xs
xsm
sm
md
lg

สอบจรรยาทุจริต บอร์ดการบินไทย

เผยแพร่:   โดย: เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง



ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต


เรื่องฉาว

เมื่อพยานหลักฐานปรากฏชัดว่า บอร์ดการบินไทยผู้หนึ่ง ได้พาภรรยาคนสุดท้อง เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น โดยสายการบินไทย ที่นั่งชั้น 1 หมายเลข 4E,F ด้วยการใช้ตั๋วโดยสารฟรี

ยิ่งกว่านั้น ขากลับ 14 พ.ย.2552 ได้ขนกระเป๋าจำนวน 40 ใบ เช็คอินที่สนามบินนาริตะ เวลาเดียวกัน โดยแยกกระเป๋าเป็น 2 ชุด

ชุดแรก 30 ใบ ในนามของตนเองและภรรยา น้ำหนักรวม 407 ก.ก. แต่แก้ไขตัวเลข ใส่ในคอมพิวเตอร์เป็นหลักฐานเพียง 172 ก.ก.

ชุดที่สอง 10 ใบ ในนามของผู้บริหารระดับสูงของการบินไทย (ระดับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่) ซึ่งเดินทางมาด้วยกัน ที่นั่งชั้น 1 หมายเลข 1B น้ำหนักรวม 113 ก.ก. แต่แก้ไขตัวเลข ใส่หลักฐานเพียง 51 ก.ก.

กระเป๋าทั้งหมด เมื่อเดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ได้นำออกจากสนามบินทางช่องทางกระเป๋าสูญหายและได้คืน (Lost & Found) โดยไม่ผ่านการเสียภาษีศุลกากร

เรื่องนี้ พนักงานการบินไทย ทั้งที่เป็นคนไทยและญี่ปุ่น ที่ประจำการอยู่มหานครโตเกียว ต่างรู้ถึงพฤติกรรมและอดทนไม่ได้อีกต่อไป เพราะเป็นการกระทำซ้ำหลายครั้งแล้ว จึงได้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว

และยังได้เปิดเผยข้อมูลต่อไปอีกด้วยว่า เคยส่งข้อเท็จจริงให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ของการบินไทยได้รับรู้พฤติกรรมในอดีตของบอร์ดการบินไทยและภรรยาคู่นี้ มาตั้งแต่ 2 ปีเศษมาแล้ว ดังปรากฏในรายงานวันที่ 16 สิงหาคม 2550 ว่า กรรมการบริหาร... (บอร์ดผู้นี้-ระบุชื่อด้วย) พร้อมภรรยา ได้เดินทางมาประเทศญี่ปุ่นบ่อยมาก และใช้เงินรับรองของบริษัทการบินไทยในการรับรองเลี้ยงดูตัวพวกเขาเอง

ภรรยาของบอร์ดคนนี้ ทำธุรกิจส่วนตัวร่วมกับนางพิมใจ มิตซูโม เจ้าของร้านอาหาร เจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ต และขายตั๋วเครื่องบินที่ไม่มีใบอนุญาต ทุกครั้งที่เธอเดินทางด้วยการบินไทย มักขนของเกินน้ำหนักที่การบินไทยจะอนุญาต และเธอจะได้เลื่อนชั้นที่นั่ง เพราะนางพิมใจจะซื้อตั๋วราคาถูกที่สุดในชั้นประหยัด แล้วค่อยใช้อิทธิพลของบอร์ดเลื่อนที่นั่งขึ้นไปเป็นที่นั่งชั้น 1 หรือชั้นธุรกิจ

บอร์ดคนนี้ จะใช้งบรับรองของการบินไทย พักที่โรงแรมที่ดีที่สุดในเมืองต่างๆ ของญี่ปุ่น เช่น โอซาก้า ฟูโกโอกะ ฯลฯ และกินอาหารดีๆ หรูๆ เป็นประจำ ทำให้เงินรับรองของบริษัทในออฟฟิศการบินไทยโตเกียวลดลงมาก ไม่พอที่จะใช้ปฏิบัติงาน

และได้ตั้งข้อสังเกตว่า บุคคลดังกล่าว ภายหลังจากเกษียณอายุจากการเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของการบินไทย และมาเป็นบอร์ดการบินไทย ก็เดินทางมาญี่ปุ่นพร้อมภรรยาบ่อยครั้งมากขึ้น

ปฏิกิริยาของบอร์ดและประธานบอร์ด

ทันทีที่ข่าวปรากฏสู่สาธารณะ บอร์ดการบินไทยผู้ถูกกล่าวหา และประธานบอร์ด พยายามกลบเกลื่อนการกระทำความผิด โดยพยายามบิดเบือนประเด็น และสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำผิด
เช่น

อ้างว่า ของในกระเป๋าเป็นเพียงผลไม้ เอามาฝากญาติพี่น้อง (เอามาฝากที หลายร้อย ก.ก.เลยหรือ)

