xs
xsm
sm
md
lg

‘กำไร’จากสงครามในภาคใต้ของประเทศไทย (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ไบรอัน แมคคาร์แทน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

War brings profits to south Thailand
By Brian McCartan
11/12/2009

นายกรัฐมนตรี นาจิบ ตุน ราซัค เดินทางเยือนประเทศไทย โดยย้ำยืนยันอีกครั้งว่ามาเลเซียสนับสนุนนโยบายของไทยในการต่อสู้เอาชนะการก่อความไม่สงบของพวกกบฏมุสลิมในแถบจังหวัดตอนใต้สุดที่ประชิดติดชายแดนมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม การก่อความไม่สงบในพื้นที่ดังกล่าวจะยังไม่ยุติลง ตราบเท่าที่ยังมีผู้ที่สามารถทำกำไร โดยเฉพาะจากการค้ามนุษย์และการลักลอบขนยาเสพติด

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

นราธิวาส/กรุงเทพฯ – นายกรัฐมนตรี นาจิบ ตุน ราซัค แห่งมาเลเซีย เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อเร็วๆ นี้ (7-9 ธันวาคม) โดยที่ได้เดินทางพร้อมกับนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ของไทย ไปยังพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศที่กำลังประสบปัญหาหนัก การเดินทางเยือนพื้นที่ดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงการสนับสนุนนโยบายต่างๆ ของฝ่ายไทยในการต่อสู้เอาชนะการก่อความไม่สงบของพวกกบฏมุสลิม หลังจากที่มีการกล่าวหากันอยู่บ่อยๆ ว่าพวกกบฏเหล่านี้กำลังอาศัยพื้นที่บริเวณชายแดนทางภาคเหนือของมาเลเซียเป็นที่พำนักหลบภัยและวางแผนการโจมตีต่างๆ

ทว่าท่าทีทางการทูตดังกล่าวไม่น่าที่จะสร้างผลกระทบเฉพาะหน้าใดๆ ต่อพวกหัวรุนแรงแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้ หรือต่อภาวะไร้ขื่อแปโดยรวมในพื้นที่แถบนี้ ใน 3 จังหวัดชายแดนทางตอนใต้สุดของไทย อันได้แก่ ยะลา, ปัตตานี, และนราธิวาส รวมทั้งอีก 4 อำเภอจากจังหวัดสงขลาที่อยู่ติดกัน ประชากรส่วนข้างมากเป็นชาวมุสลิมที่เป็นชนชาติมาเลย์ โดยที่ชนชาตินี้เองก็ประกอบขึ้นเป็นประชากรส่วนข้างมากในมาเลเซีย

ตามประวัติศาสตร์ พื้นที่ไม่สงบแห่งนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสุลต่านแห่งปัตตานี ซึ่งมีดินแดนครอบคลุมอีกหลายส่วนทางภาคเหนือของมาเลเซียในปัจจุบันด้วย พื้นที่เหล่านี้ถูกผนวกรวมเข้ากับประเทศสยาม ที่ปัจจุบันก็คือประเทศไทย ในปี 1909 และนับตั้งแต่ทศวรรษ 1940 เป็นต้นมา มีอยู่หลายต่อหลายช่วงทีเดียวที่ผู้คนในพื้นที่เหล่านี้ได้แสดงการต่อต้านทางการกรุงเทพฯ โดยที่ประชากรส่วนข้างมากในความปกครองของกรุงเทพฯนั้นเป็นชาวพุทธ

ผลที่ปรากฏออกมาในปัจจุบันก็คือ มีชาวมุสลิมมาเลย์จำนวนมากในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งมีญาติอยู่ทั้งสองฟากข้างของชายแดน และมักมองไปยังมาเลเซียมากกว่า เมื่อต้องการแรงบันดาลใจไม่ว่าจะเป็นทางด้านสังคม, เศรษฐกิจ, หรือศาสนา คนหนุ่มๆ ที่เที่ยวหางานทำ มักมองอย่างเปรียบเทียบระหว่างท้องถิ่นของพวกตน กับความมั่งคั่งของรัฐกลันตันที่อยู่ทางตอนเหนือของมาเลเซีย หรือของเมืองใหญ่ต่างๆ ที่อยู่ตอนในเข้าไป เป็นต้นว่า เมืองหลวงกัวลาลัมเปอร์ ที่ซึ่งพวกเขาสามารถพูดภาษาท้องถิ่นและรู้สึกเหมือนอยู่บ้านเนื่องจากมีขนบธรรมเนียมและศาสนาอย่างเดียวกัน พวกเจ้าหน้าที่ของไทยอ้างว่า ในอดีตมีชาวมุสลิมมาเลย์ในพื้นที่แถบนี้จำนวนระหว่าง 50,000 ถึง 100,000 คน ที่เป็นพวก 2 สัญชาติ โดยถือบัตรประชาชนทั้งของไทยและของมาเลเซีย

