xs
xsm
sm
md
lg

BBLพลิกกลยุทธปล่อยกู้รายย่อย หนุนธุรกิจลงทุนนอกรับเอฟทีเอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - บิ๊กแบงก์กรุงเทพเผยแผนปีหน้าหันปล่อยกู้รายกลาง-รายย่อย-บุคคล หลังปัญหามาบตาพุดทำสินเชื่อรายใหญ่ชะงัก ตั้งเป้าสินเชื่อโตแค่ 3-4% พร้อมเปิด "ทศวรรษแห่งเอเชีย" หนุนผู้ประกอบการไปลงทุนเพื่อนบ้านรับ FTA ส่วนปีนี้อาจติดลบตามจีดีพี

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า ในปีหน้าธนาคารมีแนวทางที่จะเพิ่มปริมาณการปล่อยสินเชื่อขนาดกลาง และสินเชื่อรายย่อยให้มากขึ้น หลังจากคาดการณ์ว่าสินเชื่อรายใหญ่จะทรงตัวเนื่องจากปัญหาโครงการมาบตาพุด ซึ่งเท่าที่ทราบคาดว่าจะส่งผลกระทบนานถึง 9 เดือน แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราเท่าใด ทั้งนี้ ในเบื้องต้นธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อปีหน้าเติบโตในระดับ 3-4% ซึ่งเป็นอัตราใกล้เคียงกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่สินเชื่อในปีนี้น่าจะอยู่ในระดับทรงตัวหรือติดลบเล็กน้อย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับจีดีพีซึ่งติดลบประมาณ 3%

"ตามปกติสินเชื่อของธนาคารจะเติบโตในอัตราที่มากกว่าจีดีพี แต่ที่ธนาคารตั้งเป้าไว้ในระดับที่ใกล้เคียงกัน เนื่องจากคาดว่าสินเชื่อรายใหญ่คงจะทรงตัวในระดับเดิมจากปัญหามาบตาพุด ดังนั้น ถ้าจะการเติบโตมากกว่าจีดีพี ก็จะต้องเพิ่มการปล่อยกู้ในสินเชื่อขนาดกลาง และรายย่อยทดแทน แต่ก็คงจะไม่สามารถเพิ่มได้ในสัดส่วนที่เท่ากัน ทำให้สินเชื่อของธนาคารคงจะไม่สามารถเติบได้ 5-6%อย่างที่เคยเป็นได้ในเร็วๆนี้ โดยโครงสร้างสินเชื่อของธนาคารในปัจจุบันมีสัดส่วนสินเชื่อรายใหญ่ 40%สินเชื่อรายกลาง-ย่อย 35% สินเชื่อบุคคล 10% และสินเชื่อต่างประเทศ 15%"

ทั้งนี้ ในแนวทางการเพิ่มสินเชื่อขนาดกลาง และรายย่อยนั้น ก็จะต้องมีการปรับปรุงทั้งด้านสาขา การรีแบรนด์ และงานด้านบริการให้เอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อประเภทดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ธนาคารได้เริ่มทำไปบ้างแล้ว ในขณะเดียวกัน ธนาคารก็มียุทธศาสตร์เดิมบางส่วนที่รองรับอยู่แล้ว โดยเฉพาะโครงการเอสเอ็มอีเข้มแข็ง และโครงการเกษตรก้าวหน้าที่ได้ดำเนินมา 9 ปีแล้ว ซึ่งถือว่าการดำเนินธุรกิจของธนาคารนั้นมาถูกทางแล้ว

**เปิดทศวรรษแห่งเอเชียหนุนลงทุนนอก**

นอกจากนี้ ธนาคารจะดำเนินยุทธศาสตร์ ทศวรรษแห่งเอเชีย โดยจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในประเทศแถบอาเซียน เพื่อให้สอดคล้องกับการทำสัญญาเขตการค้าเสรีอาเซียน(FTA) ซึ่งธนาคารมีความพร้อมทั้งด้านสาขาในต่างประเทศ และให้คำปรึกษาในการลงทุน รวมถึงกฎเกณฑ์ต่างๆในการลงทุนด้วย และในปีหน้าก็เปิดสาขาที่ประเทศมาเลเซียเพื่อให้ครอบคลุมให้มากขึ้น

