เชียงราย – กระทรวงพาณิชย์เปิดเวทีแจงยิบ แนวทางค้าจีนตอนใต้ ตั้งเป้าเพิ่มยอดส่งออกผ่านชายแดนภาคเหนือเข้าหยุนหนันอีก 10 เท่าในปี 53 หลังมียอดส่งออกแค่ 20 ล้านดอลล์ แถมขาดดุลยับ พร้อมวางแผนปั้นผู้ส่งออกเพิ่มเป็น 2-3 หมื่นรายภายใน 4-5 ปีต่อจากนี้ จากที่มีอยู่ขณะนี้เพียง 1 หมื่นกว่าราย
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า วันนี้ (20 พ.ย.) ผศ.ดร.วีระศักดิ์ จินารัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในการประชุมสัมมนา "โอกาสตลาดสินค้าภาคเหนือสู่ตลาดจีนตอนใต้และประเทศเพื่อนบ้าน" ซึ่งจัดโดยกระทรวงพาณิชย์ ณ ห้องประชุมดอยตุง โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์รีสอร์ท จ.เชียงราย โดยมีผู้ประกอบการค้าจาก 17 จังหวัดภาคเหนือเข้าร่วมจำนวน 200 คน จากจีนตอนใต้จำนวน 13 บริษัท และ สปป.ลาว จำนวน 1 บริษัท
ก่อนประชุมสัมมนานายสุรชัย ลิ้นทอง รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้กล่าวสรุปถึงสถานการณ์การค้าชายแดนด้าน จ.เชียงราย ซึ่งห่างจากเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน จีนตอนใต้ ประมาณ 240 กม. ว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมา เชียงราย มีการค้ากับจีนตอนใต้มูลค่ารวม 3,367.10 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออก 1,974.62 ล้านบาท นำเข้า 1,113.54 ล้านบาท นอกจากนี้มีการค้ากับประเทศพม่า 4,311.49 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออก 4,191.43 ล้านบาท นำเข้า 173.67 ล้านบาท และกับ สปป.ลาว 2,072.26 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออก 1,691.64 ล้านบาท และนำเข้า 380.83 ล้านบาท โดยในภาพรวมมีการค้ารวมกับทุกประเทศจำนวน 9,563.83 ล้านบาท
ด้าน ผศ.ดร.วีระศักดิ์ เปิดเผยว่า ในภาพรวมทั้งประเทศแล้ว ไทยมีการค้ากับจีนปี 2551 ที่ผ่านมามูลค่า 36,436 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็น 10.18% ของการค้าต่างประเทศของไทยทั้งหมด โดยเป็นการส่งออกถึง 16,190 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และนำเข้า 20,156 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในส่วนของมณฑลหยุนหนัน ซึ่งมีการค้ากับเชียงราย อย่างต่อเนื่องพบว่ามีการค้ากับไทย 250 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ แต่ไทยส่งออกไปมณฑลหยุนหนันเพียงแค่ 20 ล้านดอลล่าร์สหรัฐเท่านั้น
เพราะผู้ประกอบการไทย ยังไม่เข้าใจตลาดจีนดีพอ ดังนั้นทางกระทรวงพาณิชย์จึงได้เร่งจัดประชุมสัมมนาเพื่อให้ความรู้กับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องและมากขึ้น โดยครั้งนี้ถือเป็นการจัดการประชุมสัมมนาเป็นครั้งที่ 5 แล้ว
ผศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการยังไม่เข้าใจก็คือตลาดในจีน การจับคู่หรือมีพาสเนอร์ในจีน การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ ความไม่เข้าใจด้านอัตราภาษีศุลกากร ใบขนส่งสินค้าโดยเฉพาะบนถนน R3A เชื่อม อ.เชียงของ จ.เชียงราย ผ่าน สปป.ลาว ไปยังมณฑลหยุนหนัน ซึ่งพบว่าปัจจุบันการขนส่งสินค้าไปยังจีนตอนใต้ยังต้องใช้ใบขนส่งสินค้าเพื่อแสดงให้กับเจ้าหน้าที่จีน แตกต่างจากฝั่งไทยที่อำนวยความสะดวกให้อย่างมาก แต่เนื่องจากตลาดจีนกำลังเติบโตและเป็นตลาดใหญ่ต้องการสินค้ามหาศาล จึงยังมีโอกาสอีกมาก
“ในเวทีนี้ นอกจากจะให้ความรู้แล้ว ยังเป็นการรับฟังอุปสรรคปัญหาเพื่อนำไปประมวลและแก้ไขร่วมกันต่อไปด้วย โดยตั้งเป้าว่าในปี 53 น่าจะทำให้การส่งออกไปหยุนหนัน ซึ่งใกล้ประเทศไทยมากที่สุดเพิ่มเป็น 200 ล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือเพิ่มอีก 10 เท่าตัวได้”
