xs
xsm
sm
md
lg

วิชาโต้แสบถวายสัตย์ยังมีโกงสุเทพปูดแผนล็อบบี้องค์กรอิสระถอนตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (22 ก.ค.) มีการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) โดยคาดว่าจะหยิบยกกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชานและผู้สนับสนุนพรรคออกมาโจมตีว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.)ฉบับที่ 19 ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาพิจารณาโดยเห็นว่า การแต่งตั้ง ป.ป.ช.ตามประกาศ คปค. ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และมติให้แถลงชี้แจงในประเด็นข้อกฎหมายทุกประเด็น

ป.ป.ช.ยกทีมแถลงโต้รัฐบาล
หลังการประชุม คณะกรรมการ ปปช. ทุกคนคนได้ร่วมกันแถลงข่าวที่มาของ ป.ป.ช.โดย นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษก ป.ป.ช. แถลงว่า กรณีที่มีคณะบุคคลยื่น ขอถอดถอน ป.ป.ช. โดยกล่าวหาว่าไม่มีอำนาจหน้าที่ เพราะไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 คณะกรรมการป.ป.ช. ขอชี้แจงว่า ในประเด็นที่ยังมิได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ป.ป.ช. นั้น หลังจากมีประกาศ คปค. ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 ก.ย. 2549 แต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว สำนักงาน ป.ป.ช.. ได้มีหนังสือลงวันที่ 26 ก.ย. 2549 ถึงเลขาธิการ คปค. เพื่อดำเนินการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้ง ป.ป.ช.
จากนั้น สำนักงานเลขาธิการ คปค. มีหนังสือลงวันที่ 30 ก.ย. 2549 ชี้แจงว่า การนำความกราบบังคับทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ป.ป.ช. นั้น เมื่อมี ครม.ชุดใหม่แล้วให้สำนักงานเลขาธิการ ครม. เสนอรายชื่อบุคคลผู้ได้รับตำแหน่งเป็น ป.ป.ช. เพื่อนำความกราบบังคัมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป ต่อมาเมื่อครม. ในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้ารับตำแหน่ง เมื่อเดือนต.ค. 49 ป.ป.ช.จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 3 พ.ย. 49 ไปยังเลขาธิการครม. เพื่อขอให้นำความ กราบบังคัมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง
ซึ่ง สำนักงานเลขาธิการ ครม. มีหนังสือลงวันที่ 20 ธ.ค. 49 แจ้งว่า ให้ขอให้ สำนักราชเลขาธิการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง แล้ว แต่ได้รับแจ้งว่า คณะกรรมการป.ป.ช. ที่ได้รับการแต่งตั้งตามประกาศคปค.ฉบับที่ 19 นั้น ย่อมถือได้ว่า มีผลสมบูรณ์ที่สามารถบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย เนื่องจากขณะนั้น คปค. มีอำนาจเป็น รัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว ประกาศหรือคำสั่งของ คณะปฏิรูปการปกครองต่างๆ ย่อมมีผลบังคับใช้ได้โดยชอบมาตั้งแต่ต้น

