xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้น ครม.เคาะปลดล็อก บอร์ด สวล.เร่งคลอด HIA

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ลุ้น ครม.สรุปกิจการเข้าข่ายถูกปลดล็อกระงับกิจการวันนี้ หลังตัวเลขกิจการก.อุตฯ-กอร์ปศักดิ์คนละทิศละทาง นายกฯลั่น 65กิจการเดินตามคำสั่งศาลฯ เว้นต้องรอการตีความในบางประเด็น ด้านคณะกรรมการ 4 ฝ่ายยันกรอบEIA-HIA เสร็จแล้งชงเข้าบอร์ดสวล.ได้ 24 ธ.ค. ขณะที่องค์กรอิสระสรุป ม.ค.53 “ศรีสุวรรณ”ตบเท้า 24 ธ.ค.ยื่นคัดค้านศาลฯกรณีชาวบ้าน 10 คนแจ้งถอนฟ้องคดีมาบตาพุดยันมีการจ่ายเงินแลกกับลายเซ็น ควบคู่กับยื่นคำร้องให้ศาลฯสั่ง 8 หน่วยงานรัฐยุติให้ข้อมูลบิดเบือนละเมิดคำสั่งศาลระงับ 65 กิจการ “ปูนใหญ่”ยันชะลอ 18โครงการในมาบตาพุดไม่กระทบฐานะการเงิน ชี้ผู้ร่วมทุนต่างชาติมีความเข้าใจและพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งศาล แต่ขอดูความชัดเจนต่างๆ 3-4 สัปดาห์ก่อน บอกไม่ได้ว่าจะมีการถอนตัวหรือไม่

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ธ.ค.นี้ หากคณะกรรมการ 4 ฝ่ายสรุปผลการหารือได้ข้อยุติเกี่ยวกับการจัดทำ HIA – EIA ก็จะสามารถปรับปรุงประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ทันทีและ 65 กิจการก็เข้าสู่กระบวนการดำเนินงานตามที่กำหนดได้ ส่วนองค์กรอิสระนั้นยังมีเวลาอยู่

สำหรับประชุมครม.วันนี้ (22 ธ.ค.)จะมีการพิจารณาถึงผลกระทบต่อการระงับกิจการ 65 กิจการในมาบตาพุด แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะมีโครงการใดเข้าข่ายให้เดินหน้าต่อหรือไม่ ซึ่งภาพรวมแล้วทุกกิจการจะต้องเครพคำตัดสินของศาลฯเป็นสำคัญ โดยจะเน้นประเด็นอะไรหรือไม่ ที่เข้าไปเกี่ยวของกับคำวินิจฉัยของศาลที่อาจจะขอความชัดเจนและสามารถมีความยืดหยุ่นได้

**ฉุนตัวเลข ก.อุตฯ สูงเกินจริง

“กรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมระบุตัวเลขเสียหายทั้งตรงและอ้อม 6 แสนล้านบาทนั้นเห็นว่าความเสียหายไม่ควรจะไปนับมูลค่าโครงการ เพราะในที่สุดกิจการเหล่านี้ก็จะเดินหน้าได้ซึ่งตนไม่คิดว่ามูลค่าเสียหายจะสูงขนาดนั้น และผมเองก็เห็นว่า 65 โครงการจะมาหวังว่ารวมๆกันอยู่ แล้วพูดตัวเลขให้มันน่ากลัว แล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ต้องมาทำงานร่วมกัน ทำให้ไม่มีปัญหาข้อกฎหมายอีก เพราะถ้ามีปัญหาข้อกฏหมายก็จะมีแต่ซ้ำเติมบรรยากาศการลงทุน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

**คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเร่งสรุปชงบอร์ด สวล.

ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตน์ ประธานคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 กล่าวว่า คณะกรรมการ 4 ฝ่ายจะมีข้อสรุปเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการตามเงื่อนไขมาตรา 67 วรรค 2 รัฐธรรมนูญปี 2550 ในส่วนของการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) การจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA)และการมีส่วนร่วมของประชาชนภายในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้ในวันที่ 24 ธ.ค. เพื่อให้ออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะ 65 กิจการนำไปปฏิบัติได้

