ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – กลุ่มทุนไทย-เกาหลีใต้ ดึง “พีค๊อก” ยักษ์ขนส่งจากหยุนหนัน ของจีน ร่วมพัฒนาระบบขนส่งสินค้าข้ามชาติรับคุน-มั่ง กงลู่ จับมือเครือ “สยามสตีล” เปิดเส้นทางสินค้าจีนสู่ท่าเรือแหลมฉบัง ออกสู่ตลาดโลก ด้านลาวเร่งเคลียร์ปัญหาแนวถนนสะพานโขง 4 ทับสัมปทาน นัดเสนอ ครม.สปป.ลาว 28 ธ.ค.นี้
ดร.สิชา สิงห์สมบุญ ประธานบริษัทเอเอซี กรีน ซิตี้ ลาว จำกัด บริษัทร่วมทุนไทย-เกาหลีใต้ ที่ได้รับสัมปทานพื้นที่ 1,200 ไร่ บริเวณบ้านดอนขี้นก จุดก่อสร้างสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (ที่จะเปิดซองประมูลในวันที่ 7 มกราคม2553 ) ฝั่งเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ซึ่งมีโครงการก่อสร้างโรงแรม รีสอร์ต สปา สนามกอล์ฟ ฯลฯ ด้วยงบลงทุน 1,320 ล้านบาท อายุสัมปทาน 40 ปี (ต่ออายุได้อีก 40 ปี รวมเป็น 80 ปี) ล่าสุดลงทุนปรับพื้นที่-พัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานไปแล้ว กว่า 200 ล้านบาท เปิดเผยว่า ที่จริงแล้วบริษัทยังมีแผนงานพัฒนาพื้นที่นี้ต่อเนื่องอีก หลังเส้นทางคุน-มั่ง กงลู่ เปิดใช้เต็มตัว และสะพานข้ามแม่น้ำโขง 4 สร้างเสร็จ
ที่ผ่านมาได้ตกลงเบื้องต้นกับกลุ่มทุนขนส่งขนาดใหญ่ของมณฑลหยุนหนัน สาธารณรัฐประชาชนจีน คือ กลุ่มบริษัทพีค๊อกฯ ที่มีแผนขนส่งสินค้าจีนลงมาตามถนนคุนหมิง-กรุงเทพฯ ผ่านเส้นทาง R3a ออกทะเลที่ท่าเรือแหลมฉบัง ส่งตลาดโลกอยู่แล้ว โดยจะเข้ามาใช้พื้นที่สัมปทานของบริษัทบางส่วน เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายหัวลากรถบรรทุก ก่อนวิ่งเข้าไทย
เมื่อเข้าเขตไทย ก็จะวิ่งเข้าไปใช้บริการลานคอนเทนเนอร์ของบริษัท KRC Transport & Service แหลมฉบัง จำกัด ในเครือของกลุ่มสยามสตีล ที่ได้ทำข้อตกลงเบื้องต้นร่วมกันแล้ว ก่อนที่จะส่งสินค้าลงเรือออกสู่ตลาดโลกต่อไป
สำหรับบริษัทเอเอซี กรีนซิตี้ ลาว จำกัด เป็นกิจการร่วมทุนไทย-เกาหลีใต้ ในสัดส่วน 80 ต่อ 20 เป็นกลุ่มทุนเพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว-สินค้าปลอดภาษีครบวงจร ภายใต้ชื่อโครงการ “นาคราชนคร” มูลค่า 1,320 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2550 โดยตั้งอยู่ห่างจากโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อมระหว่างห้วยทราย-เชียงของ และเชื่อมถนน R3a ไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ เพียงประมาณ 300 เมตรและห่างจากสนามบินเมืองห้วยทรายประมาณ 6 กิโลเมตร ทำให้กลายเป็นศูนย์กลางของ 5 เขตเศรษฐกิจคือไทย สปป.ลาว พม่า จีน เวียดนาม ในอนาคต
ทั้งนี้ ได้วางแผนพัฒนาพื้นที่ สร้างโรงแรมห้าดาวขนาด 120 ห้อง พร้อมมีห้องเอนเตอร์เทน พัฒนาระบบสาธารณูปโภค การเกษตร รีสอร์ต สปา ให้แล้วเสร็จใน 18 เดือน โดยดำเนินการมาได้ราว 4 เดือน จากนั้นจะพัฒนาเป็นสนามกอล์ฟขนาด 18 หลุม ศูนย์การค้าและอื่นๆ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม พื้นที่สัมปทานแห่งนี้ ก็ยังมีปัญหากรณีแนวถนนต่อจากสะพานข้ามโขง 4 และจุดสร้างอาคารด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว ที่กรมทางหลวงไทย ออกแบบ ทับพื้นที่สัมปทาน ซึ่งบริษัทได้เสนอให้กรมทางหลวงไทย หาทางออกด้วยการเลื่อนกำหนดการเปิดซองประมูล - วางแนวถนนใหม่ และล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา แขวงบ่อแก้ว ได้ประชุมหารือกับกระทรวงโยธาของ สปป.ลาว เพื่อหาทางแก้ปัญหาให้โครงการเดินต่อได้ และจะเสนอต่อที่ประชุม ครม.ลาว ในวันที่ 28 ธันวาคมนี้ด้วย
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสอดรับกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนจีนหลากหลายกลุ่ม ที่กำลังมุ่งแสวงหาช่องทางการลงทุนตามแนวเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพื่อเปิดทางขนส่งสินค้าจากมณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนออกสู่ตลาดโลก รวมถึงรองรับข้อตกลงจีน-อาเซียน ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม2553 นี้เป็นต้นไป
เมื่อข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ก็จะทำให้มณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน อย่างน้อย 4 มณฑลทั้งหยุนหนัน กว่างซี เสฉวน และกุ้ยโจว ที่มีประชากรรวมกันไม่น้อยกว่า 200 ล้านคน มีการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักมาอย่างต่อเนื่อง และที่ผ่านมาก็มีสินค้าส่งเข้าในตลาดภูมิภาคนี้อยู่แล้ว โดยการขนส่งผ่านทางทะเลจีนใต้ ไปยังท่าเรือสิงคโปร์ กระจายสู่ตลาดโลกอยู่แล้ว แต่ในอนาคตเมื่อเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพฯ ใช้งานได้เต็มที่ ก็จะหันมาใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้ในการขนส่งสินค้าผ่านลงเรือที่แหลมฉบังแทนมากขึ้น