xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแนวถนนใหม่เชียงรายชนชายแดนรถไฟได้งบดันเด่นชัย-ชร.รับค้าลุ่มน้ำโขง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – รถไฟไทยได้งบทำ EIA สายเด่นชัย-เชียงรายใหม่อีกรอบ หลังเพียรผลักดันแจ้งเกิดโครงการกันตั้งแต่ปี 38 ขณะที่คมนาคมทุ่มนับหมื่นล้านปรับถนนเชียงรายชนชายแดน เชื่อมท่าเรือเชียงแสน 2-สะพานข้ามโขง 4 รองรับการค้า-การลงทุนลุ่มน้ำโขง

นายรังสรรค์ สุขชัยรังสรรค์ รองผู้อำนวยการแขวงการทางเชียงรายที่ 1 เปิดเผย "ASTVผู้จัดการรายวัน" ว่ากระทรวงคมนาคมมีโครงการก่อสร้างถนน เพื่อสนับสนุนท่าเรือเชียงแสน 2 และสะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อมเชียงของ-แขวงบ่อแก้ว และถนน R3a อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีโครงการทางหลวงเชื่อมเชียงใหม่-เชียงราย ด้วย

โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการและรองบประมาณเพิ่มเติม ได้แก่ โครงการทางหลวงหมายเลข 1020 สายเชียงราย-เชียงของ ปัจจุบันได้ดำเนินการตอนที่ 1 แล้ว ตั้งแต่พื้นที่เชียงของ ลงมา ระยะทาง 11.1 กิโลเมตร(กม.)มีสัญญาก่อสร้างระหว่างวันที่ 9 กันยายน 2552-31 พฤษภาคม2554 งบประมาณ 320 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการระยะที่ 2 อีก 18.9 กม. ด้วยงบประมาณ 664 ล้านบาท ขณะนี้กำลังรอการลงนามในสัญญาการก่อสร้างอยู่ ซึ่งโครงการนี้จะเชื่อมระหว่าง อ.เมืองเชียงราย-สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 โดยตรง

นายรังสรรค์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีถนนเชื่อมไปยังท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสน 2 บนทางหลวงหมายเลข 1016 สาย อ.แม่จัน - อ.เชียงแสน โดยอยู่ระหว่างก่อสร้างตอนที่ 1 ระยะทาง 19.2 กม. มีสัญญาก่อสร้างกับเอกชนระหว่างวันที่ 7 ตุลาคม 2552-26 กันยายน2554 ด้วยงบประมาณ 630 ล้านบาท รวมทั้งยังมีโครงการตอนที่ 2 อีกประมาณ 16.40 กม. ซึ่งรองบประมาณอีก 540 ล้านบาท

โครงการถนนสาย อ.แม่สาย - อ.เชียงแสน เลาะตะเข็บชายแดนไทย-พม่า และไทย-สปป.ลาว บนทางหลวงหมายเลข 1290 ตอนที่ 1 ระยะทาง 30.6 กม. ระยะสัญญาก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552-21 สิงหาคม2554 รวมทั้งยังเหลือระยะทางตอนที่ 2 อีก 8 กม. ซึ่งกำลังรองบประมาณอยู่อีก 300 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการก่อสร้างเส้นทางอื่นๆ ที่บรรจุอยู่ในแผนแล้ว ได้แก่ การก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองเชียงราย เพื่อลดความแออัดของถนนพหลโยธินในเขต อ.เมือง ซึ่งตามแผนจะทำเส้นทางเลี่ยงจากพื้นที่ ต.สันทราย อ.เมือง อ้อมไปทางทิศตะวันตกเพื่อกลับเข้าสู่ถนนพหลโยธินอีกครั้ง ที่ ต.ท่าสุด อ.เมือง รวมระยะทางประมาณ 28 กม. งบประมาณ 900 ล้านบาท และโครงการขยายทางหลวงหมายเลข 1129 เชื่อมระหว่าง อ.เชียงแสน-เชียงของ เลาะแม่น้ำโขงระยะทางประมาณ 59 กม. จาก 2ช่องจราจรเป็น 4ช่องจราจร งบ 995 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาเพื่อก่อสร้างถนนสายเชียงราย-เชียงของ จาก อ.เมือง ผ่านไปทาง อ.ขุนตาล-เชียงของ ซึ่งจะได้ผลสรุปเพื่อหาแบบก่อสร้างที่ชัดเจนในเดือนมกราคม 2553 อีกด้วย

