xs
xsm
sm
md
lg

แฉ! ใช้ยางมะตอยหมดอายุสร้างสุวรรณภูมิ ทอท.ซ่อมรันเวย์ไปวันๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการออนไลน์ – บรรณวิทย์ ควงวิศวกรผู้ตรวจสอบสุวรรณภูมิแฉสร้างสุวรรณภูมิใช้ยางมะตอยหมดอายุ ระบุซ่อมไปวันๆ ไร้อนาคต ไม่ปลอดภัย และเสียเงินเปล่านับร้อยล้านบาท อาจารย์วิศวะระบุอาคารผู้โดยสารที่เสียค่าออกแบบ 800 กว่าล้าน อาจลอกสนามบินในเยอรมนีมา ระบุกมธ.ส่งเรื่องทุจริตสุวรรณภูมิให้ดีเอสไอ-ป.ป.ช.ไปแล้ว 18 เรื่อง บรรณวิทย์ระบุรู้ตัวดีว่าไม่ใช่ ‘มิตรอำมหิต’ ที่สพรั่งเปรยถึง เผยถ้ามีนอกมีในกับโครงการที่ตรวจสอบจริงคงถูกแฉเละไปแล้ว และทุกโครงการคงไม่ถูกส่งฟ้อง ครวญทำงานตรวจสอบมาปีกว่ามีแต่คนเกลียด

คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการคนในข่าว

เนื่องในโอกาสที่มีการปิดทางวิ่งของสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อซ่อมแซมใหญ่เป็นวันแรก และเพื่อติดตามความคืบหน้าการทุจริตในสนามบินสุวรรณภูมิที่ข่าวเงียบหายไปจากการรับรู้ของประชาชนมาระยะเวลาหนึ่แล้ว วานนี้ (20 ก.พ.) รายการคนในข่าวที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี จึงยกประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมาสนทนา โดยมีแขกรับเชิญให้เกียรติเข้าร่วมรายการสามท่านประกอบไปด้วย พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, รศ.ศิริวัฒน์ ไชยชนะ คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาทุจริตสนามบินสุวรรณภูมิ และผศ.สุพจน์ ศรีนิล นักวิชาการจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยมีนางจินดารัตน์ เจริญชัยชนะเป็นผู้ดำเนินรายการ

พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เผยผลตรวจสอบผิวรันเวย์-แท็กซี่เวย์จากบริษัทต่างชาติชี้ชัดบริษัทรับเหมาเอายางมะตอยหมดอายุมาใช้ส่งผลให้รันเวย์-แท็กซี่เวย์แตกร้าวไม่จบไม่สิ้น เผยคณะกรรมาธิการส่งเรื่องไม่ชอบมาพากลของสุวรรณภูมิไปถึงมือ ดีเอสไอ-ป.ป.ช.แล้ว 18 เรื่อง วิศวกรที่ตรวจสอบชี้ชัดทุกวันนี้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยก็ได้แต่ซ่อมหลอกๆ ไปวันๆ แถมยังต้องจ่ายค่าซ่อมเองอีกต่างหาก หวั่นยิ่งซ่อมยิ่งไม่ปลอดภัยและอาจเกิดเหตุซ้ำรอยคองคอร์ดที่ฝรั่งเศส แถมอาคารที่เสียค่าออกแบบ 800 กว่าล้านบาทยังไปลอกสนามบินในเยอรมันมาอีก

ช่วงที่สองของรายการ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ ให้สัมภาษณ์ปฏิเสธข่าวลือระบุรู้ดีว่า ‘มิตรอำมหิต’ ที่พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร อดีตประธานบอร์ด ทอท. และทีโอที หมายความถึงนั้นไม่ใช่ตนแน่ ระบุที่ลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาของบอร์ด ทอท. และทีโอทีเพราะพบความไม่ชอบมาพากลจึงไม่อยากให้ขัดกับบทบาทและหน้าที่ในการตรวจสอบ เปิดใจวันนี้ตนเองมากกว่าที่ควรจะพูดคำว่า ‘มิตรอำมหิต’ เพราะจากการเดินหน้าตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาทำให้พูดเพื่อน อดีตผู้บังคับบัญชา อดีตผู้ใหญ่เกลียดชัง ระบุไม่เคยเจอเจ้าของคิงส์พาวเวอร์ และถ้ามีนอกมีในเรื่องตรวจสอบทุจริตเรื่องที่ตนตรวจสอบก็คงจะไม่ถูกส่งฟ้องทุกโครงการอย่างที่เป็น

ออกตัวยอมรับเหตุการณ์ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าต้นทุนทางการเมืองของตนเองคงไม่สูงพอที่จะเล่นการเมือง วางแผนหลังเกษียณผันตัวไปช่วยต้านค้าปลีกข้ามชาติ

ทั้งนี้รายละเอียดแบบคำต่อคำของรายการคนในข่าวประจำวันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 มีดังนี้

จินดารัตน์ - สวัสดีค่ะ คุณผู้ชม ขอต้อนรับเข้าสู่รายการคนในข่าว นับตั้งแต่สนามบินสุวรรณภูมิที่คนไทยสร้างกันขึ้นมาแล้วเปิดใช้กันมาประมาณปีกับ 3 - 4 เดือน ภูมิอกภูมิใจกันเหลือเกินจากรัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร เปิดใช้มาปีเศษ คุณผู้ชมถ้าได้ติดตามข่าวของสนามบินสุวรรณภูมิตั้งแต่เริ่มต้นตรวจสอบการทุจริต ว่ากันว่า เหยียบไปบนผืนแผ่นดินสุวรรณภูมิตรงไหนก็ตาม ว่ากันว่าจะพบกับการทุจริตคอร์รัปชั่น วันนี้มีการตรวจสอบออกมาหลายต่อหลายเรื่อง แต่ดูเหมือนว่าเรื่องจะเงียบหายไป คุณผู้ชมทางบ้านติดตามข่าวสารเรื่องนี้มา หงุดหงิดหัวใจเหมือนกัน โทรศัพท์เข้ามาถามว่าไม่เห็นมีความคืบหน้าในการตรวจสอบทุจริตสนามบินสุวรรณภูมิ เอาคนผิดมาลงโทษเลย หมายความว่าอย่างไร แล้ววันนี้เป็นวันแรกที่สนามบินสุวรรณภูมิแห่งนี้ปิดรันเวย์หรือทางวิ่งฝั่งตะวันออก ปิดเลย ไม่ให้มีการขึ้นลงทางฝั่งตะวันออก เพราะปิดซ่อมพื้นผิว เพราะพื้นผิวที่เสียหายนั้นมีความยาวมากกว่าครึ่งหนึ่งของรันเวย์ คือทางวิ่ง ทำให้ตอนนี้การจราจรทางอากาศที่สนามบินสุวรรณภูมินั้นได้รับผลกระทบอย่างหนักทีเดียว ทำไมต้องปิดซ่อมกันขนาดนี้ ก่อนหน้านั้นเคยมีข่าวออกมาแล้วว่า

บรรณวิทย์ - สวัสดีครับ

จินดารัตน์ - ท่านต่อมา รศ.ศิริวัฒน์ ไชยชนะ เป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาทุจริตสนามบินสุวรรณภูมิค่ะ

ศิริวัฒน์ - สวัสดีครับ

จินดารัตน์ - และสุดท้ายนะคะ ผศ.สุพจน์ ศรีนิล จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ค่ะ

สุพจน์ - สวัสดีครับ

จินดารัตน์ - สวัสดีค่ะอาจารย์ ดิฉันขออนุญาตเริ่มต้นเรื่องของรันเวย์ ทางวิ่งที่ปิดซ่อมวันนี้วันแรกก่อนนะคะ คือที่ผ่านมาดิฉันเข้าใจถูกใช่ไหม คุณบรรณวิทย์ ว่าเราก็ซ่อมกันไป ใช้กันไป ตลอด พื้นผิวรันเวย์ แท็กซี่เวย์เสียหายตั้งหลายจุด ตกลงมันซ่อมกันกี่ครั้ง อย่างไรกันบ้างแล้วคะ

บรรณวิทย์ - ครับ วันนี้ต้องขอบคุณคุณแอน ผมดีใจมาก เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้มานั่งออกเอเอสทีวี ออกมาทุกช่องแล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรก และได้มาในวันสำคัญด้วย คือวันที่ปิดรันเวย์และแท็กซี่เวย์ฝั่งตะวันออก ใช้ไปซ่อมไป ถูกต้องแล้วครับ ทำมาโดยตลอด สนามบินสุวรรณภูมิ อันที่จริงแล้ว รู้ว่าสนามบินร้าวก่อนเปิดอีก มีการตรวจสอบกันมาก่อนเปิดนาน บริษัทต่างประเทศ ชื่อว่า บริษัทสก็อตแอนด์วิลสัน ได้มาตรวจสอบ และได้ส่งชิ้นส่วนของยางมะตอย ไปที่มหาวิทยาลัยน็อตติ้งแฮม ในประเทศอังกฤษ ผลการตรวจก็บอกว่ายางมะตอยหมดอายุ หรือเสื่อมสภาพแล้ว

จินดารัตน์ - หมายถึงว่า ยางมะตอยที่ราดลงไปบนแท็กซี่เวย์และรันเวย์นี่หรือคะ

บรรณวิทย์ - ถูกต้อง

จินดารัตน์ - ยังไม่ได้ใช้ ทำไมมันหมดอายุ

บรรณวิทย์ - คือเอายางมะตอยหมดอายุมาทำ ก็ผ่านไป เราเปิดสนามบินเมื่อ 28 กันยายน 2549 หลังจากนั้น 17 วัน ร้าวเลย เห็นไหม เป็นสนามบินที่ร้าวเร็วที่สุดในโลก คงไม่มีใครทำสถิติได้ 17 วันร้าวเลย ร้าวเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2549 เนื่องจากว่ารอยร้าวยุบเป็นรอยล้อเครื่องบิน คงเห็นรูปแล้ว ก็ตกใจกันใหญ่ ทั้งสมาคมวิศวกรรมสถาน ก็ออกมาตรวจสอบกันใหญ่ ผลก็ตรงกันหมดว่าเกิดจากยางมะตอยเสื่อมสภาพหรือหมดอายุ อันที่สองก็คือ มีน้ำอยู่ในแท็กซี่เวย์กับรันเวย์ ซึมอยู่ แปลว่าการระบายน้ำไม่ได้ผลดี นี่คือหลักสำคัญ จนกระทั่งมาเมื่อวันที่ 25 มกราคม เครื่องบินลงไม่ได้เลย คงจำได้ ต้องไปลงอู่ตะเภา เพราะว่ามีการกระจายของยางมะตอยเป็นรอยกว้าง การกระจายของยางมะตอยอันตรายมาก เพราะเครื่องบินมีแรงดูด อันตรายแบบคองคอร์ด ก็ต้องไปลงอู่ตะเภา ก็มีการเรียกร้องจากทุกฝ่ายให้ทำการซ่อมกัน ผลออกมาว่าต้องทำการซ่อมเป็นการถาวร จะซ่อมไปทำไปกันอย่างที่คุณแอนบอกเมื่อครู่ไม่ได้

จินดารัตน์ - ซ่อมถาวรนี่หมายถึงอย่างไร ปิดสนามบิน ไม่ให้ใช้เลยหรืออย่างไรคะ

บรรณวิทย์ - ก็น่าจะต้องปิดเลย เพราะในเมื่อยางมะตอยหมดอายุ ทุกบริษัท ทุกองค์กรที่ทำ ก็บอกว่าต้องซ่อมถาวร แต่ตอนนั้นใครพูดว่าต้องปิดสนามบินซ่อม ถูกโจมตีเลย หาว่าขายชาติบ้าง มีผลประโยชน์ที่ดอนเมืองบ้าง เอเอสทีวีก็พูดว่าควรจะต้องซ่อม ก็ไม่เป็นไร เราก็ปล่อยไปว่ามันเกิดอะไรขึ้น จนกระทั่งวันนี้ต้องปิดสนามบินซ่อม ก่อนปิดสนามบินซ่อมก็มีเรื่องเจ็บใจอีก เราก็ยังไม่ซ่อมกัน สมาคมวิศวกรรมก็บอกว่าให้ไปฟ้องคุ้มครองฉุกเฉิน ต้องบอกว่าบริษัทก่อสร้างผิด กรรมการก็บอกบริษัทก่อสร้างไม่ผิดหรอก เป็นบริษัทออกแบบผิด คุณแอนว่าบ้านคุณแอนร้าว คุณแอนจะเอากับบริษัทก่อสร้าง หรือเอาคนออกมา ก็ไม่ว่ากัน จนสุดท้ายก็ไปจ้างบริษัทมาศึกษาอีก

จินดารัตน์ - หน่วยงานไหน ใครเป็นคนบอกว่าบริษัทออกแบบผิดนะคะ

บรรณวิทย์ - คณะกรรมการการท่าฯ ที่เป็นกรรมการในเรื่องการซ่อมแท็กซี่เวย์ และรันเวย์ ขออนุญาตไม่เอ่ยนามนะครับ เพราะผมโดนฟ้องมาเยอะแล้ว เราฟ้องเขาก็เยอะ โดนฟ้องเยอะ ช่วงนี้บริษัทที่มาครั้งสุดท้ายนี่เสียไปอีก 60 ล้าน บริษัทต่างประเทศ

จินดารัตน์ - เราอยู่ในอายุประกันอยู่หรือเปล่าคะ

บรรณวิทย์ - คืออายุประกันนี่นะครับ กำลังฟ้องร้องกันอยู่ จริงๆ แล้วคณะกรรมาธิการได้แจ้งว่าให้ฟ้องคุ้มครองฉุกเฉิน เหมือนกับวิศวกรรมสถาน ต้องการจะยืดระยะเวลาประกันออกไป ถ้าฟ้องปั๊บจะยืด ผมถามคุณแอนว่าทำไมเขาไม่ฟ้องล่ะ

