xs
xsm
sm
md
lg

จี้ ปปช.ลากคอนักปล้นชาติ-พันธมิตรฯ จ่อล้อมกองทัพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - พันธมิตรฯ ยื่นหนังสือ ปปช.ให้ดำเนินคดี “ทักษิณ-หมัก-ครม.- ขรก ประจำ” ตามมาตรา 157-119-120 ด้าน ส.ว.ยื่นปปช.ใช้ ม.275 ดำเนินคดี ครม.หมัก ให้ยกเลิกแถลงการณ์ณ์ร่วม ไทย-กัมพูชา กล้านรงค์ขอใช้ผลงานพิสูจน์ป.ป.ช. พันธมิตรฯเชื่อกระแสต่อต้านแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหม่จะยิ่งสูงขึ้น "สนธิ" เผยกำหนดการชุมนุมในช่วงวันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา มีการแสดงธรรมทำบุญอุทิศส่วนกุศล ย้ำรัฐบาลขายชาติต้องติดคุกหรือประหารชีวิตโดยไม่ต้องปราณี แย้มอาจเป่านกหวีดล้อม บก.ทบ.เค้นท่าทีหากยังเฉยกับพฤติกรรมคนขายชาติ ย้ำวันนี้นำรายชื่อกว่า 3 หมื่นชื่อยื่นถอดถอน ครม.ทั้งคณะ

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อเวลา 10.00 น วานนี้ (14 ก.ค.) แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดย พล.ต. จำลอง ศรีเมือง นาย พิภพ ธงไชย นาย สมศักดิ์ โกศัยสุข นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรฯ พร้อมประชาชนจำนวนมาก เดินทางมายื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. โดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 275 ให้ดำเนินคดีอาญา กับ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม คณะรัฐมนตรี ทั้ง 34 คน รวมทั้ง นายกฤต ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ, นายเชิดชู รักตะบุตร อัครราชทูตประจำกรุงปารีส ปฎิบัติราชการที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ, นายพิษณุ สุวรรณรชฎ รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ, นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, พล.ท. แดน มีชูอรรถ เจ้ากรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด, พล.ท. สุรพล เผื่อนอัยกา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และบุคคลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่มีส่วนเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน รวม 41 คน

ฐานจงใจละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียสิทธิปราสาทพระวิหารและที่ดินบริเวณโดยรอบ โดยมีเจตนาใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5 ) พ.ศ. 2545 กระทำการปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ยึดถือปฏิบัติตามบัญญัติรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มีผลเสียหายต่ออาณาเขตของประเทศไทย กระทบกระเทือนต่อพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ และกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของผู้กล่าวหา และปวงชนชาวไทยทุกคน

เป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกำหมายอาญา มาตรา 157 เป็นการกระทำการใดๆเพื่อให้ราชอาณาจักร หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรตกไปอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ หรือเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป ตามมาตร 119 และเป็นการร่วมกันคบคิดกระทำการเพื่อประโยชน์ของรัฐต่างประเทศ ด้วยความประสงค์ที่จะก่อให้เกิดการดำเนินการลบต่อรัฐ หรือในทางอื่นที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐ ตามมาตรา 120 การกระทำมีลักษณะเป็นการร่วมกันตามมาตรา 183

ป.ป.ช.นำเข้าที่ประชุมวันนี้

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ กล่าวว่า สำหรับความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั้น มีความชัดเจนคือ พยายามต่อรองผลประโยชน์ทับซ้อนในพื้นที่ไทยและกัมพูชา ช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่ามีความผิดตามมาตรา 120 ทั้งหมดจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157,119,120 ประกอบมาตรา 83

ทั้งนี้ มีนายศราวุธ เมนะเศวต เลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นผู้รับเรื่อง พร้อมกล่าวว่า เมื่อรับหนังสือดังกล่าวแล้วจะรีบนำไปรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับทราบ ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 15 ก.ค.นี้ และถือเป็นเรื่องด่วนที่ต้องนำมาพิจารณา โดย คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะต้องมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบว่าเรื่องที่ร้องมานี้ อยู่ในขอบข่ายอำนาจที่ ป.ป.ช.จะสามารถดำเนินการตรวจสบได้หรือไม่

ส.ว.ยื่นดำเนินคดีกับ "นพดล"

ต่อมาเวลา เมื่อเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน น.ส.รสนา โตสิตระกูล และนาย สมชาย แสวงการ ส.ว.เดินทางยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช. ตามาตรา 275 เพื่อดำเนินคดีกับ นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ที่ลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชารับรองการขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา โดยมี นายศราวุธ เมนะเศวต เลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นผู้รับเรื่อง โดยกล่าวว่า จะรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ปปช.ทราบในวันอังคารที่ 15 ก.ค.นี้

