xs
xsm
sm
md
lg

สอนให้ทำ นำให้คิด

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

มีข่าวดีจากกระทรวงศึกษาธิการว่า จะมีการปรับปรุงหลักสูตร ตัดวิชาที่ซ้ำซ้อนลง และให้เวลากับการที่นักเรียนสามารถไปทำกิจกรรมนอกห้องเรียนได้มากขึ้น นอกจากนั้นยังจะมีการเน้นให้เด็กรู้จักคิด และวิเคราะห์เป็นอีกด้วย

หลักสูตรของเราเน้นการเรียนในห้องเรียนมากจนเกินไป เด็กต้องฟังและจดมากกว่าที่จะเรียนรู้ผ่านการทำ ต่างกับการเรียนในวิชาที่เป็นอาชีพอย่างเช่น การโรงแรม นักเรียนต้องไปทำงานทุกอย่างในโรงแรมปีละ 6 เดือน โดยมีการสอนในโรงเรียนเพียง 6 เดือนเท่านั้น

การเรียนดนตรี และการเล่นกีฬาก็เช่นกัน ผู้เล่นจะต้องฝึกซ้อมเป็นส่วนใหญ่ มีการเรียนทฤษฎีน้อยมาก แต่ทางวิชาการนั้นกินเวลาไปมาก ทำให้ไม่มีเวลาสำหรับการจัดกิจกรรม และการบรรจุวิชาใหม่ๆ เช่น ทักษะการคิดไว้

การบอกให้ครูและโรงเรียน หันมาทำกิจกรรมมากขึ้นนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะการจัดกิจกรรมต้องใช้เงิน และเวลา ที่สำคัญก็คือ การเลือกกิจกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการเรียนรู้ สำหรับโรงเรียนที่ไม่ค่อยมีเงิน การจัดกิจกรรมต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ที่ไม่ห่างไกลโรงเรียนมากนัก จะได้ประหยัดค่าเดินทาง และหากใช้เวลาหลายวันก็ต้องเสียค่าที่พัก และค่าอาหารเพิ่มขึ้น

ในเมืองไทยเรามีสถานที่ที่สามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้มากมาย และมีผู้รู้อยู่เต็มไปหมด หากเราคิดว่าผู้ซึ่งเป็นชาวบ้าน แต่รู้อะไรแยะก็สามารถเป็นครูได้ เด็กก็จะได้ความรู้อีกแยะ

ตอนผมจัดกิจกรรมให้เด็กที่วชิราวุธ ผมมีเป้าหมายให้เด็กได้สัมผัสกับชีวิตชนบท และปลูกฝังให้รักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้วย กิจกรรมที่จัดเป็นเวลา 5 วัน ต้องเดินทางไปในท้องถิ่นในภาคอีสาน ได้ไปนอนกับชาวบ้านหนึ่งเดือน ไปเยี่ยมและเรียนรู้การปลูกผักแบบไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และไปดูแหล่งไม้กลายเป็นหิน ตลอดจนการฟื้นฟูป่าที่มีกระทิง นอกจากนั้นก็ไปดูโบราณสถานด้วย

สิ่งที่ครูควรเตรียมการไว้ก็คือ การทำแผนที่แหล่งเรียนรู้ และผู้รู้ แล้วจึงจัดกิจกรรม ในระยะแรกอาจทำเพียง 1-2 วัน หรือภายในวันเดียวก็ได้ อย่าไปห่วงเรื่องจะสอนไม่ทัน เด็กๆ จะได้ประโยชน์จากการสังเกต พูดคุย และจดบันทึกหลังจากกลับมาแล้ว

กิจกรรมอีกประเภทหนึ่งก็คือ การศึกษาปัญหาและความเดือดร้อนของกลุ่มต่างๆ เด็กๆ วชิราวุธได้สัมผัสกับชาวบ้านเขื่อนปากมูล ชุมชนหลังป้อมที่หน้าเฉลิมไทย การเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ ควรเป็นกิจกรรมสำคัญของวิชาสังคมศึกษา แทนที่จะเป็นการบรรยาย และการท่องจำ