ย้ำที่มาถูกต้องตามกฎหมาย
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า คณะกรรมการป.ป.ช.ชุดนี้ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการแต่งตั้งโดยชอบด้วยกฎหมายตามเหตุผลดังนี้ คือ 1. ศาลฎีกาได้มีแนว คำพิพากษาฎีกา ที่ 45/2496, 1662/2505 และ 6411/2534 วินิจฉัยว่า การที่คณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองได้สำเร็จย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลง ยกเลิก แก้ไข และออกกฎหมายตามระบบแห่งการปฏิวัติ เพื่อบริหารประเทศชาติต่อไปได้ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมมีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งอันถือเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ประชาชได้
แนวคำพิพากษาฏีกาดังกล่าวจึงเป็นการวางบรรทัดฐานเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของประกาศหรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติหรือหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ได้ยึดอำนาจการปกคอรงได้สำเร็จว่าเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ประชาชนได้ แม้ต่อมาคณะปฏิวัติหรือคณะรัฐประหารจะสลายตัวไป โดยมีรัฐธรรมนูญออกใช้บังคับก็ตาม หากไม่มีกฎหมายยกเลิกประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวแล้ว ประกาศหรือคำสั่งนั้นยังคงเป็นกฎหมายใช้บังคับได้โดยชอบต่อไป ตามแนวคำพิพากษา 1234/2523
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 31 ได้ระบุว่าให้การแต่งตั้ง ป.ป.ช. ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 19 ได้รับการแสรรหาและแต่งตั้งโดยชอบ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทจุริต 2542 และประกาศ คปค.ยังระบุไว้ในข้อ 8 ด้วยว่า บรรดาบทบัญญัติใดของพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ที่ขัดแย้งกับประกาศฉบับนี้ให้ถใช้ประกาศฉบับนี้แทน
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 มาตรา 36 ระบุว่า บรรดาประกาศ และคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองฯ หรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครอง ที่ได้ประกาศหรือสั่งในวันที่ 19 ก.ย. 2549 จนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือในทางตุลาการ ให้มีผลใช้บังคับต่อไป และเป็นประกาศหรือคำสั่งหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา309 ยังได้รับรองบทบัญญัติที่ผ่านมา และมาตรา 299 ได้บัญญัติให้ ป.ป.ช. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดวาระ โดยให้เริ่มนับวาระตั้งแต่วันที่ได้รับตำแหน่ง ดังนั้น ป.ป.ช.ชุดนี้ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ได้รับการแต่งตั้งโดยชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ต้น

ส่งศาลรธน.ตีความสถานะป.ป.ช.
ส่วนกรณีที่มีการกระบุว่า ป.ป.ช. ได้ล่วงละเมิดพระราชอำนาจ โดยปฏิบัติงานก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนั้น นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ป.ป.ช..ทุกคนมีความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณมาโดยตลอด ไม่เคยกระทำหรือแม้แต่จะคิดล่วงละเมิดพระราชอำนาจแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากที่มีหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการครม. ขอให้นำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ป.ป.ช. นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เที่ยงธรรม และเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากปณิธานที่ได้ประกาศว่า ล้างทุจริตให้สิ้นแผ่นดินไทย เพื่อเทิดไท้องค์ราชัน
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า การที่ระบุว่า ป.ป.ช.มาไม่ถูกต้องเป็นสิทธิของแต่ละคนตอนนี้ เราส่งเรื่องคุณสมบัติไปให้ศาลรับธรรมนูญตีความคุณสมบัติแล้ว ถ้าหากท่านต้องการคำชี้แจงเราก็พร้อมจะให้ข้อมูล และเมื่อคำตัดสินเป็นเช่นไรเราก็จะเคารพการตัดสิน
เราไม่หนักใจ ยืนยันว่า ป.ป.ช.ชุดนี้เข้ามาโดยมุ่งมั่นในการทำงาน โดยยึดกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ องค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัยการถอดถอนต่างๆจะเป็นผู้วินิจฉัยเอง เราคงไม่สามารถจะบอกได้ว่าใครผิดใครถูก

รมต.ถวายสัตย์ใช้ว่าจะซื่อสัตย์ทุกคน
ส่วนที่รัฐบาลระบุว่า กรรมการ ป.ป.ช.ไม่มีสิทธิถอดถอนคณะรัฐมนตร ีนายวิชา ตอบแทนว่า จะบอกว่าเรื่องการใช้หลักเหตุผลจะต้องสอดคล้องกัน จะบอกว่า ครม. เข้าสู่ตำแหน่งโดยการโปรดเกล้าฯ และถวายสัตย์ปฏิญาณตนนั้น แต่มีรัฐมนตรีหลายคนที่เข้าสู่ตำแหน่งโดยการโปรดเกล้าฯ และถวายสัตย์ว่าจะจงรักภักดีจะซื้อสัตย์โดยเคร่งครัด แต่ต้องถูกศาลตัดสินจำคุก จะเห็นได้ว่าการกระทำผิดไม่เกี่ยวกับการมีถวายสัตย์ปฏิญาณ เพราะท่านอาจตระบัดสัตย์ ไม่ได้หมายความว่ารัฐมนตรีที่ผ่านการถวายสัตย์จะซื่อสัตย์ทุกคน รัฐมนตรีที่ตายคาคุกก็มีแล้ว โดย ปปช.ตรวจสอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่านายกรัฐมนตรีระบุว่าได้อ่านกฎหมายมาอย่างโดยระเอียดแล้ว นายกล้านรงค์ กล่าวว่า แล้วแต่ท่าน แต่สิ่งที่เราดูจากรัฐธรรมนูญ แล้วการถอดถอนใดๆ ต้องเป็นหน้าทีขององค์กรต่างๆ ที่มีอำนาจวินิจฉัยตัดสินในเรื่องนี้ ว่าใครถูกผิด

