xs
xsm
sm
md
lg

ถ่อย-เถื่อน-ถีบฉายาสภา- เฉลิมดับ-ชลน่านเด่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตามธรรมเนียมปฏิบัติของทุกปี ที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภาได้ร่วมกันระดมความเห็นในการตั้งฉายาผู้ที่ทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งสองสภาคือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิก และการทำงานของ ฝ่ายนิติบัญญัติ โดยในรอบปี 2552 สื่อมวลชนประจำรัฐสภา เล็งเห็นว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ นี้มีความสำคัญ ต่อการเปลี่ยนผ่านการเมืองของประเทศ หลังจากเกิดการ เปลี่ยนขั้วทางการเมือง จึงอาศัยเทศกาลปีใหม่นี้ ตั้งฉายาให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ตามผลงาน ที่ปรากฏออกมา ในมุมมองของสื่อมวลชน
โดยฉายาที่ตั้งขึ้นได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของสื่อมวลชนประจำรัฐสภา โดยผลการพิจารณามีดังต่อไปนี้ ฉายาสภาผู้แทนราษฎร ถ่อย-เถื่อน-ถีบ โดยมีเหตุผลว่าตลอดหนึ่งปี ภาพลักษณ์ของสภาผู้แทนราษฎรตกต่ำอีกครั้งเพราะเต็มไปด้วยความมแตกแยกอย่างหนักระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล จนเกือบมีการ ใช้ความรุนแรง ทั้งการเปิดศึกหวิดวางมวยกลางสภากันหลายครั้ง หรือมีการโต้เถียง ท้าทายการนับองค์ประชุมกันดุเดือด ด่ากันด้วยด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมและบางครั้งถึงขั้นหยาบคายหลายคู่ ซึ่งพบถี่มากขึ้นแทบทุกเดือน เช่น กรณีนายสมคิด บาลไธสง ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย ที่ยั่วฝ่ายรัฐบาลด้วยการเดินตรวจการเสียบบัตรลงคะแนนของสมาชิกรอบห้องประชุม จนเกือบวางมวยกับนายอภิชาติ สุภาแพ่ง ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ที่ปรี่จะเข้ามาชกและยกเท้าเตรียมถีบ จนต้องเข้าห้ามกันชุลมุนท่ามกลางถ้อยคำผรุสวาทของสองฝ่าย
หรือกรณีที่เป็นข่าวครึกโครมเมื่อนายสุรเชษฐ์ ชัยโกศล ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย กล่าวคำหยาบคายถึงขั้นชูนิ้วกลางให้นายรณฤทธิชัย คานเขต ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อแผ่นดิน ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก่อนจะท้าไปดวลกันนอกห้องประชุม
พฤติกรรมเหล่านี้ได้สร้างความเสื่อมทรามให้กับสภาผู้แทนราษฎร ในยุคที่ การเมืองต่อสู้กันรุนแรง และดำเนินต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วถึงปัจจุบัน กรณีที่นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย สร้างวีรกรรมกระโดดถีบทำร้ายร่างกาย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ จนศาลมีคำพิพากษาเมื่อต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ให้จำคุก นายการุณ1 เดือน รอลงอาญากำหนด 2 ปี ทั้งนี้พฤติกรรม ส.ส.ที่ก้าวร้าวมากขึ้น นอกจากไม่เป็นแบบอย่างที่ดีของสภาผู้ทรงเกียรติแล้ว ยังมีส่วนกระตุ้นให้สังคมแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง โดยไม่ใช้หลักเหตุผล

ฉายาวุฒิสภาตะแกรงก้นรั่ว
สำหรับวุฒิสภานั้นได้รับฉายา ตะแกรงก้นรั่ว เนื่องจาก วุฒิสภาได้ขึ้นชื่อว่า เป็นสภาสูง ที่คอยตรวจสอบและกลั่นกรองการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนเข้ามาบริหารประเทศก็ตาม แต่หลังจากเกิดการสวิงสับขั้วทางการเมือง ภาพการตรวจสอบของวุฒิสภากลับไม่เข้มข้นเหมือนรัฐบาลในอดีตที่ผ่านมา ท่ามกลางข้อครหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาล จนทำให้สังคมผิดหวังกับบทบาทการตรวจสอบของวุฒิสภา เสมือนว่าทุกอย่างหยุดนิ่ง เสมอตัว เหมือนความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ
ขณะเดียวกันภาพของวุฒิสภากลายเป็นองค์กรที่คอยตอบแทนบุญคุณกลุ่มคน ที่อยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็น ส.ว.สรรหา หรือ ส.ว.เลือกตั้ง จนทำให้พฤติกรรมของสภาสูง ไม่แตกต่างจากสภาผู้แทนราษฎร ที่ทำให้การประชุมต้องล่มซ้ำซาก เพราะเกิดความขัดแย้งระหว่าง ส.ว.สรรหา กับส.ว.เลือกตั้ง ขณะเดียวกันยังมีการวิ่งเต้นล็อบบี้ ให้วุฒิสภาผ่านกฎหมายสำคัญของรัฐบาล
ล่าสุดนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา ได้ออกหนังสือเรื่อง ความรับผิดชอบของสมาชิกรัฐสภาและสภาฯล่มซ้ำซาก ระบุว่า มีการวิ่งเต้นของแกนนำกลุ่ม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้วุฒิผ่าน ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงิน แผ่นดินโดยเร็ว จนทำให้บทบาทการตรวจสอบเหมือนกับตะแกรง ในการแยกสิ่งดี ไม่ดีออกจากกัน ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงไม่ต่างจากตะแกรงก้นรั่วนั่นเอง

