xs
xsm
sm
md
lg

‘กำไร’จากสงครามในภาคใต้ของประเทศไทย (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ไบรอัน แมคคาร์แทน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

War brings profits to south Thailand
By Brian McCartan
11/12/2009

นายกรัฐมนตรี นาจิบ ตุน ราซัค เดินทางเยือนประเทศไทย โดยย้ำยืนยันอีกครั้งว่ามาเลเซียสนับสนุนนโยบายของไทยในการต่อสู้เอาชนะการก่อความไม่สงบของพวกกบฏมุสลิมในแถบจังหวัดตอนใต้สุดที่ประชิดติดชายแดนมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม การก่อความไม่สงบในพื้นที่ดังกล่าวจะยังไม่ยุติลง ตราบเท่าที่ยังมีผู้ที่สามารถทำกำไร โดยเฉพาะจากการค้ามนุษย์และการลักลอบขนยาเสพติด

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

ขณะที่เหตุการณ์การก่อความไม่สงบ มีส่วนอย่างแน่นอนที่ทำให้ภูมิภาคแถบนี้บังเกิดภาวะไร้เสถียรภาพ ก็มีเจ้าหน้าที่ไทยบางรายอ้างว่า แท้ที่จริงแล้ว การวิวาทขัดแย้งกันระหว่างพวกนักการเมืองท้องถิ่นกับแก๊งอาชญากรรมต่างหาก คือสาเหตุสำคัญที่สุดของความรุนแรงที่เกิดขึ้น พล.ท.พิเชษฐ์ พิสัยจร แม่ทัพกองทัพภาคที่ 4 นายทหารระดับสูงสุดที่รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ กล่าวกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ในเดือนพฤศจิกายนว่า จากสถิติที่รวบรวมเอาไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วแสดงให้เห็นว่า มีเพียง 26% ของเหตุการณ์รุนแรงเท่านั้นที่เกี่ยวข้องพัวพันกับการก่อความไม่สงบ ถ้าหากเป็นจริงตามนี้ นั่นหมายความว่าการสังหารผู้คนร่วมๆ 4,000 คนที่เกิดขึ้นในระยะ 6 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แล้วน่าจะเนื่องมาจากการวิวาทขัดแย้งทางการเมืองและกิจกรรมด้านอาชญกรรมมากกว่า

ขณะที่การก่อความไม่สงบอาจจะเป็นจุดรวมศูนย์ของการปรึกษาหารือกันระหว่างมาเลเซียกับประเทศไทย แต่ถ้าหากเราเชื่อข้ออ้างนี้ของฝ่ายทหารแล้ว การปรึกษาหารือที่แท้จริงก็ควรมุ่งไปยังเรื่องวิธีการในการปราบปรามกวาดล้างกิจกรรมด้านอาชญากรรมตามแนวชายแดนร่วมกันของประเทศทั้งสอง ถึงแม้ปัจจุบันความรุนแรงจำกัดตัวอยู่แต่ทางฝั่งไทย ทว่าความเชื่อมโยงกันระหว่างความรุนแรงที่ก่อขึ้นโดยพวกผู้ก่อความไม่สงบ และที่ก่อขึ้นโดยพวกแก๊งอาชญากรรม ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยเพิกเฉย เช่นเดียวกับไม่ควรที่จะดูเบาความเป็นไปได้ที่ความรุนแรงอันเกี่ยวข้องโยงใยกับอาชญากรรม จะกระเซ็นสาดแพร่ลามเข้าไปในมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากมีลู่ทางมากเพียงพอที่จะทำกำไรได้งามๆ

ปัจจุบันมีการลักลอบขนส่งสินค้าต่างๆ หลากหลายข้ามพรมแดนระหว่างสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า, ข้าวสาร, สัตว์เลี้ยงตามฟาร์ม, ประทัดดอกไม้ไฟ, เครื่องอิเล็กทรอนิกส์, สัตว์ป่า, น้ำมันเบนซิน, รถยนต์, และยาเสพติด บ่อยครั้งทีเดียวด้วยวัตถุประสงค์เพื่อหลบเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร ตามสถิติของฝ่ายมาเลเซีย ในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2009 กองกำลังปฏิบัติการทั่วไป (General Operations Force) ซึ่งเป็นกองกำลังกึ่งทหารหน่วยหนึ่งของสำนักงานตำรวจมาเลเซีย สามารถยึดสินค้าเถื่อนได้มูลค่าเกือบ 2.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเขตรัฐกลันตัน ส่วนกองกำลังปฏิบัติการทางน้ำ (Marine Operations Force) ที่เป็นกองตำรวจน้ำของมาเลเซีย ก็ยึดสินค้าลักลอบได้คิดเป็นมูลค่า 1.38 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