ตั้งบอร์ดป.ป.ช.ทั้งชุดฟันอาญาครม.
นายกล้านรงค์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของกรณีการถอดถอน ครม.ว่า จากที่ ส.ว. รวมถึงกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และประชาชนจากหลายพื้นที่ร้องเรียนให้ไต่สวนเพื่อดำเนินการเอาผิดทางอาญากับ นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กรณีดำเนินการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรค 2 กรณีที่ครม.มีมติให้ นายนพดลไปลงนาม ในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิ.ย. 2551กรณีปราสาทพระวิหารโดยไม่ยอมนำเสนอต่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบทั้งๆที่ เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสอง คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งหมดเป็นผู้ไต่สวน โดยให้ น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล เป็นผู้รับผิดชอบสำนวน โดยจะมีกรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้ร่วมไต่สวน และมีเจ้าหน้าที่ร่วมด้วย ซึ่งการไต่สวนครั้งนี้จะกำหนดระยะเวลาไม่ได้ เนื่องจากการไต่สวน จะกำหนดหมวดว่าอยู่ในการไต่สวนใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉะนั้นจะมีขั้นตอน ในเรื่องต่างๆ โดยจะให้สิทธิแก่ผุ้ถูกกล่าวหาเอาพยานหลักฐานมายื่นให้ ป.ป.ช. ซึ่ง ป.ป.ช.จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด หลังจากนั้นจะมาวิเคราะห์ว่า มีมูล ความผิดหรือไม่ซึ่งจะเร่งดำเนินการทุกเรื่อง โดยจะไม่หยิบยกเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา

ชูศักดิ์อ้างตั้งป.ป.ช.ขัดประเพณี
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การถอดถอนองค์กรอิสระว่า ประเด็นที่ต้องคิดคือ การถือเอาประกาศ คปค.หรือประกาศ คมช. ลงนามโดยคน ๆ เดียวเป็นกฎหมายแล้วไปรองรับในรัฐธรรมนูญ มาตรา 299 ซึ่งตนเห็นว่าถ้าจะอ้าง มาตรา 299 ที่ได้รับการยกเว้น แต่ถามว่าบทบัญญัติเช่นนี้ขัดต่อประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ อย่าง ป.ป.ช.ต้องมีกระบวนการสรรหา เมื่อสรรหาเสร็จ ต้องนำเสนอโปรดเกล้าฯ แต่พวกคุณถือว่าแต่งตั้งไว้ก่อนมีรัฐธรรมนูญ และมารองรับในรัฐธรรมนูญไว้เลย ที่สำคัญคือว่าให้อยู่ 9 ปีโดยไม่ต้องมีการโปรดเกล้าฯ
ผมถามว่าการยอมรับบทบัญญัติอย่างนี้ขัดต่อประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์หรือไม่ ส่วนใหญ่เวลามีการเปลี่ยนแปลง กฎหมายในอดีตจะให้อยู่ 180 วัน หรือ 120 วัน หรืออยู่บางส่วนแล้วดำเนินการ สรรหาใหม่ ที่ต้องให้อยู่บางส่วนเพราะที่มาเดิมตามกฎหมายไม่เหมือนกัน เช่น ป.ป.ช. ที่มาเดิมแต่งตั้งโดยคนๆ เดียว แต่ถ้าไปดูบทบัญญัติที่ว่าด้วย ป.ป.ช.ต้องสรรหา ให้ได้มา 9 คน ที่ผ่านมาจะเห็นว่า คมช.แต่งตั้งมาทั้งหมด 9 คนซึ่งตรงกับที่กำหนดเอาไว้ นายชูศักดิ์ กล่าวและว่า ตนก็ไม่แน่ใจว่าป.ป.ช.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องสถานะได้อย่างไรและไม่รู้ว่ายื่นได้หรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่าป.ป.ช.อ้างว่าได้รับการแต่งตั้งมาอย่างถูกต้องโดยผ่านอำนาจรัฐฐาธิปัตย์เป็นเหตุผลที่รับฟังได้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ก็อ้างได้ว่าขณะนั้นเป็นรัฐฐาธิปัตย์ แต่ตนถามว่าถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญจะเขียนมาตรา 299 ได้นึกถึงบทบัญญัติเรื่องป.ป.ช.หรือไม่ว่าโดยปกติป.ป.ช.จะต้องมีการสรรหาและต้องมีการโปรดเกล้าฯ แต่นี่ยอมรับไว้เลยว่าต้องอยู่ 9 ปี โดยไม่คำนึงถึงบทบัญญัติสรรหา แต่ว่ากฎหมาย เรื่อง ป.ป.ช.ตามรัฐธรรมนูญไม่ต้องสรรหาจนกว่าจะครบ 9 ปี ตนถึงบอกว่าประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขน่าคิด

