xs
xsm
sm
md
lg

ทุนใหญ่หยุนหนันเดินเครื่องรับข้อตกลงจีน-อาเซียน/ดึงทุนไทยร่วมทุนขยายข่ายขนคน-สินค้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Mr.Li Xing ประธานกรรมการตลาดเฉินก้ง มณฑลหยุนหนัน ตลาดผัก-ผลไม้ขนาดใหญ่ของหยุนหนัน
เชียงราย – กลุ่มทุนจีนขึ้นเวทีที่เชียงราย ประกาศอ้าแขนรับทุนไทยร่วมทุนเต็มที่ กลุ่ม “เฉินก้ง” เจ้าของตลาดใหญ่หยุนหนัน ตั้งเป้ากระจายพืช-ผัก ส่งทั่วโลก ล่าสุดดึงทุนไทยร่วมลงขัน 220 ล้านดอลลาร์ฯพัฒนาพื้นที่เกษตรร่วม 500 ไร่รองรับข้อตกลงจีน-อาเซียนที่จะเริ่มขึ้นในปีหน้า (2010) ขณะที่ทุนใหญ่ซือเหมา (ผู่เอ๋อ)เล็งขยายข่ายขนส่งคน-สินค้าครบวงจร

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า จากกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ได้จัดสัมมนาเรื่อง "การสร้างโอกาสทางการค้าแก่ผู้ประกอบการภาคเหนือสู่ตลาดจีนตอนใต้และประเทศเพื่อนบ้าน " ระหว่างวันที่ 20-21 พ.ย.52 ณ โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์รีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย นั้น พบว่า ในช่วงการเสวนาในหัวข้อ "การพัฒนาการค้าการลงทุนไทยบนเส้นทางสายทอง R3E" ได้มีนักธุรกิจรายใหญ่จากมณฑลหยุนหนัน ประเทศจีน เข้าร่วมวงเสวนาด้วย รวมทั้งมีนายวิรุณ คำภิโล ประธานหอการค้า จ.เชียงราย -กลุ่มนักธุรกิจท้องถิ่นจาก 17 จังหวัดภาคเหนือและนักธุรกิจจากมณฑลหยุนหนันที่ให้ความสนใจเข้ารับฟังด้วยความสนใจกว่า 200 คน

โดยนายชัชชัย สุวรรณประทีป ที่ปรึกษาผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการเสวนาได้เริ่มเปิดประเด็นด้วยการอธิบายลักษณะภูมิศาสตร์ของประเทศไทย และ จ.เชียงราย ซึ่งเชื่อมไปยังมณฑลหยุนหนัน ด้วยถนน R3E หรือ R3A และสถานการณ์การใช้ประโยชน์เพื่อการค้าระหว่างประเทศผ่านถนนดังกล่าว

พร้อมกับระบุว่า จากการประสานกับภาครัฐและเอกชนในจีนหลายครั้งที่ผ่านมา พบว่าในปัจจุบันภาคเอกชนของจีนมีความพร้อมและศักยภาพในการค้าระหว่างประเทศอย่างมาก ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จึงสนับสนุนให้กลุ่มทุนไทยประสานการทำธุรกิจหรือสร้าง Business Matching ร่วมกัน

ขณะที่ Mr.Li Xing ประธานกรรมการตลาดเฉินก้ง มณฑลหยุนหนัน ตลาดผัก-ผลไม้ขนาดใหญ่ของหยุนหนัน ที่เดินทางมาร่วมเสวนาครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า ตลาดเฉินก้ง เกิดจากการรวมตัวของเอกชนหลายรายซึ่งมีนโยบายส่งสินค้าพืชผักและผลไม้กระจายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน โดยมีเมืองคุนหมิง เมืองเอกของหยุนหนัน เป็นศูนย์กลาง เพราะในปัจจุบันเส้นทางคมนาคมจากคุนหมิงไปยังภูมิภาคต่างๆ สะดวกมากขึ้น ทั้งคุนหมิง-กรุงปักกิ่ง ,คุนหมิง-หนานหนิง ,คุนหมิง - กรุงเทพฯ ฯลฯ และมีนโยบายเน้นความคล่องตัว 5 ด้านคือ ความคล่องตัวของบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ การบริหารงาน ข้อมูลข่าวสาร และการเงิน โดยในปี ค.ศ.2009 นี้ บริษัทได้ดำเนินการแผนปรับปรุงกิจการให้มีความทันสมัย และเริ่มพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าเกษตรของทั้งของจีนและของไทยแล้วโดยมีเอกชนไทยบางรายเข้าไปร่วมถือหุ้นด้วย

