xs
xsm
sm
md
lg

‘Commitment Charge’ เอกสารผิด...หรือร่องรอย ?

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

สัปดาห์ก่อนมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา 4 วันรวดเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบเจรจาและร่างหนังสือสัญญาต่าง ๆ ที่รัฐบาลจะไปเจรจากับต่างประเทศ ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคสอง (ร่างหนังสือสัญญา) และวรรคสาม (กรอบเจรจา) ผมจองคิวอภิปรายด้วยโดยกะจะใช้ในวาระบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาหลังเกิดความวุ่นวายว่าจะประชุมลับหรือประชุมเปิดเผย รัฐบาลได้ตัดสินใจถอนเรื่องออกไปก่อน

จึงหันมาใช้โควตาอภิปรายในวาระร่างสัญญาเงินกู้ 3 รายการที่พบเห็นข้อผิดปกติ

1.ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นสำหรับโครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก และร่างสัญญาค้ำประกันเงินกู้สำหรับโครงการเดียวกัน

2.ร่างสัญญาเงินกู้กับธนาคารพัฒนาเอเชีย สำหรับโครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร

3.ร่างสัญญาเงินกู้กับธนาคารโลก สำหรับโครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร


ทั้ง 3 รายการมีระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ 15 ปี รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 5 ปีเหมือนกัน

อัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ที่เบิกไปใกล้เคียงกัน คือในรายการที่ 1 ประมาณ 0.8 % ต่อไป รายการที่ 2 ประมาณ 0.93 % ต่อปี และรายการที่ 3 ที่ผมเน้นตัวหนาไว้ 0.91 % ต่อปี ไม่มีอะไรผิดสังเกต

แต่ที่ผิดสังเกตจนต้องขออภิปรายซักถามคือ อัตราค่าธรรมเนียมผูกพันเงินกู้ของยอดเงินกู้คงค้างที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Commitment Charge หรือ Commitment Fee หมายถึงแม้ไม่ได้เบิกเงินกู้ไป ก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมนี้สำหรับเงินส่วนที่ยังไม่ได้เบิก

รายการที่ 1 ระบุไว้ว่า 0.1 % ต่อปี รายการที่ 2 สูงขึ้นมาอีกนิด 0.15 % ต่อปี แต่ก็ถือว่าใกล้เคียงกัน

แต่ที่ผิดสังเกตคือรายการที่ 3 ที่กู้จากธนาคารโลกสูงถึง 0.75 % ต่อปี !

ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะสูงเกือบเท่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่เบิกไป คือ 0.91 % ต่อปี และแตกต่างจากเงินกู้ 2 รายการแรกมากเกินไป

ผมอ่านครั้งแรกในเอกสารภาษาไทย 2 – 3 หน้าที่ปะหน้าเอกสารร่างสัญญา

เพื่อความแน่ใจ และจะได้อภิปรายดูดี จึงพลิกอ่านในเอกสารร่างหนังสือสัญญาภาษาอังกฤษข้างหลัง แม้จะไม่เชี่ยวชาญชำนาญภาษาอังกฤษนัก แต่ก็พบได้ไม่ยากในรายการที่ 1 และ 2 แต่ที่น่าแปลกใจคือไม่พบข้อความภาษาอังกฤษในรายการที่ 3

เป็นไปได้ว่าเอกสารสรุปภาษาไทยอาจจะผิด เพราะก็เคยเกิดขึ้นบ้าง ในการประชุมคราวเดียวกันนี้ก็มีการถอนเรื่องบางเรื่องเพราะแปลไทยผิดมาแล้ว

เมื่อถึงคิวอภิปรายผมใช้เวลาไม่ถึง 10 นาทีถามรัฐมนตรีช่วยคลังประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ที่มาเสนอในนามรัฐบาล หวังจะใช้เวลา 10 นาทีที่เหลืออภิปรายต่อเนื่องเมื่อได้คำตอบ แต่ปรากฏว่ารัฐมนตรีไม่ได้ตอบทันที รอจนผู้อภิปรายครบทุกคนแล้วจึงลุกขึ้นตอบ

เป็นไปตามคาดครับ – รัฐมนตรีตอบว่าเป็นเอกสารเก่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ปรับแก้ ที่แท้ในรายการเงินกู้จากธนาคารโลกไม่มี Commitment Charge แล้ว

ผมลุกขึ้นอภิปรายต่อเนื่องว่าคำตอบของท่านมันง่ายเกินไป เงินกู้ 79.30 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 2,616.90 บาท ทำเอกสารผิดมาเสนอรัฐสภาได้อย่างไร หรือถ้าคิดให้มากไปกว่านี้ จะเป็นไปได้ไหมว่าหากรัฐสภาอนุมัติไปโดยไม่มีการทักท้วงแก้ไข ก็เท่ากับอนุมัติให้มี Commitment Charge อัตรา 0.75 % ต่อปีสำหรับเงินกู้รายการนี้ แม้ความเป็นไปได้จะน้อย เพราะในร่างหนังสือสัญญาภาษาอังกฤษไม่มี แต่ก็มีสิทธิคิดได้ใช่ไหม

รัฐมนตรีเสนอขอแก้ไข ตัดข้อความภาษาไทยเรื่อง Commitment Charge ออกไป และรับจะให้สำนักบริหารหนี้สาธารณะส่งเอกสารภาษาไทยที่แก้ไขใหม่มาให้รัฐสภาในวันรุ่งขึ้น

ที่สุดรัฐสภาก็ให้ความเห็นชอบไป !