เรื่องยาเสพติดก็กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ โดยที่มีสารกระตุ้นจำพวกแอมเฟตามิน จำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตขึ้นในพม่า กำลังถูกแอบขนส่งข้ามชายแดน ถึงแม้มาเลเซียมีกฎหมายปราบปรามยาเสพติดที่มีบทลงโทษรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต ทว่าการใช้ยาเสพติดในหมู่ชาวมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนอายุน้อย ก็กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งประเทศนี้ยังกำลังกลายเป็นจุดผ่านในเส้นทางลักลอบขนยาเสพติดกระจายไปทั่วภูมิภาคแถบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ตามรายงานยุทธศาสตร์การควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศปี 2009 (2009 International Narcotics Control Strategy Report) ที่จัดทำโดยทางการสหรัฐฯ

ทางด้านการลักลอบค้ามนุษย์ ก่อนหน้านี้ในปีนี้มาเลเซียได้ถูกใส่ชื่อไว้ในบัญชีดำของรายงานการลักลอบค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ รวมทั้งยังถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในรายงานฉบับหนึ่งที่เผยแพร่โดยคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯเมื่อเดือนเมษายน รายงานทั้งสองฉบับต่างกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและกองกำลังความมั่นคงของมาเลเซีย รู้เห็นเป็นใจกับพวกเครือข่ายลักลอบค้ามนุษย์ที่มีการจัดตั้งองค์กรอันเข้มแข็ง และปฏิบัติการข้ามพรมแดนที่ติดต่อกับประเทศไทย ถึงแม้รายงานนี้มุ่งเน้นไปที่มาเลเซียเป็นจุดสำคัญ แต่เนื่องจากเครือข่ายเหล่านี้มีการปฏิบัติการแบบข้ามพรมแดน จึงบ่งชี้ให้เห็นว่าต้องมีการเกี่ยวข้องพัวพันกับพวกกองกำลังความมั่นคงของไทยและเจ้าหน้าที่ไทยด้วยเช่นกัน

ในเบื้องต้นทีเดียวพวกเจ้าหน้าที่มาเลเซียพากันปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ ทว่าไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีมาเซีย นาจิบก็ได้ออกมาแถลงให้สัญญาในวันที่ 24 เมษายนว่าจะดำเนินการสอบสวนประเด็นต่างๆ ที่รายงานของสหรัฐฯหยิบยกขึ้นมากล่าวหา “เราจะมีการดำเนินการตามความเหมาะสม” เขากล่าวกับสำนักข่าวเอพีเมื่อวันที่ 25 เมษายน “เราไม่ต้องการให้มาเลเซียถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับการลักลอบค้ามนุษย์ ... แต่เราก็จำเป็นจะต้องทราบข้อเท็จจริงให้มากขึ้นกว่านี้” หลังจากนั้นก็มีรายงานข่าวการปราบปราม ซึ่งมีการจับกุมผู้คนจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่าพัวพันกับพวกแก๊งค้ามนุษย์ โดยในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองรวมอยู่ด้วยหลายคน

ตามคำบอกเล่าของนายทหารไทยหลายๆ ราย ซึ่งรับผิดชอบด้านความมั่นคงปลอดภัยในพื้นที่แถบนี้ แก๊งอาชญากรรมหลายแก๊งที่เดียวมีเครือข่ายที่คอยขนส่งเฮโรอีนและยาเมทามเฟตามิน (ยาบ้า) ผ่านบริเวณนี้เข้าสู่มาเลเซีย พวกผู้หญิงจากภาคเหนือของไทยและกระทั่งจากที่ไกลๆ ออกไปอย่างเช่นจีน, เวียดนาม, และรัสเซีย ถูกนำตัวมายังเมืองชายแดนต่างๆ ของไทย เป็นต้นว่า อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และถูกบังคับให้ค้าประเวณี โดยที่ลูกค้าซึ่งมาซื้อบริการส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซีย

**เจ้าหน้าที่ทุจริตคอร์รัปชั่น**

มาเลเซียกับไทยได้มีการตกลงกันให้กองกำลังความมั่นคงของทั้งสองฝ่ายทำการลาดตระเวนบริเวณพื้นที่ชายแดนร่วมกัน แต่การปฏิบัติการดังกล่าวมักถูกบ่อนทำลายโดยที่หลายๆ คนกล่าวหาว่า เนื่องมาจากมีการทุจริตคอร์รัปชั่นหนักหน่วง แหล่งข่าวที่ทราบเรื่องดีรายหนึ่งกล่าวหาว่า เนื่องจากผลกำไรที่จะทำได้นั้นสูงลิ่วจนเพียงพอที่จะทำให้ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐบาลบางรายวิ่งเต้นขอให้ได้โยกย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ใต้สุดของไทย เรื่องนี้จึงยิ่งส่งเสริมสนับสนุนความเชื่อที่มีอยู่แล้วของผู้คนจำนวนมากทางภาคใต้ที่ว่า การก่อความไม่สงบจะไม่มีทางยุติลงเลย สืบเนื่องจากภาวะไร้ขื่อแปและความขัดแย้งทำให้มีโอกาสที่จะทำกำไรอย่างงามๆ

การเดินทางมาไทยของนาจิบระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคมนี้ นับเป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกตั้งแต่ที่เขาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 3 เมษายน นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้พูดจาหารือกับนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ของไทยที่กรุงเทพฯ โดยมีรายงานว่านายกฯอภิสิทธิ์ได้อธิบายวิธีการแก้ปัญหาของรัฐบาลของเขา อันได้แก่การมุ่งเน้นที่การพัฒนาและการฟื้นฟูสร้างความยุติธรรมขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่นาจิบกล่าวว่าเขาสนับสนุนความพยายามต่างๆ ของประเทศไทย และจะให้ข้อมูลข่าวสารตลอดจนข่าวกรองเพื่อช่วยเพิ่มพูนความมั่นคงปลอดภัย

“สารที่พวกเราต้องการส่งออกไปนั้นชัดเจนมาก ประชาชนในภาคใต้ของไทยจะต้องจงรักภักดีต่อประเทศไทย ต้องจงรักภักดีต่อรัฐธรรมนูญไทย และต้องจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ของไทย” นาจิบกล่าว “มาเลเซียยืนอยู่เคียงข้างพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนของท่าน ทว่าเป็นหุ้นส่วนที่จะเคารพที่จะยอมรับว่า โดยเนื้อหาสาระแล้วเรื่องนี้คือปัญหาภายในของประเทศไทย”

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ระหว่างการให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในประเทศไทย 2 ฉบับ นาจิบได้เสนอว่า ควรที่จะให้อำนาจปกครองตนเองเพิ่มมากขึ้นแก่พื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย ข้อเสนอแนะเช่นนี้ได้รับปฏิกิริยาตอบรับทั้งทางบวกและทางลบในกรุงเทพฯ โดยที่มีบางคนมองว่านี่เป็นความพยายามของมาเลเซียที่จะสอดแทรกเข้ามาในกิจการภายในของไทย อย่างไรก็ตาม แนวความคิดนี้ได้รับการสนับสนุนในเบื้องต้นจากนายกฯอภิสิทธิ์ ผู้ซึ่งกล่าวว่าเขาจะหารือถึงข้อเสนอนี้เพิ่มเติมเมื่อได้พบปะกับนาจิบในคราวเยือนไทยคราวนี้

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอนี้ไม่น่าที่จะมีความคืบหน้าอะไรในอนาคตอันใกล้นี้ หลังจากที่ พล.อ.ชวลิต จงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งเวลานี้เป็นประธานพรรคเพื่อไทย ได้พูดเสนอแนะคล้ายๆ กันเมื่อเดือนที่แล้ว โดยเรียกร้องให้จัดตั้ง “นครปัตตานี” ที่มีอำนาจปกครองตนเองขึ้นมา ถึงแม้การแถลงของ พล.อ.ชวลิต จะถูกมองกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นเพียงการพูดจาขึงขังเพื่อหวังผลในทางตีฆ้องร้องป่าวให้ดูเอิกเกริก ทว่าคณะรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคประชาธิปไตยของนายกฯอภิสิทธิ์ ก็แสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างแรงๆ โดยที่นักการเมืองบางคนถึงกับเรียกข้อเสนอนี้ว่าเป็นการ “ทรยศชาติ” แต่แม้จะมีเสียงเกรี้ยวกราดเดือดดาล คำแนะนำของนาจิบและข้อเสนอของ พล.อ.ชวลิต ก็ถือว่าได้เปิดประเด็นให้สาธารณชนได้อภิปรายถกเถียงกันในเรื่องการปกครองตนเองของพื้นที่ชายแดนใต้

ในทิศทางดังกล่าวนี้ การเยือนไทยของนาจิบก็เท่ากับเปิดทางให้นายกฯอภิสิทธิ์ได้มีโอกาสที่จะสำแดงออกซึ่งอำนาจของเขาที่เป็นฝ่ายพลเรือน ต่อเรื่องการแก้ปัญหาทางภาคใต้ นักวิเคราะห์จำนวนมากรู้สึกว่า ฝ่ายทหารแสดงบทบาททางด้านนโยบายอย่างใหญ่โตเกินไปแล้ว และควรที่จะหันมาเน้นหนักเพิ่มขึ้นในเรื่องการหาหนทางการเมืองเพื่อแก้ไขความขัดแย้งนี้ ผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมากยังบอกว่า ฝ่ายทหารจำเป็นที่จะต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีการใช้อำนาจโดยมิชอบในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ และกรณีตากใบ รวมทั้งการสังหารโหดลึกลับในมัสยิดอัลฟุรกอนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

