สมการการเมือง
โดย...พาณิชย์ ภูมิพระราม
ภาคเอกชนและนักลงทุนคงต้องลุ้นกับการพิจารณาของศาลอีกรอบ หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา ให้เอกชน 19 โครงการ มูลค่า 7.71 หมื่นล้านบาท ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองเป็นรายโครงการ เพื่อขอทบทวนคำสั่งดังกล่าว ประกอบด้วย กลุ่มปตท.9 โครงการ กลุ่มซีเมนต์ไทย 7 โครงการ ส่วนที่เหลือ 3 โครงการ เป็นของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดฯ ซึ่งถูกระงับการดำเนินกิจกรรมตามคำสั่งศาลปกครอง
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวส่วนใหญ่เป็น กลุ่มปิโตรเคมีและพลังงาน โครงการเหล็ก ซึ่งถือเป็นข่าวดีต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวม หลังจากที่แบงก์ชาติประมาณการณ์ก่อนมีคำพิพากษาว่า ผลกระทบของการระงับโครงการในพื้นที่มาบตาพุต จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง 0.5 % แต่การประเมินผลกระทบภายหลังคำพิพากษานั้น แบงก์ชาติจะประเมินอีกครั้งกลางเดือนมกราคมนี้ โดยเชื่อว่าจะทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงมากกว่า 0.5%
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบด้านลบจะมีจำกัด เนื่องจากนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ได้รวมประเด็นเรื่องมาบตาพุตไว้ในประมาณการณ์บ้างแล้ว
ส่วนอีก 46 โครงการที่เหลือ จะมี 23 โครงการ มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท จะต้องหาเหตุผลอื่นๆ ในการขอผ่อนผัน และอีก 23 โครงการ มูลค่า 4.22 หมื่นล้านบาท ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง
ณ เวลานี้ ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า ทางออกของโครงการในมาบตาพุด ถือเป็นหัวใจของการตัดสินใจการลงทุนในระยะสั้น และกลางอย่างแท้จริง
สำหรับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจสหรัฐนั้น การประกาศตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตเศรษฐกิจครั้งล่าสุดของสหรัฐ ปรากฏว่า จีดีพีในไตรมาส 3 ของสหรัฐ เติบโต 2.2 % เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งแย่กว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ โดยตลาดคาดว่า จีดีพีจะทรงตัวที่ 2.8 %
ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่า เมื่อเทียบกับเงินเยน และเงินยูโร เนื่องจากความต้องการถือครองดอลลาร์สหรัฐ ปรับสูงขึ้น เป็นผลมาจากรายงานการลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นของกองทุนสวัสดิการสังคมแห่งชาติของจีน (NSSF) มูลค่า 8หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเพิ่มเพดานการลงทุนในต่างประเทศจาก 7 % เป็น 20 % และรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ หลายด้านปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงของการปรับลดอันดับเครดิตในยุโรป โดยมูดี้ส์ (Moodys) ปรับลดอันดับเครดิตของกรีซลงเป็น A1 จาก A2
ผลกระทบจากดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า จะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มอ่อนตัว โดยเฉพาะราคาทองคำ และราคาน้ำมัน รวมทั้งนำไปสู่การลดการลงทุนในตลาดหุ้น
การที่ราคาน้ำมันลดลงนั้น นอกเหนือมาจากปัจจัยเกี่ยวกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าแล้ว ยังมาจากอุปสงค์ของน้ำมันเบนซินค้าปลีกเพิ่มขึ้น และกลุ่มโอเปก คงการผลิตน้ำมันดิบไว้ที่ระดับเดิม
นั่นหมายความว่า ความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และการลงทุนในตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์
แต่สำหรับในทางการเมืองนั้น คดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท ของทักษิณ ถือเป็นหัวใจของสถานการณ์อันใกล้นี้ เพราะมันมีความเป็นไปได้สูงที่จะนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่รุนแรงในระยะใกล้ ทำให้นักวิเคราะห์การลงทุนประเมินว่า จะเป็นความเสี่ยงที่สำคัญมากสำหรับการลงทุนในเดือนมกราคม จนส่งผลกระทบให้ January Effect จากการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ อาจจะไม่เกิดขึ้น
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งเรียกพยานหลักฐานในคดียึดทรัพย์สิน เพิ่มอีก 6 รายการ เช่น พยานหลักฐานคดีซุกหุ้นเอสซี แอสเสท จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผลการศึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เรื่องการศึกษาการแปลงสัญญาร่วมการงานกิจการโทรคมนาคมของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ตัวเลขหุ้นชินคอร์ป และทหารไทย จากตลาดหลักทรัพย์
การไต่สวนพยานอัยการสูงสุด 2 ปาก ที่สำคัญ คื่อ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว.ต่างประเทศ และ กล้าณรงค์ จันทิก อดีต คตส.
ดร.สุรเกียรติ์ เข้าเบิกความในประเด็นปล่อยเงินกู้ 4,000 ล้านบาท ให้ประเทศพม่าว่า หลังขอเงินกู้ 3,000 ล้านบาท พม่าขอกู้เพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท จึงเสนอความเห็นต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าไม่สมควร เนื่องจากอาจถูกครหา
“เรื่องนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงบอกว่า งั้นก็พบกันครึ่งๆ เมื่อเขาขอมา 5,000 ล้านบาท ก็ให้ไป 4,000 ล้านบาทแล้วกัน” สุรเกียรติ์ กล่าวยืนยันกับศาลฎีกาฯ
ด้านนายกล้านรงค์ เบิกความสรุปว่า ทักษิณ ร่ำรวยผิดปกติมาจากการใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจตัวเอง
ทั้งนี้ ศาลฎีกาฯ นัดไต่สวนเพิ่มในวันที่ 12 และ 14 ม.ค. 53
นั่นหมายความว่า การตัดสินคดีอาจจะต้องยืดเยื้อไปถึงเดือนกุมภาพันธ์
เช่นเดียวกับการตัดสินกรณีเงินบริจาค 258 ล้านบาท ของพรรคประชาธิปัตย์ที่อยู่ในมือ “อภิชาต สุขัคคานนท์” ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.)
