xs
xsm
sm
md
lg

ดันอีก 19 โครงการมาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ครม.ดิ้นหาทางช่วยโครงการมาบตาพุด เผยมี 19 โครงการโอกาสรอดสูง แต่เอกชนต้องยื่นศาลฯ ขอยกเว้นการคุ้มครองชั่วคราวโดยยึดเกณฑ์ 11 โครงการที่หลุดก่อนหน้านี้ ระบุจะเหลือแค่ 8 กิจการ มูลค่าหมื่นกว่าล้าน ที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลฯ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วานนี้ (22 ธ.ค.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการติดตามความคืบหน้าของการเข้าไปดูสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาโครงการในมาบตาพุด โดยได้มีการรายงานสถานะของโครงการที่แท้จริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง สรุปแล้วใน 65 โครงการ มี 23 โครงการ ที่ยังไม่ได้มีการดำเนินการอะไรเลย หรือยังไม่รับอนุญาตให้ดำเนินการในการก่อสร้างอะไรทั้งสิ้น ดังนั้น 23 โครงการ ก็ถือว่าอยู่ในขั้นตอนขออนุญาตตามปกติ กระบวนการการให้อนุญาตอาจใช้เวลามากขึ้น และต้องทำตามมาตรฐานกฎหมายใหม่ โดยถือว่าโครงการเหล่านี้ได้รับผลกระทบเล็กน้อยหรือไม่ได้รับผลกระทบเลย และเมื่อหักออกจาก 65 โครงการ จะเหลือเพียง 42 โครงการ ในจำนวนนี้ เปิดกิจการไปแล้ว 11 โครงการ ก่อสร้างเสร็จ 9 โครงการ และอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 22 โครงการ

ทั้งนี้ หลังจากที่ได้ไปดูคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด และดูเหตุผลหรือเกณฑ์ที่ศาลปกครองสูงสุดได้ดำเนินการในการปล่อย 11 โครงการออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเดิมมี 76 โครงการ ปล่อย 11 โครงการ จึงเหลือ 65 โครงการ ซึ่งศาลฯ ได้ให้เหตุผลไว้แล้วว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไร ถ้าเอกชนเอาหลักเกณฑ์นั้นไปเทียบเคียงดูใน 42 โครงการ คิดว่าสามารถทำเรื่องเสนอข้อเท็จจริงไปยังศาลฯ ได้ และจากการตรวจสอบพบว่ามีถึง 19 โครงการ ที่คิดว่าเทียบเคียงกันได้ แต่ข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เอกชนจะต้องนำเสนอต่อศาลฯ ต่อไป

“มี 19 โครงการที่อยู่ในสถานะเดียวกับ 11 โครงการที่เคยหลุดออกมา เอกชนจะต้องไปเสนอข้อเท็จจริงต่อศาลฯ เองเป็นหลัก เป็นกรณีๆ ไป ไม่ใช่เป็นลักษณะที่จะไปเหมารวม หากเห็นว่าอยู่ในสถานะเดียวกัน ก็ไปยื่นต่อศาลฯ หากศาลฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเช่นนั้น ก็อาจจะเพิกถอนคำสั่งชั่วคราวในกรณีโครงการของเขา โดยเอกชนควรยื่นเองเป็นโครงการๆ ไป ไม่ควรรวมกัน เพราะเราเห็นได้ชัดว่าที่ศาลฯ ยกเลิกคำสั่งชั่วคราวกับ 11 โครงการ ก็จะดูเป็นกรณีๆ ไป ไม่หมารวมกัน จะดูตามข้อเท็จจริงของแต่ละโครงการ ซึ่งรัฐบาลยินดีในแง่การให้ความช่วยเหลือด้านข้อมูลและกฎหมายต่างๆ” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ส่วนที่เหลืออยู่ 23 โครงการ มี 15 โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 โครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว และ 7 โครงการดำเนินการอยู่ และใน 15 โครงการในส่วนนี้ ได้มีการนำเสนอว่าการก่อสร้างจะไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าเอกชนพร้อมที่จะรับความเสี่ยงว่าก่อสร้างแล้วจะได้รับอนุญาตหรือไม่ จะขอให้ศาลฯ อนุญาตให้ก่อสร้างต่อได้ แต่ว่าเอกชนต้องรอจนกว่าผ่านกระบวนการทั้งหมด และในทุกกรณีโครงการเหล่านี้ ต้องพร้อมที่จะทำตามมาตรา 67 วรรค 2 ตามที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายจะได้ตกลงกัน ซึ่งก็จะเหลืออีก 8 โครงการเท่านั้น ที่ไม่เห็นช่องทางที่จะดำเนินการให้เข้าหลักเกณฑ์ โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงานไปดูแล ทั้งนี้ เฉพาะ 8 โครงการนี้ มีมูลค่าหมื่นกว่าล้านบาท แต่ถ้ารวมทั้ง 42 โครงการ ก็ใกล้เคียง 2 แสนล้านบาท

นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติกรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงานร่วมกันเสนอกรณี 65 โครงการที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ และแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยมีมติ 3 ข้อ คือ 1.มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงานให้การสนับสนุนและประสานข้อมูลกับภาคเอกชน ในการจัดทำคำชี้แจงของศาลในประเด็นโครงการที่อาจเข้าข่ายยกเว้นคุ้มคราวชั่วคราวส่งให้ศาลตามขั้นตอนต่อไป 2.มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมประสานกับกระทรวงแรงงาน พิจารณากำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบการว่างงาน และสรุปเสนอครม.ต่อไป และ 3.มอบหมายกระทรวงพลังงานจัดทำรายละเอียดการแก้ไขการขาดแคลนก๊าซLPG ในประเทศ และให้สรุปเสนอ ครม.ต่อไป

นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ครม. ได้พิจารณาถึงกิจการที่จัดอยู่ในประเภทที่เข้าข่ายยกเว้นการคุ้มครองชั่วคราวจากคำสั่งระงับกิจการของศาลปกครองสูงสุด 65 กิจการ โดยคำนึงถึงผลกระทบให้น้อยที่สุด คือพิจารณาจากกิจการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ก่อสร้างแล้วและดำเนินการแล้วที่มีประมาณ 42 กิจการ พบว่า 19 กิจการเข้าข่ายเป็นกิจการที่มีโอกาสจะขอยกเว้นการคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ โดยหลังจากนี้เอกชนก็จะสามารถไปยื่นขอคุ้มครองจากศาลปกครองกลางเป็นรายๆ ไป โดย 19 กิจการมีมูลค่า 7.7 หมื่นล้านบาท

นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วย รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า นอกเหนือจาก 19 กิจการที่มีโอกาสขอยกเว้นการคุ้มครองชั่วคราวจากการระงับกิจการแล้ว ยังพบว่ามีอีก 15 กิจการมูลค่า 8.3 หมื่นล้านบาท เป็นกิจการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่เข้าข่าย แต่ยังมีประเด็นที่จะต้องหาเหตุผลเข้าไปเพิ่มเติม เพราะอาจจะเข้าเกณฑ์ไม่มากนัก ส่วนที่เหลืออีก 8 กิจการจาก 42 กิจการนั้นยอมรับว่าค่อนข้างยากเนื่องจากเข้าเกณฑ์น้อยมาก

“รัฐบาลจัดทำข้อมูลให้ แต่เอกชนจะต้องเป็นคนไปยื่นเป็นรายๆ ไป ซึ่งมูลค่ารวมกิจการที่เข้าข่ายยื่นได้ คือ 19 กิจการ บวกกับ 15 กิจการ จะมีมูลค่ารวมประมาณ 1.6 แสนล้านบาท จะลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปได้พอสมควร ถ้าสามารถดำเนินการต่อไปได้”นายสรยุทธกล่าว

