xs
xsm
sm
md
lg

5 กลุ่มร่วมทุน“ไทย ลาว จีน”ชิงดำ สร้างสะพานข้ามโขง 4 เชื่อม R3a

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รูปแบบสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4
เชียงราย – 5 กลุ่มทุน Joint Venture – 9 บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ “ไทย – ลาว – จีน” ชิงดำโครงการก่อสร้างสะพานข้ามน้ำโขง 4 เชื่อม “เชียงของ – ห้วยทราย สปป.ลาว” เข้ากับเส้นทาง R3a ที่จะต่อจิ๊กซอว์ “คุน-มั่ง กงลู่” ให้สมบูรณ์ พร้อมเผยโครงการพัฒนาต่อเนื่องยังมีอีกเพียบ ทั้งถนน – อาคารส่วนราชการทั้ง 2 ฝั่งโขง

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า จากกรณีที่ประเทศไทย-จีน ได้ร่วมกันออกงบประมาณก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อมระหว่าง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ของไทยกับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว ) เพื่อเชื่อมกับถนน R3a (ไทย-สปป.ลาว-จีน หรือคุน-มั่ง กงลู่) ในส่วนของสำนักงานแขวงการทาง จ.เชียงราย สังกัดกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้แถลงถึงความคืบหน้าในการดำเนินโครงการว่า ปัจจุบันกรมทางหลวงเป็นหน่วยงานรับผิดชอบเต็มตัวในการคัดสรรเอกชนที่จะเข้าไปทำการก่อสร้างสะพานเพื่อให้แล้วเสร็จตามกำหนดในปี 2555 และอยู่ระหว่างคัดสรรเอกชนที่เสนอตัวเข้าไปก่อสร้างจำนวน 5 กลุ่ม รวมจำนวน 9 บริษัท ซึ่งมาจากทั้งในประเทศไทย สปป.ลาว และจีน

นายรังสรรค์ สุขชัยรังสรรค์ รองผู้อำนวยการแขวงการทางฝ่ายปฏิบัติการ แขวงการทางเชียงรายที่ 1 เปิดเผย "ASTVผู้จัดการรายวัน" ว่า ที่ผ่านมากรมทางหลวงได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา 4 บริษัทคือบริษัทเอพซิลอน จำกัด บริษัทเสโก้ จำกัด บริษัทนิปป้อน โคอิ จำกัด และบริษัทธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด สำรวจและออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2550 เป็นเวลา 9 เดือน ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จตามสัญญาหมดแล้วและได้จัดทำรายงานให้กรมทางหลวงได้รับทราบตามขั้นตอน ซึ่งรูปแบบโครงการก่อสร้างก็ได้เปิดเผยสู่สาธารณชนไปบ้างแล้ว

นายรังสรรค์ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อจากนี้คือ การจัดหาเอกชนมาทำการก่อสร้างสะพานและส่วนประกอบอื่นๆ ตามที่บริษัทที่ปรึกษาได้จัดทำและทางกรมทางหลวงได้อนุมัติ ซึ่งรูปแบบการจัดหาเอกชนดำเนินการนั้นจะเป็นไปตามข้อตกลงที่ระดับรัฐบาลได้หารือกันเอาไว้ตั้งแต่ต้นคือ จะต้องเป็นบริษัทร่วมไทย-จีน หรือ Joint Venture จึงได้มีการประกาศรับเอกชนที่มีคุณสมบัติดังกล่าวไปแล้ว ผลปรากฏว่ามีเอกชนจำนวน 5 กลุ่มเสนอตัวเข้าทำการก่อสร้าง โดยบางกลุ่มประกอบไปด้วยเอกชนจากไทย 1 บริษัท และจีน 1 บริษัท บางกลุ่มมีจาก สปป.ลาว เข้าร่วมด้วย

ทั้งหมดประกอบไปด้วยคือ กลุ่ม "Joint Venture CKYS" ประกอบไปด้วยบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) จากไทยและบริษัทไชน่า หยุนหนัน ซันนี่ โรด แอนด์บริง จำกัด จากจีน
ด่านศุลกากรฝั่งไทย ที่มีศิลปะแบบล้านนา
กลุ่ม "CTN Joint Venture" ประกอบไปด้วยบริษัทไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นยิเนียริ่ง จำกัด จากจีน บริษัททิพากร จำกัด จากไทย และบริษัทหนองไฮ โรด แอนด์ บริง คอนสทรัคชั่น จำกัด จาก สปป.ลาว

กลุ่ม "VC Joint Venture" ประกอบไปด้วยบริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด จากไทยและกลุ่มไชน่า Gezhouba (กรุ๊ป) คอร์เปอร์เรชั่น จากจีน

กลุ่ม "SCC-MBEC Consortion" ประกอบไปด้วยบริษัทเสริมสงวนก่อสร้าง จำกัด จากไทย ,บริษัทไชน่า เมเจอร์ บริง เอ็นยิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด จากจีน

สุดท้ายคือกลุ่ม "CR5-KT Joint Venture" ประกอบไปด้วยบริษัทไชน่า เรลเวย์ โน.5 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด จากจีน และบริษัทกรุงธนเอ็นยิเนียร์ จำกัด จากไทย