จินดารัตน์ - ทำไมล่ะคะ

บรรณวิทย์ - ผมก็ไม่ทราบ และถ้าฟ้องประโยชน์ก็อยู่กับการท่าฯ แต่ไม่ฟ้องประโยชน์อยู่กับใครผมไม่ทราบ

จินดารัตน์ - ก็ไม่ต้องควักตังค์ของตัวเองซ่อมเอง ถูกไหมคะ

บรรณวิทย์ - ก็ตังค์คุณแอนครับ ภาษีอากร ก็ไม่ว่ากันนะครับ เมื่อบริษัทต่างประเทศอีก 60 ล้าน ผลคืออะไรรู้ไหมครับ เหมือนเดิมเลย ยางมะตอยเสื่อมสภาพ มีน้ำ

จินดารัตน์ - จ้างบริษัทต่างประเทศเข้ามาตรวจสอบนี่เหรอคะ

บรรณวิทย์ - ครั้งสุดท้าย เสียอีก 60 ล้าน เราก็ได้ทักท้วงไปว่าท่านจ้างมาทำไม เขาบอกจ้างมาเพื่อจะได้รู้ว่าเป็นอย่างไร ผมถามว่า แล้วคุณจ้างมานี่บริษัทก่อสร้างเขายอมรับไหมว่าความเสียหายเกิดจากอันนี้ ถ้าเขาไม่ยอมรับล่ะ ต้องจ้างใหม่อีก

จินดารัตน์ - คือหมายถึงว่าการจ้างบริษัทเข้ามาตรวจสอบจะต้องได้รับความเห็นชอบทั้งบริษัทก่อสร้าง และการท่าฯ เอง

บรรณวิทย์ - ควรจะเป็นอย่างนั้น

จินดารัตน์ - ต้องเห็นดีเห็นงามด้วยกัน แต่การท่าฯ ไปจ้างมาโดยที่บริษัทก่อสร้างไม่ได้รับรู้

บรรณวิทย์ - แล้วก็จะมาหาว่าผิดเพราะอะไร จริงๆ แล้วไม่ใช่หน้าที่การท่าฯ ต้องเป็นหน้าที่ของบริษัท คุณแอนทำบ้าน บ้านเสียก็ฟ้องบริษัทเลย แจ้งบริษัท บริษัทต้องเป็นคนศึกษาว่ามันเป็นเพราะอะไร บริษัทก่อสร้างต้องบอกว่ามันร้าวเพราะอะไร เราสิครับเป็นผู้พิสูจน์ เราก็เอาหน่วยงานของรัฐ กรมทาง เข้าไปพิสูจน์ว่าเป็นจริงอย่างที่เขาว่าหรือเปล่า นี่ทำกลับทางกัน เห็นไหมครับ ก็เกิดความไม่ชอบมาพากล วันนี้ปิดไปแล้ว แล้วยังบอกอีกว่าไม่มีผลกระทบ คุณแอนทราบไหมว่าสายการบินเขาต้องสำรองน้ำมันถึง 30 นาที เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป ต้องบินวนกัน การจราจรแน่น แล้วบอกไม่เสียหายอย่างไร ที่จะตามมาในไม่ช้าก็คือว่า พี่น้องประชาชนที่อยู่ทางฝั่งตะวันตก เครื่องบินจะขึ้นลงอย่างหนาแน่น จะเกิดมลภาวะทางเสียงอย่างรุนแรง

จินดารัตน์ - จากเดิมขึ้น-ลงแค่ครึ่งเดียว แล้วตอนนี้เทมาฝั่งตะวันตกทั้งหมด

บรรณวิทย์ - เต็มๆ ครับ

จินดารัตน์ - แล้วเครื่องบินก็บินวนกันไป

บรรณวิทย์ - บินวนตลอดเวลา

จินดารัตน์ - จนกว่าจะถึงคิวลง

บรรณวิทย์ - เต็มๆ แล้วเดี๋ยวก็จะมีปัญหาตามมามากมาย ถ้าเราทำเสียตั้งแต่ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจเจอ หรือสมาคมวิศวกรรมสถาน หรือจากการสัมมนา วันนี้ก็แก้ปัญหาไปเยอะแล้ว

จินดารัตน์ - ที่ผ่านมาเวลาซ่อมไม่ได้ปิดทั้งรันเวย์แบบนี้ใช่ไหมคะ ก็วิ่งกันไป ก็ซ่อมกันไป เพราะพื้นที่มันเล็กหรืออย่างไรคะ

บรรณวิทย์ - เพราะว่าแท็กซี่เวย์ รันเวย์เรายาวครับ ถึง 4,000 กับ 3,700 อันนี้เราซ่อมไปทำไปนี่แก้ไม่ได้หรอกครับ เพราะว่าบริษัทที่ปรึกษาก็บอกแล้วว่าเป็นการทำที่ไม่ถูก เพราะซ่อมไปแล้วก็เสียตรงที่ซ่อมอีก เนื่องจากใช้วัสดุเหมือนเดิม และการทำวิธีเหมือนเดิม เสียโดยเปล่าประโยชน์ ที่ซ่อมไปแล้วเสียอีกหลายครั้ง

จินดารัตน์ - เราต้องเรียนถามทางเทคนิคอาจารย์ทั้ง 2 ท่านนะคะ อ.ศิริวัฒน์ เข้าไปตรวจสอบตั้งแต่แรกๆ มันร้าวก่อน มันร้าวเพราะว่ายางมะตอยหมดอายุ เสื่อมคุณภาพ ถูกไหมคะ

ศิริวัฒน์ - ผมขออย่างนี้ได้ไหมครับ ขอเริ่มต้นในเรื่องของทางด้านวิศวกรรมใหม่ทั้งหมดเลย เพื่อให้ท่านผู้ชมได้มองเห็นภาพ คือเราอยากจะแบ่งเรื่องของแท็กซี่เวย์ รันเวย์ออกเป็น 2 ส่วน จะได้เข้าใจง่ายๆ คือส่วนทางด้านที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรม อยากให้ท่านผู้ชมได้เข้าใจถึงว่าโครงสร้างของแท็กซี่เวย์ กับรันเวย์ มันมีโครงสร้างอย่างไร มีองค์ประกอบอย่างไร มีพื้นฐานอย่างไร เป็นชั้นๆ ไล่มาอย่างไร ใช้วัสดุอย่างไร และหนักได้อย่างไร และส่วนที่เกิดปัญหาที่เราเรียกกันติดปากว่า รันเวย์ร้าว แท็กซี่เวย์ร้าว มันฟังแล้วมันร้าวไปถึงหัวใจ มันรุนแรงจริงหรือไม่ ขนาดไหน เราควรจะกลัวไหม และรูปร่างหน้าตาที่ว่ามันเกิดรอยร้าว หน้าตามันเป็นอย่างไร และทำไมถึงร้าว ทำไมถึงยุบ ร้าวและยุบ บางทีไม่เหมือนกัน และทางด้านวิศวกรรมมันจะเป็นอันตรายไหม เราจะแก้ไขได้หรือไม่

ในอนาคตที่คุณแอนบอกเมื่อครู่แล้วว่าเราจะมีความปลอดภัยหรือไม่ใน 5 ปี 10 ปี อันนั้นก็คือในส่วนหนึ่ง ส่วนที่สองก็คือผลของส่วนที่หนึ่ง ผลของยุทธกรรมในข้อแรก ความเสียหายทั้งหมดไม่ทราบว่าองค์กรใด หน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นผลที่เกิดขึ้นจากผู้ออกแบบ หรือผู้รับเหมา หรือผู้ควบคุมงาน ผมว่าความเสียหายทั้งหมดนี้มันจะต้องได้รับการตรวจสอบ แน่นอนที่สุด ผมว่าผู้ที่รับผิดชอบไม่ควรจะเป็น ทอท. เพราะเราเสียสตางค์มาเป็นหลายหมื่นล้านที่จะต้องการได้ของที่มีคุณภาพดี เมื่อเกิดปัญหาอย่างนี้ขึ้นมา มันต้องหาออกมาให้ได้ว่าความบกพร่องนี้ใครเป็นผู้รับชอบ และความบกพร่องนี้มันสืบเนื่องมาจากการทุจริตคอร์รัปชั่นมาตั้งแต่แรกหรือไม่อย่างไร อันนี้ที่อยากจะแยกตอนแรกให้ชัดเจนก่อนว่า 2 ส่วน อีกหน่อยต่อไปนี้ พอพูดถึงรันเวย์ร้าว แท็กซี่เวย์ร้าวจะได้เข้าใจ

จินดารัตน์ - อาจารย์มีภาพมาให้ดูด้วยหรือเปล่าคะ

ศิริวัฒน์ - ครับ เรื่องของทางด้านวิศวกรรม ทาง อ.สุพจน์ จะมีรายละเอียดให้ดู

จินดารัตน์ - ให้ดูก่อนว่าความสำคัญ ความปลอดภัย เป็นอย่างไรนะคะ

สุพจน์ - ด้านโครงสร้างของสนามบิน รันเวย์ แท็กซี่เวย์ รันเวย์คือที่ที่เครื่องบินจะขึ้นจะลง พอจะวิ่งเข้ามาที่จอด ก็วิ่งผ่านแท็กซี่เวย์ และพอจะเข้าเทียบก็เป็นแท็กซี่เลน บริเวณที่เราพบครั้งแรก (ว่ามีปัญหา – บก.) เป็นพื้นที่ประมาณ 78,000 ตารางเมตร ความหมายของ 78,000 ตารางเมตรคือ 17 วันหลังจากที่เปิดใช้ จากพื้นที่ทั้งหมด 3 ล้านตารางเมตร

จินดารัตน์ - พบตรงไหนคะอาจารย์

สุพจน์ - ตอนที่เราไปพบเป็นที่แท็กซี่เวย์กับรันเวย์ เป็นบางส่วน

จินดารัตน์ - ใช่ภาพที่เห็นนี่หรือเปล่าคะ

สุพจน์ - ตรงนี้เป็นแท็กซี่เลน เกิดร่องล้อจมลงไป เหมือนรถวิ่ง ร่องล้อมันจมลงไป เนื่องจากแอสฟัลท์ติก คอนกรีต (Asphaltic Concrete) มันรับน้ำหนักไม่ได้ มันเลยบุ๋มลงไป

จินดารัตน์ - นี่คือจากที่เปิดมา 17 วันหรือคะ มันบุ๋มขนาดนี้เลยหรือคะ ถ้าคนที่นั่งบนเครื่องบินเห็นเหมือนดิฉันก็คงจะหนาวไปตามๆ กันเหมือนกัน

สุพจน์ - ถ้าดูจากพื้นที่ จะเห็นว่าพื้นที่สีดำ สีเทา เป็นบริเวณที่เราเรียกว่าแท็กซี่เวย์กับแท็กซี่เลน ส่วนทางซ้ายเป็นรันเวย์

จินดารัตน์ - ที่มีเกาะกลางนี่นะคะ

สุพจน์ - ครับ เป็นรันเวย์ ซึ่งพื้นที่โดยรวมอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านตารางเมตร

จินดารัตน์ - 3 ล้านตารางเมตร แล้วพบครั้งแรกเท่าไร

สุพจน์ - 78,000 ตารางเมตร และเริ่มมีการซ่อม สีเหลืองคือบริเวณที่พบ อันนี้เป็นการตรวจของบริเวณจุดแรกๆ พอพบความเสียหายก็ซ่อม แต่ต้องยึดเหมาซ่อมตามแบบเดิม เพราะถือว่าถ้าเขาซ่อมผิดไปจากนั้นจะถือว่าเขาผิด ตอนนั้นยังไม่มีการสรุป เขาก็ซ่อม และอย่างที่ท่านบรรณวิทย์บอก ยังไม่มีการเคลมกันว่าที่เสียหายที่คุณมาซ่อม คุณได้มาซ่อมแล้วทำให้เสียหายนะ

จินดารัตน์ - หมายความว่าอย่างไรคะ ที่ซ่อมไป ทอท. ออกเงินเองหรือคะ

สุพจน์ - เขาก็เรียกเก็บจาก ทอท.