ด้าน นางสาวรสนา กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องประกาศยกเลิกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา อย่างเป็นทางการ เนื่องจากเราได้ฉบับย่อของการประชุมของยูเนสโกที่ประกาศเขตพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะประสาทพระวิหารเท่านั้น แต่รวมถึงบริเวณบันใด ซึ่งอาจมีผลในอนาคตด้วย ซึ่งอาทิตย์หน้าส.ว.จะเดินทางลงพื้นที่เพื่อไปตรวจสอบประสาทพระวิหาร

ด้าน นายสมชาย กล่าวว่ารัฐบาลจะต้องรีบยกเลิกแถลงการณ์ร่วม ก่อนที่จะมีความเสียหายมากกว่านี้ ทั้งนี้ยืนยันว่าการตรวจสอบของการบริหารงานของรัฐบาล ส.ว.ทำตามสิทธิ และหน้าที่ของฝ่ายตรวจสอบ

ย้ำ ป.ป.ช.ไม่ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณ

นายศราวุธ เมนะเศวต เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจวินิจฉัยคดีต่างๆ เนื่องจากไม่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณตนในการเข้าปฎิบัติหน้าที่ว่า ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ช่วงเช้าที่ผ่านมา ตนได้เข้าพบและหารือกับ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราณ ประธาน ป.ป.ช.แล้ว ท่านก็ไม่ได้แสดงความเป็นห่วงหรือกังวลใดๆ ป.ป.ช.คงทำหน้าที่ไปตามปกติ และยืนยันว่าการทำงานของ ป.ป.ช.ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ รวมถึงขั้นตอน การแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้ และคุณสมบัติการทำงาน ก็ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะได้ผ่านการตรวจสอบจาก ส.ว.มาแล้ว ส่วนการตรวจสอบ การทำงานของ ป.ป.ช.นั้น ส.ส. และ ส.ว.สามารถเข้าชื่อ จำนวน 1 ใน 4 เพื่อให้มีการตรวจสอบได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทำงานโดยสมบูรณ์แม้จะไม่ได้มีการถวายสัตย์ปฏิญาณใช่หรือไม่ นายศราวุธ กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณ และเป็นไปตามที่นายกล้านรงค์ จันทิก และนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ได้พูดไปแล้ว เพราะข้อกฎหมายเป็นอย่างนั้น

ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นจะทำให้การทำงานร่วมกันระหว่าง ป.ป.ช.และรัฐบาล ยากลำบากหรือไม่เพราะต้องมีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน นายศราวุธ กล่าวว่า คงไม่ เพราะทั้ง ป.ป.ช.และรัฐบาลต่างก็ทำตามหน้าที่ คงไม่มีเส้นระยะห่าง อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีไม่ได้โทรศัพท์มาติดต่อกับตนเพื่อทำความเข้าใจเรื่องดังกล่าว

ป.ป.ช.เผยอาจรวมเป็นเรื่องเดียวกัน

นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวถึงขั้นตอนการยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบการทำงานของครม. ว่า เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช.จะรับเรื่อง จากนั้นจะตรวจสอบว่า เรื่องที่ยื่นมาเข้าข่ายผิดอำนาจหน้าที่ และมีหลักฐานเพียงพอไต่สวนหรือไม่ ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าข้อมูลครบถ้วน จะประชุมเพื่อมีมติรับคำร้องไว้ดำเนินการ ขั้นตอนนี้ยังไม่กระทบต่อการทำหน้าที่ของรัฐมนตรี แต่จะแจ้งให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาทราบ และตรวจสอบข้อมูลต่อไป เมื่อได้พยานหลักฐานชัดเจนก็จะชี้มูลความผิด เพื่อส่งต่อประธานวุฒิสภาดำเนินการถอดถอน หรือส่งศาลหากมีความผิดทางคดีอาญา แต่หากตรวจสอบแล้วไม่พบข้อเท็จจริงเพียงพอ เรื่องก็ตกไป

กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า แม้หลายบุคคลมายื่นฟ้องในเรื่องเดียวกัน บุคคลเดียวกัน กรรมการ ป.ป.ช.อาจจะรวมเรื่องดำเนินการไปพร้อมๆ กัน แต่ไม่ถือเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับเรื่องดังกล่าว เพราะกรรมการ ป.ป.ช.จะพิจารณาจากพยานหลักฐานไต่สวนข้อเท็จจริง

