xs
xsm
sm
md
lg

หวั่น “อาฟตา” ทำเหล้านอกทะลัก ชวน ปชช.กดดันรัฐตัดสินค้า “น้ำเมา-บุหรี่” ทิ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
“หมอสมาน” เผยอาฟตาทำเหล้านอกทะลักแน่ ต้องใช้ พ.ร.บ.เหล้าจริงจัง ไม่ให้เกิดการลดราคาทำตลาด เชื่อหากภาคประชาสังคมไม่เอาด้วย สามารถใช้มาตรการกดดันรัฐบาล ให้เสนอตัดรายการสินค้าทำลายสุขภาพออกจากข้อตกลงได้ ชี้เรียกร้องมานานแต่รัฐบาลไม่เคยสนใจ กรณีบริษัทเหล้าหนุนกาชาด เตรียมส่งเจ้าหน้าที่คุมเข้มผิดจับแน่

จากกรณีที่ข้อตกลงการค้าเสรีหรืออาฟต้าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2553 ซึ่งจะทำให้ราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเข้ามีราคาถูกลง และอาจทำให้เกิดการทะลักเข้ามาของสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างประเทศ นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ กล่าวว่า การลดภาษีนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีราคาถูก ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายมากกว่าปัจจุบันอย่างแน่นอนและทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากกต่างประเทศทะลักเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำอย่างประเทศ จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นต้น

นพ.สมาน กล่าวว่า การแก้ปัญหาในระยะสั้นเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบมาก คือ ระยะสั้นการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551ให้เป็นไปอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะมาตรา 30 (3) ว่าด้วยการห้ามลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย โดยต้องพิจารณาว่าราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ถูกลงเป็นการเข้าข่ายการลดราคาหรือไม่ และต้องตรวจสอบการแจ้งข้อมูลต้นทุนการผลิตที่ต่ำเกินความเป็นจริงด้วย เช่นเดียวกับกรณีของผลิตภัณฑ์ยาสูบ บริษัท ฟิลิปมอร์ลิส ที่มีการแจ้งต้นทุนราคาต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อให้มีราคาจำหน่ายถูกลง ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการทางกฎหมายเพื่อเอาผิด

นพ.สมาน กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาระยะยาว ไทยจำเป็นต้องทำเรื่องขอยกเว้นให้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ซึ่งเป็นสินค้าที่ทำลายสุขภาพ ให้ออกจากข้อตกลงทางการค้าเสรีอาเซียน โดยจะต้องผลักดันผ่านทางคณะกรรมการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มี พล.ต.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเพื่อทำเป็นข้อเสนอเชิงนโนบายให้รัฐบาลไทยดำเนินการตามข้อเสนอ

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขภายหลังโดยการตัดสินค้าทั้งสองรายการออกจากข้อตกลงทางการค้า ทำได้ยากเพราะไทยอาจถูกประเทศคู่ค้าฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ว่าไทยกีดกันทางการค้าได้

“สินค้ายาสูบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสินค้าที่นานาประเทศไม่ควรส่งเสริมให้มีการจำหน่ายอย่างแพร่หลายเพราะเป็นสินค้าที่มีโทษต่อสุขภาพ และจะเกิดปัญหาสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ ตามมา การทำเอฟทีเอ มีเจตนารมย์ที่ดีที่จะอำนวยความสะดวกทางการค้าให้นานาประเทศ แต่ไม่ได้เหมาะกับสินค้าทุกประเภท อาจเหมาะกับสินค้าทางเกษตรที่ไม่สามารถเก็บได้นาน แต่ไม่เหมาะกับสินค้าที่ทำลายสุขภาพ”นพ.สมาน กล่าว

นพ.สมาน กล่าวว่า ขณะนี้มาตราการทางกฎหมายคงทำได้ยาก แต่สามารถใช้มาตรการทางสังคม เพื่อแสดงให้เห็นได้ว่า ประชาชนไทยไม่ต้องการสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากมีการเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างหนัก ก็อาจเป็นเหตุผลให้รัฐบาลไทย ยื่นขอตัดสินค้าทั้งสองรายการออกจากบัญชีสินค้าได้ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นกระทรวงและเครือข่ายต่อต้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เรียกร้องมานานแล้วว่า ไม่ต้องการให้สินค้าทั้งสองรายการอยู่ในรายการสินค้ายกเว้นภาษี แต่ก็ไม่เคยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาล ทำให้เกิดการลงนามในสัญญาขึ้น และแก้ไขได้ยาก”นพ.สมาน กล่าว

ปิดท้าย นพ.สมาน กล่าวถึงกรณีบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ จะสนับสนุนการจัดงานกาชาดและงานการแข่งขันฟุตบอลที่จ.น่าน ว่า การดำเนินการดังกล่าวเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการใช้สถานที่ราชการจัดงาน เช่น สวนสาธารณะ สนามกีฬา ถือว่าเป็นข้อห้ามตามมาตรา 31 เรื่องสถานที่ห้ามจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยสถานที่ราชการทุกแห่งไม่สามารถจะจัดจุดจำหน่ายหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยเด็ดขาด

ส่วนการจัดการแข่งขันกีฬาหากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นผู้จัดงาน และมีป้าย ตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์ ถือว่าผิดตามมาตรา 32 เรื่องการโฆษณา มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ในระหว่างการจัดงานทั้ง 2 งาน สธ.จะส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มงวด หากพบการกระทำผิดจะดำเนินการตามกฎหมายทันทีไม่มีข้อยกเว้น
กำลังโหลดความคิดเห็น