จินดารัตน์ - แล้ว ทอท. ก็จ่ายไปแล้วด้วย

ศิริวัฒน์ - อันนี้ผมไม่ทราบ แต่เขาเรียกมาแล้ว

สุพจน์ - ลักษณะโครงสร้างของสนามบินจะเห็นว่าข้างล่างสีเหลืองๆ เขาเรียกว่า แซนด์ เมกเก็ต คือเป็นทรายหยาบ หนาประมาณ 1.50 - 1.80 เมตร ถัดไปก็เป็นหินคลุกปนซีเมนต์

จินดารัตน์ - สีม่วงนี่หรือคะ

สุพจน์ - เราเรียกว่า คอนกรีต ทรีทเมนท์ เบส สีแดงนี่เป็นแอสฟัลท์ติก คอนกรีตที่บอกว่ามีปัญหา เห็นร่องล้อนี่มันบุ๋มลงไป

จินดารัตน์ - ที่บอกว่าต่างชาติ มหาวิทยาลัยของอังกฤษ ตรวจสอบว่ามันหมดอายุ สีแดงคือส่วนที่มันเสื่อมสภาพ มันหมดอายุ

สุพจน์ - รายงานล่าสุดของกลุ่มที่บอกว่าต้องจ้าง 60 ล้านบาท ก็ออกมาตรงกัน คือบอกว่าคุณภาพของแอสฟัลท์ติก คอนกรีต อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูงพอจะรับแรงได้ และถ้าดูรายละเอียดเข้าไปอีก อันนี้ผมได้ภาพมาจาก อ.ท่านหนึ่ง คือจะเห็นว่าเส้นการบุ๋มไปของแท็กซี่เวย์ เห็นชัดเจนว่ามันบุ๋มไป เป็นเส้นให้เห็นชัดเจน เมื่อเราตัดๆ ลงไป จะเห็นว่าคุณภาพของมันมีปัญหา คือผมมองว่าถ้าคุณภาพมีปัญหา การที่มีน้ำซึมมาจากข้างใต้ด้วยส่วนหนึ่ง และด้วยคุณภาพของแอสฟัลท์ติก คอนกรีตด้วยส่วนหนึ่ง ก็ทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้นมา ปัญหาแรกคือที่เราเรียกว่าปัญหาของร่องล้อ คือเป็นร่องล้อขึ้นไป เวลาเครื่องบินวิ่งไปอย่างนี้ จะไม่มีปัญหา แต่ถ้าจะถอยเครื่องบินออกมา มันจะตกไปในหลุม และล้อเครื่องมันจะติด พอมันติดก็ไม่มีรถมาลากออกไป แล้วก็มีเหตุทำให้เกิด คือเป็นขยะ ซึ่งขยะนี่คือ พอเป็นร่องแล้วน้ำขัง คุณภาพก็ต่ำลงไปอีก

จินดารัตน์ - ก็เหมือนถนนเรานะคะ พอมีน้ำขังเดี๋ยวมันก็พัง มันก็แตก อันนั้นกลายเป็นขยะ

สุพจน์ - ครับ ทีนี้ขยะหินเวลาเครื่องเดินผ่านมันก็ เซ็คชั่นของเครื่องมันแรงมาก มีผู้รู้บอกว่าสามารถดูดคนเข้าไปได้เลย เวลาถ้าเราไปอยู่ใกล้ เขาก็จะดูดดินเข้าไปในเครื่อง ที่ต้องระวังมาก

จินดารัตน์ - อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้อย่างที่ข่าวออก

สุพจน์ - ครับก็คือเครื่องตก

จินดารัตน์ - อาจารย์คะ จากที่อาจารย์บอกว่าสาเหตุมันเกิดมาจากวัสดุมันด้อยคุณภาพ ไม่ได้เป็นไปตามสเปกสนามบินทั่วไปที่เขาใช้กัน สองก็คือน้ำ ถามว่า สร้างกันมาแบบนี้ ทำไมน้ำมันถึงซึมได้ มันเกิดอะไรขึ้น

สุพจน์ - คือถ้าเราดูจาก ถ้าพูดโดยรวมก่อนว่า มีความพยายามที่จะเอาน้ำออกมาในขั้นตอนการออกแบบ ก่อสร้างขั้นต้น แต่ในภาพรวมแล้วน้ำก็ยังอยู่ที่ชั้นทรายและเมื่อมีการทับถมลงไป และมีการใช้สนามบิน พอมันมีแรงกดน้ำก็ไปผ่านชั้น CTB หรือ Cement Treated Base จนมาถึงชั้นล่างๆ ของแอสฟัลท์ติก คอนกรีตทำให้แอสฟัลท์ติก คอนกรีตของเรายุ่ย เขาสามารถเอามือแกะออกมา และ Asphalt หรือยางมะตอย ไม่เกาะ เกาะไม่ถึง ก็เกิดสภาพเสียหายแบบนี้

จินดารัตน์ - แล้วเวลาเขามาซ่อมให้เขาก็ซ่อมแบบเดิม ใช้ยางมะตอยแบบเดิมหรือคะ

สุพจน์ - แบบเดิม เขาก็ถือว่าเขาทำตามแบบ เพื่อจะเคลมค่าใช้จ่ายทางเขา

จินดารัตน์ - ถ้าอย่างนั้นก็รับประกันได้เลยว่าถ้าซ่อมแบบเดิมมันก็จะพังเหมือนเดิม

สุพจน์ - หลังจากนั้นเราได้ไปตรวจซ้ำ ก็พบว่าสิ่งที่ซ่อมไปเมื่อตอนต้น ก็เสียหายซ้ำ

จินดารัตน์ - ที่เคยซ่อมไปแล้วมันก็เสียหายอีก แล้วก็ซ่อมกันอีก

ศิริวัฒน์ - แล้วดูความเสียหายหลังจากที่ซ่อมไปแล้ว แต่ว่าจะซ่อมซ้ำไปอีกครั้งหนึ่งหรือเปล่า ในขณะนี้ยังไม่แน่ใจ คิดว่ายังพอที่จะใช้งานได้ ผมสรุปให้ฟังอีกนิดหนึ่งว่า ขั้นตอนที่ท่านบรรณวิทย์เรียนตั้งแต่ต้นว่าตรวจพบรอยร้าวในแท็กซี่และรันเวย์ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2549 และหลังจากนั้นก็มีคณะผู้เชี่ยวชาญจาก วศท. คือวิศวกรรมสถาน มาตรวจสอบและสรุปในเบื้องต้น ส่งรายงานให้ ทอท.เมื่อวันที่ 15 มกราคม สรุปออกมาว่าความเสียหายที่พบมี 3 แบบ อันแรกก็คือ Rusting ที่ยุบเป็นรอยร่องล้อ อย่างที่ในรูปภาพ อันที่ 2 ก็คือ Slip Plate ก็คือมีรอยลื่นของตัว Asphalt ชั้นผิวชั้นบน อันที่ 3 ก็เป็นการยุ่ยของตัวยางมะตอย ซึ่งปัญหาจริงๆ แล้วเมื่อรายงานให้ทาง ทอท.ทราบ และรัฐมนตรีทราบเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2550 ซึ่งพอทราบท่านรัฐมนตรีก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเลย ท่านก็บอกว่าให้ซ่อมพลางไปก่อน และให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงอีกครั้งหนึ่ง ก็ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบปัญหาการชำรุด ที่เป็นชุดใหญ่ ที่มีท่านอาจารย์ต่อตระกูล เป็นประธาน ทางคณะกรรมการตรวจสอบปัญหาการชำรุดก็ได้ทำการตรวจสอบและรายงานให้ทราบเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ /ถ50

จินดารัตน์ - ผลสรุปว่าอย่างไรคะ

ศิริวัฒน์ - ผลสรุปก็เหมือนกับที่เล่าเมื่อกี้ สาเหตุหลัก ความเสียหายหลักก็คือเสียหายในส่วนชั้นผิวทางที่เป็นชั้นยางมะตอย ที่มีความหนา 40 ซม. เป็นหลักเลยนะครับ แล้วก็ผลอาจจะเกิดขึ้นมาอันหนึ่ง เนื่องจากยางมะตอยเสื่อมสภาพอย่างที่ท่านสุพจน์เรียน ส่วนผสมอาจจะไม่ถูกต้อง และอาจจะมีเรื่องของน้ำที่ซึมขึ้นมาตามรอยต่อคอนกรีต ซึ่งเราเปิดผิวดูเราจะเห็นมีความชื้นจากรอยร่อง ที่รอยต่อของน้ำซึม อันนั้นจะเป็นตัวช่วยเสริมให้ผิว Asphalt นั้น เสียหายเร็วขึ้น ในขณะเดียวกันช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีฝนตกมาก พอผิว Asphalt มีรอยร้าวบางส่วนแล้ว น้ำข้างบนก็จะเป็นตัวซ้ำเติม ตกลงมาซ้ำเติม ทำให้ไปกันใหญ่เลย ปัญหาขยายไปกันใหญ่

จินดารัตน์ - อาจารย์คะ ข้อสรุปของชุดของ อ.ต่อตระกูล แนะนำไปเยอะไหมคะว่าควรจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

ศิริวัฒน์ - ไม่ได้แนะนำ เป็นเพียงแต่ว่า

จินดารัตน์ - เพียงแต่บอกว่าปัญหาเกิดมาจากอะไร

ศิริวัฒน์ - ใช่ครับสาเหตุ ที่คาดว่านะ แต่ยังไม่ได้ชี้ชัดว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ คาดว่า

สุพจน์ - ใช้เวลาสั้นนะครับ ประมาณอาทิตย์เดียว

จินดารัตน์ - แล้วชุดของอาจารย์สรุปผลออกมาเหมือนกันไหมคะ

ศิริวัฒน์ - คือชุดของกรรมาธิการเราตรวจสอบตลอดเวลา ซึ่งเราดูแล้ว ในฐานะที่เป็นวิศวกรเหมือนกัน มองแล้วก็ได้เข้าใจว่าความเสียหายเกิดขึ้นมันจะมาจากสาเหตุที่ใกล้เคียงกัน เหมือนกันหมดทุกอัน เพียงแต่ว่าตอนที่จะสรุปชี้ชัดลงไปในช่วงนั้น ไม่มีการชี้ชัด

จินดารัตน์ - แล้วในความเห็นของวิศวกรอย่างอาจารย์ทั้งสองท่าน คิดว่าการแก้ปัญหานี้ถ้าจะเอาแบบที่มันแข็งแรง มั่นคงจริงๆ ไม่เกิดเหตุขึ้นในอนาคตแน่ๆ ควรแก้ปัญหากันอย่างไรคะ

ศิริวัฒน์ - ปัญหาจริงๆ แล้ว หนึ่งก็คือ แก้ปัญหาตัวผิว Asphalt อาจจะทำอย่างที่ท่านบรรณวิทย์ว่า ก็คืออาจจะต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด หรือไม่ก็ 2 ระบบระบายน้ำ เพราะปัญหาส่วนหนึ่งเกิดขึ้นมาจากว่า ระดับน้ำใต้ดินสูง

จินดารัตน์ - ระบายน้ำออกไม่ทัน

ศิริวัฒน์ - ครับ ระบายน้ำไม่ทัน และระบบคลองที่จะรับน้ำและส่งออกไปสู่ข้างนอก อาจจะมีการรักษาระดับน้ำอะไรไว้ แล้วทำให้น้ำแทนที่จะไหลออก ก็ไหลซึมผ่านเข้าไป

จินดารัตน์ - ท่านหมายถึงว่าจะต้องรื้อทั้งหมด ชั้นบนลงชั้นล่าง อย่างนั้นหรือเปล่าคะ

ศิริวัฒน์ - ไม่ใช่ครับ แต่เสียหายเฉพาะส่วนที่เป็น Asphalt ประมาณ 40 ซม.

สุพจน์ - คอนโทรลระดับน้ำให้ได้ อย่าให้น้ำขึ้นสูง

จินดารัตน์ - เปลี่ยนระบบระบายน้ำใหม่

สุพจน์ - เพิ่มระบบการควบคุมไม่ให้น้ำขึ้นไปสูงถึง CTB แล้วก็เปลี่ยนผิว Asphaltic Concrete ให้มีคุณภาพ ถ้าจำได้สมัยที่สะพานพระราม 9 เสร็จใหม่ๆ เห็นไหม แอสซอลติก คอนกรีต ก็มีปัญหา ต้องทดลองผิดลองถูก แต่คำว่าลองผิดลองถูกมันไม่น่าจะเกิดขึ้นในสังคมสมัยนี้ที่เรามีวิศวกร หมายถึงวิศวกรเราก็จบมาจากต่างประเทศมากมาย เราก็มีประสบการณ์ในการสร้างถนน สร้างสนามบิน มากมาย ไม่ใช่เราเพิ่งสนามบินแรกเป็นสนามบินสุวรรณภูมิ ไม่ใช่ เราสร้างมาเยอะแล้ว แต่ปัญหาที่เกิดถ้าเราบวกลบคูณหาร เราจะเห็นว่ามันไม่ใช่เป็นปัญหาทางเทคนิค มันเป็นปัญหาอื่นที่ทำให้ปัญหานี้ถูกมองด้อยไป

จินดารัตน์ - ถ้าอย่างนั้น วันนี้ที่เขาปิดซ่อมกันทั้งรันเวย์ ซ่อมเหมือนเดิม

ศิริวัฒน์ - เปลี่ยนผิวแอสฟัลท์ติก

จินดารัตน์ - แต่ว่าเอาวัสดุเดิม อย่างนั้นหรือเปล่า

ศิริวัฒน์ - คาดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะว่ายังไม่ได้สรุปออกมา เพราะถ้าหากไปเปลี่ยนเป็นวัสดุใหม่ขึ้นมา มันไม่มีใครรับรอง ถ้าดีก็ดีไป แต่ถ้าเกิดเสียขึ้นมาจะไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้นก็คิดว่าคงจะใช้ดีไซน์มิกซ์ตัวเดิม วัสดุตัวเดิม เพราะปัจจุบันนี้หลังจากที่ได้ตรวจสอบปัญหาการชำรุดแล้ว ทาง ทอท. ก็ได้เสียเงิน 60 ล้าน ไปจ้างบริษัทจากกลุ่มคอนซัลแทน เอ็ม เอ็ม เอส เจแปน คอนซัลท์ เข้ามา เห็นบอกว่าใช้เวลา 6 เดือน ตอนนั้นเซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 ช่วงปลายปีที่แล้วก็มีเอกสารที่เป็นรายงานเบื้องต้นออกมาฉบับเดียว ซึ่งสรุปผลของการเสียหาย ก็เหมือนกันกับคณะกรรมการของเราเอง คณะวิศวกรรมสถาน ผู้ทรงคุณวุฒิของไทยทั้งหมดสรุปเหมือนกันหมดเลย ใกล้เคียงกันมาก เพราะมองแล้ววิศวกรเหมือนกันจะทราบว่าสาเหตุมาจากไหน มันอันเดียวกัน เหมือนกันหมดทุกอย่าง แต่ในรายงานสุดท้ายยังไม่ได้รับ จริงๆ แล้วถ้า 6 เดือนก็ควรจะส่งกลางเดือนมกราคม