อภิชาต ประกาศว่า จะตัดสินใจปีหน้า เพราะต้องใช้เวลาอ่านเอกสารกว่า 7,000 หน้า จึงต้องมีความรอบคอบ
“ผมต้องเอาเอกสารไปนั่งไล่ดู กว่า 7,000 หน้า ขอความเห็นใจนายทะเบียนด้วย แต่ถ้าจะให้ตัดสิน ก็คงออกมาอย่างเดิม เพราะผมดูละเอียดแล้ว มีหลักฐานเพียงแค่นี้จะเปลี่ยนเป็นอื่นคงไม่ได้” ประธาน กกต. กล่าว ถึงความคิดและการตัดสินใจก่อนหน้านี้ และการตัดสินใจครั้งใหม่
แม้ อภิชาต จะถูกสืบค้นอดีตว่า เป็นเพื่อนเรียนกฎหมายรุ่นเดียวกับ บัญญัติ บรรทัดฐาน รองประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และมีความสัมพันธ์กับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีต ผบ.ทบ.
จนทำให้ เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ขู่ว่าจะถอดถอนประธาน กกต.หากผลออกมาว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ผิด
รวมทั้ง ทักษิณ ยังผสมโรงตอกลิ่มว่า มีใบสั่งไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้ตัดตอนคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาท
“พรรคประชาธิปัตย์...ไม่มีนิสัยเหมือนคุณทักษิณ” เสียงตอบโต้จาก สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฝ่ายความมั่นคง
นิสัยที่สุเทพบอกกับนักข่าวคือ นิสัยติดสินบนผู้พิพากษา
แต่ดูเหมือนว่า ความกังวลในใจลึกๆ ของขุนพลพรรคประชาธิปัตย์เกี่ยวกับการยุบพรรค ทำให้ สุเทพไม่ยั้งไมตรีกับทักษิณ ถึงแม้ผลการสำรวจจะค่อนข้างมั่นใจว่า ประชาธิปัตย์มีสิทธิ์รอดพ้นจากการถูกยุบก็ตาม
ที่สำคัญกว่านั้น หลายคนประเมินว่า สังคมยังให้โอกาสประชาธิปัตย์ ทำงานต่ออีกระยะหนึ่ง เพราะหากเปลี่ยนขั้วการเมือง
นั่นหมายถึง ความวิบัติจะบังเกิดขึ้นในสังคมไทย
ประกอบกับรัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่ได้เลวร้ายกว่ารัฐบาลทักษิณ จนสังคมรับไม่ได้ จนต้องเดินขบวนขับไล่
โดยปล่อยให้คนเสื้อแดงจัดกลุ่มขับไล่ตามเบี้ยเลี้ยงไปเรื่อยๆ จนกว่าสถานการณ์จะสุกงอม!!
ดังนั้นข้อเสนอตั้งโต๊ะเจรจาของ ทักษิณ ภายใต้เงื่อนไข 1. นำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ 2. ยุบสภา 3. การเลือกตั้งใหม่ โดยให้ทุกสีมีการลงสัตยาบันยอมรับผลการเลือกตั้ง
จึงเป็นข้อเสนอเหมือนไม่ได้เสนอ
ทักษิณ ยังสำทับอีกว่า สถานการณ์มาไกลมากกว่าการประนีประนอม
ขณะที่ อภิสิทธิ์ ยังยืนกรานเงื่อนไขยุบสภา 2 ข้อ คือ 1.มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2.ภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น
นั่นทำให้โอกาสที่ทั้งสองฝ่ายเปิดการเจรจา ยิ่งเป็นไปได้ยาก
กระนั้นก็ตาม ผลงานของรัฐบาล 1 ปีที่ผ่านมา ยังเป็นเรื่องอยู่ในระดับแค่ “สอบผ่าน” เพราะไม่สามารถเรียกคะแนนเสียงจากฝ่ายเสื้อแดง แม้จะชนะใจแฟนคลับของรัฐบาลก็ตาม
การประเมินของ สันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) น่าจะบ่งบอกเนื้อแท้ของผลงาน 1 ปีได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการให้คะแนน B ถึง B+ ต้องถือว่าสอบผ่านในแง่ความตั้งใจ
สอดคล้องกับการให้คะแนนของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ที่สังคมเชื่อถือมากคนหนึ่ง- ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งให้คะแนน B หรือ 75%
ที่น่าสนใจคือ ผลการสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 21 แห่ง ของศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) พบว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่า เป็นโครงการที่ยอดเยี่ยมที่สุด คือโครงการลดค่าครองชีพ เช่น รถเมล์ฟรี ค่าไฟฟรี ค่าน้ำฟรี ร้อยละ 28.3
ส่วนโครงการที่ยอดแย่ที่สุด คือ โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ร้อยละ 45.8
สะท้อนถึง รอยด่างพร้อยภายในพรรคร่วมรัฐบาล ยังเป็นจุดอ่อนที่แก้ไม่ตก
แม้แต่ “ความต้องใจดี” ก็ช่วยไม่ได้