อุปกรณ์ประกอบกิจกรรม เช่น ข่าวจากหนังสือพิมพ์ รายงานการศึกษาวิจัย วิดีโอ ก็ควรมีเอาไว้เพื่อการศึกษาก่อนการลงพื้นที่

การให้เด็กได้เรียนรู้นอกห้องเรียนนี้ ปรากฏว่าเป็นประสบการณ์ที่ประทับใจเด็กไปนาน แม้ตอนเด็กเขายังอาจไม่เข้าใจปัญหาสังคมที่ซับซ้อนได้ แต่ก็เป็นแรงกระตุ้นให้เขาใฝ่รู้เมื่อเรียนระดับมหาวิทยาลัยแล้ว

สำหรับการคิดและวิเคราะห์นั้น ผมได้ให้ความเห็นไว้หลายครั้งแล้วว่า จะต้องมีการสอน ทักษะการคิด ไม่ใช่บอกให้เด็กคิดเฉยๆ ทักษะการคิดต้องมีคู่มือให้ครูได้เรียนรู้ก่อน

เวลานี้สิงคโปร์ไปไกลมาก เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เขานำเอาเรื่อง Future Problem Solving เข้าไปสอนในโรงเรียนไล่เลี่ยกับการที่ผมนำเอาเรื่องนี้มาใช้ที่วชิราวุธ เดี๋ยวนี้เด็กสิงคโปร์ไปแข่งขันได้เป็นแชมป์โลก ส่วนเราก็เก่งทางโอลิมปิกวิชาการ วิชาเคมี ฟิสิกส์ ผมเห็นว่าเราควรใส่ใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น

เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว คุณหญิงกษมา วรวรรณ ก็ได้ส่งเสริมให้โรงเรียนในสังกัด สพฐ ทำเรื่องดังกล่าวนี้ เวลานี้ทาง อบจ.และเทศบาลอุดรธานี และ อบจ.เชียงรายก็ให้ความสนใจ มีโรงเรียนอื่นๆ ไปดูงานหลายโรงเรียนแล้ว

ผมคิดว่า เรามาถูกทางแล้ว ที่ให้มีการเพิ่มกิจกรรมการเรียนนอกห้องเรียน และการสอนเรื่องการคิดเข้าไปไว้ในหลักสูตร โดยลดวิชาที่ซ้ำซ้อนลง

ชีวิตคนเราอยู่ในโรงเรียนมากเกินไป และนานเกินไป จึงมีคำพูดที่ว่า เด็กๆ ถูกขังอยู่ในโรงเรียน

หากเราลองสังเกตดูจะเห็นว่า ผู้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจหลายคน เรียนรู้จากโรงเรียนน้อย แต่ได้จากประสบการณ์ และการทำงานมากกว่า คนเหล่านี้ไม่มีความรู้ทางวิชาการ แต่สิ่งที่เขารู้เกิดจากการทำ การปฏิบัติจริง สมดังที่พระท่านว่า “ปฏิบัติสำคัญกว่า ปริยัติ”

ผมมีเพื่อนคนหนึ่งชื่อ พิสิษฐ์ ณ พัทลุง เขาชอบมุดรั้วโรงเรียนหนีไปเล่น ดูสัตว์ที่เขาดิน อยู่ในโรงเรียนก็ชอบจับจิ้งหรีด จับงู จับปลา พอโตขึ้นไปทำงานบริษัท IBM แต่ไปๆ มาๆ ก็มาเป็นผู้อำนวยการสวนสัตว์ และทำได้ดี เขามีความรู้เรื่องสัตว์มาก ไม่ใช่จากการอ่านหนังสือ แต่จากการเลี้ยงสัตว์

ยังไม่สายเกินไปที่เราจะปฏิรูปการศึกษาเสียใหม่ โดยเน้นการเรียนรู้จากการทำ เหมือนอย่างที่ครูสมัยก่อนเคยพูดว่า “ สอนให้ทำ นำให้คิด” นี่แหละคือคติพจน์ของครู และควรถือเป็นเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษารอบสองด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น