xs
xsm
sm
md
lg

‘กำไร’จากสงครามในภาคใต้ของปท.ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหตุการณ์การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย มีส่วนอย่างแน่นอนที่ทำให้อาณาบริเวณนี้บังเกิดภาวะไร้เสถียรภาพ ทว่าก็มีเจ้าหน้าที่ไทยบางรายระบุว่า แท้ที่จริงแล้ว การวิวาทขัดแย้งกันระหว่างพวกนักการเมืองท้องถิ่นและแก๊งอาชญากรรมต่างหาก คือสาเหตุสำคัญที่สุดของความรุนแรงที่เกิดขึ้น พล.ท.พิเชษฐ์ พิสัยจร แม่ทัพกองทัพภาคที่ 4 นายทหารระดับสูงสุดที่รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ กล่าวกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ในเดือนพฤศจิกายนว่า จากสถิติที่รวบรวมเอาไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วแสดงให้เห็นว่า มีเพียง 26% ของเหตุการณ์รุนแรงเท่านั้นที่เกี่ยวข้องพัวพันกับการก่อความไม่สงบ ถ้าหากเป็นจริงตามนี้ นั่นหมายความว่าการสังหารผู้คนร่วมๆ 4,000 คนที่เกิดขึ้นในระยะ 6 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แล้วน่าจะเนื่องมาจากการวิวาทขัดแย้งทางการเมืองและกิจกรรมด้านอาชญกรรมมากกว่า

ขณะที่การก่อความไม่สงบ อาจจะเป็นจุดรวมศูนย์ของการปรึกษาหารือกันระหว่างมาเลเซียกับประเทศไทย แต่ถ้าหากเราเชื่อข้ออ้างนี้ของฝ่ายทหารแล้ว การปรึกษาหารือที่แท้จริงก็ควรมุ่งไปยังเรื่องวิธีการในการปราบปรามกวาดล้างกิจกรรมด้านอาชญากรรมตามแนวชายแดนร่วมกันของประเทศทั้งสอง ถึงแม้ปัจจุบันความรุนแรงจำกัดตัวอยู่แต่ทางฝั่งไทย ทว่าความเชื่อมโยงกันระหว่างความรุนแรงที่ก่อขึ้นโดยพวกผู้ก่อความไม่สงบ และที่ก่อขึ้นโดยพวกแก๊งอาชญากรรม ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยเพิกเฉย เช่นเดียวกับไม่ควรที่จะดูเบาความเป็นไปได้ที่ความรุนแรงอันเกี่ยวข้องโยงใยกับอาชญากรรม จะกระเซ็นสาดแพร่ลามเข้าไปในมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากมีลู่ทางมากเพียงพอที่จะทำกำไรได้งามๆ

ปัจจุบันมีการลักลอบขนส่งสินค้าต่างๆ หลากหลายข้ามพรมแดนระหว่างสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า, ข้าวสาร, สัตว์เลี้ยงตามฟาร์ม, ประทัดดอกไม้ไฟ, เครื่องอิเล็กทรอนิกส์, สัตว์ป่า, น้ำมันเบนซิน, รถยนต์, และยาเสพติด ตามสถิติของฝ่ายมาเลเซีย ในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2009 กองกำลังปฏิบัติการทั่วไป (General Operations Force) ซึ่งเป็นกองกำลังกึ่งทหารหน่วยหนึ่งของสำนักงานตำรวจมาเลเซีย สามารถยึดสินค้าเถื่อนได้มูลค่าเกือบ 2.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเขตรัฐกลันตัน ส่วนกองกำลังปฏิบัติการทางน้ำ (Marine Operations Force) ที่เป็นกองตำรวจน้ำของมาเลเซีย ก็ยึดสินค้าลักลอบได้คิดเป็นมูลค่า 1.38 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