ครม.ยังไม่ได้ถกถอดถอนองค์กรอิสระ
คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงการตรวจสอบ การแต่งตั้ง ป.ป.ช. และ กกต. ซึ่งกำลังถูกยื่นถอดถอน เนื่องจากหลายฝ่ายมีความสงสัยว่าอาจมีที่มาไม่ถูกต้อง ว่า ที่ประชุมครม. วันเดียวกันนี้ (22 ก.ค.) ไม่ได้พูดคุยเรื่องดังกล่าว และยังไม่สรุปผลการดำเนินการใดๆ เนื่องจากนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ติดภารกิจในตอนเย็น
ส่วนกรณีที่สำนักราชเลขาธิการทำหนังสือถึงเลขาธิการครม. เพื่อให้ความเห็น เกี่ยวกับคุณสมบัติของป.ป.ช.นั้น คุณพรทิพย์ กล่าวว่า ยังไม่เห็นตัวเอกสารดังกล่าวว่ามีจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม สามารถตรวจสอบได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 17.00 น. วันดียวกัน นายสมัครมีกำหนดการ เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทูลเกล้าถวายเงินรายได้ตามโครงการจัดทำเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติ ณ ศาลาเริง วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ปชป.แฉมีล็อบบี้ให้องค์กรอิสระลาออก
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเคลื่อนไหว ถอดถอนองค์กรอิสระของพรรคพลังประชาชนและองค์กรเครือข่ายว่า เห็นพฤติกรรม แล้วรู้สึกแปลกๆ ที่จะถอดถอนองค์กรอิสระทั้งหลาย ตนทราบว่านอกจากจะยื่นถอดถอนแล้วยังมีกระบวนการที่จะให้คนในองค์กรอิสระถอนตัว ตนคิดว่าทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการ ที่ต้องการหยุดยั้งการทำงานของ องค์กรอิสระ เพื่อซื้อเวลาให้กลุ่มพรรคการเมือง ในซีกรัฐบาลมีเวลาในการแก้ปัญหาโดยวิถีทางอื่น เช่น เร่งรัดแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน เพื่อให้พ้นจากความผิดที่ได้ทำกันไว้ หรือเพื่อหยุดยั้งกระบวนการตรวจสอบในการใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่สุจริต
อยากให้สื่อจับตามองไปที่ศาลรัฐธรรมนูญที่มีความพยายามบีบคั้น แทรกแซง ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้จำนวนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ครบ วันนี้รัฐบาลทำในสิ่งที่ประชาชนเกิดความสงสัยกันไปทั่ว และกระทบกับองค์กรทั้งหลายมาก โดยใช้เครื่องมือที่เขาสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อมาอธิบายให้ประชาชนฟัง ในสิ่งที่เป็นเรื่องผิดให้ประชาชนเข้าใจผิดขึ้น หรือเพียงแค่จะมาตอบโต้ประเด็นที่ถูกประชาชนตั้งข้อสงสัย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องติดตามต่อไป เพราะคนเหล่านี้พยายามทุกอย่างโดยไม่คิดถึงความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม
ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้นายสมัคร สุนทรเวช กำลังใช้วิธีการ เหมือนกับที่เคย เกิดขึ้นกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ใช้วิทยุสถานียานเกราะปลุกระดมสร้างความแตกแยก หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า คิดว่าเป็นวิธีที่คล้ายคลึงกันแต่เป็นการเอาเปรียบ คนอื่นมาก เพราะสื่อของรัฐไม่ใช่มีหน้าที่มาเป็นเครื่องมือของคน ในคณะรัฐบาลที่จะไปเล่นงานใคร สื่อของรัฐเป็นสื่อของคนทั้งประเทศต้องว่าในเรื่องที่ตรงไปตรงมา มีข้อมูลข่าวสาร ที่เชื่อถือได้ ไม่ใช่เรื่องที่จะเอามามอมเมา มาหลอกหลวงหรือมาใส่ร้ายโจมตีกัน ในอดีตมีการตั้งสถานีโทรทัศน์อิสระขึ้นมา ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะประชาชนเลือกบริโภคได้ แต่ครั้งนี้ทำไม่ถูกอย่างยิ่งที่หันมาใช้สถานีโทรทัศน์ของรัฐ เพราะประชาชนจะถูกบังคับไปด้วย

