xs
xsm
sm
md
lg

เบรกโรงแยกก๊าซ หน่วยที่ 6 ปตท.หัวทิ่ม กระทุ้งภาครัฐอุ้มด่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปตท.กระทุ้งภาครัฐออกระเบียบดูแลสิ่งแวดล้อม หวังโครงการลงทุนในมาบตาพุดเดินหน้าต่อได้ ลั่นโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 ติดร่างแห 65 โครงการเน่า แต่ดันทุรังเดินหน้าได้ เพราะได้รับใบอนุญาตดำเนินการก่อน รธน.ปี 50 จะมีผลบังคับใช้ จึงไม่อยู่ในข่ายที่ต้องชะลอการลงทุน แต่หากถูกระงับจริง กระทบ ศก.หนักแน่ ขณะที่ ส.อ.ท.ยอมรับ ภาคเอกชนมืดแปดด้าน ยันทำดีที่สุดแล้ว




นายสรัญ รังคสิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดพาณิชย์และต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ที่สั่งระงับการลงทุนจาก 76 โครงการเหลือ 65 โครงการในมาบตาพุดนั้น ยอมรับว่า ปตท.ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากมีบางโครงการอยู่ใน 65 โครงการที่ถูกระงับ เช่น โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 ซึ่งแม้อยู่ในกลุ่ม 65 โครงการ แต่ ปตท. ได้รับใบอนุญาตดำเนินการก่อนรัฐธรรมนูญ 2550 จะมีผลบังคับใช้ จึงไม่อยู่ในข่ายที่ต้องชะลอการลงทุน

นายสรัญ กล่าวว่า ปตท. ต้องการให้คณะกรรมการ 4 ฝ่าย และภาครัฐเร่งออกกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ 2550 โดย ปตท. มั่นใจว่า ทุกโครงการที่ดำเนินการมีการจัดทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ และมีมาตรฐานดูแลสิ่งแวดล้อมในระดับสากลอยู่แล้ว แม้กฎเกณฑ์จะออกมาอย่างไร ก็เชื่อว่า จะผ่านเกณฑ์ที่กำหนด

ส่วนผลกระทบด้านการตลาด หากโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 ต้องหยุดดำเนินการ จะมีผลกระทบต่อต้นทุน เพราะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ล่าช้า อีกทั้งเป็นวัตถุดิบต้นทางของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีหลายโครงการ แต่เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค

ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลังจากการระงับ 65 โครงการในมาบตาพุด ผู้ประกอบการก็ต้องเร่งดำเนินการตามคำสั่งและดูเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่หลายโครงการก็จะช่วยในด้านนี้เช่นกัน ทั้งนี้พยายามเร่งขบวนการต่างๆ เพราะบางโครงการมีคำสั่งซื้อไปแล้วและลูกค้าไม่สามารถไปหาซื้อที่อื่นไม่ได้ เป็นผลกระทบลูกโซ่ต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลมีกลไก และเงื่อนระเบียบที่สอดคล้องกับ รธน. เพราะภาคเอกชนไม่รู้จะทำอย่างไร ซึ่งก็คิดว่าได้ทำตามกฏระเบียบถูกต้องทุกประการแล้ว ดังนั้น รัฐบาลต้องออกกฏเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ปฏิบัติได้ หลายอย่างอาจไม่เข้าใจเพราะมันเป็นเรื่องเทคนิคพอสมควร

ส่วนผลจากการระงับโครงการ คาดว่าจะทำให้พนักงานก่อสร้างประมาณ 30,000-40,000 รายต้องสูญเสียรายได้ ไม่รวมผลกระทบไปถึงครอบครัวเพราะรายได้ที่เขาได้รับจะเป็นค่าจ้างรายวัน ซึ่งก็คงต้องยียวยานอกจากนี้ยังมีความเสียหายเนื่องจากการกู้เงินมาลงทุน ขณะนี้กำลังประเมินความเสียหายจะเชิญคนเกี่ยวข้องมาเพราะไม่ได้เป็นความผิดของเอกชน แต่รัฐบาลก็ร่วมแก้ปัญหาแต่มาถึงทางตันคงหาทาออกไปมากกว่านี้เพราะลำบากเนื่องจากติดกฏเกณฑ์ตามกฏหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น