xs
xsm
sm
md
lg

ถก 64 เอกชน แก้มาบตาพุด ปลดล็อคระงับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเตรียมเปิดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นประเภทกิจการรุนแรง หลังหาข้อยุติไม่ได้เพื่อเปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมมากขึ้น ขณะที่"ชาญชัย"ถกเอกชนวันนี้(29) หวังหาช่องลุ้นกิจการเข้าข่ายสยามยามาโตะพ้นระงับกิจการ ด้านเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกเกาะติดมั่วขอเว้นระงับ ขู่ฟ้องกลับละเมิดคำสั่งศาลฯ

นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรรมการในคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่มีนายอานันท์ ปันยาระชุน เป็นประธาน กล่าวว่า คณะกรรมการฯ 4 ฝ่ายจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมารับฟังความเห็นการจัดทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศกรณีเกี่ยวกับการจัดประเภทกิจการรุนแรง เพื่อกำหนดการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA )และสุขภาพ( HIA ) ให้เป็นไปตามมาตรา 67 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2550

“ ยอมรับว่าความเห็นในเรื่องของประเภทกิจการรุนแรงนั้นยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ จึงเห็นว่าควรจะเปิดเวทีให้ประชาชนทั่วไป และผู้มีส่วนได้เสียมาแสดงความเห็นก่อนซึ่งรายละเอียดจะได้มีการหารือกันอีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่ายวันที่ 4 ม.ค. 2553 " นายเดชรัตน์กล่าว

นายสุทธิ อัฌาศัย กรรมการในคณะกรรมการ 4 ฝ่ายกล่าวว่า การเปิดเวทีรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการจัดประเภทกิจการรุนแรงเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งคงจะต้องมาพิจารณารายละเอียดอีกครั้งว่าจะเปิดเวทีเมื่อใดและที่ใดบ้าง ส่วนการจัดทำรายงานEIA และHIA เรียบร้อยแล้วที่เหลือเอกชนก็ควรจะต้องปฏิบัติตาม

“ กรอบการทำอีไอเอและเอชไอเอที่จะนำเสนอต่อครม.นี้ ถือว่าเป็นกรอบที่มาจากกระบวนการทำที่รอบคอบ และมีขั้นตอนที่ชัดเจนแล้ว ตลอดจนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก็กำหนดอย่างเป็นระบบ และและให้มีการบันทึกความเห็นแย้งประกอบการรายงานด้วย ซึ่งจากเดิมไม่เคยมีมาก่อน ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาคือขั้นตอนการปฏิบัติว่าแต่ละโครงการจะปฏิบัติตามครบถ้วนทุกขั้นตอนหรือไม่ และในเมือไทยยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้าน HIA ที่จะมาทำได้อย่างครบถ้วนจริงๆ “นายสุทธิกล่าว

**เกาะติดยื่นฯมั่วเว้นระงับกิจการ

ทั้งนี้ ยอมรับว่ากรณีที่ภาคเอกชนเริ่มกระบวนการที่จะเตรียมยื่นศาลปกครองกลาง ให้คุ้มครองการถูกระงับกิจการชั่วคราว หลังจากที่บริษัทสยามยามาโตะได้รับการยกเว้นการระงับกิจการไปก่อนหน้านี้นั้น ทางตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกกำลังพิจารณาว่า เอกชนเหล่านั้นได้เข้าข่ายที่จะถูกถอนการระงับกิจการจริงหรือไม่ โดยเฉพาะหากไม่ได้เข้าข่ายการได้รับใบอนุญาตการเดินเครื่องหรือประกอบกิจการก่อนรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ แต่กลับพยายามไปยื่นศาลฯก็อาจจะฟ้องร้องว่าละเมิดคำสั่งศาลเช่นกัน

“19 กิจการที่เข่าข่ายว่าจะสามารถยื่นศาลฯให้ยกเว้นการระงับกิจการเหมือนกรณีสยามยามาโตะนั้นเราเห็นว่า 19 กิจการนั้นไม่ได้เข้าข่ายแต่ก็จะไปดูรายละเอียดถ้ามีการยื่นกันแบบมั่วๆ มาเราจะฟ้องร้องว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล”นายสุทธิกล่าว

**"ชาญชัย"เรียกถกวันนี้ลุ้นปลดล็อค

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันนี้ 29 ธ.ค. 52 นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรมจะเรียกผู้ประกอบการ 64 รายที่ถูกระงับกิจการมาหารือถึงแนวทางปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ทั้งการทำภายใต้กติกาที่ผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม( EIA ) และสุขภาพ(HIA) ขั้นตอนการอนุมัติอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรมและอาจรวมถึงกรณีการยื่นต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้พิจารณาถอนคำสั่งการระงับกิจการที่อาจเข้าข่ายกรณีของสยามยามาโตะ

ทั้งนี้ เอกชนยังคงมีความหวังว่ากิจการอื่นๆ จะมีการยื่นต่อศาลฯเพื่อขอยกเว้นการถูกระงับกิจการเพิ่มเติมจากศาลฯ อย่างน้อยก็น่าจะเป็น 19 กิจการที่เข้าข่ายมากสุด แต่ที่เหลือยอมรับว่าหากยังถูกระงับกิจการแล้วประเมินว่าขั้นตอนการทำ EIA และ HIA ให้เสร็จเร็วสุดก็ 6-8 เดือน ที่ต้องหยุดกิจการไปโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและก่อสร้างแล้วถ้าหยุดระยะเวลาดังกล่าวก็จะมีปัญหาแน่

“ ปีหน้าเราก็ยังกังวลกิจการที่ถูกระงับกิจการสุดท้ายแล้วจะนานแค่ไหนเพราะคิดว่ายังไงคงมีอีกจำนวนหนึ่งที่คงไม่เข้าข่ายพอจะไปยื่นศาลฯได้”นายพยุงศักดิ์กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การหารือกับเอกชนคงจะมีการชี้แจงถึงความเป็นไปได้ของกิจการใด ที่เข้าข่ายกรณีสยามยามาโตะเพื่อให้ไปจัดทำข้อมูล ในการยื่นคำร้องต่อศาลฯให้ยกเว้นการระงับกิจการเพิ่มเติม เนื่องจากยอมรับว่าหาก 19 กิจการที่เข้าข่ายมากสุดได้รับการยกเว้นเพิ่มเติมผลกระทบต่อเศรษฐกิจปี 2553 จะลดต่ำลงด้วย

นายประสาน ตันประเสริฐ ประธานคณะกรรมการบริหารการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(บอร์ดกนอ.) กล่าวว่า กนอ.กำลังพิจารณาว่ามีกิจการใดๆ บ้างที่อาจจะเข้าข่ายรองลงมาจาก 19 กิจการที่มีโอกาสยื่นต่อศาลฯขอเว้นการระงับกิจการ ซึ่งคงจะต้องดูในหลายๆ มิติ รวมถึงการจัดอยู่ในพื้นที่อ่อนไหว การได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการก่อนรัฐธรรมนูญปี 2550 มีผลบังคับใช้

สำหรับกรณีที่อาจจะมีการยื่นฟ้องร้องเพิ่มเติมอีก 181 กิจการที่เข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญปี 50 นั้นกนอ.ได้พิจารณาแล้วมีกิจการที่เข้าข่ายว่าจะโดนประมาณ 7 โครงการเท่านั้นที่อยู่ในความรับผิดชอบของกนอ. ส่วนใหญ่เป็นกิจการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพลังงานและคมนาคมค่อนข้างมาก แต่ทั้งนี่กนอ.ก็ได้ศึกษาไว้หากเกิดปัญหาขึ้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น