ชัย ชิดขอบตลกเฒ่าร้อยเล่ห์
ด้านฉายาประธานสภาผู้แทนราษฎร ในสายตาสื่อรัฐสภาคือ ตลกเฒ่าร้อยเล่ห์ โดยเห็นว่าท่ามกลางสภาวะการเมืองสองขั้ว ทำให้นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องรับบทหนักในการทำหน้าที่ประธานควบคุมการประชุมสภาฯ ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง รุนแรง วุ่นวาย ระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา แต่ด้วยชั้นเชิงที่คร่ำหวอดในสภามานาน ทำให้นายชัย ใช้บทร้อยเล่ห์ทั้งการประนีประนอม ใช้ทั้งไม้แข็งและไม้นวม กระทั่งใช้ความอาวุโส ความเป็น พ่อเฒ่า หลอกล่อสมาชิกรุ่นลูก ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาลจนหัวหมุน หลงประเด็น โดยเฉพาะการปล่อยมุขขำขันออกมากลบประเด็นจนช่วยผ่อนคลาย บรรยากาศตรึงเครียดระหว่างการประชุม และประคองไม่ให้การประชุมล่มได้หลายครั้ง การทำหน้าที่ของนายชัยด้วยชั้นเชิงที่แพรวพราวดัง “ตลกเฒ่าร้อยเล่ห์” นี่เอง จึงทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลส่วนใหญ่ต่างยอมรับกับบทบาทการทำหน้าที่ของนายชัยในการทำหน้าที่ประธานการประชุม

ประสพสุขประธานหลักเลื่อน
ส่วนนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ได้รับฉายา “ประธานหลักเลื่อน ด้วยต้นทุนทางสังคมที่มีอยู่เดิม และส.ว.ส่วนใหญ่ให้ความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ เป็นเสาหลักของวุฒิสภา เพราะเคยเป็นถึงอดีตประธานศาลอุทธรณ์ ทุกฝ่ายจึงต่าง คาดหวังว่าการทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาของนายประสพสุข จะสามารถเป็นเสาหลักให้กับสภาสูงได้ แต่บทบาทของประธานวุฒิสภาหลายครั้งได้สร้างความผิดหวังกับสังคม เช่น กรณีการเป็นตัวแทนของฝ่าย ส.ว.เข้าร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรี วิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน เพื่อหาทางออกปัญหาความขัดแย้งในสังคม กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อถูกทักท้วงจากสมาชิกบางส่วน ว่าไม่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของวุฒิสภา ทำให้นายประสพสุข ไม่กล้าตัดสินใจใช้อำนาจในฐานประมุขของสภาสูงในการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และบ่อยครั้งมักจะโอนเอนไปตามแรงกดดันของสังคมหรือเกมการเมือง ทำให้เกิดภาวะเลื่อนลอย เปรียบเหมือนหลักยึดที่เลื่อนไป-มาตามแรงกดดัน จนขาดภาวะผู้นำของสภาสูง
ขณะเดียวกันท่ามกลางประเทศประสบปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ ประธานวุฒิสภา กลับพาสมาชิกไปดูงานต่างประเทศ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความ ไม่เหมาะสม แทนที่จะทำเป็นตัวอย่าง กลับทำเสียเอง