เขาบอกว่า บริษัทก่อตั้งมาได้กว่า 15 ปีแล้ว สร้างตลาดขึ้นมาบนพื้นที่ 260 ไร่ ด้วยเงินทุนประมาณ 300 ล้านหยวน เป้าหมายคือความพยายามกระจายสินค้าเกษตรออกไปให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่ปี ค.ศ.2001 ก็ได้เริ่มมีการพัฒนาโรงงานบนพื้นที่ 5,000 ตารางเมตร มีการเพาะปลูกพืช พัฒนาสายพันธุ์ จัดการแช่แข็ง บรรจุหีบห่อและส่งออก โดยมีพนักงานภายในโรงงานกว่า 185 คน ปัจจุบันยังมีการวิจัยพืชผักใหม่ๆ จนสินค้าของบริษัทกำลังได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในตลาดของจีน ไทย พม่า มาเลเซีย ฯลฯ และเฉพาะประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ.2008 ที่ผ่านมาบริษัทได้ส่งออกพืชผักมาป้อนตลาดกว่า 380 ตัน หลังจากตลอดปี ค.ศ.2005-2009 บริษัทได้พยายามส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนผักและผลไม้ระหว่างไทย-จีน

Mr.Li Xing กล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทมีแผนรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากข้อตกลงอาเซียน-จีน ตั้งแต่ปี ค.ศ.2010 เป็นต้นไป ด้วยการระดมทุนร่วมกับกลุ่มทุนของประเทศไทยจำนวน 220 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ พัฒนาพื้นที่ 445 ไร่ เพื่อผลิตสินค้าเกษตรส่งไปจำหน่ายในตลาดของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง โดยเชื่อมโยงระหว่างไทย-จีน เพื่อกระจายสินค้าในระยะยาวไปทั่วโลก ดังนั้นในอนาคตอันใกล้นี้บริษัทจึงอยากจะแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมและสินค้าต่างๆ กับประเทศไทยให้มากขึ้นเพราะทั้งสองประเทศต่างมีสินค้าเกษตรกร โดยจีนก็มีพืชผักประเภทหนึ่งที่ส่งออกได้ขณะที่ไทยมีพืชผลหลากหลาย โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกเพื่อจะได้กระจายสินค้าร่วมกันต่อไป

ด้าน Xiao Huiqun รองกรรมการผู้จัดการใหญ่จาก Yunnan Golden Peacock Group เมืองซือเหมาหรือปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองผู่เอ๋อ มณฑลหยุนหนัน กล่าวว่า บริษัทมีกิจการด้านการรับขนส่งสินค้าเป็นหลักและยังมีรถสำหรับการท่องเที่ยวอีกจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันรับขนส่งสินค้าไปยังประเทศไทย พม่า สปป.ลาว และไปจนถึงเวียดนาม โดยผ่านการตรวจสอบจากกรมศุลกากรของจีนแล้ว ทำให้ในปี 2553 เป็นต้นไปก็พร้อมจะผ่านด่านศุลกากรของประเทศต่างๆ ต่อไป

Xiao Huiqun บอกอีกว่า นอกจากนี้บริษัทมีแผนร่วมลงทุนกับเอกชนไทยใน 3 ด้านคือ 1.ด้านการกระจายสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตามถนนสายคุนหมิง-กรุงเทพฯ หรือคุน-มั่ง กงลู่ 2.ด้านการขนส่งโดยบริษัทมีจุดอำนวยความสะดวกในการขนส่งและท่องเที่ยวระหว่างกรุงเทพฯ-คุนหมิง เอาไว้แล้ว 4 จุด 3.ด้านการลงทุนระหว่างประเทศด้วยการเปิดเป็นกิจการใหม่ขึ้นมาโดยแสวงหาข้อมูลใหม่เพื่อการลงทุนต่อไป ทั้งนี้บริษัทมีทรัพยากรด้านการเครื่องจักร เครื่องยนต์ รถแช่แข็ง ฯลฯ เอาไว้รองรับอยู่แล้ว

