xs
xsm
sm
md
lg

สั่งแก้โทลล์เวย์ สัญญาโหด "มาร์ค"ไล่บี้"ซาเล้ง"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - คนใช้รถหนีค่าผ่านทางหฤโหดไปใช้วิภาวดีแทนโทลล์เวย์ที่ขึ้นค่าผ่านทางวันแรก “โสภณ” ท่องคาถาเดิมๆ อ้างสัญญา ทำอะไรไม่ได้ แถมพูดง่ายถ้าคนไม่ใช้ ต่อไปก็ลดราคาเอง นายกฯเดือด สั่งตั้งกรรมการสอบการแก้ไขสัญญา อนาถ! รถร่วมได้ทีขึ้นราคา

นายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าผ่านทางวันแรกในวันที่ 22 ธ.ค.2552 ปรากฏว่า จำนวนรถยนต์ที่เคยใช้บริการดอนเมืองโทลล์เวย์หายไปประมาณ 30-40% จากจำนวนที่ใช้เฉลี่ยประมาณ 80,000 คันต่อวัน ซึ่งเป็นไปตามที่บริษัทคาดไว้ ซึ่งยอมรับว่าอัตราค่าผ่านทางใหม่เป็นอัตราที่สูงมาก แต่จากการฟังเสียงของประชาชนที่ใช้บริการในช่วงเช้ายังไม่มีการต่อว่า เพราะทุกคนเข้าใจ และประชาชนเองก็มีทางเลือกที่จะใช้หรือไม่ก็ได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากปรับขึ้นราคาครั้งนี้แล้ว ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีการปรับขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่จะไม่สูงเท่ากับครั้งนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 15-20 บาทตลอดสาย แต่อย่างไรก็ตามต้องดูความเหมาะสมอีกครั้ง

“หลังจากปรับขึ้นค่าผ่านทางครั้งนี้แล้ว จะรอดูสถานการณ์อีกครั้ง ประมาณ 3-6 เดือน จึงจะทำให้เห็นผลและสามารถพิจารณาอีกครั้งว่าทำอย่างไร ถ้าปริมาณรถใช้ดอนเมืองโทลล์เวย์ยังน้อยลงอยู่ ก็อาจจะมีการปรับค่าผ่านทางลง หรือมีมาตรการอื่น แต่ปริมาณรถที่ลดลงเชื่อว่าจะไม่ทำให้รายได้ของบริษัทลดลง เพราะราคาต่อหน่วยเพิ่มขึ้น โดยคาดว่ารายได้ในปี 2553 จะเพิ่มขึ้น 10 % เป็น 4.5-5% จากเดิม 4 ล้านบาท”

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีให้กระทรวงคมนาคมหารือกับบริษัทนั้น นายสมบัติกล่าวว่า ถ้ารัฐบาลมีความประสงค์อย่างไรและมีความเป็นธรรม บริษัทก็พร้อมรับฟัง จะมาเจรจาหรือขยายสัมปทานก็ได้ จะเอาคนกลางมาคุยก็ได้ รัฐบาลต้องการอะไร เอกชนก็พร้อมให้ความร่วมมือ ในฐานะรัฐบาลก็มีหน้าที่ ส่วนเอกชนก็มีหน้าที่ แต่พร้อมให้ความร่วมมือทุกรณีโดยอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรม

**รถร่วมได้ทีอ้างโทลล์เวย์ขึ้นราคา

รายงานข่าวแจ้งว่า รถร่วมบริการสาย 538 จาก ราชมงคลคลอง 6-อนุสาวรีย์ ได้ปรับขึ้นค่าโดยสารระยะละ 1 บาท หลังมีการปรับขึ้นค่าผ่านทาง ดอนเมืองโทลล์เวลล์ โดยมีการฉีกตั๋วโดยสารเพิ่มขึ้นจากราคาเดิม 1 บาท ให้กับผู้โดยสาร

นายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า กรณีดังกล่าวมีความผิด เพราะการปรับขึ้นค่าโดยสาร จะต้องปรับตามมติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ซึ่งประชาชนที่ขึ้นรถโดยสารคันดังกล่าว จะต้องเก็บตั๋วไว้เพื่อเป็นหลักฐาน โดยขณะนี้กำลังตรวจสอบจากกรมการขนส่งทางบกกลางว่าจะเอาผิดอย่างไร ซึ่งความผิดนั้นสามารถเอาผิดได้ทั้งเจ้าของอู่ พนักงานขับ พนักงานเก็บค่าโดยสาร อย่างไรก็ตาม หากรถโดยสารเรียกเก็บเกินราคาที่กำหนดไว้ ถือว่า ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ขนส่งทางบก แน่นอน ซึ่งมีโทษปรับ 20,000-50,000 บาท

**นายกฯ ปชป.บี้เด็ก ภท.แก้ไข

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (22 ธ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงกรณีการปรับขึ้นราคาค่าผ่านทางของทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ โดยได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปหาแนวทางในการยุติการขึ้นค่าผ่านทาง เนื่องจากได้พิจารณาสัญญาที่ได้มีการดำเนินการกันไว้ตั้งแต่ปี 2550 ในข้อที่ 6 ระบุว่าการขึ้นค่าผ่านทางได้ต้องไม่มีการฟ้องร้องระหว่างรัฐกับเอกชน แต่พบว่าบริษัท วอเตอร์ บราวเออร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) มีปัญหาฟ้องร้องกับรัฐบาลอยู่ ดังนั้น หากรัฐบาลสั่งให้ยุติการขึ้นค่าผ่านทาง และเอกชนมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง รัฐบาลก็สามารถยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาต่อสู้ได้

ทั้งนี้ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมเข้าไปดูแล นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางไปตรวจการจราจรบริเวณถนนวิภาวดีรังสิตในเวลา 17.00 น. โดยพบว่าปริมาณการจราจรบริเวณถนนวิภาวดี-รังสิต มีรถหนาแน่นกว่าปกติจริง และมีปัญหาการจราจรติดขัด ทั้งๆ ที่ในช่วงเช้านายโสภณได้ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาการจราจรบริเวณถนนวิภาวดี-รังสิตยังเป็นปกติ มีรถขึ้นไปใช้ดอนเมืองโทลล์เวย์น้อยลง และได้เตรียมรับมือกับปัญหาการจราจร โดยได้เปิดจุดประชาสัมพันธ์ให้หลีกเลี่ยงเส้นทาง โดยให้รถหลีกเลี่ยงไปใช้ถนนวงแหวนตะวันออกและตะวันตกแทน รวมทั้งกรมทางหลวงได้จัดเจ้าหน้าที่ 120 คน ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการจราจรจนกว่าจะกลับเข้าสู่สภาพปกติ

“เชื่อว่าเมื่อรถไม่ขึ้นไปใช้ดอนเมืองโทลล์เวย์ ในที่สุดบริษัทก็ต้องลดค่าผ่านทางลงอยู่ดี แต่ในส่วนของกระทรวงคมนาคม ไม่มีนโยบายในการเจรจากับดอนเมืองโทลล์เวย์อีก เพราะการเจรจาจะนำไปสู่การแก้ไขสัญญา ซึ่งตั้งแต่เปิดใช้บริการตามสัญญาโครงการนี้ มีการแก้ไขสัญญาแล้ว 2 ครั้ง จนต้องต่ออายุสัมปทานไปถึง 20 ปี ทำให้ภาครัฐเสียประโยชน์ และการปรับขึ้นค่าผ่านทางครั้งนี้ก็เป็นการขึ้นตามสัญญา”นายโสภณกล่าว

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการตรวจสอบปัญหาการจราจร นายโสภณได้ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ได้มอบหมายให้นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสัญญาสัมปทานระหว่างกรมทางหลวงกับดอนเมืองโทลล์เวย์ โดยให้นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เพื่อตรวจสอบการแก้ไขสัญญาและคดีความที่บริษัท วอเตอร์ บาวน์ จำกัด ฟ้องร้องรัฐบาลไทย โดยเฉพาะกรณีที่รัฐบาลขยายอายุสัมปทานให้ดอนเมืองโทลล์เวย์ไปแล้ว 25 ปี เพื่อชดใช้ค่าเสียหายที่ดอนเมืองโทลล์เวย์ต้องแบกรับในหลายกรณี และเมื่อมีการปรับแก้สัญญา โดยมีเงื่อนไขว่าเอกชนจะต้องถอนฟ้องรัฐบาลภายใน 30 วัน ซึ่งไม่ทราบว่ากรมทางหลวงได้ติดตามการถอนฟ้องของเอกชนหรือไม่

“หากมีผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่านักการเมืองหรือข้าราชการ แม้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว จะมีความผิดฐานละเมิด ซึ่งสามารถดำเนินคดีทางแพ่งและอาญา และหากเป็นข้าราชการ ถ้าพบว่ามีการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ก็จะมีการตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อไป”

นายโสภณกล่าวว่า การปรับแก้สัญญาดังกล่าวดำเนินการวันที่ 12 ก.ย.2550 สมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และพล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พบว่ามีปัญหาในสัญญาข้อ 5 และ 6 โดยข้อ 5 ระบุให้ผู้รับสัมปทานหรือดอนเมืองโทลล์เวย์สามารถปรับค่าผ่านทางตามตารางแนบท้าย และมีเงื่อนไขให้แจ้งกรมทางหลวงล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ

ส่วนสัญญาข้อ 6 เป็นข้อตกลงที่จะยุติคดีฟ้องร้องในศาลหรือการเสนอระงับข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการที่ดอนเมืองโทลล์เวย์เคยฟ้องร้องต่อรัฐกรณีที่มีการก่อสร้างทางคู่ขนานกับดอนเมืองโทลล์เวย์ ซึ่งบริษัทอ้างว่าทำให้สูญเสียรายได้ รวมทั้งการตรึงค่าผ่านทางในอดีต ทำให้บริษัทไม่ได้รับรายได้ตามที่ควรจะมี โดยการแก้สัญญาครั้งนั้น นำมาซึ่งการปรับขึ้นค่าผ่านทาง จากสัญญาสัมปทานเดิมดอนเมืองโทลเวย์สามารถขึ้นค่าผ่านทางได้ทุก 5 ปี แต่การไม่ได้ปรับค่าผ่านทางมานาน ทำให้ดอนเมืองโทลล์เวย์ปรับขึ้นค่าผ่านทางครั้งนี้สูงถึง 30 บาท

“ผมสั่งให้การตรวจสอบต้องได้ข้อสรุปภายใน 30 วันหลังจากปลัดฯ ลงนาม และอยากให้เข้าใจว่าปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยที่ผมเป็นรัฐบาล ก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลปี 2551 เขาทำอะไรกันอยู่ทำไมไม่แก้ไข ผมจึงต้องมาดูสัญญาทั้งหมดที่กรมทางหลวงทำกับดอนเมืองโทลล์เวย์ เพื่อทำความเข้าใจ และผมสั่งกรมทางหลวงไปแล้วว่าให้หาแนวทางแก้ปัญหาให้ผู้ใช้รถใช้ถนน แต่ต้องไม่มีการปรับแก้สัญญาอีกแล้ว และเราไม่ขอเจรจากับเอกชนด้วย” นายโสภณกล่าว

**ศาลยกคำร้องขอระงับขึ้นค่าโทลเวย์

เย็นวันเดียวกัน ศาลปกครองกลางได้พิจารณากรณีคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน และขอให้ศาลมีกำหนดมาตรการ หรือวิธีการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ก่อนการพิพากษา โดยขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการขึ้นราคาค่าทางด่วนโทลล์เวย์ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งถึงที่สุด หลังจากศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การปรับขึ้นค่าผ่านทางด่วนเป็นการปรับขึ้นตามข้อตกลงที่กำหนดในสัญญาระหว่างอธิบดีกรมทางหลวงและบริษัท ทางยกระดับ ดอนเมือง จำกัด (มหาชน) อธิบดีกรมทางหลวงไม่อาจใช้ดุลพินิจกำหนดอัตราค่าทางด่วนเป็นอย่างอื่นได้ อีกทั้งทางด่วนโทลล์เวย์ถือเป็นทางเลือกหนึ่งของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเท่านั้น หากผู้ถูกฟ้องคดีไม่ประสงค์จะใช้ทางด่วนโทลล์เวย์ สามารถใช้ถนนตามทางปกติได้

ทั้งนี้ จึงเห็นว่ากรณีดังกล่าวถ้าศาลมิได้กำหนดมาตรการ หรือวิธีการคุ้มครองใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ไม่ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีเกิดความเสียหาย ที่ยากแก่การเยี่ยวยาแก้ไข จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการ หรือวิธีการคุ้มครองใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ก่อนการพิพากษา จึงมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น