ชลน่านดาวเด่นสภาฯ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย สื่อรัฐสภามอบให้เป็น ดาวเด่น เนื่องจากบทบาทที่ผ่านมาของ นพ.ชลน่าน ต่อการทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาฯ ถือว่ามีความโดดเด่น โดยเฉพาะการอภิปรายในสภาฯที่ใช้ข้อบังคับการประชุมสภาฯ มาเป็นเครื่องมือในการแสดงความคิดเห็นเป็นหลัก ไม่มุ่งเน้นอภิปรายรัฐบาลด้วยการ ใช้วาทศิลป์เป็นสำคัญ ทำให้การประชุมไม่สามารถดำเนินการไปได้ ขณะเดียวกันแม้ว่า จะมีบางประเด็นที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล อย่างเช่นการอภิปรายเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ซึ่งนพ.ชลน่านก็สามารถยกข้อเท็จจริงและประเด็นทางกฎหมายมาหักล้างได้ใน หลายประเด็น โดยเฉพาะการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณที่ผ่านมา

เฉลิม อยู่บำรุงดาวดับ
สำหรับปีนี้สื่อมวลชนรัฐสภา เห็นว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย กลายเป็น ดาวดับ จากที่เคยมีวลีที่รู้กันอยู่ในวงการเมืองว่า ถ้าไปทะเลเจอฉลาม แต่มาสภาฯเจอเฉลิม ซึ่งที่ผ่านมาร.ต.อ.เฉลิม เป็นบุคคลที่ หากใครเป็นรัฐบาลแล้วร.ต.อ.เฉลิมเป็นฝ่ายค้านจะมีการทำหน้าที่ทั้งในสภาฯและนอกสภาฯในการตรวจสอบการทำงานอย่างเข้มข้น ด้วยข้อมูลที่สร้างความสั่นสะเทือนให้คนที่เป็นรัฐบาลได้พอสมควร แต่ปรากฏว่า ร.ต.อ.เฉลิมในวันนี้กลายเป็น ดาวอับแสง ด้วยบทบาทการทำหน้าที่ของตนเองที่แทบจะหาสาระหลักไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายหรือการยื่นกระทู้ถามในสภาฯ กับไม่ได้แสดงความเป็นขุนศึก ของฝ่ายค้านได้อย่างที่สมศักดิ์ศรี มีแต่วาทะที่เชือดเฉือนกระแนะกระแหนไปยังฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะพุ่งเป้าไปที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไม่ได้มุ่งไปที่เนื้อหา สาระของการอภิปรายที่เคยทำได้อย่างโดดเด่นเหมือนที่ผ่านมา

เหตุการณ์แห่งปีประชุมร่วมแก้วิกฤต
สำหรับเหตุการณ์เด่นแห่งปีได้แก่ การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อหาทางออกกรณีวิกฤตการเมือง โดยมีการประชุมเมื่อวันที่ 22-23 เม.ย.2552เพื่อพิจารณาญัตติด่วนที่รัฐบาลขอคำเสนอแนะจากสมาชิกรัฐสภา เพื่อหาทางออกในการแก้ไขวิกฤตการทางการเมืองหลังเกิดเหตุการณ์ สงกรานต์จลาจล
หลายฝ่ายคาดหวังว่า การประชุมรัฐสภานัดนี้ จะช่วยให้ความตรึงเครียด ทางการเมืองลดอุณหภูมิลง แต่ปรากฎว่า เวทีรัฐสภากลับไม่เป็นที่พึ่งหวังในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เพราะไม่ได้เป็นการประชุมอย่างสร้างสรรค์ หลายประเด็นที่หยิบมาพูด และมีการถ่ายทอดสดด้วยนั้นถูกมองว่าเป็นการบิดเบือนข้อมูลและปลุกระดมซ้ำ ทั้งกรณีรถแก๊ส , การป่วนเมืองที่มาจากกลุ่มที่มีความขัดแย้งกันอยู่ เนื้อหาการอภิปรายมุ่งเอาชนคะคานกันด้วยคำพูด กล่าวหากันโดยไม่มีหลักฐานข้อพิสูจน์ ทำให้เกิดการประท้วงวุ่นวาย เพิ่มอุณหภูมิความขัดแย้งในสังคมมากขึ้นไปอีก และแม้ผลสรุปของการประชุมรัฐสภาจะมีการตั้งคณะกรรมการสองชุด คือ คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ การชุมนุม แต่จนถึงวันนี้ก็ไม่มีผลความคืบหน้าในการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา ขณะที่ความรุนแรงทางสังคมยังคงอยู่