"เราควรจะใช้เรื่องเอฟทีเอให้เป็นประโยชน์มากกว่านี้ หากมีเอฟทีเอแล้วเราไม่ขยับอะไรบ้าง ขณะที่ประเทศอื่นเข้ามาลงทุน เข้ามาใช้ประโยชน์จากเราอย่างเดียว แล้วเราจะไปเซ็นเอฟทีเอเพื่ออะไร ดังนั้น ในช่วง 10 ต่อไปนี้ ธนาคารก็จะเน้นในเรื่องนี้มากขึ้น แต่ก็ถือเป็นแผนงานระยะยาว เหมือนเอสเอ็มอีเข้มแข็ง หรือเกษตรก้าวหน้า"

ส่วนโครงการเกษตรก้าวหน้านั้น ปีนี้เป็นปีที่ 9 ของการดำเนินการแล้วขณะนี้มีวงเงินคงค้างประมาณ 15,000-16,000 ล้านบาท มีเกษตรกรร่วมโครงการอยู่ 3,000 ราย เนื่องจากการดำเนินโครงการดังกล่าวไม่ได้เน้นที่ยอดการปล่อยสินเชื่อ แต่จะเน้นที่จำนวนรายของเกษตรกรที่เข้าโครงการ เนื่องจากธนาคารกลั่นกรองคุณภาพของโครงการที่จะเข้าร่วมที่จะต้องมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการเพาะปลูกหรือทำฟาร์มตามธรรมชาติ รวมถึงมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย ซึ่งธนาคารพยายามที่จะให้จำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในแต่ละปีเพิ่มขึ้น 1,000 ราย

**เตือนรัฐอัดฉีดศก.เพลินหนี้พุ่ง**

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจในปีหน้านั้น นายโฆสิตกล่าวว่า เศรษฐกิจในปีหน้าจะโตเมื่อเทียบกับปีนี้ แต่ไม่ใช่การฟื้นตัว เนื่องจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะยังมาจากภาครัฐเป็นหลัก ขณะที่ภาคการลงทุนภาคเอกชนยังไม่เห็นทิศทางการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ควรระมัดระวังเนื่องจากส่งผลกระทบในหลายๆด้าน จึงไม่ควรใช้แนวทางดังกล่าวในการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นระยะเวลาที่นาน ดังจะเห็นได้จากประเทศอื่นๆที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและใช้วิธีการอัดฉีดเศรษฐกิจโดยภาครัฐ ก็เริ่มที่จะถอยออกจากแนวทางดังกล่าวบ้างแล้ว ในส่วนของไทยเองก็ต้องพิจารณาในเรื่องนี้เช่นกัน

"เราจะใช้การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีที่ใช้อยู่นี้นานๆไม่ได้ เพราะส่งผลกระทบหลายๆด้าน อย่างที่ใครๆเริ่มออกมาเป็นห่วงเรื่องหนี้สาธารณะกันแล้ว บางประเทศที่ใช้วิธีนี้มากๆ ถึงกับมีการออกเป็นกฎหมายว่าหนี้สาธารณะต้องไม่เกินเท่าไหร่ ซึ่งในเรื่องนี้ทางการไทยก็รู้อยู่แล้ว แต่การที่จะถอนตัวออกก็ยังติดเรื่องการลงทุนภาคเอกชนก็ยังนิ่ง ซึ่งปัจจัยในเรื่องต่างๆเหล่านี้เป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องดูแลต่อไป"

ทั้งนี้ ปัจจัยการเมืองในปีหน้าก็เป็นส่วนที่มีความเสี่ยงเช่นกัน โดยเป็นความเสี่ยงในแง่ของเป็นผู้ชี้ขาดนโยบายเศรษฐกิจว่าจะไปในทิศทางได้ ส่วนการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงของตัวรัฐบาลนั้นเป็นเรื่องธรรมดาไม่ได้มีปัญหาอะไรต่อเศรษฐกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น