จินดารัตน์ - ถึงกำหนดแล้ว

ศิริวัฒน์ - แต่ล่าสุด รายงานข่าวเราทราบว่ามีการเลื่อนส่งจากเดือนมกราคมมาเป็นเดือนมีนาคม อีก 2 เดือน ซึ่งทางบริษัทคอนซัลท์อ้างว่าเพราะเป็นตัวยางมะตอยที่ไปทดสอบในห้องแล็บกรมทางหลวง ปรากฏว่าห้องแล็บกรมทางหลวงปิดซ่อมใช้งานไม่ได้ มีอีกทางหนึ่งก็ไปของเอกชน ซึ่งเสียเงินเพิ่ม ตรงนี้ที่เป็นประเด็น อ่านแล้วก็ยังงงๆ ว่า 60 ล้านไม่มีการทดสอบพวกนี้หรือ คุณจะไปเทสต์ที่ไหนก็ไม่เป็นไร เมื่อกรมทางปิด เอกชนก็มี สถาบันการศึกษาในมหาวิทยาลัยเยอะแยะไปหมด

จินดารัตน์ - ดิฉันไม่ใช่วิศวกรนะคะอาจารย์ แต่จ้างตั้ง 60 ล้าน แล้วไม่มีห้องแล็บทดสอบเอง มันก็แปลกๆ อยู่เหมือนกันนะ ดิฉันเสียดายเงินค่าภาษีของดิฉันจริงๆ

ศิริวัฒน์ - เข้าใจว่าใน 60 ล้านมันน่าจะมีรายละเอียดว่ารวมอะไรไว้บ้าง แต่เราไม่เห็นในสัญญาตรงนั้น

จินดารัตน์ - แต่สุดท้ายการซ่อมอะไรก็แล้วแต่ การท่าฯ เองก็ต้องเป็นคนควักสตางค์ เพราะเองนี้ยังไม่จบ ยังไม่ได้ข้อสรุป แล้วการท่าฯ ต้องทำอะไรต่อคะคุณบรรณวิทย์

บรรณวิทย์ - อันที่จริงแล้วถ้าเป็นการท่าฯ นะ ผมจะฟ้องคุ้มครองฉุกเฉินเลย ให้ความผิดตกไปอยู่กับบริษัท และบริษัทต้องทำให้เรา แต่นี่เขาไม่ทำ ผมไม่เข้าใจ

จินดารัตน์ - ถ้าฟังจากข้อมูลที่คุณบรรณวิทย์บอก ในความรู้สึกของคนฟังเอง ได้รับข้อมูลแบบนี้ มันตะขิดตะขวงใจว่าทำไมการท่าฯ ไปออกรับแทนบริษัทก่อสร้าง

บรรณวิทย์ - ก็เป็นที่ข้องใจของคณะกรรมาธิการ ก็ได้เชิญมาพูดคุยกัน ส่งสัญญาไปให้ กลับไปก็จะไปทำนะ วันนั้นเราก็อยู่ด้วยกัน แต่ก็ไม่ทำ คุณแอนทราบไหมว่าสัญญาค้ำประกัน การท่าฯ ยังไม่มีเลย แต่คณะกรรมาธิการมี แล้วได้มอบให้ไปในวันที่ประชุม ยังตกใจเลยว่าสัญญาค้ำประกันเขายังไม่รู้เลยว่ามีสัญญาค้ำประกันถึงเมื่อไร อย่างไร แต่เรามีเอกสาร ก็ไม่รู้ว่าตอนนั้นทำงานอย่างไร

สุพจน์ - มีคำพูดออกมาว่า ถ้าเราฟ้องบริษัท สมมติบริษัทผู้รับเหมาซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ เป็นคอนซัลแทนท์ใหญ่ โดยไม่มีหลักฐานชัดเจน เกิดเขาฟ้องกลับ เขาเรียกค่าเสียหายที่ไปดูถูกเขา เป็นหมื่นล้าน ใครจะรับผิดชอบกับผมในฐานะ

จินดารัตน์ - อันนี้การท่าฯ บอกหรือคะ

สุพจน์ - เป็นคำพูดที่เราได้ยิน ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แตเป็นวิธีคิดที่เรามองว่าเมื่อในสังคมนี้ อย่างที่ผมเรียน มันไม่มีผู้กล้าที่จะบอกว่าอันนี้เพื่อจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ คุณต้องหาอะไรมากมาย แล้วตอนนี้ก็ยังไม่ฟ้อง เพราะต้องรอรายงานของผู้เชี่ยวชาญ มกราคมไม่ส่ง จะส่งมีนาคม เมื่อมีนาคมส่งจะฟ้อง จะส่งให้อัยการก่อน เมื่ออัยการเห็นว่าให้ฟ้องก็จะฟ้อง เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติก็ลอยตัวทุกคน

จินดารัตน์ - คือจริงๆ ทางคณะกรรมาธิการของคุณบรรณวิทย์ตรวจสอบกันมาเป็นปีแล้ว ดิฉันเชื่อมั่นว่าคงจะต้องเจออะไรที่ไม่ค่อยชอบมาพากลค่อนข้างเยอะ จากที่มีข่าวออกมา ดำเนินการอะไร อย่างไรบ้าง ส่งเรื่องให้ ทอท. บ้างไหม ทอท. ว่าอย่างไร ได้คำตอบว่าอย่างไรบ้าง

บรรณวิทย์ - ส่งให้ตลอด และมีการแจ้งไปตรวจก็บอกทุกครั้ง เชิญมาหารือก็ทำ มาหารือแล้วก็รับปากว่าจะกลับไปทำ แล้วก็ไม่ทำ สุดท้ายก็เงียบหายไป ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอย่างที่ อ.สุพจน์ เรียนว่าผ่านมาปีเศษ ไม่ได้มีอะไรคืบหน้าเลย ก็ซ่อมกันไป ใช้กันไป แล้วก็ซ่อมใหม่ที่เดิม แล้วก็ใช้กันไป อยู่อย่างนี้

จินดารัตน์ - ดิฉันหวั่นใจว่าถ้าซ่อมกันไป ใช้กันไป โดยคุณภาพยังเหมือนเดิมแบบนี้ ผ่านในแง่การมองจากวิศวกรเอง เราจะทำอย่างนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน แล้วมันจะปลอดภัยหรือคะ

สุพจน์ - ข้อเท็จจริงเราพิสูจน์ว่ามีการซ่อมและพอใช้อีก เสียอีก มีการซ่อมไปแล้วและพื้นที่ที่ซ่อมก็เสียอีก เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่าปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย คำตอบมันชัดเจนว่าไม่ปลอดภัย มันไม่แข็งแรง มันถึงเสีย มันไม่แข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักสิ่งที่เกิดขึ้นในการใช้งานจริงได้

จินดารัตน์ - เราจะทำอย่างนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน จนกว่าเงินจะหมดกระเป๋าหรืออย่างไรคะ

สุพจน์ - ตอนนี้ก็เหมือนเล่นเกมว่าจะจ่ายหรือไม่จ่าย ไม่ทราบ แต่ข้อเท็จจริงเหมือนกับว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของ ในความรู้สึก เห็นกรรมาธิการไปดูเหมือนจะเป็นเจ้าของ แต่เหมือนกับพยายามทำให้ตัวพ้นจากความรับผิดชอบที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งหลาย มันก็เหมือนกับงานไม่มีเจ้าของ เพราะฉะนั้นวันนี้ก็เหมือนกับไม่มีอนาคต คำตอบได้คือไม่รู้ว่ามันจะดีหรือไม่ดี แต่เขาก็มีหน่วยคอยย้ำคอยสังเกตนะ ว่าถ้ามีขยะ เศษหินเมื่อไร จะมีหน่วยเข้าไปเก็บขยะทันที แต่เป็นวิธีแก้ที่ปลายเหตุที่แย่มาก ในทางวิชาการเองในฐานะที่ผมเป็นวิศวกร ก็รู้สึกแย่มากกับลักษณะงานแบบนี้ เราไม่ใช่เพิ่งมีสนามบิน ดอนเมืองก็มี ต่างจังหวัดเราก็มี มากมาย แต่ว่าทำไมสนามบินที่ใหญ่ที่สุด ใช้เงินมากที่สุด กลับเหมือนกับสร้างเสร็จแล้วใช้ไม่ได้ ซึ่งถ้าพูดเป็นคำตอบ ผมว่าทุกคนพอจะตอบได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันมีอะไรมากกว่าทางเทคนิค ซึ่งถ้าเราเชื่อมั่นเราก็แก้ปัญหาได้ เราเชื่อมั่นวิศวกรไทยแก้ปัญหาได้ นายกสภาวิศวกร การที่จะเอาผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาซ่อม ก็บอกว่าวิศวกรเราทำได้ ตรวจได้ ซ่อมได้ แต่ไม่ได้ถูกมอบหมายให้กระทำในสิ่งเหล่านั้น ก็จ้างผู้เชี่ยวชาญ

จินดารัตน์ - มันมีอะไรมากกว่าที่อาจารย์บอกคะ

สุพจน์ - ผมถึงว่า ที่ท่านบอกว่าเหยียบไปจุดไหนก็เจอ เอ๊ะทำไมวัสดุไม่มีคุณภาพ สามารถจะมาเทพื้นที่เราได้ตั้ง 3 ล้านตารางเมตร แล้วทำไมดีไซน์บาง เขาเรียก Poor Design เอ๊ะทำไมสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่นี้ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร การระบายน้ำที่อาจารย์ว่าระบายไม่ทัน ที่มีน้ำขึ้นมา มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ระบบคอนโทรล เราไปดูเครื่องมือวัดที่จะต้องติดตั้งอยู่ในพื้นที่ดิน ไม่ว่ามิเตอร์ ไม่มี โครงสร้างขนาดนี้ ลงทุนเป็นแสนล้าน ไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้ที่จะคอยชี้วัดว่า ตอนนี้แรงดันน้ำเป็นอย่างนี้นะ มีการเคลื่อนตัวของดินนะ ไม่มี

จินดารัตน์ - อย่างนี้ถือว่าทำงานผิดสเปก หรือเรามีแบบมาแบบนี้ แล้วเขาทำตามแบบเรา หรืออย่างไรคะ

สุพจน์ - สิ่งเหล่านี้ที่ตอบยาก มันเหมือนกับงานมูลค่ามหาศาล แต่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ ถ้าผมยกตัวอย่างของบางองค์กร เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ระบบเหล่านี้จะถูกวางเป็นขั้นเป็นตอน และเราตรวจสอบได้ สามารถจะบอกว่าเขื่อนผมแข็งแรง พูดได้เต็มที่ แต่อย่างนี้ผมไปพูดแทนเขาไม่ได้ว่ามันแข็งแรง เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้มันไม่มีเครื่องมือวัด และสิ่งที่กรรมการ ตั้งแต่ วศท. มาจนถึงกรรมการที่จ้างด้วย 60 ล้าน ก็ออกมาค้านตรงนี้ ของที่เอาไปทำมันไม่แข็งแรงพอ ที่จะรับน้ำหนักให้ใช้งานได้

จินดารัตน์ - ถ้าอย่างนั้นคิดแบบง่ายอย่างที่ชาวบ้านธรรมดาอย่างดิฉันมองนะคะ วันนี้ อย่างที่ดิฉันเรียนถาม อ.สุพจน์ ไปว่า แล้วตกลงมันผิดตรงไหน ผิดตั้งแต่แบบ หรือผิดที่สเปกงาน หรือผิดตรงไหนคะ กรรมาธิการชุดของคุณบรรณวิทย์ ทราบต้นสายปลายเหตุแล้วหรือยัง

บรรณวิทย์ - หลังจากที่เราทำการสัมมนานะครับ เราก็ทำบทสรุปไปให้ แบบไปลอกเขามา ทั้งสนามบินเลยนะครับ ต้องให้ อ.ศิริวัฒน์ อธิบายว่าเป็นอย่างไร แบบสนามบินเป็นอย่างไร ไปก๊อปปี้ใครเขามา

ศิริวัฒน์ - ความจริงแล้วรูปแบบทางด้านสถาปัตยกรรมของอาคาร คือของเรามีคู่แฝดอยู่ คือในชุดหลัง จะเอามาให้ท่านผู้ชมได้ลองทายกันเล่น จากของเยอรมัน แต่เขียนในคนละสเกลเท่านั้นเอง

จินดารัตน์ – อ๋อ! เลียนแบบเขามาเลย

สุพจน์ - เราจ่ายค่าแบบประมาณ 800 กว่าล้านนะครับ แล้วก็มีงานเพิ่มอีก รวมแล้วก็พันกว่าล้าน แต่เราได้แบบที่พูดง่ายๆ ว่า นี่ชุดนี้ผมไปสร้างที่อื่นมาแล้วนะ ผมมาสร้างที่นี่ พูดอย่างนี้หมิ่นประมาทได้นะครับ แต่นี่รูปธรรมมันฟ้อง มันเห็น ว่านี่มันก๊อปมาชัดๆ ไม่ได้ออกแบบเลย ยกมา

จินดารัตน์ - แล้วคิดค่าแบบ 800 ล้าน

สุพจน์ - นี่คือตัวอาคารนะครับ แต่พอตัวแท็กซี่เวย์ รันเวย์ ชุดออกแบบ คือคนที่มาตรวจสอบว่าแบบถูกต้องไหม อะไรไหม ถ้าพูดถึงที่สุดแล้วเราไม่รู้ว่ามีใครตรวจสอบบ้างไหม