กรมทางหลวงจะคัดสรรเอกชนที่จะได้ก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 52 เพื่อให้ก่อสร้างสะพานที่ออกแบบไว้เป็นรูปกล่องหรือ Segmental Concrete Box Girder ด้วยวิธี Balanced Cantilever รูปแบบความกว้าง 14.7 เมตร ยาว 480 เมตร เป็นสะพานขนาด 2 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ขนาดความกว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร ไหล่ทางข้างละ 2 เมตร และทางเท้าข้างละ 1.25 เมตร ความยาวช่วงเสา 110 เมตร จำนวน 3 ช่วง มีเสาตอม่อจำนวน 4 ตอม่อ โดยตัวสะพานอยู่ตรงจุดที่หมู่บ้านดอนมหาวัน ต.เวียง ห่างจากตัว อ.เชียงของ ประมาณ 7 กิโลเมตร

สำหรับโครงการจริงๆ แล้วไม่ได้มีแค่สะพานเท่านั้น โดยจุดเริ่มต้นโครงการ อยู่ที่หมู่บ้านทุ่งงิ้ว ต.สถาน อ.เชียงของ ห่างจากตัวสะพานริมฝั่งแม่น้ำโขงที่หมู่บ้านดอนมหาวัน ต.เวียง อ.เชียงของ ประมาณ 3 กิโลเมตร เพราะยังมีโครงการก่อสร้างถนน และจุดสลับทิศทางจราจรก่อนข้ามสะพานเพื่อให้สอดคล้องกับการเดินรถในฝั่ง สปป.ลาว เมื่อข้ามสะพานไปจนถึงเมืองห้วยทราย สปป.ลาว แล้วก็จะบรรจบกับถนน R3a ที่หมู่บ้านน้ำฮ้อใต้ เมืองห้วยทราย ซึ่งจะมีการก่อสร้างถนนในฝั่ง สปป.ลาว อีกประมาณ 5.4 กิโลเมตร จึงรวมระยะทางของถนนทั้งสิ้นกว่า 11.6 กิโลเมตร

นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างด่านพรมแดนสำหรับหน่วยงานต่างๆ เช่น ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร ฯลฯ โดยมีองค์ประกอบหลักคืออาคารด่านตรวจคนเข้า-ออกเมือง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น พื้นที่ประมาณ 1,400 ตารางเมตร เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ได้ใช้งาน และยังจะมีอาคาร Central Office Building เนื้อที่ประมาณ 2,630 ตารางเมตร อาคารด่านตรวจสินค้าเข้าประเทศเนื้อที่ 1,523 ตารางเมตร ฯลฯ

สำหรับด่านพรมแดนในฝั่งไทยจะเป็นรูปแบบศิลปะล้านนาและศิลปะท้องถิ่นของทั้งสองฝั่งประเทศ มีการให้เดินรถเข้าออกประเทศผ่านด่านตรวจทั้งสองข้าง เพื่อง่ายต่อการขยายตัวในอนาคต นอกจากนี้ยังมีการสร้างอาคารด่านพรมแดนในฝั่ง สปป.ลาว ซึ่งออกแบบเช่นเดียวกับฝั่งไทยอีกด้วย รวมทั้งมีส่วนประกอบรองอื่นๆ มากมาย เช่น ด่านชั่งน้ำหนักบรรทุก พื้นที่จอดรถ จุดเก็บค่าธรรมเนียมใช้สะพาน ฯลฯ


แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงระบุว่าแม้จะมีกลุ่มบริษัทเสนอตัวเข้าทำการก่อสร้างมากถึง 5 กลุ่ม กว่า 9 บริษัท แต่ก็มีเอกชนที่เสนอตัวมาก่อนใครและแสดงเจตจำนงมาก่อนหน้านี้แล้วคือกลุ่ม "Joint Venture CKYS" ซึ่งประกอบไปด้วยบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) จากไทยและบริษัทไชน่า หยุนหนัน ซันนี่ โรด แอนด์ บริง จำกัด จากจีน ดังนั้น กลุ่มนี้อาจมีโอกาสมากที่สุดแต่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาอย่างยุติธรรมจากกรมทางหลวงซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนนี้ด้วย

สะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งนี้ ประทศไทย-จีน-สปป.ลาว-ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการพัฒนาและสำรวจออกแบบ 4 ฝ่ายขึ้น และมีการประชุมกันครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 18-20 มีนาคม 2552 ให้สปป.ลาว ยกเว้นเรื่อง VAT ในการก่อสร้างแต่ประเทศไทยไม่สามารถยกเว้น VAT ได้ จึงมีการสรุปงบประมาณในการก่อสร้างว่าให้ใช้ต้นทุนทั้งหมด 54.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 1,934 ล้านบาท โดยมาจากฝ่ายไทย 1,034.7 ล้านบาท และฝ่ายจีน 967 ล้านบาท กำหนดเริ่มศึกษาพื้นที่ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม2552 และเวนคืนที่ดินให้แล้วเสร็จในเดือน มกราคม 2553 เพื่อก่อสร้างในเดือน กุมภาพันธ์ 2553 และให้แล้วเสร็จในเดือน กันยายน 2555
กำลังโหลดความคิดเห็น