เรื่องยาเสพติดก็กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ โดยที่มีสารกระตุ้นจำพวกแอมเฟตามิน จำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตขึ้นในพม่า กำลังถูกแอบขนส่งข้ามชายแดน ถึงแม้มาเลเซียมีกฎหมายปราบปรามยาเสพติดที่มีบทลงโทษรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต ทว่าการใช้ยาเสพติดในหมู่ชาวมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนอายุน้อย ก็กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งประเทศนี้ยังกำลังกลายเป็นจุดผ่านในเส้นทางลักลอบขนยาเสพติดกระจายไปทั่วภูมิภาคแถบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ตามรายงานยุทธศาสตร์การควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศปี 2009 (2009 International Narcotics Control Strategy Report) ที่จัดทำโดยทางการสหรัฐฯ

ทางด้านการลักลอบค้ามนุษย์ ก่อนหน้านี้ในปีนี้ มาเลเซียได้ถูกใส่ชื่อไว้ในบัญชีดำของรายงานการลักลอบค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ รวมทั้งยังถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในรายงานฉบับหนึ่งที่เผยแพร่โดยคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯเมื่อเดือนเมษายน รายงานทั้งสองฉบับต่างกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและกองกำลังความมั่นคงของมาเลเซีย รู้เห็นเป็นใจกับพวกเครือข่ายลักลอบค้ามนุษย์ที่มีการจัดตั้งองค์กรอันเข้มแข็ง และปฏิบัติการข้ามพรมแดนที่ติดต่อกับประเทศไทย ถึงแม้รายงานนี้มุ่งเน้นไปที่มาเลเซียเป็นจุดสำคัญ แต่เนื่องจากเครือข่ายเหล่านี้มีการปฏิบัติการแบบข้ามพรมแดน จึงบ่งชี้ให้เห็นว่าต้องมีการเกี่ยวข้องพัวพันกับพวกกองกำลังความมั่นคงของไทยและเจ้าหน้าที่ไทยด้วยเช่นกัน

ในเบื้องต้นทีเดียวพวกเจ้าหน้าที่มาเลเซียพากันปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ ทว่าไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิบ ราซัค ก็ได้ออกมาแถลงให้สัญญาในวันที่ 24 เมษายนว่าจะดำเนินการสอบสวนประเด็นต่างๆ ที่รายงานของสหรัฐฯหยิบยกขึ้นมากล่าวหา “เราจะมีการดำเนินการตามความเหมาะสม” เขากล่าวเมื่อวันที่ 25 เมษายน “เราไม่ต้องการให้มาเลเซียถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับการลักลอบค้ามนุษย์ ... แต่เราก็จำเป็นจะต้องทราบข้อเท็จจริงให้มากขึ้นกว่านี้” หลังจากนั้นก็มีรายงานข่าวการปราบปราม ซึ่งมีการจับกุมผู้คนจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่าพัวพันกับพวกแก๊งค้ามนุษย์ โดยในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองรวมอยู่ด้วยหลายคน

มาเลเซียกับไทยได้มีการตกลงกันให้กองกำลังความมั่นคงของทั้งสองฝ่ายทำการลาดตระเวนบริเวณพื้นที่ชายแดนร่วมกัน แต่การปฏิบัติการดังกล่าวมักถูกบ่อนทำลาย โดยที่หลายๆ คนกล่าวหาว่า เป็นเพราะมีการทุจริตคอร์รัปชั่นหนักหน่วง แหล่งข่าวที่ทราบเรื่องดีรายหนึ่งกล่าวหาว่า เนื่องจากผลกำไรที่จะทำได้นั้นสูงลิ่วจนเพียงพอที่จะทำให้ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐบาลบางรายวิ่งเต้นขอให้ได้โยกย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ใต้สุดของไทย เรื่องนี้จึงยิ่งส่งเสริมสนับสนุนความเชื่อที่มีอยู่แล้วของผู้คนจำนวนมากทางภาคใต้ที่ว่า การก่อความไม่สงบจะไม่มีทางยุติลงเลย สืบเนื่องจากภาวะไร้ขื่อแปและความขัดแย้งนั้น ทำให้มีโอกาสที่จะสร้างผลกำไรได้อย่างงามๆ

(เก็บความและตัดตอนจากเรื่อง War brings profits to south Thailand โดย Brian McCartan นักหนังสือพิมพ์อิสระที่พำนักอยู่ในกรุงเทพฯ)
กำลังโหลดความคิดเห็น