นายรังสรรค์ ยังบอกอีกว่า ไม่เพียงเท่านั้นกรมฯยังมีโครงการปรับปรุงถนนสาย 118 เชื่อมเชียงราย-เชียงใหม่ ระยะทาง 179 กม. โดยเป็นการปรับปรุงจาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจรประมาณ 62 กม.และปรับปรุง 2 ช่องจราจรอีก 117 กม. ด้วยงบประมาณรวมทั้งหมด 3,500 ล้านบาท โดยช่วงระยะเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด จะปรับปรุงให้เป็น 4 ช่องจราจร และจากดอยสะเก็ด-บ้านแม่เจดีย์ อ.เวียงป่าเป้า ปรับปรุง 2 ช่องจราจรเป็นระยะทาง 50 กม. ด้วยงบประมาณ 1,300 ล้านบาท จาก ต.แม่เจดีย์-อ.เวียงป่าเป้า ขยายเป็น 4 ช่องจราจรระยะทาง 25 กม. และจาก อ.เวียงป่าเป้า ขึ้นไปอีกประมาณ 67 กม. ขยาย 2 ช่องจราจรด้วยงบประมาณ 2,200 ล้านบาท

เขาย้ำว่า โครงการทั้งหมดส่วนใหญ่จะแล้วเสร็จในปี 2555 ขณะที่ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนไทย-สปป.ลาว-จีน ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการเจรจา ดังนั้น เพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ จึงจำเป็นต้องเร่งเจรจาเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการขนส่งระหว่างประเทศตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ด้วย

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า นอกจากการพัฒนาถนนดังกล่าวแล้ว ในด้านการพัฒนาเส้นทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก็มีความคืบหน้าเช่นกัน โดยนายภิญโญ จันทร์มหา ผู้อำนวยการศูนย์วางแผนและพัฒนาโครงการฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง ร.ฟ.ท.เปิดเผยว่า ล่าสุด ร.ฟ.ท.ได้รับอนุมัติงบประมาณปี 2553 จากโครงการไทยเข้มแข็ง 80 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงแบบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม( EIA )และศึกษาความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่งแล้ว โดยจะเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบรถไฟขนาดรางมาตรฐานกว้าง 1.435 เมตร จากนั้นจะขออนุมัติงบประมาณปี 2554 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อเตรียมการก่อสร้างต่อไป

หลังจากโครงการเส้นทางรถไฟเด่นชัย - เชียงราย ได้ศึกษาความเหมาะสมเสร็จตั้งแต่ มิถุนายน2538 และออกแบบเสร็จเมื่อเดือน มิถุนายน 2541 และขออนุมัติก่อสร้าง สิงหาคม 2544 แต่ ครม.เห็นว่าต้องลงทุนกว่า 24,161 ล้านบาท และเป็นห่วงเรื่องการขาดทุนรวมทั้งต้องผ่านลุ่มน้ำชั้น 1 เอ และเจาะอุโมงค์ผ่านภูเขากว่า 3,980 เมตร จึงให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง

กระทั่งถึงเดือน ตุลาคม 2552 ร.ฟ.ท.ได้ศึกษาทบทวนพบว่า มีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจจึงควรก่อสร้างโดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือระยะแรกจากเด่นชัย-เชียงราย ระยะทาง 246 กม. ระยะที่ 2 จากเชียงราย-สถานีบ้านสันยาว ระยะทาง 40 กม. จากนั้นเบนขึ้นทิศเหนือไปบรรจบกับท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 อีกประมาณ 20 กม. เพื่อรับส่งสินค้าจากท่าเรือเข้าสู่ระบบราง ระยะที่ 3 จากบ้านสันยาว - อ.เชียงของ เพื่อไปยังสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ประมาณ 40 กม. เพื่อเชื่อมกับทางรถไฟใน สปป.ลาวที่จะเชื่อมโยงจีนตอนใต้ต่อไป

ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.ได้ขออนุมัติงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ในการว่าจ้างที่ปรึกษาให้ทำการศึกษาทบทวนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และความเหมาะสมทางเศรษฐกิจใหม่ โดยพิจารณารวมการขยายไปถึง อ.เชียงแสน เชียงของ และจีนตอนใต้ รวมทั้งขออนุมัติผ่อนผันมติ ครม.ที่ห้ามใช้ประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ ส.ป.ก.ฯลฯ

สำหรับท่าเรือในแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 ที่หมู่บ้านสบกก อ.เชียงแสน มีเนื้อที่ 402 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา ปัจจุบันก่อสร้างด้วยวงเงิน 1,546,400,000 ล้านบาท กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีได้ว่าจ้างบริษัทพอร์ท แอนด์ มารีน คอร์ปอเรชั่น (พี.เอ.เอ็ม) จำกัด ตามสัญญาเลขที่ 52/2552/พค.ลงวันที่ 12 พฤษภาคม2552 ให้การทำก่อสร้างตามสัญญา 960 วัน ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2552-28 ธันวาคม2554 รูปแบบเป็นท่าเรือย่อยรวม 5 จุดพร้อมอาคารสถานที่และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน

ส่วนโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงของ กรมทางหลวงกำหนดให้มีการประกวดราคาในวันที่ 7 มกราคม2553 เพื่อคัดสรรเอกชนทำการก่อสร้างด้วยงบประมาณ 1,566 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 30 เดือนคาดว่าจะตกเสาเข็มได้กลางปี 2553
กำลังโหลดความคิดเห็น