นโยบาย “กรณ์ จาติกวณิช” ต้องการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ลดภาระและปลดเปลื้องหนี้พอกหางหมูให้ประชาชนที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบธนาคารพาณิชย์ บางรายไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หลายรายเคยผ่านการกู้แบงก์แล้วแต่วันนี้กลายเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) โดนขึ้นบัญชีดำจากเครดิตบูโร หมดอนาคต จำใจกู้เจ้าหนี้เถื่อนจ่ายดอกเบี้ยมหาโหดร้อยละ 20 วันนี้ขุนคลังมอบหมายธนาคารเฉพาะกิจ 2 แห่งคือ ธ.ก.ส.กับ ออมสิน รีไฟแนนซ์หนี้ ดีเดย์ลงทะเบียน 1 พ.ย.นี้
“เลอศักดิ์ จุลเทศ” ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดใจในประเด็นความพร้อม แนวโน้มการบรรลุนโยบายและปัญหาในการสนองนโยบายรัฐบาล งานถนัดของแบงก์ออมสิน...
เดิมทีการดำเนินงานของธนาคารออมสินปัจจุบัน มีการปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว เป็นการปล่อยกู้ผ่านโครงการธนาคารประชาชน รายละ 1 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 0.5% ต่อเดือน หลังจากนี้เพื่อสนองนโยบายรัฐบาล ธนาคารจะเพิ่มยอด 2 แสนบาท ดอกเบี้ยเท่าเดิม 0.5%
"เลอศักดิ์" เล่าว่า ธนาคารออมสินจะมีกระบวนการกู้ที่ไม่ยุ่งยากและผ่อนปรนกว่าที่ธนาคารพาณิชย์ใช้กันมาก แต่สิ่งที่จะเพิ่มเข้าไปคือให้เจ้าหน้าที่ของออมสินเข้าไปแนะนำวิธีการบันทึกบัญชีรายรับรายจ่ายให้เป็นระบบขึ้นสำหรับวงเงินที่ลูกค้าได้รับอนุมัติ เมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายของขุนคลังแล้วโครงการนี้สามารถนำมาปรับใช้ได้ด้วยวิธีการที่คล้ายกัน ทันทีที่มีการประกาศให้มีการลงทะเบียน ออมสิน และ ธ.ก.ส.ก็จะรวบรวมรายชื่อทั้งหมดเพื่อส่งเข้าสู่ระบบของทีมงานที่ดำเนินการได้เลย ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 5 ปี ขึ้นอยู่กับวงเงินกู้และรายได้ของผู้กู้ ซึ่งหากเทียบกับดอกเบี้ยนอกระบบ ขั้นต่ำ 10% ถือว่าลดภาระไปถึง 20 เท่าและเเหมือนเดิมเมื่อลูกค้าโครงการนี้เข้มแข็งขึ้น ธนาคารจะขยับมาให้ใช้สินเชื่อห้องแถววงเงินกู้สูงสุด 5 แสนบาทต่อราย โดยมีหลักประกันคิดดอกเบี้ยถูกลงที่ MLR หรือประมาณ 5.75% ต่อปี
ลุ้นเหนื่อยถกมาเฟียหนี้นอกระบบ
ประเด็นที่สำคัญสำหรับการแก้หนี้นอกระบบหลังจากรวบรวมรายชื่อคือ การหาคนกลางมาทำหน้าที่เจรจาไกล่เกลี่ยหนี้เพื่อเข้าสู่ระบบสินเชื่อสถาบันการเงิน ซึ่งหน่วยงานที่มีจะเข้ามาทำหน้าที่นี้คือส่วนราชการในสังกัดกระทรวงการคลังที่น่าจะมีบทบาท มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ ต่อทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้มากที่สุด เพราะหากแบงก์ทั้งสองเข้าไปเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยเองคงไม่ได้ข้อสรุปที่น่าพอใจนัก
สำหรับหน่วยงานหลักที่เป็นมันสมองและมีบทบาทหลักเพื่อให้โครงการนี้ขับเคลื่อนไปได้คือสำนักงานเศรษฐกิจการคลังหรือ สศค. จะต้องเป็นตัวกลางในการประสานงานให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องและเดินไปด้วยกัน เพราะลำพังออมสินหรือ ธ.ก.ส.คงไม่สามารถทำเรื่องนี้ด้วยตัวคนเดียวได้
