xs
xsm
sm
md
lg

กพช.ถกแผนรับมือใช้ก๊าซฯวันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- กพช.ถกแผนจัดการก๊าซฯปี 2553 หลังความต้องการจะขยายตัวอีก 5% เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการวันนี้ ขณะที่เรกูเลเตอร์ยังไม่เคาะผลกระทบก๊าซหยุดจ่าย ข่าวดีค่าไฟงวดม.ค.-เม.ย.2553 ยังตรึงต่อจากนโยบายรัฐบาล แต่กฟผ.แบกหลังแอ่น 1.5 หมื่นล้านบาท
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า วันที่ 28 ธ.ค.จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยวาระสำคัญที่จะพิจารณา คือ แผนการจัดเตรียมก๊าซธรรมชาติในปี 2553 เพื่อที่จะให้แผนการจัดหาสอดคล้องกับความต้องการใช้ โดยคาดว่าความต้องการใช้ก๊าซฯ จะขยายตัว 5% จากปี 2552 มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 3,700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน
“ยอมรับว่าการใช้ก๊าซฯของไทยมีอัตราสูงขึ้นเรื่อยๆ ในระยะยาวกระทรวงพลังงานจึงมีแผนที่จะกระจายแหล่งเชื้อเพลิงไปยังเชื้อเพลิงอื่นๆ” นายวีระพลกล่าว
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) กล่าวว่า การสอบสวนปัญหาการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจนทำให้มีต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นจากการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตานั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา โดยยังรอข้อมูลจากบริษัทปตท. คาดว่าจะสรุปได้ในเร็วๆ นี้ แต่ยืนยันจะไม่ผลักภาระให้กับประชาชนแน่นอน
สำหรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) รอบเดือนม.ค.-เม.ย.2553 จะมีการเปิดรังฟังความเห็นเร็วๆ นี้ ซึ่งอยู่ที่อัตรา 92.55 สต./หน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน 2.25 บาท/หน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนอยู่ที่ 3.17 บาท/หน่วย ซึ่งเท่ากับอัตราเดิมในรอบที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศให้ตรึงค่าเอฟทีจนถึงเดือนส.ค.2553 แต่หากพิจารณาตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่แท้จริง ค่าเอฟทีรอบใหม่จะต้องปรับขึ้น33 สต./หน่วย โดยจะทำให้ กฟผ.ต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นอีก 1.5 หมื่นล้านบาท
“ค่าเอฟทีที่ต้องปรับขึ้น33 สต. เป็นไปตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการใช้เชื้อเพลิงอื่นๆ ผสม ประกอบมีภาระสะสมจากต้นทุนเชื้อเพลิงในรอบที่ผ่านมา แต่การประกาศค่าเอฟทีในงวดนี้จะไม่มีการปรับขึ้น ซึ่งประชาชนจะไม่ได้รับผลกระทบเพราะยังได้รับการดูแลจากรัฐบาล”นายดิเรกกล่าว
แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นทางกฟผ.คงรับภาระไปก่อน ตามนโยบายของรัฐบาล หลังจากนั้นจึงจะทยอยปรับค่าเอฟทีตามความเหมาะสม ในระยะยาว โดยค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้ารอบเดือนม.ค.-เม.ย.53 อยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็นค่าเอฟที 40.80 สต./หน่วย ทำให้ กฟผ.ต้องรับภาระค่าเชื้อเพลิง 17,181.77 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเอฟทีรอบเดือนม.ค.-เม.ย.2553 จริงๆ แล้วจะต้องอยู่ที่ 79.57 สต./หน่วย แต่เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายให้ตรึงราคาค่าเอฟทีถึงสิ้นเดือนส.ค.2553
กำลังโหลดความคิดเห็น