xs
xsm
sm
md
lg

แฉเล่ห์ "หมอเลี้ยบ" ใช้คูปองติดสินบนคนจน-แก้ปัญหาปากท้องไม่ได้จริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลุ่มนักวิชาการ ประสานเสียงตำหนิไอเดีย "คูปองแก้จน" แก้ปัญหาค่าครองชีพไม่ได้จริง ระบุชัด การที่รัฐแจกคูปองฟรีมากๆ ยิ่งเป็นการทำลายการสังคมสงเคราะห์ บั่นทอนศักดิ์ศรีมนุษย์ และสำนึกเรื่องการพึ่งตนเอง "สุริยะใส" ชี้แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ตอกรัฐกำลังติดสินบนชาวบ้าน ใช้เงินปูทางประชานิยม หวังผลการเลือกตั้งครั้งหน้า

นายอัมมาร์ สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เชื่อว่ามาตรการคูปองช่วยคนจน โดยแจกบัตรเติมเงิน หรือเงินสด แก่ผู้มีรายได้น้อย คงไม่สามารถแก้ปัญหาค่าครองชีพได้ เพราะดำเนินการในช่วง 6 -12 เดือน และยังเร็วเกินไปที่จะเริ่มดำเนินการในเดือนหน้า เพราะสิ่งสำคัญมากที่สุดของมาตรการนี้คือ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าใครควรจะได้รับความช่วยเหลือ มิฉะนั้นเงินดังกล่าวจะตกอยู่กับพรรคพวกของตนเอง และไม่ใช่คนที่ยากจนจริง

แม้มาตรการนี้จะไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่นายอัมมาร์ เชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งในระยะยาวแล้ว ควรจะมีระบบสวัสดิการเหมือนกับต่างประเทศ ที่เข้ามาช่วยเหลือบุคคลที่ประสบปัญหารายได้อย่างแท้จริง เช่นในกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งในครั้งหนึ่งสหรัฐอเมริกาเองก็มีโครงการฟู้ดแสตมป์ โดยแจกคูปองซื้ออาหารให้กับคนยากจน

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตร กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วยการใช้คูปองแก้ไขปัญหาความยากจนนั้น กลุ่มพันธมิตรมองว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เป็นการใช้แนวทางของนโยบายประชานิยม ที่จะมีการติดสินบนและซื้อใจคนจน เพื่อเตรียมตัวต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป

นายสมพร เทพสิทธา สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาที่ปรึกษา) กลุ่มในภาคสังคม การศึกษา ศิลปวัฒนธรรมและศาสนา กล่าวว่า หลักการดีแต่ในทางปฏิบัติยาก และกลัวว่ากลไกของรัฐจะไม่มีประสิทธิภาพ อาจมีการรั่วไหลกันได้ ปกติการออกคูปองนั้น สภาพสังคมต้องแย่จริงๆ ประเทศชาติฉุกเฉินยามสงครามก็ต้องออกคูปอง แต่คูปองเป็นเรื่องของสวัสดิการที่ต้องระวัง เพราะจะก่อให้เกิดผลเสียหายมาก สมัยรับราชการที่กระทรวงพาณิชย์มานานหลายปีไม่เคยปรากฏการใช้คูปองเกิดขึ้น มีแต่สมัยสงครามโลก

ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองกรณีรัฐบาลจะใช้คูปองช่วยคนจนที่เดือดร้อน ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่มีเงื่อนไขว่า รัฐต้องมีเครื่องมือตรวจสอบความยากจนที่มีประสิทธิภาพ ในต่างประเทศมีแบบประเมินโดยเฉพาะ และให้เป็นเงิน แต่ประเทศไทยใช้การจดทะเบียนคนจน ซึ่งเสี่ยง เพราะมีทั้งคนที่ยากจนจริงๆ และคนที่อยากจน รัฐบาลต้องหามาตรการทดสอบให้ได้ก่อน

นอกจากนี้ การที่รัฐยิ่งแจกคูปองฟรีมากๆ ยิ่งเป็นการทำลายการสังคมสงเคราะห์ บั่นทอนศักดิ์ศรีมนุษย์ และสำนึกเรื่องการพึ่งตนเอง และความจริงแล้วมีหลายวิธีในการช่วยคนจน เช่นกลุ่มแรงงานอาจให้ลดการจ่ายเงินประกันสังคมแทนการให้คูปอง ส่วนแรงงานนอกระบบ อาจะเป็นการแจกคูปองอาหารนักเรียนยากจน แจกตั๋วรถโดยสาร เป็นต้น ส่วนสินค้าธงฟ้า มีข้อต้องระวัง คือคนจนมักไม่ได้ซื้อ แต่เป็นคนชั้นกลางที่ไปซื้อสินค้าตุน

ทั้งนี้ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมแจกเงินให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อยคนละ 300-400 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6-12 เดือน โดยรูปแบบของการแจกคูปอง คาดเริ่มดำเนินการเดือนหน้า

ตอนนี้ อยู่ระหว่างการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ (สภาพัฒน์) ศึกษาแนวทางการแจกคูปองแก่คนจน โดยต้องพิจารณาว่าเส้นความยากจนอยู่ตรงจุดไหน ซึ่งต้องพิจารณาค่าครองชีพที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ด้วย เพื่อให้รู้จำนวนคนจนและปริมาณเงินอุดหนุนที่แตกต่างกันและที่รัฐจะต้องจ่ายในแต่ละเดือน

"รูปแบบจะใช้วิธีทยอยเติมเงินผ่านบัตรประชาชนแบบอิเล็กทรอนิกส์ (สมาร์ทการ์ด) ให้ทุกเดือน ซึ่งอาจเป็นเดือนละ 300-400 บาท เพื่อให้ประชาชนในเมืองใช้ซื้ออาหารและค่าเดินทาง แต่ถ้าผู้ไม่มีบัตรสมาร์ทการ์ด และเป็นคนจนในพื้นที่ห่างไกลอาจให้เงินสด"

น.พ.สุรพงษ์ ยอมรับว่า โครงการนี้เงินอาจรั่วไหลได้ แต่การเติมเงินให้ทุกเดือนผ่านบัตรประชาชนจะมีระบบตรวจสอบย้อนหลังอยู่แล้ว โดยเฉพาะใครรับรองก็รับรู้กันทั่ว และคาดว่าทำเพียง 6 เดือน-1 ปีเท่านั้นเพื่อให้ประชาชนปรับตัวรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้

นพ.สุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลังเตรียมมาตรการรับมือกรณีราคาน้ำมันไปที่ 150 เหรียญต่อบาร์เรลในช่วงสิ้นปีนี้ แต่ปัญหาขณะนี้มาเร็วกว่าที่คาดไว้ หลายเรื่องที่เตรียมไว้จึงต้องร่นระยะเวลาเร็วขึ้น ทั้งเรื่องเอ็นจีวี น้ำมันอี 85 หรือกระบวนการสร้างรายได้
กำลังโหลดความคิดเห็น