สำหรับการจัดตั้งองค์กรอิสระกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาในแง่กฏหมายว่าจะใช้ประกาศระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีหรือไม่อย่างไร และยังติดเงื่อนไขความชัดเจนเกี่ยวกับคำว่ากิจการที่มีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมรุนแรง ดังนั้นคณะกรรมการ 4 ฝ่ายจึงตั้งคณะอนุกรรมการหาความชัดเจนประเภทกิจการรุนแรงโดยมีนายธงไชย พรรณสวัสดิ์
เป็นประธานซึ่งจะเร่งสรุปให้เร็วที่สุด

นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรรมการในคณะกรรมการ 4 ฝ่าย กล่าวว่า กิจการประเภทรุนแรงนั้นจะยึดกรอบของ 19 ประเภทที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นหลัก และจะนำประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม 8 ประเภท รวมถึงกิจการที่ต้องทำ EIA ทั้งหมดมาดูรายละเอียดซึ่งความเห็นส่วนนี้ค่อนข้างจะไม่ตรงกันมากสุดดังนั้นการจัดตั้งองค์กรอิสระและความชัดเจนในเรื่องประเภทกิจการคงจะสรุปได้ในม.ค. 2553

“ แนวโน้มการจัดตั้งองค์กรอิสระคงจะใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าสู่การพิจารณาจากระบบรัฐสภาที่จะทำให้จัดตั้งล่าช้า”นายบัณฑูรกล่าว

นายสุทธิ อัชฌาศัย กรรมการในคณะกรรมการ 4 ฝ่ายกล่าวว่า การทำ HIA ของ 65กิจการคาดว่าจะต้องทำทีเดียวไปพร้อมๆ กันเนื่องจากหากแยกกันทำจะยิ่งทำให้กระบวนการดำเนินงานล่าช้าดังนั้นการทำทั้งหมดน่าจะใช้เวลาได้ในไม่เกิน 6 เดือน

** ก.อุตฯ ชง 25 โครงการเข้าข่ายเดินหน้า


นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะนำเสนอครม.วันนี้ (22ธ.ค.) ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ให้สรุปความชัดเจนถึงผลกระทบและกิจการที่เข้าข่ายจะขอให้ศาลฯพิจารณาถอนคำสั่งระงับกิจการ ซึ่งมีทั้งหมด 25 กิจการซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ 4 เงื่อนไขคือ 1.กิจการที่ได้รับ EIA ก่อน ส.ค. 2550 ,2.กิจการที่ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 3. กิจการที่ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและ 4. กิจการที่ไม่อยู่ในประเภท 19 กิจการในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ต้องทำ HIA หรือไม่

**""กอร์ปศักดิ์ชง 42 โครงการให้ ครม.อุ้ม

ด้านนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) จะเสนอนำ 42 โครงการมาบตาพุด ที่ยังอยู่ในกระบวนการก่อสร้าง ที่ภาครัฐได้หารือกับอัยการสูงสุด เพื่อขอให้ศาลปกครองกลางพิจารณาขอถอดถอนคำสั่งระงับกิจการเพื่อให้ 42 โครงการดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้ ในช่วงระยะเวลา 6-8 เดือน ที่รอการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อเสนอต่อครม.วันนี้

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการ 4 ฝ่าย กล่าวว่า ขณะที่ทั้ง 65 โครงการทั้งหมดจำเป็นต้องจัดทำกระบวนการHIA-EIA และประชาพิจารณ์ใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง อย่างไรก็ตาม ยังไม่เข้าใจว่า เหตุใดนายกอร์ปศักดิ์ จะเสนอนำ 42 โครงการมาบตาพุด ที่ยังอยู่ในกระบวนการก่อสร้างเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อยื่นต่อศาลฯต่อไป คงต้องจับตาการประชุมครม.ในวันนี้ด้วย ยกเว้นเสียแต่ 42 โครงการที่นายกอร์ปศักดิ์ เสนอไม่มีผลกระทบรุนแรง