ผมอภิปรายตบท้ายถึงคุณความดีของมาตรา 190 ที่ทำให้เราเห็นร่างสัญญาต่าง ๆ และหยอดไปว่าน่าเป็นห่วงสำหรับโครงการไทยเข้มแข็งที่เป็นการใช้เงินนอกงบประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท โดยไม่ผ่านรัฐสภา จะมีข้อบกพร่องประเภทแปลผิดเอกสารเก่าแค่ไหนอย่างไร

ผมไม่ได้ลุกไล่เอาเป็นเอาตายเพราะเห็นว่าในร่างสัญญาภาษาอังกฤษไม่มี และรัฐบาลรับไปแก้ไขแล้ว

ถ้าในร่างสัญญามีระบุถึง Commitment Charge 0.75 % คงจะเป็นเรื่องใหญ่

แต่หลังจากนั้น ผมมานั่งคิด และโทรศัพท์ถามผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินหลายคนถึงความเป็นไปได้ว่าทำไมจึงมีการจัดทำเอกสารผิดเช่นนี้ เพราะโดยปกติการสรุปภาษาไทยจะต้องแปลมาจากภาษาอังกฤษ ในเมื่อภาษาอังกฤษไม่มีแล้วภาษาไทยเขียนเป็นตุเป็นตะได้อย่างไร

ซีนาริโอที่ได้คือในการเจรจาเงินกู้ระดับเจ้าหน้าที่ ฝ่ายไทยเป็นคนเสนอเรื่อง Commitment Charge นี้เอง

แต่ธนาคารโลกไม่คิด เพราะระยะหลังเขารณรงค์เรื่องธรรมาภิบาลกันหนัก


นี่ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยไม่รักษาผลประโยชน์ชาติ

ผมยังได้ความรู้เพิ่มเติมมาอีกว่า Commitment Charge นี้ ในวงการการเงินการธนาคารเขาถือว่าเป็นเงินได้ที่ไม่มีต้นทุน เพราะธนาคารยังไม่ได้ให้เบิกจ่ายเงินออกไป ก็ได้มาแล้วสำหรับค่าธรรมเนียมตัวนี้

เงินได้ที่ไม่มีต้นทุนนี้ ธนาคารสามารถตัดยอดให้บุคคลและองค์กรต่าง ๆ ได้

อาจถึงครึ่งต่อครึ่ง !

และสำหรับเงินกู้รายการที่ 3 นี้ เป็นเงินกู้มาสร้างถนน ระยะเวลา 15 ปี โดยปกติเบิกจ่ายเป็นงวด ๆ ตลอดระยะเวลา 15 ปี ไม่ใช่เบิกครั้งสองครั้งในปีสองปีแล้วหมด เพราะฉะนั้นเงินกู้ลักษณะนี้จะมี Commitment Charge มาก ไอ้ดอกเบี้ยเงินกู้ 0.91 % ต่อปีจึงเป็นภาพรวม เพราะในเมื่อมี Commitment Charge สูงถึง 0.75 % ต่อปี เวลาคำนวณเงินที่ประเทศไทยจะต้องเสียไปจึงต้องเอาตัวหลังนี้ไปรวมคำนวณเฉลี่ยด้วย อัตราดอกเบี้ยเงินกู้บวกค่าธรรมเนียมที่ประเทศจะต้องจ่ายจึงเป็น 0.91 + 0.75 % ต่อปี

และในส่วน 0.75 % ต่อปี หากหักออกครึ่งหนึ่งไปให้พวก IB หรืออินเวสเมนต์แบงเกอร์ที่เกี่ยวข้องบางคน ก็เป็นเงินไม่ใช่น้อย

โชคดีที่ธนาคารโลกเขาเล่นเรื่องธรรมาภิบาลหนัก จึงไม่มี Commitment Charge อีกต่อไป

แต่น่าสงสัยเจ้าหน้าที่ไทยที่ไป “ตั้งแท่น” ให้ไว้

ว่าทำกันมาอย่างนี้นานแค่ไหน และ Commitment Charge รายการอื่น ๆ ถูกแบ่งสรรไปให้ใครบ้าง


โชคดีที่มี “ร่องรอย” หลุดออกมาให้สาธารณชนภายนอกรับรู้

โชคดีอย่างยิ่งที่รัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติมาตรา 190 ไว้เข้มข้นเช่นนี้

และโชคดีอย่างยิ่งเช่นกันที่ร่างพ.ร.บ.ขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญา พ.ศ. .... ที่รัฐบาลเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อต้นปีนี้ไม่ผ่าน ต้องถอนออกไป

เพราะรัฐบาลต้องการให้อำนาจการกู้เงินเป็นของกระทรวงการคลังตามพ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ไม่ต้องนำกรอบและร่างหนังสือสัญญามาเสนอต่อรัฐสภา !
กำลังโหลดความคิดเห็น