นายกฯอภิสิทธิ์ได้เคยให้สัญญาไว้ก่อนหน้านี้ในปีนี้ว่า จะดูแลควบคุมการใช้อำนาจอิทธิพลของฝ่ายทหาร ตลอดจนจะทำให้ประชาชนท้องถิ่นเกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในระบบยุติธรรมขึ้นอีกครั้ง ทว่าจวบจนถึงบัดนี้ก็ยังแทบไม่ได้ดำเนินการอะไรในเรื่องเหล่านี้ ความเคลื่อนไหวเพื่อนำเอาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีจุดเน้นหนักเรื่องการพัฒนา ออกมาจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ซึ่งมีฝ่ายทหารเป็นผู้ดำเนินการ ก็ยังคงดำเนินไปอย่างเชื่องช้า และยังต้องรอการลงมติของรัฐสภา นายกฯอภิสิทธิ์ยังประสบความล้มเหลวไม่สามารถยกเลิกการประกาศใช้อำนาจตามกฎหมายภาวะฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทำให้กองกำลังความมั่นคงมีอำนาจอย่างกว้างขวางยิ่ง ถึงแม้จะได้มีการยกเลิกภาวะกฎอัยการศึกใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาไปแล้ว

การเยือนของนาจิบคราวนี้มีจุดสำคัญที่สุดอยู่ที่การเดินทางไปจังหวัดนราธิวาสพร้อมกับนายกฯอภิสิทธิ์ โดยที่นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้ร่วมทำพิธีเปลี่ยนชื่อของสะพานที่ทอดข้ามแม่น้ำโกลก ที่เป็นเส้นแบ่งแดนของสองประเทศ ให้เป็น “สะพานมิตรภาพไทย-มาเลเซีย” นอกจากนั้นยังกำลังมีการจัดทำแผนเพื่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งใหม่ ที่จะเชื่อมอำเภอตากใบทางฝั่งไทย กับเมืองเปงกาลา กูบูร์ (Pengkala Kubur) ของมาเลเซีย ซึ่งเวลานี้ต้องเดินทางติดต่อกันด้วยแพขนานยนต์และเรือเฟอร์รี

ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียได้เดินทางเยือนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และก็เป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นว่ากัวลาลัมเปอร์สนับสนุนนโยบายต่างๆ ของฝ่ายไทย เท่าที่ปรากฏให้เห็นจนถึงเวลานี้นั้น พวกผู้ก่อความไม่สงบดูจะไม่พอใจความเคลื่อนไหวคราวนี้ ในวันที่นายกฯอภิสิทธิ์และนาจิบเดินทางไปนราธิวาส ได้มีการก่อเหตุระเบิดและลอบยิงใส่กองกำลังความมั่นคงหลายต่อหลายครั้ง

เหตุระเบิดในบางจุดที่เป็นการวางกับระเบิดนั้น มีแผ่นผ้าเขียนข้อความด้วยภาษาถิ่นประกาศว่า “เราจะต่อสู้เพื่อทวงสิทธิของเรากลับคืนตราบจนเราตาย” และ “เราจะตายพร้อมกับนำรัฐปะตานีคืนมา” และ “รัฐปะตานีเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย”

ไม่ว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังความรุนแรงตลอดจนการตีฆ้องร้องป่าวให้เอิกเกริกเหล่านี้จะเป็นพวกผู้ก่อความไม่สงบหรือแก๊งอาชญากรก็ตามที แต่เห็นได้ชัดเจนว่าพวกเขาจะไม่แยแสต่อคำมั่นสัญญาซึ่งมาจากสถานที่อันไกลโพ้นอย่างกรุงเทพฯหรือกัวลาลัมเปอร์ ตราบเท่าที่นโยบายต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจ, สังคม, และการเมืองของรัฐบาล ยังคงถูกบ่อนทำลายด้วยการใช้อำนาจโดยมิชอบของฝ่ายทหาร และการทุจริตคอร์รัปชั่นยังเป็นสิ่งที่ยอมรับกันในหมู่เจ้าหน้าที่ของทั้งสองฟากชายแดน ความรุนแรงในภาคใต้ของประเทศไทยก็ยังจะไม่มีทางยุติลงได้

ไบรอัน แมคคาร์แทน เป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระที่พำนักอยู่ในกรุงเทพฯ สามารถติดต่อเขาได้ที่ brianpm@comcast.net

  • ‘กำไร’จากสงครามในภาคใต้ของประเทศไทย (ตอนแรก)

  • กำลังโหลดความคิดเห็น