จินดารัตน์ - ก่อนที่จะรับงาน

สุพจน์ - ก่อนที่จะก่อสร้าง คือแบบไม่ถูกต้องก่อนที่จะก่อสร้าง แบบต้องถูกตรวจสอบ

จินดารัตน์ - หาไม่เจอเหรอคะ หาต้นตอไม่เจอ

สุพจน์ - ถ้าตอนนี้เขาบอกว่าเป็นอย่างนั้น

ศิริวัฒน์ - ยังสับสนอยู่ ผมจะเรียนเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เกิดความสบายใจเมื่อฟังแล้ว ในฐานะที่เป็นวิศวกรรมก็เรียนให้ทราบว่า อย่าตกใจในเรื่องของความแข็งแรงของรันเวย์นี่มากนัก เราทราบต้นตอของปัญหา เราแก้ไขได้แน่นอน แต่ว่าจะแก้ไขเมื่อไร แล้วสิ่งที่ว่าจะแก้ไขเมื่อไร และซ่อมหลอกๆ ไปเรื่อยๆ นี่ ตรงนี้คือความเสียหายที่มันเกิดขึ้น มันไม่ใช่ 10 บาท 20 บาท มันเป็นหลายๆ ร้อยล้าน ทีนี้เมื่อเราเริ่มต้นที่จะซ่อมอย่างจริงจัง ผมคิดว่าความแข็งแรงกลับคืนมาเหมือนเดิม เพราะอย่างที่เรียนไว้แต่แรกแล้วว่า สิ่งที่เสียหายและสิ่งที่ด้อยคุณภาพนั้นอยู่ที่ส่วนที่เป็น Asphaltic พื้นผิวที่ 40 ซม.เท่านั้น

จินดารัตน์ - คือถ้าเปลี่ยนวัสดุใหม่

ศิริวัฒน์ - ตัวโครงสร้างหลักที่เป็นคอนกรีตหนาเป็นเมตร 70-80 ซม. ตรงนี้ยังแข็งแรง ยังไม่มีการทรุดตัวอะไรทั้งสิ้น

จินดารัตน์ - ยังใช้ได้ใช่ไหมคะ

ศิริวัฒน์ - ยังใช้ได้ ไม่มีปัญหา แต่มีปัญหาตรงนี้ อย่างที่ทุกคณะกรรมการพูดก็คือรอยร่องล้อ ก็คือตัวปัญหาก็คือตัว Asphaltic และตัวช่วยเสริมคือเรื่องระบบระบายน้ำ ถ้าแก้ปัญหาเรื่องระบบระบายน้ำไม่ให้มีน้ำซึมขึ้นมาได้ เป็นตัวช่วยเสริมแล้ว ปัญหาตรงนี้แก้ได้ แต่ว่ากว่าจะแก้ตรงนี้ได้ กว่าจะได้คนที่รับผิดชอบมาตรงนี้ ผมไม่ทราบว่าขั้นตอนตรงนี้เราจะเสียหายไปอีกเท่าไร เสียหายตรงนี้มาก ผมเป็นห่วงในเรื่องความเสียหายที่เราต้องเสียหาย สูญเสียเงินทอง สูญเสียเงินภาษีอากรของเรา มากกว่า มากกว่าที่จะกังวลถึงตรงนั้น เพราะตรงนั้นอย่างไรก็แก้ได้ วิศวกรไทย สภาวิศวกร วศท. เรามีผู้เชี่ยวชายที่เก่งๆ เยอะแยะมาก ท่านสามารถที่จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้

จินดารัตน์ - ก็คือยังปลอดภัยอยู่ ถ้ายังซ่อมกันไป วิ่งกันไป ซ่อมไป วิ่งกันไป

ศิริวัฒน์ - ครับ ก็อาศัยตรวจสอบดูตลอดเวลาอย่างที่ อ.สุพจน์ ว่าต้องตรวจสอบทุกวัน วันหนึ่งหลายๆ รอบ

จินดารัตน์ - ดิฉันก็เพิ่งทราบนะคะว่าสนามบินสุวรรณภูมิมีเจ้าหน้าที่เก็บขยะพวกนี้ด้วย

สุพจน์ - มีครับ พอเครื่องบินจังหวะว่างก็ออกไปตรวจ ว่ามีขยะไหม แล้วคนขับเครื่องบินก็จะคอยดูให้ด้วย ถ้ามีขยะเขาก็แจ้ง

จินดารัตน์ - ที่มันเลวร้าย และร้ายแรงที่สุดกับปัญหาขยะบนรันเวย์ทั้งหลายมันคืออะไรคะ

สุพจน์ - คือขยะจะถูกดูดเข้าไปในเครื่อง เมื่อเครื่องดึงเข้าไปแล้วมันก็จะทำลายเครื่อง มันก็ตก

ศิริวัฒน์ - อย่างนี้นะครับ สมมุติว่าถ้าท่านพิธีกรไปส่งใครสักคนบินไปต่างประเทศ แล้วเครื่องบินนั้นเกิดปัญหาเลวร้าย ตัวอะไรเล็กๆ น้อยๆ ถูกดูดเข้าไป ท่านพิธีกรอาจจะขับรถกลับบ้านยังไม่ทันถึงบ้านก็จะได้ข่าว

สุพจน์ - อย่างนี้มันทำให้เกิดมีการเฝ้าระวัง พลาดไม่ได้

จินดารัตน์ - คือมันต้องพลาดไม่ได้ แต่อุบัติเหตุมันเกิดขึ้นโดยที่เราไม่คาดคิดทุกครั้งล่ะค่ะ

สุพจน์ - เหมือนที่บอกว่าคองคอร์ดตกก็เหตุเดียวกัน

จินดารัตน์ - ที่ฝรั่งเศส

สุพจน์ - ใช่ครับ

จินดารัตน์ - ดิฉันคิดแล้วก็ คือมาพูดถึงปัญหาของสุวรรณภูมิ นี่เฉพาะแท็กซี่เวย์ รันเวย์ แต่ชุดกรรมาธิการของคุณบรรณวิทย์ ดิฉันเชื่อว่ามันมีมากกว่าเรื่องนี้แน่นอน แล้วที่ข่าวออกมามันมีไม่เว้นแต่ละวัน ถูกไหมคะ กี่เรื่องแล้วในสุวรรณภูมิที่คุณบรรณวิทย์ ชุดคุณบรรณวิทย์ทำรายงานสรุปให้ ทอท. หรือส่งให้หน่วยงานไหน

บรรณวิทย์ - คือหลังจากที่เราทำแล้ว ตามหลักการแล้วเราต้องส่งให้กับกระทรวงคมนาคม แล้วกระทรวงคมนาคมก็จะไปดำเนินการ แต่ปรากฏว่าเท่าที่ผ่านมาไม่ได้ไปถึงไหนเลย บางเรื่องเราส่งให้การท่าฯ โดยตรง ก็ไม่เป็นไร

จินดารัตน์ - กี่เรื่องแล้วคะ

บรรณวิทย์ - เรื่องทั้งหมดที่ทำไปนะครับ วันนี้ส่งไปแล้ว 18 เรื่อง

จินดารัตน์ - 18 เรื่องของสุวรรณภูมิ

บรรณวิทย์ - ของสุวรรณภูมิ 18 เรื่อง และมีคมนาคมบางเรื่อง ที่เราส่งเนื่องจากว่า หลังจากที่เราทำแล้วเราเห็นการทุจริตโดยชัดเจน หากเราทิ้งไว้ก็จะเกิดความเสียหายกับประเทศชาติ เราก็มีมติว่าให้ส่งไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อส่งไปยัง ป.ป.ช. และส่งไปยังศาลเลย ก็ปรากฏว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นความผิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่น ยกตัวอย่างว่า วันนี้เรื่องที่เราส่งไป ป.ป.ช.แล้ว ส่งไปดีเอสไอ และไป ป.ป.ช.แล้วถึง 11 เรื่อง เรื่องที่เป็นเจ้าปัญหาที่มีเรื่องกันอยู่ปัจจุบัน เรื่องคิงเพาเวอร์ ทั้งสัญญาปลอดภาษี และคิงเพาเวอร์เชิงพาณิชย์ เรื่องไป ป.ป.ช.แล้ว และ ป.ป.ช.ตั้งคณะอนุกรรมการสอบแล้ว ก็แปลว่าเรื่องมีมูลแล้ว ไม่ช้าก็คงสรุปและส่งไปศาล

จินดารัตน์ - ใช้เวลาประมาณ นานไหมคะ

บรรณวิทย์ - ก็ไม่น่าจะเกินเดือนหนึ่ง แล้วก็อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องรักษาความปลอดภัย ที่เราเคยได้ยินว่า โอ้โห หลายพันล้าน 5-6 พันล้าน ส่งแล้วครับ ตั้งคณะอนุฯ แล้ว ส่วนที่ไปกรมสอบสวนคดีพิเศษ และส่งไป ป.ป.ช.แล้ว แต่ยังไม่ได้ตั้งคณะอนุฯ ก็มี รถเข็นกระเป๋า คุณแอนจะเห็นว่ารถเข็นกระเป๋า มูลค่าตั้ง 500 ล้าน แล้วก็มีคนเขาให้ฟรีไม่เอา ทำเอง ก็ปรากฏว่าไปตรวจสอบแล้วไปทำโรงงานห้องแถว รับน้ำหนักไม่ได้ พังกันอุตลุตเลย ส่งไปแล้วนะครับ แท็กซี่ลีมูซีน ลีมูซีนที่บอกเจ้าปัญหา คัมรีคันละ 5-6 ล้านบาท นอกจากว่าเราไม่ได้ตังค์ ที่ดอนเมืองลีมูซีนเราได้ตังค์ เขาให้ตังค์เรา เป็นค่าลิขสิทธิ์ แล้วเอารถมาวิ่ง ที่สุวรรณภูมิกลับกัน เราต้องเสียค่าเช่ารถ คัมรีคันละประมาณ 6 ล้านบาท เราต้องเสียค่าคนขับ เราต้องเสียค่าน้ำมันรถ เราต้องจ้างบริษัทมาจัดเก็บตั๋ว เดือนละ 3 ล้านบาท

จินดารัตน์ - แล้วไม่ได้อะไรเลย

บรรณวิทย์ - แล้วไม่ได้อะไรเลย วันนี้ส่งแล้วครับ อันนี้เป็นเรื่องที่ทุจริตโดยเด่นชัด แล้วที่แย่กว่านั้นก็คือว่า สัญญาแท็กซี่ลีมูซีน เป็นสัญญาที่เขาเรียกว่าฮั้วประมูล ร่วมกัน 8 สัญญา แต่มีอยู่แค่ 2 บริษัท โรงแรมสุวรรณภูมิ ที่บอกว่าค่าบริหารแพงที่สุดในโลก 6.5 เปอร์เซ็นต์ เราก็ยังมีค่าบริหารแต่ละปีอีก 80-90 ล้านบาท เป็นอัตราก้าวหน้า ส่งแล้ว นะครับ เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม โรงงานกำจัดขยะ พีซีแอล กับ 400 เฮิร์ตซ พีซีแอล กับ 400 เฮิร์ตซ คุณแอนจะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเครื่องบินที่เขามาจอดเขาต้องดับเครื่องยนต์ ก็เติมน้ำยาแอร์ แล้วก็เอาไฟเสียบ แต่ของเรานี่ทำไม่ได้ครับ เพราะว่าเครื่องพีซีแอลที่ทำความเย็นให้กับเครื่องบิน ตัวกำเนิดความเย็นต่ำ เหมือนบ้านคุณแอน ห้องต้องติดแอร์ 2 ตัน ไปติดตันเดียว ก็ไม่เย็น แล้วอีกอันหนึ่งที่อันตราย ก็คือ 400 เฮิร์ตซ ก็คือไฟที่เราเอาไปเสียบที่เครื่องบิน ปกติเมื่อเครื่องเข้าที่จอด ต้องต่อสายก่อนถึงจะเอางวงเข้าเทียบ เพราะการเอางวงเข้าเทียบอาจจะเกิดไฟฟ้าสถิตย์ อันตราย แต่ของเราเนื่องจากสายสั้น ต้องเอางวงเข้าไปชนก่อน ทำให้เครื่องจัมโบ้ เครื่องตัวใหญ่ กับแอร์บัส เอ 340 เขาเดินเครื่องยนต์เอง เกิด pollution ภาวะเครื่องยนต์ติด แล้วเขาก็ไม่ใช้เรา เราก็ไม่ได้ตังค์ เขาใช้โมบายยูนิต ชงแล้วครับ

สัญญาโครงการก่อสร้างสนามบินที่เมื่อกี้ รูปตอนแรกเห็นทั้งหลายแหล่ ห้องน้ำไม่มี อะไรไม่มี ส่งแล้วนะครับ ศูนย์ขนส่งที่บอกว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่น ส่งแล้ว หลังคาผ้าใบที่ขาดแล้วซ่อมไม่ได้ และผิดสเปก จะมาออกในรายการ ก็เอาส่งแล้ว แล้วที่ของคมนาคมส่งไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษแล้วก็มี เรื่องไทยแอร์เอเชีย ส่งไปแล้ว ที่ดินผู้มีอิทธิพลที่บุรีรัมย์ ไม่เคยมีใครไปจับเลย เราไปจับ บริษัทไทยเดินเรือทะเล ที่เห็นว่าเอาสายการบินแห่งชาติไปขาย ส่งแล้ว สามเหลี่ยมพหลโยธิน อันนี้เป็นอันตรายมาก ตัวผมเองก็มีอันเป็นไป เรื่องสามเหลี่ยมพหลโยธิน ก็มีอันเป็นไปแล้ว ส่งไปแล้ว และเรื่องที่กำลังส่งก็คลองส่งน้ำ ที่สร้างมาตั้งเยอะ เมื่อกี้อาจารย์สองท่านได้บออกแล้ว น้ำระบายไม่ออก ทำไมล่ะครับ เพราะระดับน้ำในคลองส่งน้ำต่ำกว่าระดับน้ำที่แท็กซี่เวย์กับรันเวย์ แต่ระบายไม่ออก ส่งไปแล้ว แล้วก็เรื่องผลประโยชน์ของการท่าฯ บริษัท แท็ก ส่งไปแล้วครับ

