xs
xsm
sm
md
lg

จีนชวนไทยลงขัน 220 ล้านเหรียญพัฒนาพื้นที่เกษตรรับข้อตกลงจีน-อาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Mr.Li Xing ประธานกรรมการตลาดเฉินก้ง
เชียงราย –ทุนจีนประกาศอ้าแขนรับทุนไทยร่วมทุนเต็มที่ กลุ่ม “เฉินก้ง” เจ้าของตลาดใหญ่หยุนหนัน ตั้งเป้ากระจายพืช-ผัก ส่งทั่วโลก ล่าสุดดึงทุนไทยร่วมลงขัน 220 ล้านดอลลาร์ พัฒนาพื้นที่เกษตรร่วม 500 ไร่รองรับข้อตกลงจีน-อาเซียนที่จะเริ่มขึ้นในปีหน้า (2010) ขณะที่ทุนใหญ่ซือเหมา (ผู่เอ๋อ)เล็งขยายข่ายขนส่งคน-สินค้าครบวงจร

ช่วงระหว่างวันที่ 20-21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้จัดสัมมนาเรื่อง "การสร้างโอกาสทางการค้าแก่ผู้ประกอบการภาคเหนือสู่ตลาดจีนตอนใต้และประเทศเพื่อนบ้าน " ที่ โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์รีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งงานนี้ ได้มีนักธุรกิจรายใหญ่จากมณฑลหยุนหนัน สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งมีนายวิรุณ คำภิโล ประธานหอการค้า จ.เชียงราย กลุ่มนักธุรกิจท้องถิ่นจาก 17 จังหวัดภาคเหนือและนักธุรกิจจากมณฑลหยุนหนัน ให้ความสนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก

Mr.Li Xing ประธานกรรมการตลาดเฉินก้ง มณฑลหยุนหนัน ตลาดผัก-ผลไม้ขนาดใหญ่ของหยุนหนัน ที่เดินทางมาร่วมเสวนาครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า ตลาดเฉินก้ง เกิดจากการรวมตัวของเอกชนหลายรายซึ่งมีนโยบายส่งสินค้าพืชผักและผลไม้กระจายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน โดยมีเมืองคุนหมิง เมืองเอกของหยุนหนัน เป็นศูนย์กลาง เพราะในปัจจุบันเส้นทางคมนาคมจากคุนหมิงไปยังภูมิภาคต่างๆ สะดวกมากขึ้น ทั้งคุนหมิง-กรุงปักกิ่ง ,คุนหมิง-หนานหนิง ,คุนหมิง - กรุงเทพฯ ฯลฯ และมีนโยบายเน้นความคล่องตัว 5 ด้านคือ ความคล่องตัวของบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ การบริหารงาน ข้อมูลข่าวสาร และการเงิน โดยในปี ค.ศ.2009 นี้ บริษัทได้ดำเนินการแผนปรับปรุงกิจการให้มีความทันสมัย และเริ่มพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าเกษตรทั้งของจีนและของไทยแล้วโดยมีเอกชนไทยบางรายเข้าไปร่วมถือหุ้นด้วย

เขาบอกว่า บริษัทก่อตั้งมาได้กว่า 15 ปีแล้ว สร้างตลาดขึ้นมาบนพื้นที่ 260 ไร่ ด้วยเงินทุนประมาณ 300 ล้านหยวน เป้าหมายคือความพยายามกระจายสินค้าเกษตรออกไปให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่ปี ค.ศ.2001 ก็ได้เริ่มมีการพัฒนาโรงงานบนพื้นที่ 5,000 ตารางเมตร มีการเพาะปลูกพืช พัฒนาสายพันธุ์ จัดการแช่แข็ง บรรจุหีบห่อและส่งออก โดยมีพนักงานภายในโรงงานกว่า 185 คน ปัจจุบันยังมีการวิจัยพืชผักใหม่ๆ จนสินค้าของบริษัทกำลังได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในตลาดของจีน ไทย พม่า มาเลเซีย ฯลฯ และเฉพาะประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ.2008 ที่ผ่านมาบริษัทได้ส่งออกพืชผักมาป้อนตลาดกว่า 380 ตัน หลังจากตลอดปี ค.ศ.2005-2009 บริษัทได้พยายามส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนผักและผลไม้ระหว่างไทย-จีน

Mr.Li Xing กล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทมีแผนรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากข้อตกลงอาเซียน-จีน ตั้งแต่ปี ค.ศ.2010 เป็นต้นไป ด้วยการระดมทุนร่วมกับกลุ่มทุนของประเทศไทยจำนวน 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พัฒนาพื้นที่ 445 ไร่ เพื่อผลิตสินค้าเกษตรส่งไปจำหน่ายในตลาดของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง โดยเชื่อมโยงระหว่างไทย-จีน เพื่อกระจายสินค้าในระยะยาวไปทั่วโลก ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้บริษัทจึงอยากจะแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมและสินค้าต่างๆ กับประเทศไทยให้มากขึ้นเพราะทั้งสองประเทศต่างมีสินค้าเกษตรกรรม โดยจีนก็มีพืชผักประเภทหนึ่งที่ส่งออกได้ ขณะที่ไทยมีพืชผลหลากหลาย โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เพื่อจะได้กระจายสินค้าร่วมกันต่อไป

ด้าน Xiao Huiqun รองกรรมการผู้จัดการใหญ่จาก Yunnan Golden Peacock Group เมืองซือเหมาหรือปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองผู่เอ๋อ มณฑลหยุนหนัน กล่าวว่า บริษัทมีกิจการด้านการรับขนส่งสินค้าเป็นหลักและยังมีรถสำหรับการท่องเที่ยวอีกจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันรับขนส่งสินค้าไปยังประเทศไทย พม่า สปป.ลาว และไปจนถึงเวียดนาม โดยผ่านการตรวจสอบจากกรมศุลกากรของจีนแล้ว ทำให้ในปี 2553 เป็นต้นไปก็พร้อมจะผ่านด่านศุลกากรของประเทศต่างๆ ต่อไป

Xiao Huiqun บอกอีกว่า นอกจากนี้บริษัทมีแผนร่วมลงทุนกับเอกชนไทยใน 3 ด้านคือ 1.ด้านการกระจายสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตามถนนสายคุนหมิง-กรุงเทพฯ หรือคุน-มั่ง กงลู่ 2.ด้านการขนส่งโดยบริษัทมีจุดอำนวยความสะดวกในการขนส่งและท่องเที่ยวระหว่างกรุงเทพฯ-คุนหมิง เอาไว้แล้ว 4 จุด 3.ด้านการลงทุนระหว่างประเทศด้วยการเปิดเป็นกิจการใหม่ขึ้นมาโดยแสวงหาข้อมูลใหม่เพื่อการลงทุนต่อไป ทั้งนี้บริษัทมีทรัพยากรด้านเครื่องจักร เครื่องยนต์ รถแช่แข็ง ฯลฯ เอาไว้รองรับอยู่แล้ว

นายวิรุณ คำภิโล ประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่าเชียงรายมีสินค้าที่มีคุณภาพดีมากมาย เช่น ข้าว ชา กาแฟ ฯลฯ ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ ในภาคเหนือก็มีคุณภาพเช่นกัน ดังนั้นโดยพื้นฐานที่เป็นสินค้าด้านการเกษตรแล้วหากได้ประสานความร่วมมือกับตลาดเฉินก้ง ของมณฑลหยุนหนันแล้วก็คงจะทำให้การกระจายสินค้าไปยังตลาดต่างๆ มีความสะดวกมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น