ปัญหาภาวะค่าครองชีพ และปัญหาข้าวยากหมากแพง กำลังเป็นมรสุมลูกใหญ่ต่อการดำรงชีวิตของคนไทย ความเดือดร้อนกระจายไปทุกหย่อมหญ้าแล้ว “กรุงเทพโพลล์” เผยผลสำรวจ ปชช.อยากเร่งให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ขณะที่มีคำถามมากมาย ว่า ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ เรายังควรให้โอกาสรัฐบาลมือสมัครเล่น เข้ามาทดลองงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจดีหรือไม่
วันนี้ (22 มิ.ย.) ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในหัวข้อ “ประชาชนคิดอย่างไรต่อมาตรการแก้ปัญหาราคาน้ำมันและค่าครองชีพ” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 20 ปีขึ้นไปจากทุกสาขาอาชีพ ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวน 1,201 คน ในวันที่ 19-20 มิ.ย.นี้ โดยผลการสำรวจพบว่า ผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น ประชาชนร้อยละ 94.9 ระบุได้รับผลกระทบคือ รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย ต้องกู้หนี้ยืมสินและต้องเอาทรัพย์สินไปจำนำ ฯลฯ มีเพียงร้อยละ 5.1 ที่ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจาก ไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายในบ้าน ยึดแนวทางการใช้ชีวิตแบบประหยัดอยู่แล้ว
สำหรับมาตรการต่างๆ โดยรวมที่รัฐบาลออกมาเพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันและค่าครองชีพ ประชาชนส่วนใหญ่คือร้อยละ 60.4 เห็นด้วยกับมาตรการที่ออกมา มีเพียงร้อยละ 9.5 ที่ไม่เห็นด้วย ส่วนอีกร้อยละ 30.1 ไม่แน่ใจ เนื่องจากไม่ทราบรายละเอียดของมาตรการต่างๆ อย่างเพียงพอ
เมื่อพิจารณาแต่ละมาตรการ พบว่า การรื้อฟื้นโครงการเมดอินไทยแลนด์ ปลุกกระแสให้คนไทยหันมาใช้สินค้าไทยเป็นมาตรการที่ประชาชนเห็นด้วยมากที่สุด ขณะที่การแจกคูปองบัตรเติมเงินให้ผู้มีรายได้น้อยเดือนละ 300-400 บาท มีประชาชนเห็นด้วยน้อยที่สุด โดยกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าวให้เหตุผลว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด แก้ที่ปลายเหตุ มุ่งหาเสียงกับคนจน และเชื่อว่าจะเกิดการรั่วไหลระหว่างทาง