เขาย้ำว่า สินค้าส่งออกของไทยไปจีนยังมีอนาคตอีกมากโดยเฉพาะยางพารา สมุนไพร เครื่องหอม สปา ของใช้ตกแต่งบ้าน ผลไม้สดและแปรรูป ข้าว อาหารแปรรูป เป็นต้น โดยภาคเหนือเห็นว่าผลไม้มีโอกาสมาก แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจในตลาดจีนก็จะมีปัญหา เช่น ตลาดจีนตอนนี้ต้องการกล้วยไข่มาก เพราะปลูกเองไม่ได้และคนจีนก็นิยมกินมาก แต่จะไม่ต้องการกล้วยหอมเพราะปลูกเองได้และคนก็ไม่นิยมบริโภค หรือเครื่องประดับก็ควรออกแบบโดยใช้ภูมิปัญญาของเราแต่ดัดแปลงให้เข้ากับของสิบสองปันนา เป็นต้น
“สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้คือต้องผลิตสินค้าที่ตลาดต้องการไม่ใช่ทำแบบเดิมๆ อีกต่อไป”
สำหรับกระทรวงพาณิชย์ก็จะเร่งให้การช่วยเหลือเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยประชาสัมพันธ์สินค้าไทยผ่านกรมส่งเสริมการส่งออก รวมทั้งให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศบริการเรื่องข้อมูลต่างๆ แก่ผู้ประกอบการ ทำหน้าที่เป็นศูนย์เชื่อมกับกระทรวงพาณิชย์ และเชื่อมไปยังฑูตพาณิชย์ทั้ง 67 แห่งทั่วโลก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ
ผศ.ดร.วีระศักดิ์ บอกอีกว่า เราตั้งเป้าว่าต่อไปนี้จะไม่ให้มีการค้าขายแบบมีความเสี่ยงอีกต่อไป เชื่อว่าเมื่อเดินหน้าเต็มที่จะทำให้ผู้ประกอบการส่งออกซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 10,000 รายในขณะนี้เพิ่มขึ้นภายใน 4-5 ปีข้างหน้าให้ได้ 20,000-30,000 ราย โดยเฉพาะผู้ส่งออกไปยังมณฑลต่างๆ ของจีน ในส่วนของผู้ประกอบการก็ขอให้ปรับตัวโดยต้องไม่ใช่นำสินค้าไปจัดตามงานแฟร์หรืออีเวนท์ต่างๆ แล้วจบกันไป แต่ต้องทำให้การส่งออกมีความต่อเนื่องและมี Business matching หรือคู่ค้าด้วย
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.วีระศักดิ์ แสดงความห่วงใยเรื่องราคาของสินค้าไทย โดยระบุว่าปัจจุบันสินค้าไทยได้เปรียบในเรื่องของคุณภาพโดยได้รับการยอมรับไปทั่วโลก แต่ก็น่าห่วงเรื่องของราคาเพราะมักจะแพงกว่า 10-30% เมื่อเทียบกับสินค้ากลุ่มเดียวกันจากประเทศอื่น ดังนั้นต่อไปนี้จึงต้องส่งเสริมเรื่องการบริหารจัดการด้านราคา เพื่อให้แข่งขันในตลาดได้ จึงขอให้ผู้ประกอบการได้เร่งศึกษาข้อมูลเพื่อลดปัญหาดังกล่าว เช่น การเงิน โลจิสติกส์ ราคา คุณภาพ ฯลฯ
ขณะที่นางเบญจวรรณ รัตนประยูร ที่ปรึกษาพาณิชย์ ได้ให้ข้อมูลการพัฒนาในประเทศจีนซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของจีนในหลายเรื่อง เช่น ปัจจุบันจีนได้ทุ่มงบประมาณพัฒนาชนบทเพื่อให้ทัดเทียมสังคมเมือง เพิ่มรายได้เกษตรกร ธุรกิจขนาดกลางและย่อม ปล่อยเงินกู้ ลดเพดานเงินกู้ เป็นต้น ดังนั้นตลาดจีนจึงมีโอกาสที่จะขยายตัวอีกมาก
นางเบญจวรรณ ย้ำว่า ขอให้ศึกษาเรื่องข้อตกลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ซึ่งจะมีการลดอัตราภาษีสินค้าทุกชนิดเป็น 0% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2553 เป็นต้นไปยกเว้นสินค้าอ่อนไหวบางชนิดแต่ส่วนใหญ่จะเป็น 0% หมด นั่นแสดงว่าต่อจากนี้ถ้าประเทศไทยได้รับอานิสงค์ใดจากจีน ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เช่น เวียดนาม พม่า ฯลฯ ก็จะได้เหมือนกันหมดจึงต้องมีการแข่งขันมากขึ้น หรือแม้แต่กลุ่มความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงหรือ GMS ที่มีการพัฒนาความร่วมมือด้านการพัฒนาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ในการสัมมนาครั้งนี้ ยังจัดให้ผู้ประกอบการตั้งโต๊ะเสวนาในหัวข้อการพัฒนาการค้าการลงทุนไทยบนเส้นทางสายทอง R3A ,จีนตอนใต้:ตลาดศักยภาพและประตูการค้าสู่จีน รวมทั้งกิจกรรม Business Matching ในสินค้าที่กระทรวงพาณิชย์เห็นว่ามีอนาคตในจีนตอนใต้เพื่อให้นักธุรกิจประเทศต่างๆ ได้พบปะหารือกันคือ สปาและผลิตภัณฑ์สปา ผักผลไม้สดและแปรรูป ข้าวอาหารแปรรูป ของใช้ของตกแต่งบ้านและอื่นๆ