เอเอฟพี - นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เริ่มการเยือนประเทศไทยในวันนี้(7) โดยมีกำหนดการเกี้ยวก้อยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย ไปเยือนจังหวัดนราธิวาสในวันพุธ(9) การเดินทางของผู้นำรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านทั้งสอง ไปยังพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทยขณะที่กำลังเกิดเหตุการณ์ไม่สงบอย่างยืดเยื้อเช่นนี้ นับเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และนักวิเคราะห์มองว่า เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการที่นายกฯราซัคหนุนหลังนายกฯอภิสิทธิ์
“การเดินทางครั้งนี้เป็นการเยือนในเชิงสัญลักษณ์มากๆ ทีเดียว ... ทั้งสองคนกำลังแสดงจุดยืนร่วมกันว่าควรมีการสานเสวนากัน และยุติความรุนแรงเสียที” นายรูเบน หว่อง ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศจากสถาบันกิจการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ ระบุ
ถึงแม้การเยือนจังหวัดนราธิวาสคราวนี้ อาจไม่ยังเกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรมอะไรนัก แต่พวกนักวิเคราะห์ก็มองว่า มันจะเป็นการแสดงความสนับสนุนทางจิตใจแก่นายอภิสิทธิ์ ซึ่งพยายามหาทางแก้ไขปัญหาการก่อเหตุไม่สงบของพวกมุสลิมแบ่งแยกดินแดนอยู่
“มีปัญหาความเกลียดชังกันอยู่ โดยที่เจ้าหน้าที่ของไทยบางคนกล่าวหามาเลเซียว่าให้การสนับสนุนพวกแบ่งแยกดินแดน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่นาจิบจะต้องยืนอยู่ข้างเดียวกับอภิสิทธิ์ และบอกว่ามาเลเซียจะสนับสนุนหนทางการแก้ปัญหาโดยสันติ” นายหว่องบอก
“วิธีนี้จะช่วยให้ความพยายามของอภิสิทธิ์ในการสร้างความสงบให้กับภาคใต้มีน้ำหนักมากขึ้น เพราะพวกผู้นำในภาคใต้เองก็มองมาเลเซียว่าเป็นโมเดล และเป็นผู้ที่มีศักยภาพจะกลายเป็นเพื่อนมิตรของพวกเขา”
ทำนองเดียวกับพวกสื่อต่างประเทศรายอื่นๆ รายงานข่าวชิ้นนี้ของสำนักข่าวเอเอฟพีพูดถึงความเป็นมาของความตึงเครียดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า มีมานานแล้วตั้งแต่ที่ดินแดนเหล่านี้ยังเป็นรัฐสุลต่านมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ที่เคยปกครองตนเองอย่างอิสระ แต่ได้ถูกผนวกรวมเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศไทยซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธในปี ค.ศ. 1902
ความตึงเครียดดังกล่าวนี้ ได้เกิดปะทุอย่างรุนแรงเป็นระลอกล่าสุดในเดือนมกราคม 2004 และนับจากนั้นมาก็ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 4,000 คนแล้ว
เอเอฟพีบอกว่า ในอดีตไทยเคยกล่าวหามาเลเซียว่าล้มเหลวในการป้องกันไม่ให้ผู้ก่อความไม่สงบเดินทางข้ามไปมาตามแนวชายแดนร่วมกันของประเทศทั้งสองที่มีความยาว 650 กิโลเมตร
แต่นับจากนายนาจิบขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเมื่อเดือนเมษายน การกล่าวหาดังกล่าวก็เบาบางลง และเมื่อเดือนตุลาคม นายนาจิบได้เรียกร้องให้ไทยยอมให้ความเป็นอิสระ “ในบางรูปแบบ” แก่พื้นที่ที่มีปัญหาดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อเสนอที่นายอภิสิทธิ์สนับสนุนและเรียกว่าเป็น “แนวทางที่ถูกต้อง”
แนวคิดของนายนาจิบนั้นแตกต่างอย่างชัดเจนจากแนวคิดของอดีตนายกรัฐมนตรี นายแพทย์ มหาธีร์ โมฮัมหมัด ซึ่งเคยเรียกร้องเมื่อปี 2004 ให้ไทยพิจารณาเรื่องการยอมให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองอิสระ จนทำให้พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยโกรธเคืองกันมาก
“นาจิบใช้แนวทางทางการทูตที่เป็นมิตรและนุ่มนวลกว่าเดิม ซึ่งเป็นรูปแบบที่คนไทยชอบ” นายเค. เอส. บาลากฤษณัน หัวหน้าภาควิชาการระหว่างประเทศศึกษาและยุทธศาสตร์ศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยมลายา กล่าว และชี้ว่า “วิธีนี้ทำให้พอมองเห็นทางแก้ไขปัญหากันได้”
ทางด้านนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่าไทยกับมาเลเซียจะหาทางเพิ่มพูนการติดต่อเชื่อมโยงข้ามพรมแดนระหว่างกัน ทว่าไทยไม่ได้คาดหมายว่ามาเลเซียจะเข้ามาแทรกแซงในเหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้นทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
“ความไม่สงบในภาคใต้เป็นกิจการภายใต้ของไทยอย่างสิ้นเชิง และมาเลเซียก็ยอมรับจุดยืนของเราในเรื่องนี้” เขากล่าวกับเอเอฟพี
“ในเรื่องเกี่ยวกับชายแดน ทั้งสองประเทศจะปรับเปลี่ยนระบบการข้ามชายแดนของประชาชนในประเทศของตนใหม่ และเราจะหารือกันเรื่องการเชื่อมโยงทางหลวง ทางรถไฟ อุโมงค์ลอดใต้ดิน และทางด่วนต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาอาหารฮาลาลร่วมกันด้วย”
ทั้งนี้ นายนาจิบมีกำหนดเดินทางถึงกรุงเทพฯ ในวันนี้ (7) และจะหารือกับนายอภิสิทธิ์ก่อนที่จะเดินทางลงพื้นที่ชายแดนภาคใต้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองจะเข้าร่วมในพิธีเปลี่ยนชื่อของ “สะพานมิตรภาพ” ที่ทอดข้ามแม่น้ำตรงแนวชายแดนระหว่างมาเลเซียกับไทย จากนั้นจะเดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนอิสลามแห่งหนึ่งด้วย
ทางด้านนาย สุนัย ผาสุก เจ้าหน้าที่ซึ่งประจำอยู่ในกรุงเทพฯของกลุ่ม “ฮิวแมน ไรต์ส์ วอตช์” กล่าวให้ความเห็นว่า ประเทศไทยคงจะขอร้องให้มาเลเซียช่วยกดดันพวกผู้นำกลุ่มก่อความไม่สงบในภาคใต้ ที่เชื่อกันว่ากำลังซ่อนตัวอยู่ในมาเลเซีย
“ทว่า เนื่องจากจริงๆ แล้ว อภิสิทธิ์เองไม่มีอะไรที่จะแลกเปลี่ยนตอบแทนให้แก่นาจิบ ดังนั้น ในการเจรจาลับกัน ไทยก็คงจะทำได้เพียงแค่ขอร้องแบบเดิมๆ คือขอให้มาเลเซียกดดันผู้นำกลุ่มก่อความไม่สงบให้ยอมจำนน หรืออาจถึงขั้นขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน”
“แต่ผมก็ยังมองไม่เห็นว่ามาเลเซียจะดำเนินการตามคำขอร้องดังกล่าวด้วยเหตุผลใด”