xs
xsm
sm
md
lg

คำสั่งศาลปกครองสุงสุด บรรทัดฐานสิ่งแวดล้อม-การลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 กรณี โครงการลงทุน 76 โครงการที่มาบตาพุด ที่ศาลปกครองชั้นต้น สั่งระงับการดำเนินการไว้ก่อนชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น แต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกับพวกรวม 8 คน ซึ่งเป็นผู้อนุมัติ 76 โครงการนี้ อุทธรณ์ แม้จะเป็นเพียงการยืนยัน/ แก้ไขคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองชั้นต้น ยังไม่ใช่ คำพิพากษาว่า สุดท้ายแล้ว โครงการเหล่านั้นจะสามารถดำเนินการต่อไปได้หริอไม่ แต่ในรายละเอียดของคำสั่ง ได้อธิบายเหตุผล ซึ่งอาจถือได้ว่า เป็นบรรทัดฐานของการดำเนินโครงการลงทุนว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ไม่ให้กระทบกระเทือนต่อสิทธิชุมชน

บรรทัดฐานนี้คือ ทั้งผู้มีอำนาจอนุมัติการลงทุน และนักลงทุนเจ้าของโครงการ ต้องปฏิบัติตาม มาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 สถานเดียวเท่านั้น จะมาทำลักไก่ อ้างว่า ยังไม่มีกฎหมายลูก หรือระเบียบข้อบังคับ ที่กำหนดวิธีปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 จึงขออนุโลม อนุญาตให้ลงทุน โดยใช้กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับที่มีอยู่แล้ว ไปพลางๆก่อนไม่ได้ เพราะมาตรา 67 วรรค 2 มีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูณ พ.ศ. 2550

“สิทธิของบุคคลที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 67 บัญญัติรับรองไว้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง การที่ยังไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการใช้สิทธิดังกล่าวนั้น ไม่ใช่เหตุที่องค์กรของรัฐจะยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างเพื่อปฏิเสธไม่ให้ความคุ้มครองสิทธิดังกล่าวได้ เพราะโดยหลักการใช้และการตีความกฎหมาย เจตนารมณ์ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จะมีผลตามที่บัญญัติโดยทันทีไม่ว่าจะมีบทบัญญัติ ให้ต้องมีการตรากฎหมายกำหนดรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวหรือไม่” คำสั่งศาลปกครองสูงสุดตอนหนึ่ง ระบุไว้อย่างนี้

มาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดกติกาการดำ เนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ว่า ต้องผ่านกระบวนการ 3 ขั้นตอน คือ 1. ต้องจัดทำรายงานประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และมีการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) 2. ต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ และ 3. ต้องให้องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นประกอบการพิจารณาก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว

รัฐธรรมนูญ 2550 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ผ่านไปแล้ว 2 ปี แต่ปรากฏว่า การปฎิบัติตาม มาตรา 67 วรรค 2 มีเพียง การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และจัดรับฟังความคิดเห็นตามตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่มีกฎหมายบังคับใช้อยู่แล้ว

ส่วน การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ และการจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่กำหนดทำหน้าที่ให้ความเห็นประกอบก่อนดำเนินโครงการนั้น ยังไม่มีการจัดตั้งแต่อย่างใด

ในขณะที่นักการเมืองพรรคร่วมรัฐบาล แลพรรคฝ่ายค้าน เอาแต่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อผลประโยชน์โดยตรงของตัวเอง กับผู้มีพระคุณเท่านั้น เรื่องที่เป็นประโยชน์ส่วนร่วม เป็นกลไก กำหนดหน้าที่ความสัมพันธ์ระหว่างภาคส่วนต่างๆในสังคม กลับไม่มีใครใส่ใจ ปล่อยให้เกิดปัญหาขึ้นมา และให้ภาคเอกชน กับภาคประชาชนเผชญหน้ากันเอง ต่างฝ่ายต่างกล่าวหากัน

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดยังชี้ชัดๆว่า ใครที่มีหน้าที่ต้องดำเนินการ ตาม มาตรา 67 วรรค 2 แต่ไม่ทำหน้าที่ จนก่อให้เกิดปัญหาขึ้น

“ นอกจากนี้ ยังได้เคยมีการศึกษา ประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่มีผลกระทบอย่างรุนแรง ดดยได้กำหนดไว้ 19 ประเภทกิจการ ตามร่างประกาศโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 และผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 4 ภูมิภาคแล้ว แต่ไม่ได้นำออกประกาศใช้จนกระทั่งมีการฟ้องคดี รมว.อุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จึงได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2552 โดยกำหนดให้เหลือเพียง 8 ประเภทกิจการ

ส่วนกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์การอิสระทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เคยมีคำสั่งวันที่ 14 มี.ค. 2551 แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาและยกร่างกฎหมายดังกล่าว และได้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนทั้ง 4 ภูมิภาคเช่นกัน แต่ไม่ได้ดำเนินการเพื่อนำออกใช้ จนกระทั่งมีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้นและขณะนี้ก็ยังไม่ได้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงถึงการขาดการติดตามและการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังของผู้ถูกฟ้องคดีที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานของรัฐที่มิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นความรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีโดยตรงที่ไม่ได้ดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว”


ศาลปกครองสูงสุดยังบอกด้วยว่า อย่ามาโทษว่า มาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวขอศาล เป็นอุปสรรคขัดขวางการบริหารงานของรัฐ หรือ กระทบต่อการดำเนินโครงการของภาคเอกชน ต้องโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเอง

“ หากจะเกิดปัญหาอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐจากคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวของศาลก็เป็นเรื่องที่สืบเนื่องโดยตรงมาจากการละเลยไม่ดำเนินการหรือความล่าช้าของผู้ถูกฟ้องคดีเองที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การที่เจ้าของโครงการหรือกิจกรรมนั้นจะต้องชะลอการดำเนินการก่อสร้าง ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามโครงการของตนออกไป แล้วจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและเศรษฐกิจของภาคเอกชน รวมทั้งมีผลกระทบต่อการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐ จึงไม่ใช่เนื่องมาจากคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวของศาลโดยตรง”

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 ซึ่งแก้ไขคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองชั้นต้น ที่ให้ระงับการดำเนินโครงการทั้ง 76 โครงการ เป็น ให้ระงับ 65 โครงการ ตามเดิม และให้ดำเนินการต่อไปได้ 11 โครงการ ถือได้ว่า เป็น การตอกย้ำกรอบกติกาการลงทุนอย่างชัดเจน ภาคเอกชนทั้งไทยและต่างชาติจึงไม่ควรจะมีอาการ มึนงงต่อคำสั่งศาล หรือ เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อการลงทุนในไทย แต่ควรไปบอกให้รัฐบาลทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูณ มาตรา 67 วรรค 2 เสียที
กำลังโหลดความคิดเห็น