xs
xsm
sm
md
lg

แผนสร้างสะพานข้ามโขง 4 เลื่อนเปิดซองประมูลสร้างต้นปี 53

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รูปแบบสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่4 จากเดิมคาดเริ่มก่อสร้างได้ กุมภาพันธ์ปีหน้า แต่ขณะนี้คงต้องเลื่อนออกไปก่อน
เชียงราย – สะพานข้ามโขง 4 เชื่อมเชียงราย-R3a จิ๊กซอว์สำคัญของเส้นทางคุน-มั่ง กงลู่ เลื่อนประกวดราคาอีกรอบ คาดเปิดซองได้ต้นปีหน้า ก่อนลงเสาเอกได้กลางปี เพื่อให้เสร็จทันปี 2555 ให้ได้

นายรังสรรค์ สุขชัยรังสรรค์ รองผู้อำนวยการแขวงการทางฝ่ายปฏิบัติการ แขวงการทางเชียงรายที่ 1 เปิดเผย “ASTVผู้จัดการ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคมเดินทางลงพื้นที่เดินทางไปสำรวจพื้นที่การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อมระหว่าง อ.เชียงของ จ.เชียงราย กับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ตามข้อตกลงของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงหรือ GMS ก่อนจะเดินทางข้ามไปยัง สปป.ลาว เพื่อสำรวจถนน R3a ไทย-สปป.ลาว-มณฑลหยุนหนัน จีนตอนใต้ต่อไปนั้น

กรมทางหลวง ได้รายงานความคืบหน้าในการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยง R3a และสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงของ รวมทั้งโครงการสนับสนุนท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสน 2 ที่ อ.เชียงแสน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง 4 เดิมคาดการณ์กันว่าจะมีการประกวดราคากันแล้วเสร็จราวกลางหรือปลายปี 2552 เริ่มก่อสร้างได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2553 เป็นต้นไป แต่ขณะนี้ต้องเลื่อนออกไป

ทั้งนี้ เนื่องจากผู้นำไทย-จีน เพิ่งจะลงนามความตกลงด้านการเงินในโครงการนี้ เมื่อคราวประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนหรืออาเซียนซัมมิตครั้งที่ 15 ที่ชะอำ จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม2552 โดยมีสาระสำคัญ คือ ไทยและจีน จะออกค่าก่อสร้างฝ่ายละ 50% (ไมรวม VAT) และมีการระบุรายละเอียดด้านการเงินของโครงการเอาไว้เรียบร้อย ซึ่งตามขั้นตอนนั้น จะต้องลงนามสัญญาก่อสร้างกับบริษัทที่ปรึกษา หลังจากมีการประกวดราคา เพื่อหาตัวผู้รับจ้างแล้ว จากนั้นให้เปิดซองประมูลในวันที่ 7 มกราคม 2553 เพื่อให้ทันการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2553-2555 ภายในระยะเวลา 30 เดือน จึงทำให้คาดว่าเอกชนที่ได้รับจ้างก่อสร้างจะนำเครื่องไม้เครื่องมือ ไปเริ่มต้นเตรียมการก่อสร้างได้ก่อนกลางปี 2553 หรือก่อนที่ฤดูน้ำหลากจะมาถึง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นตั้งแต่เดือน มีนาคม-เมษายน เป็นต้นไป จากนั้นการก่อสร้างก็จะเดินหน้าและคาดว่าจะไม่มีปัญหาใดๆ เพราะได้มีการสำรวจ ออกแบบและจัดเตรียมงบประมาณด้านต่างๆ เอาไว้พร้อมหมดแล้วเหลือเพียงการเข้าไปก่อสร้างอย่างเดียวเท่านั้น
พิธีลงนามระหว่างไทย-จีนด้านการเงินในโครงการ
นายรังสรรค์ ย้ำว่า สำหรับโครงการนี้ ไทยได้เสนอให้จีนร่วมกันก่อสร้างผ่านเวทีประชุม GMS เมื่อปี 2546 และทำให้ธนาคารพัฒนาเอเชียหรือ ADB ได้ศึกษารายละเอียดในปี 2548 กระทั่งมีมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 19 ธันวาคม ให้ประเทศไทยร่วมออกค่าก่อสร้างฝ่ายละ 50% กับจีน และวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 ก็มีการอนุมัติเงิน 35 ล้านบาทให้กรมทางหลวงสำรวจออกแบบ

