xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคม-กรมทางหลวงเพิ่มตื่น หมดทางเบรคโทลล์เวย์ขึ้นราคา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- “คมนาคม-กรมทางหลวง”เพิ่งตื่นแจงหมดทางเบรค“โทลล์เวย์”ขึ้นค่าผ่านทางวันนี้ (22 ธ.ค.) ประชาสัมพันธ์ประชาชนหลีกเลี่ยงวิภาวดีลดปัญหาจราจร “โสภณ”เผยสัญญาบล็อกทำอะไรเอกชนไม่ได้ ชี้ช่องต่อสู้ กรณีวอเตอร์บาวน์ผู้ถือหุ้นโทลล์เวย์ฟ้องไทยถือว่าผิดเงื่อนไขสัญญาที่ขยายอายุสัมปทานใหม่ แต่ต้องรอข้อพาทยุติ

นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับ นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม นายวีระ เรืองสุขศรีวงศ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) วานนี้ (31 ธ.ค.) ว่า ได้หารือถึงการปรับขึ้นค่าผ่านทางดอนเมืองโทลล์เวย์ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันนี้ (22 ธ.ค.52) แล้วพบว่าเป็นการดำเนินการตามสัญญาซึ่งภาครัฐมีข้อจำกัดในการดำเนินการ เนื่องจากเป็นเรื่องของบริษัทเอกชน ซึ่งยอมรับว่า การปรับขึ้นค่าผ่านทางครั้งนี้ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนซึ่งกรมทางหลวงได้เตรียมมาตรการลดผลกระทบด้านการจราจรบนถนนวิภาวดีทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณจราจรหนาแน่นขึ้นเมื่อโทลล์เวย์ปรับขึ้นค่าผ่านทาง

นายโสภณกล่าวว่า การปรับขึ้นค่าผ่านทางครั้งนี้เป็นเงื่อนไขจากสัญญาสัมปทานที่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อปี 2550 ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันแต่สัญญาที่แก้ไขนี้ได้ระบุไว้ในข้อ 6 ว่า โทลล์เวย์ตกลงยกเลิกข้อเรียกร้อง การฟ้องร้องคดีต่อศาลและหรือนำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการที่เกิดขึ้นแล้วและที่จะเกิดขึ้น ซึ่งขณะนั้น โทลล์เวย์มีข้อพิพาทกับกรมทางหลวงรวม 9 ประเด็น ซึ่งต่อมา บริษัท วอเตอร์บาวน์ จำกัด ซึ่งเคยเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัททางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ได้ฟ้องรัฐบาลไทยให้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโทลล์เวย์และข้อพิพาทได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ

ดังนั้นขณะนี้แนวทางที่รัฐบาลไทยจะต่อสู้ได้คือในชั้นอนุญาโตตุลาการ ซึ่งหากยุติว่า รัฐบาลแพ้ ก็ต้องดูว่า การที่บริษัทวอเตอร์บาวน์ ฟ้องร้องนั้น บริษัทแม่คือ ดอนเมืองโทลล์เวย์จะต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่ และถ้าโทลล์เวย์ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย ก็แสดงว่า โทลล์เวย์ผิดเงื่อนไขที่ห้ามฟ้องร้องอีก ดังนั้น การปรับขึ้นค่าผ่านทางครั้งนี้ก็ไม่ชอบ

“คงทำอะไรตอนนี้ไม่ได้ เพราะสัญญากำหนดให้ขึ้นค่าผ่านทางและรัฐก็ไม่เสนอขอเจรจาก่อนเพราะไม่อยากไปต่อเรื่องสิทธิประโยชน์ให้เอกชนอีกเหมือนที่ผ่านมา แต่จะใช้การต่อสู้ในชั้นศาลที่ได้อุทธรณ์ในชั้นอนุญาโตตุลาการไปแล้ว”นายโสภณกล่าว

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นอนุญาโตตุลาการได้ตัดสินให้กรมทางหลวงจ่ายค่าเสียหายจำนวน 29 ล้านยูโร หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท ให้แก่บริษัท วอเตอร์บาวน์ จำกัด และฝ่ายกรมทางหลวงได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการไปแล้ว อยู่ระหว่างรอศาลพิจารณา โดยใช้ประเด็ฯที่เคยต่อสู้ในชั้นอนุญาโตฯทั้งนี้ บริษัทวอเตอร์บาวน์ได้ถอนหุ้นออกจากโทลล์เวย์ไปก่อนที่มีการตกลงปรับปรุงสัญญาใหม่ และการที่ศาลได้รับฟ้องนั้นถือว่าโทลล์เวย์ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องการฟ้องร้องครั้งนี้ของบริษัทวอเตอร์บาวน์หรือไม่ ซึ่งต้องรอผลคดีถึงที่สุดเพื่อดำเนินการในเรื่องการปรับขึ้นค่าผ่านทางมิชอบต่อไป

การแก้ไขสัญญาสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์ เมื่อปี 2550 ทำให้อายุสัมปทานในปี 2577 เพื่อชดเชยการขาดทุนของบริษัท ที่มีหนี้สูงถึง 1.4 พันล้านบาท เนื่องจากมีการก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ (Local Road) และจากการขาดทุนที่รัฐบาลให้เก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ทำให้บริษัทต้องประสบภาวะขาดทุน โดยการปรับขึ้นค่าผ่านทางดอนเมืองโทลล์เวย์ ที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2552 นี้

โดยปรับขึ้นตามระยะทางช่วงดินแดง - ดอนเมือง จะปรับจาก 35 บาท เป็น 60 บาท และช่วงดอนเมือง - อนุสรณ์สถานปรับจาก 20 บาทเป็น 25 บาทส่วนมาตรการบรรเทาปัญหาจราจรบนถนนวิภาวดีรังสิตนั้น นายโสภณกล่าวว่า มาตรการเร่งด่วนนั้นได้มีการสำรวจเส้นทางเชื่อมเข้าสู่ถนนวิภาวดีฯเพื่อเบี่ยงเส้นทางลดการจราจรเข้าสู่วิภาวดี และปรับย้ายป้ายรถเมล์ที่ส่งผลให้จราจรติดขัด รวมถึงจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์หลีกเลี่ยงการเข้าถนนวิภาวดีฯ และให้ใช้ถนนวงแหวนตะวันออกและตะวันตกในการเข้าเมืองแทนซึ่งอาจทำให้ระยะทางเพิ่มขึ้นบ้าง สวนระยะยาว จะเพิ่มเส้นทางลอด ทางเบี่ยง ในการเชื่อมเข้าสู่ถนนวิภาวดีฯ โดยจะประเมินผลมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้นประมาณกลางเดือนม.ค.2553 อีกครั้ง

นายวีระ เรืองสุขศรีวงศ์ อธิบดีกรมทางหลวงกล่าวว่า คาดว่าปริมาณจราจรบนวิภาวดีฯ จะเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 10% หรือ 20,000 คัน ซึ่ง 5 มาตรการลดผลกระทบบนถนนวิภาวดีฯ เน้นการติดป้ายประชาสัมพันธ์อัตราค่าผ่านทางใหม่ของโทลล์เวย์และทางเลือกในการเดินทาง ตั้งศูนย์กระจายข่าว Call Center 1586 ติดป้าย VMS แสดงสภาพจราจร และรายงานผ่านเวปไซด์ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
กำลังโหลดความคิดเห็น