วาทะแห่งปีทักษิณไม่ได้ทำผิดกม.
ส่วนวาทะดังกล่าวส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้หยิบมาพูดหลายครั้งเพื่อยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้กระทำทุจริตหลังศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุกพ.ต.ท.ทักษิณ 2 ปีในคดีทุจริตที่ดินรัชดา
ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้หยิบวาทะนี้มาพูด ในสภา ระหว่างตั้งกระทู้สดถามนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ต.ค. เรื่องการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนโดยระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เคยทำทุจริต ที่ถูกศาลตัดสินเป็นเรื่องทำสิ่งที่กฎหมายห้าม แต่ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย พร้อมทั้งท้าทายว่า หากเป็นเรื่องทุจริตจริงจะเอาปริญญาเอกนิติศาสตร์ไปคืนมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่ง วาทะดังกล่าวเป็นการสะท้อนให้เห็นเด่นชัดว่า เป็นการเลี่ยงบาลี บิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อให้ประชาชนเกิดความสับสนในคำพิพากษาศาลฎีกา และเป็นการสะท้อนจุดยืนและบรรทัดฐานทางการเมือง ของ ร.ต.อ.เฉลิม ที่ไม่สมกับอวดอ้างสรรพคุณตัวเองว่า จบด๊อกเตอร์ด้านกฎหมาย

คู่กัดแห่งปีจตุพร-วัชระ
นักการเมืองคู่นี้เป็นศิษย์ร่วมสถาบันเดียวกัน แต่เมื่อมาอยู่ต่างพรรคต่างขั้ว ทำให้วิถีทางการต่อสู้ทางการเมืองต้องเข้าห้ำหั่นกัน ด้วยความที่รู้ไส้รู้พุงกันตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาทำให้นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ มักมีประเด็นวิวาทะกันอย่างดุเด็ดเผ็ดมันมาโดยตลอด บางจังหวะเลยเถิดไปถึงการพาดพิงบุพการี ทำให้อุณหภูมิในสภา เดือดพล่านอยู่หลายครั้ง จนบางครั้งหวุดหวิดที่จะวางมวยกันในสภาฯ นอกจากนั้นไม่พอ นายจตุพรและนายวัชระยังออกมาท้าทายกันที่ห้องแถลงข่าวรัฐสภาเป็นประจำ จึงทำให้ศึกสายเลือดระหว่าง ส.ส.หนุ่มคู่นี้จึงถูกยกให้เป็นคู่กัดแห่งปี

เจริญ คันธวงศ์คนดีศรีสภาฯ
ปัญหาการทำงานของสภาฯในรอบปีที่ผ่านมาเรื่องที่ใหญ่ที่สุดคือ สภาล่มบ่อยครั้ง 11 เดือน 11 ครั้ง เพราะส.ส.ไม่รู้จักรับผิดชอบต่อหน้าที่ไม่เข้าประชุมสภาฯทำให้งานสภาฯเดินหน้าไปไม่ได้ แต่นายเจริญ ซึ่งมีอาการป่วยเป็นโรคมะเร็งที่ขั้วตับ กลับเข้าประชุมสภาและร่วมลงมติผ่านกฎหมาย 88 ครั้งจากการประชุมสภา การลงมติ 100 ครั้ง และในช่วงก่อนปิดสมัยการประชุม ที่เกิดเหตุการณ์สภาล่มติดกันซ้ำซาก นายเจริญยังได้เข้าร่วมประชุมด้วยทั้งที่พึ่งเข้ารับการผ่าตัดโรคมะเร็งก่อนหน้านี้ 1 วัน จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นคนดีศรีสภา เพื่อเป็นตัวอย่างของคนที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างสมศักดิ์ศรี

ฝ่ายค้านไร้หัวจึงไร้ฉายาผู้นำฝ่ายค้าน
หลังจากพรรคประชาธิปัตย์ จับมือพรรคต่างๆ พลิกขั้วมาจัดตั้งรัฐบาล ได้โดยสภาผู้แทนราษฎรมีมติด้วยเสียงข้างมากให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อ 15 ธ.ค. 2551 ทำให้พรรคเพื่อไทย ต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน
อย่างไรก็ดี การที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งจัดตั้งหลังจากคดียุบพรรคพลังประชาชน ไม่ตั้งหัวหน้าพรรคจากบุคคลที่เป็นส.ส.อยู่ในสภา ทำให้ไม่สามารถแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 110 บัญญัติว่า ผู้นำฝ่ายค้านคือ ส.ส.ผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่ส.ส.สังกัดของพรรคตนมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และมีจำนวนมากที่สุดในบรรดา พรรคการเมืองที่ส.ส.ในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้า ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรในขณะแต่งตั้ง เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
กรณีดังกล่าว สื่อมวลชนประจำรัฐสภา จึงมีมติเอกฉันท์ งดการตั้งฉายาผู้นำฝ่ายค้าน ในฉายารัฐสภาประจำปี 52
กำลังโหลดความคิดเห็น