จินดารัตน์ - ทั้งหมด 18 เรื่อง ไปถึงมือดีเอสไอทั้งหมดแล้ว

บรรณวิทย์ - ทั้งหมดแล้วครับ

จินดารัตน์ - 11 เรื่องไปถึงมือ ป.ป.ช.แล้ว

บรรณวิทย์ - ใช่ครับ ตั้งคณะอนุฯ แล้ว 3 เรื่อง

จินดารัตน์ - แต่ว่าวันนี้คำตอบจาก ทอท.เอง ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ส่วนใหญ่ในสนามบินสุวรรณภูมิ ไม่ได้ตอบอะไรกลับมาเลยเหรอคะ ไม่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบ ไม่มีแอ็กชั่นใดๆ เลยเหรอคะ

บรรณวิทย์ - ก็อาจจะมีนะครับ อย่างเรื่องพีซีแอล กับ 400 เฮิร์ตซ คณะกรรมการเป็นชุดเดียวกัน ก็ยังไม่ได้ทำอะไร แต่ว่าคิงเพาเวอร์นี่คนละคณะ แต่สวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรในสนามบินสุวรรณภูมิที่ปรับปรุงอย่างเป็นรูปธรรม คุณแอนจะเห็นว่าพื้นก็ยังแตก พื้นก็ยังสกปรก ห้องน้ำก็ยังไม่มี ยังทำอะไรไม่ได้ หลังคาผ้าใบก็ยังขาดอยู่

จินดารัตน์ - คุณผู้ชมคะดิฉันจะขออนุญาตคุณผู้ชมพักกันก่อนนะคะ ช่วงหน้ากลับมา จากทั้งหมด 18 เรื่อง ที่ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ได้เรียนคุณผู้ชมไปว่าส่งถึงมือดีเอสไอแล้ว ส่งไปถึงการท่าฯ แล้ว แต่ไม่มีการลงมือทำอะไรใดๆ ทั้งสิ้น ผ่านมาปีเศษ ช่วงระยะหลังๆ มามีข่าวคราวที่เสนอออกมา เรื่องของการตบทรัพย์เอกชนรายใหญ่ในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะคิงเพาเวอร์ ก็เลยเกิดวลีเด็ดจาก พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ว่า ‘มิตรอำมหิต’ หมายถึงใคร อย่างไร วันนี้ถ้าอ่านข่าวติดตามข่าวคงจะพอเดาได้นะคะว่า พล.อ.สพรั่ง หมายถึงใคร และมิตรอำมหิตนั้น ทำไมถึงเกิดคำนี้ขึ้นมาได้ เดี๋ยวอีกสักครู่ช่วงหน้ากลับมาเรามาถาม พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กันดูค่ะว่าใครคือมิตรอำมหิต สักครู่ค่ะ


จินดารัตน์ - กลับมาช่วงสุดท้ายรายการคนในข่าวค่ะ คุณผู้ชมคะ วันนี้เรากำลังพูดถึงเปิดโปงทุจริตสนามบินสุวรรณภูมิกันอีกครั้งหนึ่ง จริงๆ แล้วปัญหานี้มันเกิดมายาวนาน แล้ววันนี้มันเงียบหายไป หลายคนกำลังอึดอัดว่าเรื่องเหล่านี้หายไปอยู่ที่ไหน ช่วงแรกคุณบรรณวิทย์เรียนคุณผู้ชมไปแล้วว่าเรื่องต่างๆ 18 เรื่อง ส่งไปถึงมือดีเอสไปเรียบร้อยแล้ว แต่ว่าเรื่องของสนามบินสุวรรณภูมินั้นหลายคนก็ยังเป็นห่วงอยู่ว่าแล้วจะเอาคนผิดมาลงโทษได้หรือไม่ แต่วันนี้หลายคนที่โทรศัพท์เข้ามา ส่งเอสเอ็มเอสเข้ามา อยากจะรู้ อยากจะทราบความเป็นมาเป็นไปกับวลีเด็ดของคุณสพรั่ง พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ที่บอกว่า ‘มิตรอำมหิต’ นั้นหมายถึงใคร แต่ก่อนที่ดิฉันจะถามคำถามนี้ มีข่าวลือ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันออกมาตลอดเวลาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว การตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชั่นของคณะกรรมาธิการชุดของ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ ว่าไม่มีความโปร่งใส และทำการตรวจสอบอย่างบ้าคลั่ง ข้ามสายงาน ล้วงลูกชาวบ้านเขาไปทั่ว นั่นเป็นเพราะมีการเรียกร้องแล้วไม่สมผลประโยชน์หรือเปล่า ดิฉันถามคุณบรรณวิทย์ตรงๆ เลยค่ะ ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับข่าวลือที่ว่านี้

บรรณวิทย์ - คือตรงนี้เมื่อเราเริ่มทำงาน เราทราบแล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะแต่ละโครงการเป็นโครงการยักษ์ใหญ่ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรักษาความปลอดภัย เรื่องก่อสร้างสนามบิน คิงส์พาวเวอร์ สามเหลี่ยมพหลโยธิน เรารู้ว่าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่และมีอิทธิพลมาก บางธุรกิจก็เป็นเจ้าของสื่อ บางธุรกิจเราก็รู้อยู่แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น แรกๆ บอกว่าเราเคาะกะลา คุณแอนคงจำได้ ว่าเราว่าเคาะกะลา เราก็แก้ตัวกันใหญ่ คณะกรรมาธิการแก้ตัวสักพักหนึ่ง ก็บอกว่าเท้าบวมเสียแล้ว ใส่รองเท้าไม่ได้ เงินหล่นใส่ เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ทำงานต่อไป จนสุดท้าย เราออกมาพูดอีกทีหนึ่งว่าเราทำเสร็จแล้ว และเรายอมส่งฟ้องแล้ว อันนี้จะว่าเราล้วงลูก ไม่ถูก เราถูกล้วงด้วย เพราะอันที่จริงเราส่งไปคมนาคม คมนาคมต้องทำให้เรา แต่เมื่อไม่ทำ เรื่องก็เงียบหายไปเลย ก็เลยมีมติว่าส่งเลย ตรงนี้จะเห็นว่าพอเริ่มทำอีก ก็บอกว่าทำไมทำการตรวจสอบอย่างบ้าคลั่ง ได้เงินไม่พอหรืออย่างไร โดนมาโดยตลอด เราก็ต่อสู้กันมา คณะกรรมาธิการก็ถูกดิสเครดิตหรือด้อยค่า ด้วยการถูกใส่ร้ายป้ายสีตลอด ผมถามคุณแอนว่าเราทำการตรวจสอบแล้วเราส่งฟ้องทุกโครงการ โชคดีมากไม่มีโครงการไหนไม่ส่งฟ้องเลย และทุกโครงการที่เราส่ง กรมสอบสวนคดีพิเศษรับหมด แปลว่ามีมูล เพื่อจะส่งต่อ ใครเขาจะให้เงินครับ

จินดารัตน์ - จริงไหมคะที่มีข่าวลือว่าบรรดาเจ้าสัวทั้งหลาย เจ้าของห้างใหญ่ๆ เข้าพบบรรดากรรมาธิการ โดยเฉพาะ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เอง ได้มีการคุยกันไหม

บรรณวิทย์ - ขอยืนยันเลยว่าไม่จริง เพราะว่าผมไม่ได้เป็นประธานคณะอนุฯ อย่างเช่นเรื่องคิงส์พาวเวอร์ ประธานคือ พล.อ.ปฐมพงษ์ เรื่องพีซีแอล 400 เฮิร์ตซ์ ประธานคือ พล.ร.ท.พะจุณณ์ ผมไม่ได้เป็นเลย แล้วผมก็ยืนยันแทน อย่างเรื่องคิงส์พาวเวอร์ พล.อ.ปฐมพงษ์ ก็ยืนยันว่าขอพบ แต่ไม่ให้พบ เราไม่เคยมีการพบกันเลย มีแต่ว่าผมโชคร้าย ถูกผู้ใหญ่พามาพบ ผมขอไม่เอ่ยชื่อนะครับ เพราะเป็นคดีกันแล้ว

จินดารัตน์ - คือผู้ใหญ่พามาพบ

บรรณวิทย์ - พามาพบที่กระทรวงกลาโหมเลย บอกว่า มาเพื่ออะไร เพราะเป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่ มาพบผม ผมก็บอกว่าไปคุยกันในคณะกรรมาธิการ ก็นำมาคุยกันในคณะกรรมาธิการ วันนี้ผู้ใหญ่ที่พามาพบ เป็นผู้บังคับบัญชาผมในอดีต หมายถึงว่าในขณะที่ผมรับราชการ ผมก็กล้าขัดผู้บังคับบัญชา ผมกล้าทำ วันนี้ผมรู้แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตผม ความยากลำบากมาเยือนแน่นอน แต่คิดว่าเราทำเพื่อชาติ คณะกรรมาธิการทุกคน คณะกรรมาธิการวิสามัญ ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เบี้ยประชุมไม่เคยรับ ทานข้าวกล่อง วันนี้เราทำขึ้นมา เราต้องการจะแทนคุณแผ่นดิน เปิดเผยความจริง นำความโปร่งใส หาผู้ทุจริตเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่ข่าวลือ เป็นลายลักษณ์อักษรหมด จนกระทั่งฟ้องได้ ถามว่าใครจะมาให้เงิน

จินดารัตน์ - อยู่ๆ ก็มีข่าวออกมาว่าคนใกล้ตัวหรือเป็นเพื่อนไปอ้างชื่อ พล.อ.สพรั่ง ไปหาประโยชน์ ไปตบทรัพย์เอกชนรายใหญ่ จน พล.อ.สพรั่ง พูดคำว่า ‘มิตรอำมหิต’ ออกมา ถามตรงๆ ว่าเมื่อได้ยินคำนี้แล้ว พล.ร.อ.บรรณวิทย์ รู้สึกว่าหมายถึงตัวเองหรือเปล่า หรือว่าอย่างไร

บรรณวิทย์ - ผมรู้อยู่แก่ใจว่าไม่ใช่ผม แต่ผมมีข้อสังเกตว่าทำไมถึงออกมาตอนที่ผมจะคัดเลือกวุฒิฯ เห็นไหมว่าทุกสื่อพุ่งเป้ามาที่ผม มีบางฉบับลงค่อนข้างที่จะใกล้เคียงกับผม ผมฟ้องครับ ดำเนินการอาศัยบารมีศาลเป็นที่พึ่ง ตรงนี้ขอเรียนเลยว่าคณะกรรมาธิการมีแต่โดนกล่าวหาว่าคนใกล้ชิดผม เอาชื่อผมไปทำมาหากิน เอาชื่อผมไปรีดไถ ผมยืนยันว่าไม่มี เพราะเรามีหน้าที่ตรวจสอบ เรามีหน้าที่ส่งดำเนินคดี เราให้เขาค้าขายก็ไม่ได้ ให้เขาออกก็ไม่ได้ ต้องเป็นการท่าอากาศยานที่จะต้องเป็นคนทำ ไม่ใช่เรา หรือฝ่ายบริหาร เราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นผู้ตรวจสอบธุรกิจทุกอันที่อยู่ในนั้น ยักษ์ใหญ่ทั้งนั้น ย่อมรู้ความเป็นไปความเป็นมา แล้วการที่มีผู้ถามว่าผมเอาชื่อคนอื่นไปหา ไม่มีความจำเป็นหรอก เพราะถ้าจะหา หาด้วยตนเอง ไม่ต้องเอาคนอื่น แต่ชั่วอย่างนี้ผมไม่ทำหรอก การที่ผมตรวจสอบทุจริต 18-19 โครงการ ทำชั่วแม้แต่นิดเดียว วันนี้ถูกกระชากหน้ากากแล้ว

จินดารัตน์ - พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เป็นเพื่อนเรียนเตรียมทหารมากับ พล.อ.สพรั่ง ถูกไหมคะ เรียนมาด้วยกัน แล้วค่อนข้างสนิทกัน เรียกกันว่าเป็นเพื่อนรักกัน

บรรณวิทย์ - ก็รักกันในรุ่น รักกันเยอะ

จินดารัตน์ - พล.อ.สพรั่ง เองเป็นประธานบอร์ด ทอท. และทีโอที ด้วย ในฐานะประธานบอร์ด ทอท. พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญที่เข้าไปตรวจสอบ ส่งเรื่องทั้งหมดเข้าไป พล.อ.สพรั่ง เคยรับรู้หรือเคยพูดคุยกันเป็นการส่วนตัวไหมคะ

บรรณวิทย์ - ก็มีการเร่งกัน บอกว่าให้ช่วยทำหน่อย แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผมก็ลาออกมาจากทั้งบอร์ด ทั้งเป็นที่ปรึกษาของทั้ง 2 บอร์ด คือการท่าฯ และโทรศัพท์ ผมก็ลาออกมา ผมให้เหตุผลชัดเจนเลย ผมให้เหตุผลของการท่าฯ ผมบอกว่ามีการประมูลน้อยมาก มีการซื้อวิธีพิเศษเยอะ ผมเป็นที่ปรึกษา ผมขอออกดีกว่า

จินดารัตน์ - แล้วไม่มีการทักท้วงจาก พล.อ.สพรั่ง หรือคะ

บรรณวิทย์ - ลาออกเขาก็ยินดี เพราะเราเป็นเพียงที่ปรึกษา ไปทักท้วงเขามาก เขาก็ว่าเอาว่าเป็นเพียงที่ปรึกษา แต่ในส่วนของทีโอที ผมให้เหตุผลว่า เพราะมีการบริหารงานที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชน ไม่รักษาผลประโยชน์ให้กับทางราชการ เรื่องนี้ผมจำเป็นเหลือเกินที่ผมต้องลาออก เพราะผมเป็นผู้ตรวจสอบ เมื่อผมเจอ มันไม่รอดแน่ แล้วผมไม่ได้ตั้งใจที่จะทำเลย อดีตประธานสหภาพฯ มาร้องเรียนเรื่องโรงแรมสุวรรณภูมิ ว่ามีการจ่ายสตางค์ค่าบริหารกันโดยไม่ถูก ผมถ้าไม่ทำก็โดน มาตรา 157 ทำก็ไม่ได้ คณะกรรมาธิการก็ให้ความเมตตากับผมว่า ขอคนอื่นทำ เลยให้คณะกรรมาธิการท่านอื่นเป็นประธาน ผมไม่ได้เป็นเลย ผมมีหน้าที่อย่างเดียว ส่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ

จินดารัตน์ - หลังจากยื่นจดหมายลาออกจากประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ

บรรณวิทย์ - ผมลาออกจากที่ปรึกษาของบอร์ด ทอท. และทีโอที ทั้ง 2 ชุด

จินดารัตน์ - นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งลึกๆ กับ พล.อ.สพรั่ง หรือเปล่าคะ เหมือนกับไม่เข้าใจอะไรกันหรือเปล่า

บรรณวิทย์ - ไม่ใช่นะ ต้องเข้าใจว่าผมเป็นคนตรวจสอบ ผมเหมือนตำรวจ ถ้าเห็นว่าในสังคมที่ผมอยู่มีการกระทำผิด ผมก็ไม่ควรจะอยู่ร่วมกับสังคมนั้น ก็ขอออกมา เพื่อจะทำงานได้เต็มที่ และไม่มีข้อครหา

จินดารัตน์ - พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นระหว่างตัวเองกับ พล.อ.สพรั่ง แต่ไม่สำเร็จ อย่างนี้เป็นไปได้ไหมคะว่าอาจจะเกิดขึ้นจากผู้หวังดีประสงค์ร้ายที่อยู่รอบๆ ตัว หรือคนใกล้ชิด

บรรณวิทย์ - คือความสัมพันธ์ผมก็ยังเหมือนเดิมนะ แต่วันนี้ผมต้องขอความเห็นใจจากคุณแอน ผมมาทำงานตรวจสอบ ผมถูกกล่าวหามากมาย คณะกรรมาธิการผมถูกกล่าวหามากมาย เราทำไปเพื่ออะไรครับ เราทำเพราะเราเห็นว่าเป็นการทุจริต เพราะรักษาผลประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เราถูกด้อยค่า ถูกเกลียดชัง คุณแอนคิดไหมครับว่าเราเป็นคนไทย ผมนำโครงการ 18 โครงการ มีอดีตผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถือ เป็นเพื่อน มีพวกพ้องมาขอเยอะแยะ แต่ไม่เคยให้เลย ผมเคยพูดในคณะกรรมาธิการ อาจารย์ 2 ท่านเป็นพยานได้ว่าเมื่อผมทำงานจบอันนี้แล้ว ผมคงไม่มีเพื่อนที่เคารพนับถือเหลืออยู่แล้ว เพราะมาขอผม ผมไม่เคยให้เลย ผมคิดว่าผมต้องทำ

จินดารัตน์ - แสดงว่ามาขอกันเยอะหรือคะ

บรรณวิทย์ - เยอะครับ ต้องยอมรับตรงๆ ว่ามาขอกันเยอะ แต่ถามตรงไปตรงมา ไม่เคยไปแทรกแซงแม้แต่คณะเดียวว่าให้ทำอย่างไร กรรมาธิการทุกคนยืนยันได้ ผมมีหน้าที่อย่างเดียว เมื่อท่านตรวจสอบมาแล้ว ผมเซ็น ผมกล้ารับผิดชอบ วันนี้ 18 คดีอยู่ตรงนี้ เสนอด้วยตัวเอง ผมต้องไปศาลอีกไม่ต่ำกว่า 2 ปี เขาหมดหน้าที่ สนช. แล้ว เขาก็กลับบ้านได้ แต่ผมต้องไปศาลอีก 2 ปี

วันนี้คำว่า ‘มิตรอำมหิต’ ผมควรจะเป็นผู้พูดนะ วันนี้ผมถูกเกลียดชังจากเพื่อนเยอะแยะ จากอดีตผู้บังคับบัญชา จากอดีตผู้ใหญ่ มาขอไม่ให้ผมน่าจะพูดนะครับว่าเหลือแต่มิตรอำมหิตเท่านั้น คนดีๆ ไม่เหลือแล้ว มีแต่คณะกรรมาธิการที่ยังให้กำลังใจกันอยู่ ชีวิตความเป็นอยู่ปกติก็ลำบาก ทำงานสุจริตตรวจสอบความทุจริต ชีวิตนี่ลำบากนะ คุณแอนดูแล้วกันผมทำเรื่องรถถังยูเครน ต้องมีอันเป็นไป ต้องโดนย้าย แต่ผมรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ผมกล้าทำ คนบ้าๆ อย่างผมมีเยอะ แต่คนบ้าๆ แล้วโดนกระทำอย่างผม ผมถามว่าวันข้างหน้าจะมีใครกล้าออกมาทำอย่างผมบ้าง ผมรู้ว่าต้องเป็นอย่างนี้ ชีวิตจะต้องลำบาก

จินดารัตน์ - แสดงว่าวันนี้เมื่อตรวจสอบไปแล้ว พบว่าเพื่อนรักเคยเป็นเพื่อนรักกันมา ทำผิด ทำไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ต้องดำเนินการ ไม่มีการละเว้นอย่างนั้นหรือคะ

บรรณวิทย์ - เราเป็นเหมือนตำรวจ เมื่อเชาร้องมา เราก็ต้องทำ เพราะผมไม่ได้เป็นคนตัดสิน ในที่ประชุมเป็นคนตัดสิน ที่ประชุมทำการศึกษาแล้วเห็นว่าเป็นไปได้ อย่างเช่นเรื่องโรงแรมสุวรรณภูมิ การจ่ายเงินเด่นชัด อดีตประธานสหภาพฯ ท่านร้องมาชัดมาก ว่าไม่มีอำนาจในการจ่ายเงิน แล้วจ่ายไป จำเป็นเหลือเกินครับ วันนี้ถ้าเราไม่ทำ เราก็โดนมาตรา 157 เราตรวจสอบทุจริตมาโดยตลอด เราปิดตาซะ อย่าไปสนใจรายละเอียดว่าชื่อนั้นเป็นของใคร ส่งเลย แล้วทำเลย

จินดารัตน์ - บางคนบอกว่า วันนี้คุณบรรณวิทย์อาจมีต้นทุนทางสังคม ดิฉันขออภัยที่ต้องเรียนตรงๆ ว่า เขาวิเคราะห์กันว่าต้นทุนทางสังคมของคุณบรรณวิทย์อาจจะน้อยกว่าบางคน เลยอาจจะทำให้บางคนยังไม่ค่อยไว้ใจ รู้สึกอย่างไรคะ

บรรณวิทย์ - การที่เรารับอาสาเข้ามาทำงาน ผมอาสาเข้ามานะ ขอสภา ต้องวิสามัญ ศึกษาทุจริตในสนามบินสุวรรณภูมิ อาสาเข้ามา ผมทำงานอย่างเต็มที่ แล้วการตรวจสอบของผม ได้ผลเลย วันนี้ท่านเห็นแล้วว่าอะไรเกิดขึ้น ปิดรันเวย์ แท็กซี่เวย์ แล้ว เรื่องร้านค้าต่างๆ ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ความไม่เรียบร้อย ออกมาหมด ยามเป็นอย่างไร พีซีแอล 400 เฮิร์ตซ์เป็นอย่างไร รถเข็นกระเป๋าเป็นอย่างไร สามเหลี่ยมพหลโยธินเป็นอย่างไร ที่ดินผู้มีอิทธิพล ทั้งหมดเลย แล้ววันนี้ผมถามคุณแอนว่า ต้นทุนทางสังคมที่กล่าวถึงคืออะไร ผมสิครับ เอาชื่อเสียงมาทิ้ง เอาทุกอย่างมาทิ้ง ชีวิตความเป็นอยู่ไม่ปกติเลย ต้องเจออุปสรรคทั้งในด้านรับราชการ ผมต้องถูกย้าย กระทันหันเลย ยังทำ ยังสู้ สู้ไปเพื่ออะไร

จินดารัตน์ - คุณบรรณวิทย์ เคยเจอกับคุณวิชัย รักศรีอักษร เจ้าของคิงส์พาวเวอร์ไหม

บรรณวิทย์ - ไม่เคยเจอครับ นี่ตอบอย่างเต็มปากเต็มคำเลย คณะกรรมาธิการจะเป็นพยานยืนยัน เราเชิญมา แต่ท่านส่งรองฯ มา ชื่อสมบัติ หรืออะไร ผมจำไม่ได้ เพราะผมไม่ได้อยู่ในคณะฯ ถึงเชิญมา ก็ไม่ได้พบผม เพราะผมไม่ได้อยู่ในคณะฯ แต่ถ้าคนสำคัญมา ประธานคณะกรรมาธิการคงต้องไปต้อนรับ

จินดารัตน์ - แล้วเคยคุยผ่านคนใกล้ชิดคุณบรรณวิทย์ไหมคะ

บรรณวิทย์ - ไม่เคยครับ แต่ พล.อ.ปฐมพงษ์ มารายงานว่ามีคนมาขอพบ แต่ไม่พบ ผมก็จับมือ บอกว่าดีแล้วเพื่อน ก็ตอบแค่นี้

จินดารัตน์ - วันนี้คงต้องถามทั้ง 3 ท่าน คำถามเดียวกันว่าทำงานมาจนถึงวันนี้ อย่างที่คุณบรรณวิทย์บอกว่าโดนมาเยอะ ทั้งข่าวดี ข่าวไม่ดี ส่วนมากจะเป็นข่าวไม่ดีมากกว่า ถามอาจารย์ทั้ง 2 ท่านก่อน ในฐานะที่เป็นวันหนึ่งเคยเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ดีๆ แล้วต้องมาทำงานตรวจสอบแบบนี้ จะเรียกว่าเป็นถังขยะ เป็นกระโถน ก็คงไม่ผิดนัก มีการบอกว่าไปตบทรัพย์ เรียกรับเงินเอกชน อาจารย์รู้สึกอย่างไร คิดว่าวันนี้ฉันสอนหนังสืออยู่ดีๆ ไม่น่ามายุ่งเรื่องพวกนี้เลยหรือเปล่าคะ ถามความรู้สึกก่อน

ศิริวัฒน์ - เดิมทีเราก็สอนหนังสือของเราอยู่ดีๆ เป็นวิศวกรอยู่ในอาชีพของเรา แต่ในฐานะที่เราต้องรับผิดชอบต่อประเทศชาติ รับผิดชอบต่อสังคม เมื่อทางท่านประธานให้ความไว้วางใจว่าเมื่อให้เรามาช่วยในฐานะที่เราอาจจะมีความสามารถที่จะช่วยในด้านที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน ในฐานะที่เราเห็นแก่สิ่งที่เราคิดว่าเราช่วยเหลือได้ สังคมช่วยเหลือได้ เราก็ยินดีที่จะมานั่งทำงานร่วมกับท่านประธานบรรณวิทย์ 1 ปีที่ผ่านมา ผมเองมีความรู้สึกว่าเราเองตั้งใจมาทำงานเต็มที่ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับทั้งหลาย ที่เป็นข่าวที่ไม่ดีทั้งหลาย เราฟังแล้วก็เก็บเอาไว้ มีความรู้สึกว่าสังคมมันมองเราไม่เข้าใจลึกซึ้งว่าเราอาสาเข้ามาทำงาน เราทำงานเพื่อสังคม แล้วสิ่งที่ท่านเข้าใจนั้น มันเข้าใจจากเปลือกภายนอก อาจจะมีข้อมูลที่ออกไปที่อาจจะไม่เป็นความจริง แต่ในฐานะที่เราอาสาเข้ามาแล้ว เราก็ต้องทำต่อไป ไม่มีการท้อถอย อย่างที่ท่านบรรณวิทย์เรียน เราไม่เคยประพฤติปฏิบัติตามอย่างที่เขาว่ากล่าวกัน เรามีความตั้งใจจริงในจิตใจของเรา เพราะฉะนั้นถึงเวลาที่เราทำงาน เราก็ทำไปจนกระทั่งเราพ้นจากหน้าที่นี้ไป

จินดารัตน์ - แล้วอาจารย์ล่ะคะ

สุพจน์ - เป็นความรู้สึกใกล้เคียงกัน ในความเป็นคนไทยเหมือนกัน เป็นวิศวกร ท่านให้มาดูสุวรรณภูมิ เผอิญว่าอยู่ใกล้พระจอมเกล้าฯ เราได้ผลกระทบด้านเสียง เราก็ได้คุยกับ ทอท. มาตลอด เราก็ไปให้บริการเขาในนั้นด้วย เช่น เทคอนกรีตให้เขา ในฐานะที่อยู่ใกล้ เราก็ไปเกี่ยวข้อง เพราะเรื่องอะไรทีเป็นทางวิศวกรรม แล้วบอกให้เราเข้ามาช่วย เรายินดี เพราะเราพอมีความรู้ และเป็นผู้ถามความคิดของเรา และความคิดของวิศวกร เมื่อปีหนึ่งมีตึกถล่มอยู่ที่สะพานแบร์ริ่ง โทรมาบอกให้ไปดูให้หน่อย ตึกมันยุบลงมาเป็นคอนโด ก็ไปตอนตี 1 เราอยากปลูกฝังให้วิศวกรมีความรู้สึกว่าเมื่อเรามีความรู้ เมื่อมีปัญหา เราต้องแก้ เราต้องเข้าไปช่วย เราต้องเข้าไปศึกษา แต่ถ้าบอกว่าตึกถล่มแล้วจังหวะที่เราเข้าไปมันล้มทับเรา ถ้าเราคิดอย่างนี้ เราก็ไม่ต้องมีอาชีพนี้