มีความรู้สึกกันอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวมุสลิมมาเลย์ว่า กรุงเทพฯปล่อยปละไม่ใยดีความจำเป็นทั้งทางเศรษฐกิจและทางการศึกษาของพวกเขามาเนิ่นนานแล้ว อีกทั้งยังปฏิเสธไม่ยอมรับว่าพวกเขามีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่แตกต่างออกไป สิ่งนี้เป็นบ่อเกิดทำให้บางคนมีความระแวงไม่ไว้วางใจอย่างลึกซึ้งต่อรัฐไทย ซึ่งยิ่งเพิ่มพูนขึ้นอีกในช่วงหลังๆ มานี้ จากการที่กองกำลังความมั่นคงของไทยหวังที่จะฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยด้วยการใช้มาตรการอันรุนแรงต่างๆ

ตามข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) อันเป็นกลุ่มติดตามและศึกษาวิจัยสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีผู้คนในพื้นที่แถบนี้ถูกฆ่าตายไปมากกว่า 3,900 คน ในระหว่างเดือนมกราคม 2004 ถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2009

ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่ามีผู้นำหลายๆ คนของกลุ่มก่อความไม่สงบทั้งที่เป็นกลุ่มเก่าและน่าจะรวมถึงกลุ่มในปัจจุบันด้วย ไปพำนักหรือบางครั้งก็ไปหลบภัยด้วยการข้ามชายแดนเข้าไปในมาเลเซีย ดังนั้นถึงที่สุดแล้วก็จำเป็นต้องอาศัยการลงแรงของกัวลาลัมเปอร์ด้วย หากจะมีหนทางสุดท้ายใดๆ เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งที่กำลังปะทุบานปลาย อย่างไรก็ดี การสนทนาระหว่างรัฐบาลของประเทศทั้งสองในเรื่องการก่อความไม่สงบนั้น มักจะดำเนินไปอย่างไม่ค่อยราบรื่นนัก

ชาวมาเลเซียจำนวนมากรู้สึกโกรธกริ้วต่อเหตุการณ์สังหารหมู่คนมุสลิมโดยฝีมือกองกำลังความมั่นคงของไทยที่มัสยิดกรือเซะ เมื่อเดือนเมษายน 2004 และเหตุการณ์เสียชีวิตในสภาพหายใจไม่ออกของชาวมุสลิมมาเลย์ 78 คนขณะอยู่ในความควบคุมของกองทัพบกภายหลังถูกจับกุมตัวที่อำเภอตากใบในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ขณะที่ข้อเสนอแนะจาก มหาเธร์ โมฮาหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียขณะนั้น ที่ว่าประเทศไทยควรอนุญาตให้ดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีอำนาจปกครองตนเอง ก็ได้รับการต้อนรับอย่างเย็นชาในกรุงเทพฯ

ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งประเทศทั้งสอง ได้เสื่อมทรามลงไปมากในปี 2005 เมื่อกลุ่มชาวมุสลิมมาเลย์จำนวน 131 คน ซึ่งมีทั้งผู้หญิงและเด็ก ได้หลบหนีข้ามพรมแดนไทยเข้าไปทางภาคเหนือของมาเลเซีย โดยอ้างว่าพวกเขาหวาดกลัวจะถูกรัฐบาลไทยตั้งข้อหาดำเนินคดี มาเลเซียปฏิเสธที่จะส่งคนเหล่านี้กลับมาหากไม่ให้สหประชาชาติทำหน้าที่คอยเฝ้าติดตาม ด้วยความรู้สึกว่าเสียหน้ารวมทั้งหวาดกลัวว่าความขัดแย้งนี้จะถูกยกระดับกลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศ กรุงเทพฯจึงรีบประทับตราผู้ลี้ภัยเหล่านี้ว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ และกล่าวหากัวลาลัมเปอร์ว่าเข้ามายุ่งเกี่ยวแทรกแซงกิจการภายในของไทย ต่อจากนั้นยังมีเจ้าหน้าที่ไทยหลายๆ คนออกมากล่าวหาว่า พวกผู้ก่อความไม่สงบได้รับการฝึกอบรมในพื้นที่ป่าทึบห่างไกลทางภาคเหนือของมาเลเซีย

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น พยายามที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นเมื่อปี 2006 ด้วยการพบปะหารือกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนต่อจากมหาเธร์ ซึ่งก็คือ อับดุลเลาะห์ บาดาวี ความพยายามดังกล่าวต้องประสบกับอุปสรรคเมื่อ พล.อ.สุรยุทธ์อ้างว่า การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย กำลังได้รับเงินทุนบางส่วนจากเครือข่ายร้านอาหารแผงลอยขายต้มยำกุ้งในมาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์แสดงความไม่เชื่อถือข้ออ้างเหล่านี้ โดย ฟูอาเกียว รัฐมนตรีช่วยกระทรวงความมั่นคงของมาเลเซียในขณะนั้น พูดถึงข้อกล่าวหานี้ว่า “ไม่มีมูลความจริงเลย” และ “ช่างจินตนาการกันออกมาได้”