**โวยหลอกชาวบ้านถอนฟ้องคดี

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ในฐานะผู้ฟ้องคดีให้ 8 หน่วยงานรัฐปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ร่วมกับชาวบ้านมาบตาพุด 41 ราย เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯ ได้รับการร้องเรียนจากตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่มาบตาพุดเรื่องที่ได้รับหมายคำสั่งศาลปกครองสูงสุดให้ไปไต่สวนคดี กรณีที่มีผู้อ้างว่าชาวบ้านทำคำร้องขอถอนชื่อจากรายชื่อผู้ฟ้องคดีในวันที่ 24 ธ.ค. เวลา 13.30 น. ณ ห้องไต่สวนที่ 8 ชั้น 3 ศาลปกครองสูงสุด ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านผู้ฟ้องคดีไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่ามีรายชื่อเป็นผู้ถอนฟ้องคดีได้อย่างไร

ทั้งนี้ จากการสอบถามชาวบ้านผู้ได้รับหมายเพื่อไปไต่สวนคำร้องการขอถอนคดีดังกล่าว ทำให้ทราบว่า มีอดีตผู้นำชุมชนบ้านบน ในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ได้มาหว่านล้อมชาวบ้านผู้ฟ้องคดีทั้ง 41 ราย ให้ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่า พร้อมจ่ายเงินค่าลงลายมือชื่อจำนวน 1,200 บาท โดยแจ้งว่าจะนำไปแจ้งศาลเพื่อให้โรงงานทั้ง 65 โรงงานปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น เมื่อมีหมายศาลมาถึงชาวบ้านกลับเป็นการไปถอนฟ้องแทน ชาวบ้านจึงจะรวมตัวกันไปพบศาลตามวันเวลาดังกล่าวเพื่อยืนยันว่าจะไม่มีการถอนฟ้องโดยเด็ดขาด

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า พฤติการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นของหน่วยงานภาครัฐหน่วยงานใดหรือผู้ประกอบการโรงงานใด หรือใครก็ตามเป็นการใช้เล่ห์เพทุบายโดยไม่สุจริต สมาคมฯ ขอประณามว่าเป็นการกระทำที่ชั่วช้าเลวทรามที่สุด เป็นพฤติกรรมที่หมิ่นศาล และหมิ่นกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญาฐานให้ความเท็จต่อศาล เป็นพฤติการณ์ที่โง่เขลาเบาปัญญาโดยหารู้ไม่ว่าคดีนี้เป็นคดีสาธารณะผู้ฟ้องคดีไม่สามารถถอนฟ้องได้ไม่เช่นนั้นศาลอาจจะเห็นว่าเป็นการใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการสมยอมประโยชน์กัน

นายกสมาคมต้านสภาวะโลกร้อน บอกอีกว่า ทางสมาคมฯจะไม่ยอมสมานฉันท์ต่อการกระทำเยี่ยงนี้ และจะขอคัดค้านทุกโครงการ ทุกโรงงานที่มีความพยายามปลดล็อคคำสั่งศาลปกครองสูงสุด โดยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง เสียก่อน

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ในวันที่ 24 ธ.ค.นี้ ทางสมาคมฯ และชาวบ้านจะไปไต่สวนตามนัดของศาล ซึ่งจะทำให้ทราบว่าหน่วยงานใด หรือผู้ประกอบการรายใด เป็นคนนำรายชื่อชาวบ้านผู้ฟ้องคดีมาแอบอ้างต่อศาล และเมื่อทราบชื่อแล้วจะแจ้งให้รัฐบาลลงโทษหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยทันที โดยหากเป็นผู้ประกอบการก็จะขอให้ชาวบ้านคัดค้านไม่ให้การยอมรับการดำเนินการศึกษาอีไอเอ และเอชไอเอ ที่จะต้องดำเนินการในเร็ว ๆ นี้ เพื่อไม่ให้โรงงานนั้น ได้ผุดได้เกิดอีกต่อไป นอกจากนี้จะร้องขอต่อศาลให้เห็นถึงพฤติกรรมดังกล่าว ว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดอำนาจศาล เพื่อให้ศาลสั่งลงโทษผู้กระทำการดังกล่าว เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีต่อไป