อ้างว่า เป็นของที่มี “ผู้ใหญ่” ฝากให้ช่วยขนให้ (ไม่มีการยืนยันว่าผู้ใหญ่คนไหน)

อ้างว่า เป็นของถวายพระวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และภายหลังก็มีใบอนุโมทนาบัตรของวัด (ทำผิดก็ได้ แต่ถ้าบางส่วนเอาไปทำบุญ อย่างนั้นหรือ)

อ้างว่า มีคนฝากก็เลยขนให้ ไม่รู้ว่ามีกี่ชิ้น และหนักเท่าไหร่ก็ไม่รู้ (ช่างไม่กลัวคนฝากขนยาเสพติดหรือของผิดกฎหมายบ้างเลยหรืออย่างไร)

อ้างว่า ใครๆ ในการบินไทยเขาก็ทำกันทั้งนั้น (ทำนองว่า มีคนอื่นเลวกว่านี้อีก)

อ้างว่า มีคนพยายามเลื่อยขาเก้าอี้ เพราะขัดแย้ง หรืออิจฉา (ไม่ปฏิเสธว่าทำจริงๆ ใช่ไหม? ถ้าไม่ทำจริง จะมีใครเอามาเล่นงานได้ไหม?)

ประเด็นการสอบสวน เพื่อเอาผิดทางวินัย?

บอร์ด (กรรมการบริหาร) ผู้ถูกกล่าวหา ประกาศศักดาว่า ฝ่ายบริหารของบริษัทการบินไทย และสหภาพแรงงานการบินไทย ไม่มีอำนาจในการสอบสวนตรวจสอบ เพราะตนเป็นถึงกรรมการบริหาร (บอร์ด) ซึ่งสูงกว่า แล้วก็ขอลาพักงานชั่วคราว

คณะกรรมการบริหารของการบินไทย ได้ประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมติตั้งกรรมการ 3 คน สอบสวนหาความผิด โดยตั้งประเด็นสอบสวนแค่เพียงอาจมีการกระทำขัดต่อจริยธรรมและธรรมาภิบาล และขนของน้ำหนักเกิน ซึ่งมีโทษปรับ คือ ต้องจ่ายค่าขนส่งเพิ่มขึ้น

นับว่าเป็นประเด็นการสอบสวนที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นอย่างมาก

ประเด็นการสอบสวนที่ควรจะเป็น

อย่างน้อยที่สุด น่าจะประกอบด้วยประเด็น ดังนี้

1) กรรมการบริหารผู้นี้ ได้ใช้สิทธิ อำนาจหน้าที่ เดินทางด้วยตั๋วเครื่องบินฟรี พร้อมภรรยา ดำเนินการธุรกิจส่วนตัวนำเข้าสินค้ามานานมากกว่า 2 ปี โดยไม่จ่ายค่าขนส่ง ค่าโดยสาร และที่สำคัญ ไม่จ่ายภาษีศุลกากร (หนีภาษี) จริงหรือไม่?

2)กรรมการบริหารผู้นี้ นำสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตา เสื้อ น้ำหอม และสินค้ายี่ห้อดังราคาแพง ISSEY MIYAKE เนื้อวัวโกเบ และอื่นๆ นำไปจำหน่ายที่ซอยละลายทรัพย์ ถนนสีลม และที่ Regent Complex โดยหลบเลี่ยงไม่จ่ายภาษี จริงหรือไม่?

3)รองกรรมการผู้จัดการ ที่เดินทางร่วมด้วยในวันที่ 14 พ.ย. 2552 เหตุใดจึงเลือกเดินทางไปญี่ปุ่น ระหว่าง 11-14 พ.ย.2552 ทั้งๆ ที่ มีภาระหน้าที่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ และได้ช่วยเหลือ ขนสินค้ามาให้อีก 113 ก.ก. จริงหรือไม่?

4)ผู้จัดการการบินไทย ประจำโตเกียว เกิดความยากลำบากในการต้องอนุมัติให้ขนสินค้าเกินน้ำหนักขนาดนั้นหรือไม่ และทำไมจึงต้องแก้ไขตัวเลข (ใส่ตัวเลขน้ำหนักปลอม) และเคยทำอย่างเดียวกันนี้ บ่อยแค่ไหน? เมื่อไรบ้าง?

5)มีการดำเนินธุรกิจของกรรมการบริหารคนนี้ โดยการส่งใบสั่งให้คนขับรถของสำนักงานการบินไทยประจำญี่ปุ่น ไปจัดการซื้อสินค้าและมาเตรียมจัดส่งที่สำนักงานการบินไทย และได้ดำเนินการมาแล้วกี่ครั้ง?

