xs
xsm
sm
md
lg

โทลล์เวย์ขึ้นค่าผ่านทางฉลุย ”ซาเล้ง”อ้างสัมปทานบีบหมดทางสู้ รอสวนกลับวอเตอร์บาวน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โสภณ ซารัมย์
วันที่ 12 ก.ย. 2550 สัญญาสัมปทานทางหลวงในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข31 ถนนวิภาวดีรังสิต ตอน ดินแดง-ดอนเมือง หรือ ดอนเมืองโทลล์เวย์ ระหว่างกรมทางหลวงและบริษัททางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 11 เม.ย.2549 รับทราบข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาการขาดทุนของผู้รับสัมปทาน ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอและมอบหมายหลักการให้กระทรวงคมนาคมไปเจรจาตกลงกับผู้รับสัมปทานอีกครั้งหนึ่งเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานให้เหมาะสมและชัดเจน และเป็นประโยชน์ร่วมกันมากยิ่งขึ้น แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ประเด็นที่ บริษัทฯ นำมาเป็นข้ออ้างในการฟ้องร้อง ว่าฝ่ายรัฐได้กระทำและส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการ นั้นครม.ให้ความเห็นว่า ประเด็นที่บริษัทฯ กล่าวอ้าง เช่น ก่อสร้างถนนท้องถิ่น (Local Road) เลียบทางรถไฟ หรือการย้ายสนามบินนานาชาติจากท่าอากาศยานดอนเมืองไปเป็นทางอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้น นั้น จะต้องมีความชัดเจนเพื่อไม่ให้บริษัทฯ นำมาเป็นประเด็นอ้างอิงอีกในอนาคต

โดย ข้อเจรจาที่ตกลงร่วมกัน ต้องเป็นธรรม คำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่าย โดยฝ่ายรัฐและประชาชนผู้ใช้บริการที่ควรได้รับบริการที่ดีในระดับราคาที่เหมาะสมและไม่เป็นภาระจนเกินไป ซึ่งผลการเจรจาระหว่างกรมทางหลวงและดอนเมืองโทลล์เวย์ได้ข้อสรุป เงื่อนไขในข้อ 6 ว่า โทลล์เวย์ตกลงยกเลิกข้อเรียกร้อง การฟ้องร้องคดีต่อศาลและหรือนำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการที่เกิดขึ้นแล้วและที่จะเกิดขึ้น ซึ่งขณะนั้น โทลล์เวย์มีข้อพิพาทกับกรมทางหลวงรวม 9 ประเด็น

1. การก่อสร้างถนนท้องถิ่น (Local Road) 2. การไม่อนุมัติปรับขึ้นค่าผ่านทางในอดีต 3. การจัดหาเงินกู้ผ่อนปรนไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงในอดีต 4. การก่อสร้างทางเบี่ยง (Detour Line) บนถนนวิภาวดีรังสิต 5. การคืนหนังสือค้ำประกันต่างๆ ล่าช้า 6. การก่อสร้างสะพานลอยที่ทางแยกลาดพร้าวบนถนนวิภาวดีรังสิต อันเป็นโครงการของกรุงเทพมหานคร 7. การก่อสร้างสะพานลอยที่แยกสุทธิสารบนถนนวิภาวดีรังสิตอันเป็นโครงการของกรุงเทพมหานคร 8. การย้ายสนามบินดอนเมืองไปสนามบินสุวรรณภูมิ 9. การก่อสร้างทางยกระดับที่เชื่อมต่อกับทางยกระดับที่ออกจากอาคารผู้โดยสารต่างประเทศของท่าอากาศยานดอนเมืองไปทางด้านทิศใต้(ด้านขาเข้ากรุงเทพมหานคร) หรือ South Bound Exit Ramp (Ramp No.4) โดยหากมีคดีข้อพิพาทซึ่งผู้รับสัมปทานได้ยื่นฟ้องต่อศาลหรือได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการไว้แล้วก่อนการทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ ผู้รับสัมปทานจะต้องถอนฟ้องหรือถอนข้อพิพาทที่เสนอต่ออนุญาโตตุลาการให้หมดสิ้นภายใน 30 วัน นับจากวันทำบันทึกข้อตกลงกัน มิฉะนั้น กรมทางหลวงมีสิทธิยกเลิกข้อตกลงฉบับนี้

