“ผ่าประเด็นร้อน”
วันนี้ขอหลบฉากชั่วคราวจากเรื่องมั่วๆ เกี่ยวกับเรื่อง “ของลับ” หรือเอกสารลับของ จตุพร พรหมพันธุ์ กับ ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีทุจริตและใช้ฐานในประเทศกัมพูชาเป็นกองบัญชาการสร้างความปั่นป่วนให้กับไทยอยู่ในในเวลานี้
หลบมาพิจารณาถึงสถานการณ์ในจังหงัดชายแดนภาคใต้กันบ้าง หลังจากได้เห็นภาพข่าวทางการมาเลเซียจับกุมแนวร่วมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบซึ่งเป็นคนไทยจำนวน 8 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวนราธิวาส
ขณะเดียวกัน การจับกุมดังกล่าวยังเป็นผลมาจากการขยายผลจากการที่ทางการมาเลเซียได้จับกุมคนไทยจำนวน 3 คนพร้อมอาวุธสงครามและระเบิดจำนวนมาก ที่รัฐกลันตันซึ่งเป็นชายแดนติดต่อกับภาคใต้ของไทย ในครั้งนั้นผู้ต้องหามีการซัดทอดว่ายังมีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งหลบมากบดาน จึงนำไปสู่การจับกุมดังกล่าวในที่สุด
สำหรับสถานการณ์ชายแดนใต้เริ่มโหมรุนแรงมาตั้งแต่ เหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมาและลุกลามใหญ่โตมาจนถึงวันนี้ จาก “โจรกระจอก” ในสายตาของ ทักษิณ ชินวัตร ในยุคที่ยังมีอำนาจคับฟ้า แต่มาจนถึงบัดนี้คนที่กระจอกน่าจะเป็น ทักษิณ ไปแล้ว
ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งรวมไปถึง 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์มากมายสุดคณานับ และจนถึงบัดนี้ยังไม่มีทีท่าจะสงบลงง่ายๆ แม้ว่าหากพิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบันก็ต้องยอมรับความจริงว่า การก่อเหตุหากเทียบกับเมื่อก่อนมีจำนวนอาจลดน้อยลง แต่ความรุนแรง ทั้งการลอบยิงเจ้าหน้าที่ ประชาชน รวมทั้งเป้าหมายซึ่งเป็นครูก็ยังถือว่าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความรุนแรงไม่ได้ลงลง มิหนำซ้ำบางครั้งอาจจะหนักกว่าเก่า
จนถึงขณะนี้ในหลายพื้นที่สถานการณ์ยังตึงเครียด แม้ว่าล่าสุดในพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลารัฐบาลได้ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกไปแล้วก็ตาม แต่ก็ได้นำกฎหมายใหม่นั่น พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในเข้าไปบังคับใช้ ทางหนึ่งก็เพื่อหวังผลทางการเมือง ต้องการแสดงให้เห็นว่าความรุนแรงได้เริ่มเบาบางลงไปบ้างแล้ว และทางการสามารถควบคุมสถานการณ์ได้มากขึ้นก็ตาม
แต่ในความเป็นจริงก็คือ สถานการณ์ความรุนแรงยังอยู่ในขั้นที่บั่นทอนทำลายความมั่นคงอย่างหนัก และรัฐบาลชุดนี้ โดย นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เพิ่งยอมรับว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาปัญหาชายแดนใต้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้น่าพอใจ แม้ว่าสถิติการก่อเหตุของคนร้ายจะลดลงก็ตาม แต่ในภาพรวมยังถือว่ามีปัญหาอยู่มาก ยังมีการลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่และชาวบ้านยังไม่มีความปลอดภัย
อย่างไรก็ดี ก็ต้องยอมรับว่า รัฐบาลชุดนี้แม้จะยังไม่อาจควบคุมสถานการณ์ได้เต็มร้อย แต่ขณะเดียวกันถือว่าไม่ได้สร้างเงื่อนไขเพิ่มเติมขึ้นมา มีการเน้นย้ำนโยบายในด้าน “การเมืองนำการทหาร” รวมไปถึงมีการมอบหมายให้รัฐมนตรีที่คอยดูแลประสานงานระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งก็คือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ถาวร เสนเนียม เป็นคนทำหน้าที่ดังกล่าว
ขณะเดียวกันยังได้ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยเฉพาะปรับปรุงการบริหารภายในองค์กรเสียใหม่ เพื่อให้มีความกระฉับกระเฉงมากขึ้น และครอบคลุมโดยเชื่อมโยงกับท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งคาดว่าภายในต้นปีหน้าร่างแก้ไขกฎหมายคงจะผ่านสภามาบังคับใช้