ส่วนหลักเกณฑ์การปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหามาบตาพุดที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน จะสรุปกรอบการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA,HIA) และการรับฟังความเห็นต่อประชาชน เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติวันที่ 24 ธ.ค.นี้ จากนั้นจะสามารถประกาศปรับปรุงประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้วนำเสนอครม.พิจารณาในวันอังคารหน้า เอกชนก็จะสามารถมีกรอบปฏิบัติได้

ทั้งนี้ 19 กิจการที่เข้าข่ายเป็นกิจการที่มีโอกาสจะขอยกเว้นการคุ้มครองชั่วคราวนั้น เป็นของกลุ่มปตท.มากที่สุดถึง 9 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนประมาณ51,261 ล้านบาท รองลงมา คือเครือปูนซิเมนต์ไทย จำนวน 7 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 22,158 ล้านบาท กลุ่มเบอร์ล่า 2 โครงการ เงินลงทุนรวม 3,200 ล้านบาท และกลุ่มอูเบะ 1 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 1,400 ล้านบาท

วานนี้ (22 ธ.ค.) นางมารินทร์ อำมะรี ชาวบ้านชุมชนบ้านบน เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง พร้อมพวกอีก 4 คนนำคำสั่งศาลปกครองและหนังสือคำร้องยืนยันการถอนฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 808/2552 ที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้านมาบตาพุดฟ้องต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เข้าพบ พ.ต.อ.จักรกริช ทรงศิริ ผกก.สภ.มาบตาพุด หลังได้รับหมายศาลปกครองสูงสุดให้ไปไตร่สวนคดีกรณีมีผู้แอบอ้างทำคำร้องขอถอนชื่อจากรายชื่อผู้ฟ้องคดีในวันที่ 24 ธ.ค.2552 เวลา 13.30 น. ณ ห้องไตร่สวนที่ 8 ชั้น 3 ศาลปกครองสูงสุด

นางมารินทร์ กล่าวว่า ตนเป็น 1 ใน 43 คนผู้ฟ้องคดี ไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่ามีรายชื่อเป็นผู้ถอนฟ้องคดีได้อย่างไร ทั้งนี้ ยังมีชาวบ้านที่ได้รับหมาย เพื่อไปไตร่สวนคำร้องการขอถอนคดีดังกล่าวอีก 10 ราย

ก่อนหน้านี้ ได้มีอดีตผู้นำชุมชนบ้านบน ในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ได้มาพูดจาหว่านล้อมชาวบ้านผู้ฟ้องคดีทั้งหมด ให้ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่า พร้อมจ่ายเงินค่าลงลายมือชื่อรายละ 1,200 บาทโดยไม่บอกว่าจะนำไปทำอะไร เพียงแต่อ้างว่าจะนำไปแจ้งศาลเพื่อให้โรงงานทั้ง 65 โรงงานปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น แต่เมื่อมีหมายศาลมาถึงชาวบ้านจึงรู้ว่าไม่ใช่ตามเจตนารมณ์ของชาวบ้านที่ได้ลงชื่อไป แต่กลับเป็นการไปถอนฟ้องแทน ทั้งนี้ ตนจะไปพบศาลตามหมายคำสั่งตามวันและเวลาดังกล่าวอย่างแน่นอนเพื่อชี้แจงและยืนยันว่าจะไม่ถอนฟ้องอย่างเด็ดขาด

ด้าน พ.ต.อ.จักรกริช กล่าวว่า ได้แนะนำชาวบ้านที่ถูกลงชื่อให้เป็นผู้ถอนฟ้องคดีให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด โดยให้เดินทางไปพบตามวันเวลาที่กำหนดไว้ เพราะหากไม่ปฏิบัติตามถือว่าเป็นการละเมิดศาลต้องรับโทษตามกฎหมายอย่างแน่นอนอย่างไรก็ตาม ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งที่หลงเชื่อ และไม่กล้าเดินทางไปพบศาลตามวันเวลาที่กำหนด เพราะเกรงว่าหากไปแล้วจะถูกดำเนินคดี.
กำลังโหลดความคิดเห็น