ผู้ที่เกี่ยวข้องรับรู้ว่า สัญญาแก้ไขเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผลที่กระทบต่อประชาชนเรื่องเดียวคือการปรับขึ้นค่าผ่านทางซึ่งกำหนดไว้ว่า ในช่วง 2 ปีแรก 22ธ.ค.50-21 ธ.ค.52 ช่วงดินแดง-ดอนเมือง 35 บาท สำหรับรถ รถ 4 ล้อ และ 65 บาทสำหรับรถมากกว่า 4 ล้อ ช่วง ดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน 20 บาทสำหรับรถ 4 ล้อ และ 30 บาทสำหรับรถมากกว่า 4 ล้อ และอีก 5 ปีต่อมาจะมีการปรับอีกครั้งหนึ่งคือ 22 ธ.ค. 52 ช่วงดินแดง-ดอนเมือง เป็น 60 บาท สำหรับรถ รถ 4 ล้อ และ 90 บาทสำหรับรถมากกว่า 4 ล้อ ช่วง ดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน 25 บาทสำหรับรถ 4 ล้อ และ 35 บาทสำหรับรถมากกว่า 4 ล้อและจะมีการปรับอีกทุกๆ 5 ปี ซึ่งครั้งต่อไปคือ 22 ธ.ค. 57 ช่วงดินแดง-ดอนเมือง เป็น 70 บาท สำหรับรถ รถ 4 ล้อ และ 100 บาทสำหรับรถมากกว่า 4 ล้อ ช่วง ดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน 30 บาทสำหรับรถ 4 ล้อ และ 40 บาทสำหรับรถมากกว่า 4 ล้อ โดยการปรับครั้งสุดท้ายคือ 22 ธ.ค.72 ค่าผ่านทางช่วงดินแดง-ดอนเมือง เป็น 100 บาท สำหรับรถ รถ 4 ล้อ และ 130 บาทสำหรับรถมากกว่า 4 ล้อ ช่วง ดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน 45 บาทสำหรับรถ 4 ล้อ และ 55 บาทสำหรับรถมากกว่า 4 ล้อ

สัญญาที่แก้ไขดังกล่าวเป็นข้อตกลงร่วมกันของภาครัฐ ที่ประกอบด้วย กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม คณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบการเปลี่ยนแปลงสัญญา รวมถึง หน่วยงานที่เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของครม. ทั้ง กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ท่าทีของกระทรวงคมนาคมในขณะนี้ ที่นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพิ่งจะมีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสัญญาสัมปทานระหว่างกรมทางหลวงกับดอนเมืองโทลล์เวย์ ประเด็นการแก้ไขสัญญาและคดีความที่บริษัท วอเตอร์ บาวน์ จำกัด ที่เคยเป็นผู้ถือหุ้นในดอนเมืองโทลล์เวย์ฟ้องร้องรัฐบาลไทย โดยเห็นว่า การต่อสู้ชั้นแรก รัฐบาลไทยเป็นฝ่ายแพ้

ขณะนี้อยู่ระหว่างอุทธรณ์ และมีแนวโน้มว่า ที่สุดของข้อพิพาทในชั้นอนุญาโตตุลาการนั้นฝ่ายรัฐบาลไทยจะแพ้ จะเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ว่า วอเตอร์บาว์นคือส่วนหนึ่งของดอนเมืองโทลล์เวย์ซึ่งการที่วอเตอร์บาวน์ฟ้องร้องรัฐบาลไทยก็เท่ากับ ดอนเมืองโทลล์เวย์ฟ้องด้วย เท่ากับ ดอนเมืองโทลล์เวย์ผิดเงื่อนไขสัญญาฉบับที่เปลี่ยนแปลงใหม่ ในข้อ 6 ดังนั้น จึงเท่ากับการขึ้นค่าผ่านทางเป็นโมฆะ

“แล้วเมื่อไร ข้อพิพาทจะยุติ แล้วถ้าเป็นตามที่ รมว.คมนาคมคาดการณ์ ค่าผ่านทางที่ประชาชนจ่ายไปแล้ว ตามอัตราที่ปรับใหม่ จะเรียกคืนอย่างไร"

เป็นการบริหารที่ง่ายไปหรือไม่ เพราะหากย้อนกลับไปถึงต้นตอปัญหาและการนำไปสู่การเจรจาและมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาที่ถูกเรียกว่า “สัญญาทาส” ครั้งนี้ มาจากการที่ฝ่ายรัฐที่เป็นคู่สัญญาไล่ไปตั้งแต่กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคมไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาอย่างเคร่งครัดหรือไม่

ถึงเวลาปรับค่าผ่านทางตามสัญญา ก็มักจะเห็นฝ่ายการเมืองสั่งการไปยังหน่วยงานให้เจรจาชะลอไว้ก่อน อ้างประชาชนเดือดร้อนจากการปรับค่าผ่านทาง ทำให้สัญญาบิดเบี้ยวไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้สุดท้าย เอกชนฟ้องร้อง

รัฐบาลไม่ว่าจะสมัยใด อดีตหรือปัจจุบัน คงไม่อาจจะโยนปัญหานี้ไปไหนได้ แต่จะทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องเคารพสัญญาที่ทำกับเอกชนด้วย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก

รมว.คมนาคม โสภณ ซารัมย์ ยืนยัน จะไม่เจรจากับบริษัทให้ลดค่าผ่านทางลง โดยมั่นใจว่า ถ้ารถไม่ขึ้นไปใช้ เดี๋ยวบริษัทก็ต้องลดราคาลงเอง

ในขณะที่ สมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการดอนเมืองโทลล์เวย์ กล่าวถึงรายได้ในวันแรกที่ปรับขึ้นค่าผ่านทางว่า เพิ่มขึ้น 4 แสนบาท จากเดิมเฉลี่ยวันละ 4 ล้านบาทเป็น 4.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10% ทั้งที่ ปริมาณจราจรลดลง 31% นี่คงเป็นคำตอบที่ชัดเจน สำหรับ รมว.คมนาคม ว่ามีโอกาสที่บริษัทค่าผ่านทางลงหรือไม่

กำลังโหลดความคิดเห็น