ขณะที่ Mr.Yan Hun ประธานหอการค้าเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน หรือ "อ้ายคำ" กล่าวว่า ปัจจุบันโลกพัฒนาไปเร็วมากทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจเร็วขึ้นตามมา ดังนั้นทุกฝ่ายโดยเฉพาะนักธุรกิจใน 17 จังหวัดภาคเหนือของไทยจะอยู่ช้าอีกไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะการค้าภาคเหนือของไทยกับจีนตอนใต้ ดังนั้นขอให้ผู้ประกอบการทุกจังหวัดได้เข้มแข็งและกล้าลงทุน โดยศึกษาข้อมูลเชิงรุก เช่น วิเคราะห์ให้ได้ว่าเหตุใดสินค้าไทยไปจีนจึงทำไม่ได้ แต่เหตุใดสินค้าจีนจึงทะลักลงมาอย่างหนัก เป็นต้น ซึ่งทางผู้ประกอบการควรไปขออนุมัติจากหน่วยงานด้านการขนส่งจากทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ ซึ่งนักธุรกิจทั้งสองฝ่ายสามารถปรึกษาหารือกันได้โดยหอการค้าเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่

Mr.Yan Hun กล่าวอีกว่า กรณีที่มีกระแสเรื่องการค้าขายไทย-จีน ย่านนี้มีการโกงกันและมีนักธุรกิจไทยหลายรายเคยประสบมาแล้วนั้น ตนยืนยันว่าถ้าเป็นนักธุรกิจที่ค้าขายในประเทศจีนจริงๆ จะไม่มีพฤติกรรมเช่นนั้น แต่ที่ไปพบเจออาจจะเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ทำการค้าขายจริงๆ แต่เป็นพวกคนหลอกลวงจึงขอให้นักธุรกิจไทยเข้าใจด้วย

นายวิรุณ คำภิโล ประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่าเชียงรายมีสินค้าที่มีคุณภาพดีมากมาย เช่น ข้าว ชา กาแฟ ฯลฯ ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ ในภาคเหนือก็มีคุณภาพเช่นกัน ดังนั้นโดยพื้นฐานที่เป็นสินค้าด้านการเกษตรแล้วหากได้ประสานความร่วมมือกับตลาดเฉินก้ง ของมณฑลหยุนหนันแล้วก็คงจะทำให้การกระจายสินค้าไปยังตลาดต่างๆ มีความสะดวกมากขึ้น

นายประสาธน์ กิตตินา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และนักธุรกิจที่ อ.เชียงแสน ติดกับท่าเรือในแม่น้ำโขงเชื่อมไทย จีน สปป.ลาว และพม่า สะท้อนความเห็นว่า ปัจจุบันการค้ากับจีนยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขอีกมาก แม้จะมีความคล่องตัวด้านการขนส่งมากขึ้น แต่การส่งออกพืชผักและผลไม้ตามข้อตกลงการค้าเสรีด้วยอัตราภาษีเหลือ 0% หรือ FTA พบว่าสินค้าจีนนำเข้าสู่ประเทศไทยก็จะเสียภาษีตามข้อตกลงดังกล่าว แต่หากสินค้าไทยส่งไปจีนก็จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในระดับมณฑลอีกราว 13-17% นอกจากนี้หากขนส่งสินค้าข้ามไปอีกมณฑลหนึ่งก็ต้องเสียภาษีใหม่อีกครั้งหนึ่งด้วย

“แต่ละมณฑลของจีน มีกฎหมายของตนเองอีก ทำให้สินค้าจากไทยเข้าไปทำตลาดได้ลำบากมาก เช่นเดียวกับการขนส่งสินค้าผ่านแขวงต่างๆ ของ สปป.ลาว ที่มีกฎหมายย่อยแตกต่างกันออกไปอีก” นายประสาธน์ กล่าวและว่า ด้วยปัญหาดังกล่าวตนเชื่อว่าในอนาคตสินค้าจีนที่ส่งออกมาได้ง่ายกว่าจะทะลักและมาคับคั่งอยู่ภายในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ Kings Romans of Laos ASEAN economic & tourism development zone ซึ่งกลุ่มดอกงิ้วคำของจีนเข้าไปลงทุนบนเนื้อที่ 5,168.75 ไร่ที่เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตรงกันข้าม อ.เชียงแสน ของไทยเป็นระยะเวลา 75 ปี

เพราะโครงการมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการกระจายสินค้าไว้แล้ว โดยนอกจากจะมีการก่อสร้างเป็นบ่อนคาสิโน โรงแรม ท่าเรือ ฯลฯ แล้วยังมีโครงการก่อสร้างเขตกระจายสินค้า ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการก่อสร้างเป็นอาคารที่แบ่งให้เช่าเป็นห้องๆ แล้ว แต่ช่วงต้นยังมีค่าเช่าแพงคือ ห้องละกว่า 5,000 บาทต่อเดือน และคาดว่าในอนาคตจะมีจุดให้เช่าและกระจายสินค้าเพิ่มขึ้นอีกมากภายในโครงการนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น