ส่วนกรณีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ระบุว่า กรรมการ ป.ป.ช. ไม่ผ่านการถวายสัตย์ปฏิญาณตนนั้น ประเด็นดังกล่าวไม่ได้ทำให้ ป.ป.ช. ถูกลดความน่าเชื่อถือในการทำงาน เพราะความน่าเชื่อถืออยู่ที่ผลของการทำงาน ที่ปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช.ไม่ใช่องค์กรที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะได้รับการรองรับไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยเฉพาะบทเฉพาะกาลมาตรา 299 ที่ระบุว่า ให้องค์กรอิสระที่มีอยู่ทำหน้าที่ต่อไปจนครบวาระ และการกระทำต่างๆ ของ ป.ป.ช.ก็ได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติปี 2542

ส่วนกรณีที่พรรคพลังประชาชนเตรียมยื่นถอดถอน ป.ป.ช.นั้น นายปานเทพ กล่าวว่า การถอดถอนป.ป.ช.จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการทุจริตต่อหน้าที่ร้ายแรงเท่านั้น ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา ก็ทำงานตามกฎหมาย จึงไม่ทราบจะเอาเรื่องอะไรมายื่นถอดถอน ป.ป.ช.

ติง "สมัคร" อคติกับ ป.ป.ช.

ส่วนที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย เรียกร้องให้ป.ป.ช.ลาออก เพื่อให้วุฒิสภาสรรหาใหม่นั้น นานปานเทพ กล่าวว่า คงไม่สามารถทำตามได้ เพราะในช่วงที่ไม่มี ป.ป.ช.ระหว่างปี 2548-2549 ที่ป.ป.ช.ชุดเดิมมีคดีความจากการ ขึ้นเงินเดือนตัวเอง ทำให้มีคดีคั่งค้างรอการพิจารณาจากป.ป.ช.ถึง 18,000 คดี กระทั่งป.ป.ช.ชุดนี้เข้ามาทำงาน จึงสามารถพิจารณาคดีจนเหลือเพียง 5,000 กว่าคดีได้

"ไม่ทราบว่านายสมัคร สุนทรเวช มีอคติหรือไม่ ที่ออกมาโจมตีว่า ป.ป.ช. จ้องเล่นงาน แต่ยืนยันว่า ป.ป.ช.เป็นกลาง ข้อสำคัญคือทำทุกอย่างตามกฎหมาย แต่ถ้ารัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตัดอายุของ ป.ป.ช.ให้เหลือเพียง 180 วัน ป.ป.ช.ก็พร้อมไป เพราะการทำงานต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก"

”สนธิ"แย้มเป่านกหวีดล้อม บก.ทบ.

วานนี้(14 ก.ค.) ที่เวทีสะพานมัฆวานฯ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ขึ้นเวที ได้ย้ำถึงกำหนดการในช่วงวันสำคัญทางพุทธศาสนา คือวันอาสาฬหบูชา ในวันพฤหัสบดีที่ 17 ก.ค. และวันเข้าพรรษาในวันศุกร์ที่ 18 ก.ค.โดยจะมีการแสดงธรรม ซึ่งขณะนี้กำลังติดต่อ ท่าน ว.วชิรเมธี มาแสดงธรรมเทศนา มีการทำบุญเข้าสารอาหารแห้งโดยมิมนต์พระสงฆ์จากวัดโสมนัสวิหาร เป็นต้น

จากนั้น นายสนธิ กล่าวว่า ไม่อยากจะพูดเรื่องซ้ำๆเรื่องปราสาทพระวิหาร แต่จำเป็นต้องพูด โดยได้ย้อนอดีตความเป็นมาของปราสาทขอมแห่งนี้ที่มีมานับพันปี และได้ถูกทิ้งรกร้างเป็นซากปรักหักพังมานาน จนกระทั่งเมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว มีเสด็จในกรมในรัชกาลที่ 5 เป็นผู้ทรงค้นพบและเป็นคนไทยคนแรกที่พบปราสาทพระวิหารและอยู่ในเขตไทยมาตั้งแต่ต้น

นายสนธิ กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลังจากศาลโลกตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชามาตั้งแต่ปี 2505 แต่รัฐบาลไทยทุกรัฐบาลไม่เคยยอมรับ และสงวนสิทธิ์ในการโต้แย้งเรื่อยมา จนกระทั่งมาในยุคของรัฐบาลชุดนี้ที่นำโดย นายสมัคร สุนทรเวช ได้กลับมายกเลิกสิทธิ์ดังกล่าว ดังนั้นถือว่า รัฐบาลชุดนี้ขายชาติอย่างชัดเจน

นายสนธิ ยังระบุอีกว่ากรรมการมรดกโลกถือว่ามีการเมืองเข้าแทรกอย่างชัดเจน พร้อมชี้ให้เห็นความผิดปกติ 2 ประการคือ ในกรณีพื้นที่พิพาทถ้ารัฐบาลเขมรยื่นขอจดทะเบียนเพียงฝ่ายเดียวกรรมการมรดกโลกไม่ควรรับพิจารณา แต่เพราะรัฐบาลขายชาติกลับไปรับรองให้เขายื่นฝ่ายเดียว ทั้งที่ทางที่ถูกรัฐบาลไทยต้องยื่นขอจดทะเบียนควบคู่ไปด้วย ซึ่งทำให้การยื่นทะเบียนครั้งนี้กินพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเข้าไปด้วย