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นความสัมพันธ์ของสองประเทศก็ค่อยๆ กระเตื้องดีขึ้น โดยพวกนักวิเคราะห์บอกว่า ทั้งสองฝ่ายต่างเลิกกล่าวหากันและกัน และพยายามทำงานเพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหา มาเลเซียนั้นมีทัศนะว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นมาส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่ได้มีการพัฒนาทางสังคมและทางเศรษฐกิจในพื้นที่แถบนี้ และดังนั้นจึงเกิดการเร่งรัดสร้างโครงการร่วมพัฒนาขึ้นมา เรียกกันว่าโครงการ “3 อี” (Three E’s) ซึ่งหมายถึง การศึกษา (education), การจ้างงาน (employment), และความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) ทั้งนี้ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะอุดช่องว่างทางรายได้ระหว่างพื้นที่ภาคใต้ของไทยกับภาคเหนือของมาเลเซีย ได้มีการลงนามในข้อตกลงว่าด้วยโครงการดังกล่าวนี้ในปี 2007 ในระหว่างการพบปะหารือกันของคณะกรรมการชายแดนร่วมของทั้งสองประเทศที่กรุงเทพฯ

**มาเลเซียหวั่นภาวะไร้เสถียรภาพ‘แผ่ลาม’**

เห็นได้ชัดเจนว่ากัวลาลัมเปอร์มีความกังวลว่า ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยอาจแพร่กระจายเข้าสู่มาเลเซีย หรือว่าอาจเป็นการเปิดทางให้พวกเครือข่ายหัวรุนแรงระหว่างประเทศสามารถเข้ามาหยั่งรากฝังลึกในภูมิภาคแถบนี้

มาเลเซียนั้นเมื่ออยู่หลังฉากก็มีบทบาทเป็นหุ้นส่วนรายหนึ่งที่เข้าร่วมในความพยายามดำเนินการเจรจากับพวกแบ่งแยกดินแดนด้วย ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของผู้คนที่คุ้นเคยกับการพูดจาเหล่านี้ นอกจากนั้นยังเชื่อกันว่ารัฐบาลมาเลเซียมีช่องทางติดต่อสื่อสารกับพวกผู้นำของเหล่าขบวนการแบ่งแดนดินแดนไทย เป็นต้นว่า พวกขบวนการที่มีลักษณะเป็นพวกกระแสหลักมากสักหน่อย อย่างเช่น องค์การสามัคคีปลดแอกปะตานี หรือ พูโล (Patani United Liberation Organization หรือ PULO) และ บีอาร์เอ็น-โคออดิเนต (Barisan Revolusi Nasional-Coordinate หรือ BRN-C)

แต่ความพยายามที่จะดำเนินการเจรจาทั้งหลายทั้งปวง ดูเหมือนถูกถ่วงรั้งด้วยการที่กรุงเทพฯและกัวลาลัมเปอร์ไม่สามารถที่จะวินิจฉัยได้ว่า ในช่วงเวลาที่จะพูดคุยกันนั้นกลุ่มไหนกันแน่คือผู้ที่ควบคุมพวกนักรบในภาคสนามได้อย่างแท้จริง “จูเวะ” (juwae) หรือ “นักรบ” อันเป็นคำที่พวกเขาใช้เรียกตัวเองนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าปฏิบัติการในลักษณะเป็นหน่วยย่อยหน่วยเล็กๆ โดยมีการนำแบบแยกเป็นส่วนๆ จึงทำให้เกิดความยากลำบากที่จะวินิจฉัยทั้งในเรื่องจุดมุ่งหมายและจำนวนของพวกเขา

ในระยะหลังๆ มานี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ได้แสดงท่าทีออกมาอย่างชัดเจนอยู่หลายๆ ครั้งว่า จะไม่มีการเจรจาใดๆ กับพวกแบ่งแยกดินแดน ขณะเดียวกัน การที่ฝ่ายทหารไม่ได้ทำอะไรให้คืบหน้า ในเรื่องการจับกุมผู้ก่อเหตุสังหารโหดชาวมุสลิม 11 คนที่กำลังละหมาดอยู่ในมัสยิดอัลฟุรกอน จังหวัดนราธิวาสเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็เชื่อกันว่ากำลังกลายเป็นการโหมกระพือเพิ่มความรู้สึกเคียดแค้นต้องการก่อความไม่สงบ

ไบรอัน แมคคาร์แทน เป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระที่พำนักอยู่ในกรุงเทพฯ สามารถติดต่อเขาได้ที่ brianpm@comcast.net


(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
  • ‘กำไร’จากสงครามในภาคใต้ของประเทศไทย (ตอนจบ)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น