ผมว่าเราต้องกล้าหาญพอที่จะดำรงวิชาชีพของเรา แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกับว่าเมื่อผมได้ยิน คนว่าเราดี เราก็ดีใจ คนว่าเราไม่ดี ก็แล้วแต่คน อยู่ที่ใจเรา หรือถ้าเราดูประวัติศาสตร์ เมื่อเราดูผู้ใหญ่ในช่วงเร็วๆ นี้ ท่านสัญญา ธรรมศักดิ์ และหลายๆ ท่าน อาจารย์ป๋วย หรืออาจารย์พุทธทาส ท่านดำรงสิ่งที่ดีงามตลอด ท่านไม่เคยเรียกร้องว่าเขาจะว่าเราดี ไม่ดี ก็ช่าง ท่านดำรงความดีงามแบบปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ จนตาย สิ่งไหนที่เราทำได้ก็ทำได้ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเรา ก็พร้อมที่จะรับ เราก็มีมือมีเท้า มีสมอง ถ้าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็คนเหมือนกัน สิ่งที่เราทำ ทำในฐานะคนไทย ทำในฐานะวิศวกร ทำในฐานะคนที่มีจิตวิญญาณ

จินดารัตน์ - วันนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาจากคนรอบข้างบ้างไหม

สุพจน์ - ส่วนของผมจะน้อย เพราะท่านประธานเป็นตัวบุก แล้ววิธีทำงาน ท่านเร็วมาก ผมเสนอไปปั๊บ ท่านก็ดึงงานออกมาได้เยอะ พอประชุมครั้งหนึ่งก็มีหลายเรื่อง ท่านก็แยกงานให้ไปทำ แล้วมารายงานในที่ประชุม มันก็โปร่งใส คือพอทำแล้วก็มารายงานในที่ประชุม ที่ประชุมรับทราบ ก็เกิดความเชื่อถือ เชื่อมั่นกัน มันไม่มีว่าคนนั้นไปพูดลับหลัง เวลาประชุมใครว่างก็มา ไม่ได้กีดกัน ไม่ได้ระบุ เจ้าหน้าที่ต้องมีการบันทึกการประชุมทุกครั้ง ไม่มีประชุมนอกรอบ มันทำให้เกิดความเชื่อมั่นในกันและกันในความโปร่งใสในการทำงาน

บรรณวิทย์ - แล้วเวลาเราประชุมกัน คณะกรรมาธิการเราทั้ง 2 คณะ วิสามัญและคมนาคม เราเปิดให้นักข่าวเข้าตลอดเวลา เราโปร่งใสถึงขนาดนักข่าวเข้าได้ตลอด ไม่มีประชุมลับ แล้วอยากจะถามคุณแอนว่าวันนี้เราถูกกล่าวหา แต่เราเป็นฝ่ายรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ผมยกตัวอย่าง เรื่องสามเหลี่ยมพหลโยธิน เราอยู่ฝ่ายให้ประกวดราคา ถ้าประกวดราคาบริษัทประเมินราคา ตีราคาตั้ง 60,000 ล้านขึ้นไป เราอยู่ฝ่ายประกวดราคา ถูกกล่าวหาว่าเรียกรับประโยชน์ แต่ฝ่ายที่บอกว่าต่อเลยๆ ได้มากี่ตังค์ ไม่ถูกกล่าวหา แปลกไหมครับ ผมตื่นขึ้นมาตอนนี้ดูทุกวัน เอ๊ะ ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกหรือเปล่า หรือขึ้นทางทิศตะวันตกกันแน่ โลกมันหมุนกลับหรือเปล่า ก็ยังเซ็งอยู่เหมือนกันนะครับว่า มันเกิดอะไรขึ้น เราถูกกล่าวหาทั้งๆ ที่เป็นผู้รักษาผลประโยชน์ ถามคุณแอนว่าผมอยู่ฝ่ายนี้ทำไมถึงยังถูกกล่าวหา แปลกไหมครับ เป็นอย่างไร

จินดารัตน์ - ท้อใจไหมคะ

บรรณวิทย์ - ไม่ท้อใจครับ เมื่อรับอาสามาแล้ว ต้องทำ ถึงแม้ว่าชีวิตราชการจะมีอันเป็นไป เพราะว่าเรื่องที่ไปตรวจสอบการทุจริต แต่ภูมิใจที่ได้รักษาภาษีอากร รักษาทรัพย์สมบัติของชาติไว้ให้กับพี่น้องชาวไทย มีอันเดียวว่า คนที่เป็นแบบพวกเรามีแยะ แต่ถ้าเราโดนหนักๆ เข้าไปแบบนี้ ท่านเหล่านั้นก็จะไม่ไหว จะไม่มีคนทำ ก็กลายเป็นว่าเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น

จินดารัตน์ - กทม.สายหนึ่งโทรศัพท์เข้ามาบอกว่า เสียดายที่คุณบรรณวิทย์ไม่ได้เลือกให้เป็น ส.ว. ไม่อย่างนั้นเราอาจจะมีนักตรวจสอบอีกคนอยู่ในสภาด้วย

บรรณวิทย์ - เหมือนที่ผมเรียนคุณแอนล่ะครับ มันก็มีข่าวออกมาช่วงนี้พอดี ผมยอมรับนะครับว่าตัวผมเองความสามารถไม่เข้าตากรรมการ จึงไม่ได้รับการคัดเลือก ยอมรับครับ แต่ว่าความสามารถผมอาจจะเข้าตาพี่น้องประชาชนก็ได้ คือ เราดูมวย คนทั้งสนามบอกว่าฝ่ายแดงชนะ แต่กรรมการยกฝ่ายน้ำเงิน ก็ต้องยอมรับครับ วันนี้ยอมรับว่าความสามารถไม่เข้าตากรรมการ ขอให้เข้าตาพี่น้องประชาชนเถอะครับ ทำงานต่อไปครับ

จินดารัตน์ - ถ้าเสร็จจากหน้าที่ตรงนี้แล้ว หมดวาระ สิ้นสุดกันแล้ว ที่ไม่ต้องไปรับผิดชอบ เข้าไปตรวจสอบอีกแล้ว คุณบรรณวิทย์จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร จะเล่นการเมืองไหมคะ

บรรณวิทย์ - ไม่ล่ะครับ เพราะว่าผมไม่มีต้นทุนอย่างคุณแอนว่า เล่นการเมืองต้องมีต้นทุนสูง ผมอายุมาถึงขนาดนี้แล้วไม่ได้เสริมสร้างทางการเมืองมา คงยาก พยายามจะไปเหมือนกันนะครับ เพราะรู้ว่าคนไทยทั้งประเทศต้องสนใจการเมือง มีอยู่ 2 แบบ เราไม่ให้เขาเลือก เราก็ต้องไปเลือกเขา อยู่ฝ่ายไปเลือกเขาแล้วกันครับ ถ้าให้เขาเลือกเรานี่ต้องมีต้นทุนแยะ

จินดารัตน์ - แต่มันมีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งที่คุณบรรณวิทย์เองก็ดูเหมือนมีทีท่าว่าจะไปลง ส.ส.พรรคการเมืองหนึ่ง

บรรณวิทย์ - ไม่มีทีท่าหรอกครับ ไปเลย คิดว่าเอ๊ะ ให้เขาเลือกเรา

จินดารัตน์ - ตอนนั้นคิดอะไรอยู่คะ

บรรณวิทย์ - เพราะว่าเป็นฝ่ายตรวจสอบ ทำงานอย่างไรก็ไม่สัมฤทธิ์ผล เห็นไหมครับ ฝ่ายบริหารไม่ทำ ก็คิดว่าอย่ากระนั้นเลย กระโดดลงมาเป็นฝ่ายบริหารดีกว่า โชคชะตาไม่อำนวยครับ ลาออก เขาไม่อนุมัติ

จินดารัตน์ - ไม่ทัน

บรรณวิทย์ - เขาไม่อนุมัติ ก็ฟ้องร้องกันอยู่ ก็เป็นสิ่งที่ว่าไม่ได้ไปอยู่กับการเมือง เป็นสิ่งที่ผมทำใจ และจะไปทำหลังเกษียณ ก็คือผมจะไปอยู่กับค้าปลีก โชห่วย วันนี้สิ่งที่ผมภูมิใจมากก็คือผมไปต้านค้าปลีกต่างชาติสำเร็จหลายแห่ง เช่นที่ลำนารายณ์ ค้าปลีกต่างชาติ ไม่ใช่เราต่อต้านแบบเต็มที่ ลงไม่ได้ ผมต่อต้าน เช่นในตำบลนี้ไม่ควรจะมี ถ้าลงไปวิถีความเป็นไทยจะเสีย ร้านค้า 400-500 ร้านในตำบล คนที่เคยขายผักขายปลา ผมไปต่อต้านสำเร็จ ลำนารายณ์สำเร็จนะครับ ลำนารายณ์เป็นเพียงตำบล ไปต่อต้านที่ประจวบคีรีขันธ์ สำเร็จ ไปต่อต้านที่ปากช่อง ผมก็จะไปต่อต้านให้กับพี่น้องโชห่วย ว่าไม่ให้ค้าปลีกต่างชาติเอาเปรียบ ในจุดที่วิถีความเป็นไทยจะเสีย และก็จะไปอยู่กับสหภาพที่ผมมีความผูกพันกับเขา เช่น สหภาพรถไฟฯ เรื่องทั้งหมดในคณะกรรมาธิการคมนาคม เขามาร้องเยอะ อันนี้ผมเห็นเลยว่าที่เราไปกล่าวหาสหภาพฯ ว่าขอขึ้นเงินเดือน รถไฟไม่มีนะ ผมก็จะไปอยู่ ไปช่วยเขา และก็จะไปช่วยพี่น้องประชาชนผู้ยากไร้ ขอเป็นประชาชนเต็มขั้น

จินดารัตน์ - วันนี้คุณบรรณวิทย์พูดก็ชัดเจนว่าทำงานตรวจสอบทุจริตกันมา นายก็ไม่เอา เพื่อนก็เกลียด อยากจะฝากบอกอะไรไปถึงเพื่อนไหมคะ

บรรณวิทย์ - ผมคิดนะครับ ผมพูดในที่ประชุมกรรมาธิการ อาจารย์ 2 ท่านคงจำผมได้ ผมพูดว่า ถูกขอมาเยอะเหลือเกิน ผมคงไม่มีเพื่อนจริงๆ แต่หลังจากที่ผมจบหน้าที่ สนช.ไปแล้ว ผมดีใจที่ผมมีเพื่อนที่เป็นคณะกรรมาธิการทั้ง 2 คณะ ประมาณ 70 ท่านที่เป็นพื่อนรักร่วมอุดมการณ์ ที่มาทำงานกันใหม่ ผมคิดว่าผมจะทำงานให้กับประเทศชาติโดยมีทั้ง 60-70 ท่านให้กำลังใจผม ช่วยผม ผมจะเดินไปครับ

จินดารัตน์ - มาดูความเห็นคุณผู้ชมทางบ้านนิดหนึ่งนะคะ จากปัตตานี คดีทุจริตจะสาวถึงนักการเมืองในอดีตได้สักกี่คน ไม่ค่อยมีความหวังสักเท่าไร / กทม.อีกสายหนึ่ง บอกว่า ผมเป็นมัคคุเทศก์ ใช้สนามบินบ่อย ทุกวันนี้ชักโครกยังเสียอยู่หลายห้อง ก๊อกน้ำใช้ไม่ได้อีกมาก อีกทั้งรถเข็นก็แย่มาก ไม่ได้สัดส่วน เข็นแล้วกระเป๋ามักจะร่วงหล่นลงมา นักท่องเที่ยวบ่นมากว่าบ้านยูสร้างใหม่แต่ทำไมของพังเร็วจัง อายต่างชาติมาก / ระยองบอกว่า อยากทราบว่าบริษัทที่รับเหมาออกแบบเป็นใคร / กทม.อีกสายหนึ่งบอกว่า เรื่องที่คุณบรรณวิทย์เสนอฟ้องต้องเอามาตีแผ่ให้รู้อย่างละเอียด / กทม.อีกสายหนึ่ง รัฐบาลปัจจุบันน่าจะรู้ว่าอดีตนายกฯ ทำอะไรไว้มากแค่ไหน น่าจะแก้ไขก่อนจะเสียหายมากกว่านี้ / บึงกุ่ม - เป็นกำลังใจให้ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ หากจะต้องยืนต่อสู้เพียงลำพัง แต่ถ้าสิ่งที่ทำให้ถูกต้องสุดท้ายคนไทยจะเข้าใจเองนะคะ / กทม.อีกสายหนึ่ง เสียดายที่ไม่ได้รับเลือกให้เป็น ส.ว. / ลพบุรี ให้กำลังใจคณะตรวจสอบทุจริตสุวรรณภูมิทุกคน / กทม.-ชื่นชมอาจารย์ทั้ง 3 ท่าน ส่วนตัวชอบ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ อยู่แล้ว แต่กลับมีข่าวด้านลบตลอด ขอให้ผลสุดท้ายจับคนทุจริตได้สักคนก็จะดีมากแล้วล่ะ / กทม.-เสียดายคนทำงานไม่ได้นั่งในสภา แต่คนดีอย่างลูกใครหว่า 2 คน มีสิทธิ์ได้เดินเข้าไปทำงานในทำเนียบฯ ในวันพรุ่งนี้ ขอบคุณทุกสายที่โทรศัพท์เข้ามา ขอบพระคุณทั้ง 3 ท่านเป็นอย่างสูง ขอบคุณค่ะ / ขอบคุณครับ วันนี้ลาไปก่อนนะคะ สวัสดีค่ะ


กำลังโหลดความคิดเห็น