นายสนธิ ยังให้เห็นข้อพิรุธ ข้อที่ 2 ว่าองค์การยูเนสโกเป็นหน่วยงานในองค์การสหประชาชาติ ถ้าเราไม่พอใจเราสามารถลาออกได้ ซึ่งครั้งหนึ่งสหรัฐเคยลาออกมาแล้ว และเมื่อมีการปรับปรุงแก้ไขเราก็สามารถสมัครเข้าไปใหม่ได้ อย่างไรก็ตามก่อนที่จะลาออกสิ่งแรกที่ต้องทำคือเอารัฐบาลชุดนี้เข้าคุกก่อน และไม่ว่าใคร แม้จะเป็น พลเอก พลโท ถ้าเกี่ยวข้องกับการขายชาติก็ต้องติดคุกทั้งหมด

"ใครขายแผ่นดินมันต้องติดคุก มันต้องตาย อย่าให้คนพวกนี้มีความสุขไปตลอดชีวิจ ไม่ว่าใครก็ตาม" แกนนำผู้นี้ระบุและว่า กรณีปราสาทพระวิหารมีซ่อนเงื่อน 2 ประการคือให้ยอมรับพื้นที่ของกัมพูชา และจะทำให้พรมแดนอีก 40 จุดที่มีปัญหาจะถุกยกเอากรณีพระวิหารมาอ้างอิงได้เพราะใช้หลักการเดียวกัน ดังนั้นเราต้องไม่ยอมรับมิตยูเนสโก”

ในตอนท้าย นายสนธิ ยังกล่าวว่า ได้คิดอยู่ในใจในเรื่องเป่านกหวีด ถ้าเราแสดงออกเรื่องความรักชาติมานานหลายวันแล้ว แต่ทหารยังเฉย เราอาจเป่านกหวีดเรียกพี่น้องทั่วประเทศนับแสนๆไปล้อมกองบัญชาการกองทัพบก เพื่อแสดงให้เห็นว่าใครก็ตามที่ร่วมมือกับคนหน้าเหลี่ยม ให้รอเสียงนกหวีดก็แล้วกัน

ยื่นชื่อถอดถอน ครม.ทั้งคณะ
       
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แถลงถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นทางรอดเดียวของรัฐบาล ซึ่งเราจะต่อต้านคัดค้านทุกรูปแบบอย่างถึงที่สุด บนแนวทางสันติวิธี เพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงมติของคน 14.7 ล้านเสียง ดังนั้นควรจะรอให้คดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ข้อยุติเสียก่อน ไม่อย่างนั้นแล้วจะเป็นเพียงการเอาชนะคะคานมากกว่าการปฎิรูปการเมือง อย่างแท้จริง และมั่นใจว่า ประชาชนที่เป็นกลางหรือ 50-50 นั้น ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ โดยสังเกตได้จากผลโพลของสำนักต่างๆ

นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ในวันนี้ เวลา 13.00 น. แกนนำพันธมิตรฯจะนำรายชื่อประชาชนซึ่งขณะนี้เกิน 40,000 รายชื่อแล้ว ไปยื่นถอดถอนครม. ทั้งคณะ ต่อประธานวุฒิสภา แต่สำนวนถอดถอนนั้น เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาภายหลัง ว่า จะถอดถอนครม. ทั้งคณะไม่ได้ เราจึงแยกทำเป็น 34 สำนวน
       
สำหรับความขัดแย้งของกลุ่มผู้สนับสนุนและต่อต้านพันธมิตรฯในต่างจังหวัด นายสุริยะใส กล่าวว่า เจ้าภาพของแต่ละจังหวัดยังยืนยันว่าจะจัดต่อไม่หวั่นไหว และคนพันธมิตรฯ มาด้วยใจ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องตรงไปตรงมาไม่ปากว่าตาขยิบ       
       
สำหรับความเหมาะสมในการผลักดันโครงการเมกะโปรเจ็กของรัฐบาลนั้น นายสุริยะใส กล่าวว่า หาก ป.ป.ช. รับเรื่อง ครม. ก็ควรทำงานอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะการพิจารณา โครงการเมกะโปรเจ็ก ต่างๆ แม้จะยังไม่ชี้มูล แต่เมื่อ ป.ป.ช. รับเรื่องรัฐบาลก็ควรปฏิบัตหน้าที่เท่าที่ทจำเป็นจนกว่าป.ป.ช. จะตัดสินอย่างใดอย่างหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น