6)มีการนำงบรับรองของสำนักงานการบินไทย ที่กรรมการบริหารผู้นี้นำไปรับรองตนเองและพวก ตามข้อมูลที่เจ้าน้าที่การบินไทยจากโตเกียวกล่าวหา ในหนังสือที่ 0754Z/16 AUGUST 07 MSG FROM 483112 TYO จนทำให้การทำงานของสำนักงานเกิดความยากลำบาก จริงหรือไม่? และกรรมการบริหารผู้นี้และภรรยา ทำธุรกิจส่วนตัวร่วมกับคนไทยในญี่ปุ่น โดยใช้สิทธิพิเศษการขนส่งของการบินไทยเป็นประจำ จริงหรือไม่?

7) มีการขนสินค้าออกทาง Lost & Found ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร ที่มีชื่อเล่นว่า “หวาน” จริงหรือไม่? และภรรยาของเจ้าหน้าที่ผู้นี้ได้รับการช่วยเหลือให้ทำงานในการบินไทย จริงหรือไม่?

ดังนี้แล้ว ประเด็นการสอบสวนกรรมการบริษัทการบินไทยผู้นี้ ควรเป็นการสอบความผิดทางวินัยและอาญา คือ

1)มีการลักลอบขนสินค้าหนีภาษีเข้าในราชอาณาจักรไทย จริงหรือไม่? มีการดำเนินการแล้วกี่ครั้ง และควรจะให้กระทรวงการคลังดำเนินคดีอย่างไร?

2)มีการใช้อนาจหน้าที่บอร์ด (กรรมการบริหารของบริษัท) เดินทาง ขนสินค้า และดำเนินธุรกิจ โดยเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์กับบริษัทการบินไทยหรือไม่? ควรลงโทษทางวินัย อาญา หรือแพ่ง อย่างไร?

3)จะปรับปรุงคณะกรรมการบริหาร ทั้งจำนวนที่เล็กลง คุณภาพคุณสมบัติของผู้เป็นบอร์ด ที่มาของการสรรหา รวมทั้งสวัสดิการและค่าตอบแทน มิใช่มีค่าตอบแทนที่เป็นเบี้ยประชุมรายเดือนและรายครั้งแล้ว ยังมีค่าเลี้ยงรับรองเดือนละ 30,000 บาท ที่ไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้, ค่าสมาชิกสนามกอล์ฟ อีกปีละ 100,000 บาท, ค่าเล่นกอล์ฟ อีกเดือนละ 3-5 หมื่นบาท รวมทั้งการบินไปต่างประเทศและในประเทศ ในที่นั่งชั้น 1 โดยไม่ยอมเดินทางชั้นธุรกิจ ตามนโยบายของฝ่ายบริหาร ว่าจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร

ประธานบอร์ดการบินไทย ต้องดำเนินการตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือนประเด็น ไม่นำพระสงฆ์มาอ้างเพื่อมุสา ไม่ต้องเกรงใจนักการเมืองผู้อยู่เบื้องหลัง และต้องไม่ไว้ใจกรรมการสอบสวนที่แต่งตั้ง เพราะอย่างน้อยก็ปรากฏว่ามีคนหนึ่ง ที่เคยมีข้อกล่าวหาซิกแซกให้น้องชายเปลี่ยนชื่อสกุล เพื่อเข้าทำสัญญากับหน่วยงานที่ตนสังกัด


การบินไทยเป็นบริษัท เป็นวิสาหกิจที่ต้องแข่งขันกับเอกชนและต่างชาติ โดยใช้สิทธิการบินของรัฐของประชาชน การบินไทยจึงต้องผ่าตัดปรับปรุงให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

อนุสติท้ายเรื่อง

หากเทียบเคียงข้อกล่าวหาของกรรมการบริหาร(บอร์ด)ผู้นี้ กับ น.ส.จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำไม่เหมาะสม นำปฏิทินที่มีรูปโป๊มาแจกในบริเวณทำเนียบรัฐบาล

น่าคิดว่า... น.ส.จิตภัสร์ อายุเพียง 23 ปี เพิ่งเข้าทำงานครั้งแรก เมื่อรู้ว่าเธอผิดพลาด เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เธอก็ขอลาออก และขอโทษประชาชน

แต่กรรมการบริหารคนนี้ เป็นชายอกสามศอก อายุมากกว่าเกือบ 3 เท่า ผ่านประสบการณ์ทำงานจนเกษียณงานแล้ว แต่เมื่อเทียบความด้าน ความหนา ความรู้จักละอาย และสำนึกความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองแล้ว เทียบไม่ได้เลยกับผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ก้มหน้ารับผิด


กรณีนี้ ใจของเธอ ใหญ่กว่าผู้ชายอกสามศอก ที่ทั้งคับแคบและมีใจเล็กกว่าแมงหวี่ ซ้ำยังด้านและทน ที่จะตากหน้า หาผลประโยชน์กับวิสาหกิจของชาติต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น