จับตารัฐบาลปฎิวัติตัวเองเพื่อล้มผิด
ส่วนจะกลายเป็นการแบ่งประชาชนออกเป็น 2 ฝ่าย แล้วนำไปสู่สงครามประชาชนหรือไม่นั้น นายสุเทพ กล่าวว่า ตนกังวลใจมากว่ารัฐบาลกำลังกระทำการที่ก่อ ให้เกิดความแตกแยกรุนแรงขยายวงกว้างออกไป ตนรู้สึกว่ารัฐบาลนี้ตั้งใจให้เกิดจุดนี้เช่นกัน ท่าทางที่ออกมาคงจะมีแผนอื่นที่จะทำมากกว่านี้ จึงอยากจะเรียกร้องประชาชนและสื่อมวลชนให้ติดตามเรื่องนี้ให้ใกล้ชิดจะทำหรือต่อสู้อะไรจะต้องไม่ให้ประเทศชาติเสียหาย เมื่อถามว่าแผนอื่นที่อ้างถึงคือ การปฏิวัติตัวเอง ใช่หรือไม่ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ตนกังวลใจว่าเขาคิดอะไรอยู่ก็ไม่รู้ ซึ่งตนต้องติดตามต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากเกิดความแตกแยกขึ้นมาแล้ว จะมีการฉวยโอกาสตรงนี้ ทำอะไรได้บ้าง นายสุเทพกล่าวว่า มีหลายอย่าง ประการแรกเป็นการซื้อเวลาของตัวเอง และประการที่สองหากเกิดคิดบ้าๆ บอๆ ขึ้นมา เช่น อ้างเหตุการต่อสู้กันอย่างชุลมุน ต้องใช้อำนาจในบางลักษณะขึ้นมา อย่างนี้ก็ทำให้เขายึดครองอำนาจได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และสามารถทำอะไรได้มากมาย รวดเร็ว ถ้าตนพูดแล้วอาจคิดว่าพูดในทางร้าย สมมุติว่าประชาชนยกกลุ่มขึ้นมาตั้งประจันหน้ากันก็จะมีการอ้างความไม่สงบเรียบร้อย โดยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในที่สุดก็กลายเป็นผู้ยึดอำนาจ และประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา หรือยกเลิกองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว และเป็นสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำกันอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น