นอกจากนี้ยังทุ่มงบประมาณลงไปพัฒนาทั้งในเรื่องการศึกษา และการพัฒนาในพื้นที่อีกก้อนใหญ่ และคราวนี้อาจจะผิดแผกไปจากยุคก่อนบ้างก็คือให้ชาวบ้านได้เสนอโครงการ และเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ละเอียดอ่อน
แม้ว่าหลายอย่างเริ่มดีขึ้นบ้าง แต่หากรัฐบาลยังไม่อาจสถาปนาความมั่นคงได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ผู้คนเมื่อออกจากบ้านแล้วไม่ปลอดภัย ไม่รู้จะได้กลับมาเห็นหน้าลูกเมียหรือไม่ ก็ถือว่ารัฐบาลล้มเหลว
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งก็คือ ปัญหาชายแดนใต้ไม่อาจสงบลงได้อย่างถาวรหากไม่ได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ซึ่งครั้งหนึ่งในอดีตเคยมีปัญหาในเรื่องโจรจีนคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีปัญหาความมั่นคงกับรัฐบาลมาเลเซียเป็นอย่างมาก แต่เมื่อได้รับความร่วมมือจากไทยอย่างเต็มที่ทำให้ปัญหาสงบลงในปัจจุบัน
ส่วนปัญหาของไทยก็เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี ล่าสุดเริ่มเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังจาก นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซีย นาจิบ ราซัค ซึ่งในอดีตเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมาก่อนและมีความเข้าใจปัญหาชายแดนใต้ของไทยเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันอาจเป็นเพราะมีความกังวลว่าความรุนแรงในไทยจะขยายลุกลามเข้าไปยังประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะในรัฐกลันตันที่เวลานี้การบริหารท้องถิ่นอยู่ในกำมือของฝ่ายค้านที่เคร่งศาสนา
นอกจากนี้ กลุ่มหัวรุนแรงที่ฝังตัวอยู่ในไทยอาจเชื่อมโยงเข้าไปปฏิบัติการในมาเลเซียได้มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาทั้งสองประเทศมีปัญหาในเรื่องคนสองสัญชาติมาช้านาน และคาราคาซังมาจนถึงวันนี้
ด้วยความตื่นตัวดังกล่าวก็ทำให้มีความกระตือรือล้นร่วมกันแก้ปัญหา ประกอบกับรัฐบาลใหม่ของไทยได้เปลี่ยนท่าทีที่เป็นมิตรและให้เกียรติ ต่างกันจากหน้ามือเป็นหลังมือในยุค ทักษิณ ชินวัตร ที่หักหน้ากันเป็นประจำทำให้มีความขัดแย้งอยู่ในใจลึกๆ กันมาตลอด
แต่ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไป ล่าสุดเมื่อตอนต้นเดือนธันวาคม นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีได้เดินทางมาเยือนไทยและร่วมเดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้ร่วมกับ นายกฯอภิสิทธิ์ ร่วมกันเปิดสะพานมิตรภาพไทย-มาเลเซีย รวมไปถึงได้เยี่ยมชมโรงเรียนสอนศาสนาที่มาเลเซียให้ความช่วยเหลือ ซึ่งทั้งสองฝ่ายยืนยันจะให้ความร่วมมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดย นายกฯอภิสิทธิ์ ถึงกับมั่นใจว่าภายในปีหน้าปัญหาคนสองสัญชาติจะดำเนินการให้เสร็จสิ้น
จนกระทั่งมาถึงเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ทางการมาเลเซียมีการจับกุมคนไทย 3 คนพร้อมอาวุธสงครามที่รัฐกลันตัน และนำมาสู่การขยายผลจับกุมคนไทยอีก 8 คน ที่เป็นแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ที่ข้ามแดนจากนราธิวาสไปกบดานที่นั่น ดังกล่าวข้างต้น
นี่แหละถึงได้บอกว่าแนวโน้มของความไม่สงบในชายแดนเริ่มมีแนวโน้มที่ดีแล้ว หากได้เห็นสัญญาณความร่วมมืออย่างจริงจังจากมาเลเซียอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ประกอบกับรัฐบาลหากไม่สร้างเงื่อนไขขึ้นมาใหม่ ก็น่าเชื่อว่าในปีหน้าก็น่าจะมีความปลอดภัยเกิดขึ้นมากกว่านี้แน่นอน!!