**พาร์ทเนอร์ปูนใหญ่รอความชัดเจน 3-4 สัปดาห์

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย (SCG) กล่าวว่า จากคำสั่งศาลปกครองทำให้ 18 โครงการของเครือซิเมนต์ไทยต้องชะลอการก่อสร้างเป็นการชั่วคราว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ร่วมทุนกับต่างชาติทั้งญี่ปุ่นและสหรัฐฯ โดยผู้ร่วมทุนเองก็มีความเข้าใจและพร้อมที่จะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยจะขอดูความชัดเจนต่างๆทั้งรายละเอียดและการใช้ระยะเวลาในทางปฏิบัติ คาดว่าภายใน 3-4 สัปดาห์นี้จะมีความชัดเจนขึ้น

แต่จากนั้นทุกอย่างมีโอกาสเกิดขึ้นได้หมด รวมไปถึงการถอนการลงทุนหากยืดเยื้อไปนาน ซึ่งขณะนี้บริษัทฯยังไม่ได้มองไปถึงจุดที่บริษัทฯจะต้องเข้าไปถือหุ้นเพิ่มหากผู้ร่วมทุนถอนตัว เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ร่วมทุนต่างชาติมีความสัมพันธ์ที่ดีและร่วมทุนกับเครือซิเมนต์มานานนับสิบปี มีความใจที่ดีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงแต่ต้องการเห็นแนวทางชัดเจนในการปฏิบัติ

นอกจากนี้ บริษัทฯจะทยอยทำหนังสือไปยังศาลฯเพื่อขอความชัดเจนในแนวทางการปฏิบัติตามคำสั่งศาล เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่จะมีขั้นตอนการหยุด เพื่อความปลอดภัยต่อสาธารณชน รวมไปถึงโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษจำเป็นต้องหยุดก่อสร้างหรือไม่

“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ บริษัทได้ทำความเข้าใจกับผู้รับเหมาก่อสร้างไปหมดแล้ว ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ ยังไม่ได้มีการสรุปตัวเลขว่าเราจะช่วยเหลือเท่าไร สำหรับการฟ้องร้องภาครัฐนั้น ขณะนี้ยังไปไม่ถึงขั้นนั้น นอกจากนี้บริษัทฯได้มีการชี้แจงพูดคุยกับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ซึ่งยืนยันว่ากรณีมาบตาพุดไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัทที่มีความเข้มแข็ง โดยแต่ละปีมีกระแสเงินสด 4-5 หมื่นล้านบาท อัตราหนี้สินต่อทุน 1.3-1.4 เท่า “

นายรุ่งโรจน์ กล่าวต่อไปว่า การชะลอโครงการในมาบตาพุดดังกล่าวนี้ ยังไม่อยากให้ตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะล่าช้าไปนานแค่ไหน โดยยอมรับว่าตามแผนเดิมทั้ง 18 โครงการจะทยอยแล้วเสร็จตั้งแต่ปลายปีนี้ต่อเนื่องไปถึงกลางปี 2554 ซึ่งมูลค่าการลงทุนรวม 5.7 หมื่นล้านบาท โดยเงื่อนไขการชำระเงินกู้โครงการเหล่านี้จะเริ่มตั้งแต่ปลายปี 2553 เป็นต้นไป

ส่วนแผนการลงทุนในปีหน้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนงาน คาดว่าจะแล้วเสร็จม.ค.นี้ ซึ่งการลงทุนในอนาคตไม่ว่าจะเป็นการซื้อกิจการ(เทกโอเวอร์)หรือลงทุนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่เวียดนาม ไม่เกี่ยวข้องกับการถูกระงับโครงการที่มาบตาพุดทำให้ต้องย้ายฐานการผลิต แต่เป็นการมองหาโอกาสการลงทุนของเครือซิเมนต์เพื่อการเติบโตของธุรกิจ และมั่นใจว่าผลกระทบจากมาบตาพุดจะไม่ส่งผลต่อการจัดหาเงินกู้โครงการปิโตรเคมีมูลค่า 3-4 พันล้านเหรียญสหรัฐที่เวียดนาม เนื่องจากเป็นโครงการไฟแนนซ์โปรเจ็กต์และมีผู้ร่วมทุนหลายราย

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในนิคมอุตสาหกรรมาบตาพุด ประมาณ 20 โครงการ จากทั้งหมด 65 โครงการที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งระงับ อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อจะขอยื่นต่อศาลปกครองกลาง ให้สามารถก่อสร้างต่อไปได้ เนื่องจากการก่อสร้างไม่ได้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชน
กำลังโหลดความคิดเห็น