ต่อมาวันที่ 21 มิถุนายน 2550 มีการลงนามความร่วมมือ หรือ MOU ระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน ที่สำนักงานใหญ่ ADB ประเทศฟิลิปปินส์ จากนั้นมีการสำรวจและออกแบบระหว่างวันที่ 28 กันยายน2550-27 มิถุนายน2551 และประเมินค่าก่อสร้างรวม 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม2552 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติวงเงินค่าก่อสร้างแล้ว 1,566 ล้านบาท และจัดสรรงบประมาณปี 2552 ให้อีก 120 ล้านบาทและปี 2553 ให้อีก 4 ล้านบาทตามลำดับ

สำหรับเอกชนที่เสนอตัวเข้าประกวดราคาเพื่อรับจ้างก่อสร้างดังกล่าวยังคงมีอยู่ 5 กลุ่ม Joint Venture เดิมที่รอการประกวดราคา ได้แก่ กลุ่ม “CTN Joint Venture” ประกอบไปด้วย บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นยิเนียริ่ง จำกัด จากจีน บริษัททิพากร จำกัด จากไทย และบริษัทหนองไฮ โรด แอนด์ บริง คอนสทรัคชั่น จำกัด จาก สปป.ลาว กลุ่ม “Joint Venture CKYS” ประกอบไปด้วยบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) จากไทยและบริษัทไชน่า หยุนหนาน ซันนี่ โรด แอนด์บริง จำกัด จากจีน กลุ่ม “VC Joint Venture” ประกอบไปด้วยบริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด จากไทย

กลุ่ม “CR5-KT Joint Venture” ประกอบไปด้วย บริษัทไชน่า เรลเวย์ โน.5 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด จากจีน บริษัท กรุงธนเอ็นยิเนียร์ จำกัด จากไทย และกลุ่มไชน่า Gezhouba (กรุ๊ป) คอร์ปอเรชั่น จากจีน กลุ่ม “SCC-MBEC Consortium” ประกอบไปด้วยบริษัทเสริมสงวนก่อสร้าง จำกัด จากไทย บริษัท ไชน่า เมเจอร์ บริง เอ็นยิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด จากจีน

ส่วนรูปแบบสะพานยังคงเหมือนเดิมคือเป็นลักษณะ Pre-Stressed Concrete Box Girder Bridge โดยมีเสาตอม่อในแม่น้ำโขง 4 เสา ตัวสะพานจะกว้าง 14.7 เมตร มีสองช่องจราจร ความยาวตัวสะพาน 480 เมตร แต่เมื่อรวมกับสะพานต่อเนื่องบนบกของฝั่งไทยก็จะมีความยาวรวม 630 เมตร

นอกจากนี้ยังมีโครงการเสริมคือการสร้างถนน 4 ช่องจราจรในฝั่งไทยอีกประมาณ 5 กิโลเมตรโดยกันเขตทางเอาไว้ 60 เมตร และถนน 2 ช่องจราจรในฝั่ง สปป.ลาว ระยะทาง 60 กิโลเมตร เขตทาง 50 เมตร รวมทั้งสร้างอาคารด่านพรมแดนทั้งฝั่ง อ.เชียงของ และเมืองห้วยทราย เป็นรูปแบบศิลปะล้านนาผสมผสานกับศิลปะประจำถิ่น และกันพื้นที่ไว้เป็นจุดจอดรถ คลังสินค้า ส่วนขยาย ฯลฯ พร้อมกับสร้างจุดเปลี่ยนการจราจรในฝั่ง อ.เชียงของ เพื่อให้สอดคล้องกับการจราจรในฝั่ง สปป.ลาว และจีนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น