญหาข้อกฎหมายในหลายประการ ทั้งนี้ เนื่องเป็นการกล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดเมื่อ พ.ศ.2548 ซึ่งขณะนั้นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับคือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 แต่กฎหมายดังกล่าวได้ถูกยกเลิกและได้มีการตรากฎหมายฉบับใหม่ขึ้น โดยมีผลเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2550 และองค์ประกอบความผิดต่างๆตามกฎหมายฉบับเดิมได้มีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างไป ดังนั้น จึงต้องมีการตีความตามหลักกฎหมายอาญาว่าความผิดเดิมนั้นได้ถูกยกเลิกไปหรือยัง และจะต้องใช้กฎหมายฉบับใหม่ในส่วนใดจึงจะเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ซึ่งขณะนี้นายทะเบียนได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อทำการศึกษาและให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของนายทะเบียน ซึ่งคาดว่ามีปัญหาข้อกฎหมายในประเด็น ดังนี้

(1) คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีความเห็นว่า กกต.ไม่มีอำนาจวินิจฉัยในเรื่องนี้ หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นจะถือว่าการสืบสวนสอบสวนของ กกต.ที่ได้ดำเนินการมานั้น เป็นการสืบสวนสอบสวนโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ หรือไม่

(2)หากการสืบสวนสอบสวนของ กกต. เป็นการดำเนินการโดยที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ นายทะเบียนพรรคการเมืองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานโดยตรง จะอาศัยพยานหลักฐานนั้นมาดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ หรือต้องทำการสืบสวนสอบสวนใหม่ตามอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองตามมาตรา 6 และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550

(3)หากถือได้ว่า กกต. มีอำนาจสืบสวนสอบสวนในเรื่องนี้ กกต. ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนมาโดยชอบด้วยกฎหมายมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 และข้อ 43 กับข้อ 50 วรรคห้า ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2550 หรือไม่ กล่าวคือ มีการจัดทำสรุปการแจ้งข้อกล่าวหาให้บุคคล และพรรคการเมือง ผู้ถูกกล่าวหา แล้วหรือยังว่า บุคคลและพรรคการเมืองนั้นได้กระทำการที่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมืองอย่างไร เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมืองฉบับใดบ้าง ซึ่งอาจนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองนั้น และอธิบายข้อกล่าวหาอย่างเพียงพอที่จะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาได้เข้าใจและชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานั้น เพราะเข้าใจว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ถูกสอบสวนในฐานะที่เป็นพยานเท่านั้น

(4)ตามข้อกล่าวหาต่างๆที่มีการกล่าวหานั้น เนื่องจากเป็นการกระทำในปี พ.ศ.2548 ดังนั้น จึงต้องอาศัย
องค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ซึ่งเป็น
กฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ในขณะกระทำความผิดมาบังคับใช่แก่การกระทำความผิดนั้นๆตามมาตรา 2
ประมวลกฎหมายอาญา ใช่หรือไม่

(5) ตามข้อกล่าวหาต่างๆที่ได้ตั้งมานั้น สามารถเปรียบเทียบหรือปรับเข้าได้กับมาตราใดบ้างแห่งพระราชบัญญัติ
ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541

(6)มาตราต่างๆแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ที่อาจปรับเข้าได้นั้น
ปัจจุบันเทียบเคียงได้กับมาตราใดแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550

(7)มาตราต่างๆแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ที่อาจปรับเข้าได้
นั้น ปัจจุบันถือว่ามาตรานั้นๆได้ถูกยกเลิกหรือสิ้นผลไปแล้ว เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ได้ถูกยกเลิกไปโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 ตามหลักมาตรา 2และมาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา หรือไม่

(8)ในกรณีที่ถือว่าความผิดตามมาตราต่างๆแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.
2541 ยังไม่ถูกยกเลิกไป ความผิดนั้นๆสามารถปรับเข้ากับมาตรา 94 อนุมาตราใด แห่งพระราชบัญญัติ
ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550

(9)กรณีที่จะถือว่าอาจเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 94แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
พรรคการเมือง พ.ศ.2550 นั้น เนื่องจากมีบางปัญหาไม่อยู่ในอำนาจวินิจฉัยของนายทะเบียนพรรคการเมือง
เช่น ปัญหาว่ามีบุคคลกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ หรือคดีเกี่ยวกับภาษีอากร หรือไม่ ซึ่งไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมือง ดังนี้ นายทะเบียนพรรคการเมือง ต้องอาศัยคำพิพากษาของศาลยุติธรรม มาประกอบการวินิจฉัย หรือไม่

(10) สำหรับวิธีการดำเนินการเพื่อยุบพรรคการเมืองนั้น เนื่องจากมิใช่เป็นการบังคับใช้กฎหมายในทางอาญาตาม
มาตรา 2 และมาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น นายทะเบียนพรรคการเมืองจึงต้องดำเนินการตามวิธีการของกฎหมายปัจจุบัน คือ มาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 ใช่หรือไม่

5.ปัญหาข้อกฎหมายที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจาก

1.กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งเรื่องให้ กกต.ดำเนินการโดยที่ไม่ได้ระบุมาตราและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน

2.เมื่อ กกต.ได้รับเรื่องก็ไม่ได้ทำการตรวจสอบว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กกต.หรือนายทะเบียนพรรคการเมือง แต่ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนในทันที

3.คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนของ กกต.ไม่ได้ตรวจสอบและดำเนินการสืบสวนสอบสวนให้ถูกต้องตามกฎหมาย

4.เจ้าหน้าที่ของ กกต.ไม่มีความรอบรู้ ความรอบคอบในการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะเป็นมืออาชีพ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาทั้งปวง เพราะระบบของ กกต.เป็นการสืบสวนสอบสวนแบบปกปิด ไม่สอดคล้องกับระบบการไต่สวนของศาล โดย กกต.ไม่ได้ทำการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องด้วยตนเอง(เฉพาะสำนวนที่สำคัญ)แต่ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่หรือ กกต.จว.ดำเนินการแทน ดังนั้น เมื่อประกอบเข้ากับปริมาณงาน จึงทำให้กระบวนการของ กกต.เกิดข้อบกพร่องอย่างมากมาย.
(โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป)
กำลังโหลดความคิดเห็น