“ส.ว.” ยื่น ป.ป.ช.ใช้มาตรา 275 ดำเนินคดี “ครม.หมัก” จี้ให้ยกเลิกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ด้านเลขาฯ ป.ป.ช.ยันองค์กรอิสระไม่ต้องถวายสัตย์ฯ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ไม่หวั่นถูกถอดถอน
วันนี้ (14 ก.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. น.ส. รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.และนาย สมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ได้เข้าพบนาย ศราวุธ เมนะเศวต เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อยื่นคำร้องขอให้ดำเนินคดีไต่สวน ครม.ทั้งคณะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าคำแถลงการณ์ร่วม (Joint Communiqué) เป็นหนังสือสัญญาที่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190
นายศราวุธ กล่าวว่า จะรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบในวันอังคารที่ 15 ก.ค.นี้
ด้านนางสาวรสนา กล่าวว่า ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยละเอียดเกี่ยวกับมติคณะกรรมการโลกทั้งหมดและขอให้ประกาศยกเลิกคำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ถ้าไม่ประกาศยกเลิกอย่างเป็นทางการก็จะมีผลผูกพันประเทศอยู่ เนื่องพบว่ามีเอกสารที่เรียกว่าโครงร่างประกอบการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก (Draft Decision) ที่เข้าประชุมที่ควิเบก ซึ่งได้ระบุว่า ในพื้นที่นั้นไม่ได้กล่าวถึงตัวพระวิหาร แต่รวมถึงบันได รวมส่วนอื่นๆ ด้วย ในเนื้อหาที่อยู่ใน Draft Decision นี้ไม่เคยได้รับเอกสารที่เป็น Final Decision เลย หรือเอกสารที่เขาอ้างถึงไม่เคยได้รับการเปิดเผยจากรัฐบาลว่ามันมีอะไรบ้าง ซึ่งส่วนนี้เขากำหนดไว้ชัดเจนว่าภายในสองปี จะต้องมีการทำพื้นที่ส่วนอื่นเข้าไปด้วย ภายในสามปีจะต้องมี finalized map การกำหนดเขตต่างๆ ต้องเรียบร้อย
“สิ่งที่พูดถึงเขาอ้างความเป็นมรดกโลก ความเป็นงานศิลปะที่มีความบริสุทธิ์ มีความงาม ตอนนี้บรรดาประเทศทั้งหลายที่เป็นสมาชิกของยูเนสโกกำลังจะใช้ความเป็นมรดกโลก แล้วความงามในเชิงศิลปกรรมทางด้านสถาปัตยกรรมรุกเข้ามาให้ประเทศไทยต้องรับในส่วนนี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผูกพันประเทศไทยอยู่
“ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ถูกเชิญเข้าไปมีส่วนร่วม เราถูกเชิญเข้าไปมีส่วนร่วมบนพื้นที่ที่เป็นอาณาเขตของประเทศไทยเอง สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อเอกสารใน Draft Decision พูดไว้ชัดเจนว่าความสมบูรณ์ในตัวปราสาทพระวิหาร จะไม่ใช่ที่ตัวปราสาทเท่านั้นแต่จะต้องรวมถึงส่วนต่างๆ โดยรอบของมันด้วย แต่ยูเนสโกไม่เคยแนะนำให้มีการขึ้นทะเบียนร่วมกันสองประเทศ บอกว่าหลังจากขึ้นปราสาทพระวิหารแล้วจะต้องมีการทำต่อไปจนให้ปราสาทพระวิหารมีความสมบูรณ์ นั้นคือรวมพื้นที่ของเราด้วย
“ใน Draft Decision รวมบันไดทั้งหมด 800 เมตร ซึ่งก็คือทั้งหมดของบันได มันแตกต่างจากข้อตกลงคำตัดสินของศาลโลก แน่นอน เพราะระบุแค่ตัวปราสาทเขาพระวิหารและลงมา 20 เมตร แต่นี้ลงไป 800 เมตร จากศูนย์กลางลงไป นี้คือสิ่งที่รัฐบาลไม่เคยบอก บันไดที่เคยเป็นของเรา ต่อไปก็จะเป็นของเขา เพราะเขาจะบอกว่าจำเป็นที่จะต้องทำให้สถาปัตยกรรมนี้มีความสมบูรณ์ ในฐานะที่เป็นมรดกโลกแต่ไม่ได้สนใจว่าจะเป็นพื้นที่ของใคร ประเทศไทยจะเป็นแค่ถูกรับเชิญเข้าไป ร่วมรับรู้มี 7 ประเทศเข้ามาตัดสิน นี้มันเป็นการล่าอาณานิคมยุคใหม่แล้ว” นางรสนา กล่าว
นางรสนา กล่าวว่า รัฐบาลบอกว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแล้วว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาเป็นโมฆะ มันไม่จริง เพราะรัฐบาลในฐานะตัวแทนของประเทศไปทำสนธิสัญญา กับประเทศอื่นคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญใช้เฉพาะในประเทศของเราแต่รัฐบาลมีหน้าที่ไปเพิกถอน ทาง ส.ว.จะทำเรื่องนี้ต่อไปและเราจะไปดูเขาพระวิหารกัน ซึ่งเราจะพยายามหาข้อมูลกันต่อไป
นางสาว รสนา กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก หากรัฐบาลไม่ทำอะไร รัฐบาลก็ไม่ควรอยู่อีกต่อไป อย่ามามั่วเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ไม่เช่นนั้นเราต้องหาหนทางบังคับให้รัฐบาลไปยกเลิก เพราะถ้ายกเลิกไม่ได้ ก็ต้องหารัฐบาลใหม่มายกเลิก
ด้าน นายสมชาย กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องรีบยกเลิกแถลงการณ์ร่วม ก่อนที่จะมีความเสียหายมากกว่านี้ ทั้งนี้ ยืนยันว่าการตรวจสอบของการบริหารงานของรัฐบาล ส.ว.ทำตามสิทธิ และหน้าที่ง่ายตรวจสอบ
นายศราวุฒิ ยังให้สัมภาษณ์กรณีที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า ป.ป.ช.ผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่ง โดยยืนยันว่าที่มา และการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว โดย ป.ป.ช.หรือองค์กรอิสระอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง
“ป.ป.ช.ก็ไม่กังวล หรือกลัวถูกยื่นถอดถอน ซึ่งในข้อกฎหมายระบุว่ารัฐบาลไม่สามารถถอดถอน ป.ป.ช.ได้ แต่เป็นหน้าที่ของ ส.ส.และ ส.ว.ที่จะเข้าชื่อกัน 1 ใน 4 อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า การที่รัฐบาลออกมาตอบโต้ ป.ป.ช.จะไม่ส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในการทำงานระหว่างกัน เพราะถือว่าต่างคนต่างทำหน้าที่ตัวเอง” นายศราวุฒิ กล่าว