เท่าที่ประเมินจากการทำงานร่วมกันของกระทรวงการคลัง ออมสินและธ.ก.ส.ที่ผ่านมาภายในเดือนพฤศจิกายนคงจะมีการกลั่นกรองนโยบายนี้ออกมาเป็นรูปธรรมและเปิดให้ลงทะเบียนได้เพื่อให้เป็นความหวังของผู้ที่พึ่งพาเงินนอกระบบให้สามารถเข้าสู่ระบบได้
การดำเนินโครงการนี้ตามนโยบายของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นออมสินหรือธ.ก.ส.ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องนำเรื่องความเสี่ยงมาพิจารณาประกอบด้วยและต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าสินเชื่อปกติแน่นอน เนื่องจากสินเชื่อของโครงการธนาคารประชาชนและสินเชื่อห้องแถวธนาคารและลูกค้ารู้จักกันเป็นอย่างดี รู้พฤติกรรมว่าเขาเป็นอย่างไร แต่การลงทะเบียนใหม่อาจอยู่นอกเหนือพื้นที่รับผิดชอบของ 1 สาขา 5 ตลาดจึงมีความเสี่ยงในส่วนนี้เกิดขึ้นด้วย
"เลอศักดิ์" ยอมรับว่าอาจมีการขอแยกบัญชีสำหรับการปล่อยสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาล (PSA) เพื่อให้รัฐบาลชดเชยผลเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยออมสินและธ.ก.ส.แบ่งเบาภาระความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในจุดนี้ด้วย
สุดท้ายมั่นใจสนองนโยบายเข้าเป้า
"เลอศักดิ์" กล่าวว่า ธนาคารออมสินเองมีความเชื่อมั่นในระดับหนึ่งกับระบบการวิเคราะห์สินเชื่อ แต่ยอมรับจากความไม่คุ้นเคยระหว่างธนาคารและลูกค้า และการติดตามพฤติกรรมที่ยากขึ้นไม่เหมือนกับโครงการธนาคารประชาชน คิดว่าน่าจะต้องมีการเข้ามาดูแลส่วนนี้ เพราะท้ายที่สุดระบบทุกอย่างจะพัฒนาและขับเคลื่อนไปด้วยกัน
สำหรับเม็ดเงินในโครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบคาดว่าหลังจากการลงทะเบียนในช่วงเดือนพฤศจิกายนแล้วกระบวนการเจรจาและยื่นขอสินเชื่อน่าจะจบลงภายใน 1- 2 เดือนและวงเงินจะสามารถปล่อยออกไปได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า แต่ธนาคารออมสินก็ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าเม็ดเงินที่จะออกไปกับโครงการนี้จะเป็นจำนวนเท่าไร ต้องดูว่ามียอดลงทะเบียนเข้ามาทั้งหมดกี่ราย วงเงินเท่าไรและจะสามารถดำเนินการได้ครบทุกรายหรือไม่
"ขอยืนยันว่าธนาคารออมสินมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล โดยอาศัยประสบการณ์จากการปล่อยสินเชื่อธนาคารประชาชนให้สามารถบรรลุเป้าหมายของโครงการได้อย่างแน่นอน" บิ๊กแบงก์ออมสินให้ความมั่นใจ
นั่นคือคำมั่นของเบอร์หนึ่งแบงก์ออมสิน หากดูประวัติศาสตร์แล้วต้องไม่ลืมว่า ลูกหนี้กับเจ้าหนี้นอกระบบ เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมายาวนาน รัฐบาลทุกชุดเห็นปัญหาเข้าไปหว่านเงิน ประชานิยมหวังผลทางการเมือง สุดท้ายแก้ไม่ตก ประชาชนกลุ่มนี้ยังวนเวียนกับการใช้หนี้ไม่จบสิ้น รัฐบาลโอบามาร์คจะทำสำเร็จหรือไม่ การให้สัมภาษณ์ของ "เลอศักดิ์ จุลเทศ" คงมีคำตอบ