xs
xsm
sm
md
lg

“พรหมสวัสดิ์” สั่งเข้มระบบคัดเลือกเข้าศึกษา หวังเด็กได้เรียนตรงความสนใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)
“พรหมสวัสดิ์” มอบนโยบายให้ผู้บริหารอาชีวะทั่วประเทศ ปรับเปลี่ยนบทบาทเพื่อไปสู่อาชีวะ 19 สถาบัน ย้ำให้ดูระบบเลือกนักศึกษาเข้าศึกษา หวังเด็กเรียนตรงตามต้องการ

นายพรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ประชุมมอบนโยบายการบริหารจัดการอาชีวศึกษาและแนวทางการเลือกตั้งคณะกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใน ก.ค.ศ.ผ่าน ETV ว่า เพื่อสื่อสารถึงผู้บริหารทั่วประเทศได้รับทราบยุทธศาสตร์ มาตรการ นโยบายของอาชีวศึกษา ในทศวรรษที่ 2 ของการปฏิรูปการศึกษา จึงขอย้ำให้ทุกท่าน ร่วมมือร่วมใจกันทำให้ประชาชนคนไทยได้รับการศึกษาตลอดชีวิต อย่างมีคุณภาพ โดยยึดหลักนโยบายของ ศธ.ที่เน้น 3 ด้าน คือ 1.คุณภาพ มาตรฐานการศึกษา 2. โอกาสทางการศึกษา และ 3. การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่จะช่วยกันจัดการศึกษา โดยมีมาตรการ 3 มาตรการ คือ ในเรื่อง 3 ดี ได้แก่ ประชาธิปไตย คุณธรรม และระวัง ป้องกันไม่ให้นักเรียน นักศึกษา ติดยาเสพติด


นอกจากนี้ ต้องปรับการคิดใหม่ให้เกิด 4 ด้าน คือ 1. นักศึกษาจะต้องแข่งขันกับทั่วโลก 2.ครูใหม่จะต้องเปลี่ยนวิธีการสอนให้นักศึกษาเข้าใจและสามารถวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมออกสู่สังคม 3.ผู้บริหารใหม่ จะต้องบริหารจัดการให้มีคุณภาพ 4.สถานศึกษาใหม่ ต้องเตรียมให้สถานศึกษามีความพร้อมทุกด้าน ไม่ว่าอาคาร สื่อ อุปกรณ์การเรียนการสอน โรงฝึกงาน สิ่งแวดล้อม

นายพรหมสวัสดิ์กล่าวว่า อยากให้สถานศึกษาทั้ง 415 แห่งทบทวนบทบาทของตนเอง ซึ่งอนาคตอันใกล้นี้จะมีการปรับเปลี่ยนไปสู่สถาบันการอาชีวศึกษา 19 แห่ง อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นอาชีวศึกษาทั้งหมดสามารถแบ่งออกเป็น 12 ลักษณะ คือ 1.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 2.วิทยาลัยเทคนิค 3.วิทยาลัยอาชีวศึกษา 4.วิทยาลัยสารพัดช่าง 5.วิทยาลัยการอาชีพ ซึ่งหลายแห่งเปลี่ยนชื่อให้เหมาะกับสมัยนิยม เป็น วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ 6.มีวิทยาลัยเฉพาะทาง เช่น วิทยาลัยการต่อเรือ ทอผ้า ศิลปะหัตถกรรม ประมง กาญจนภิเษก

“วิทยาลัยแต่ละแห่งจะมีความโดดเด่นต่างกันออกไป จึงอยากให้ทบทวนบทบาทเพื่อให้เกิดศักยภาพสูงสุดต่อประชาชน เช่น วิทยาลัยเกษตร จะต้องมุ่งเน้นพัฒนาการเกษตรเป็นหลัก บางแห่งมีการสอนนอกภาคเกษตรด้วย ดูสัดส่วนครูต่อจำนวนนักศึกษา ระบบสอนเกษตรกรซึ่งไม่จำเป็นต้องสอนนักเรียนที่จบ ม.3 อาจออกไปฝึกอบรมให้เกษตรกร แล้วเทียบให้เขาได้วุฒิ ปวช. ปวส.”


นายพรหมสวัสดิ์กล่าวถึงการรับนักศึกษาว่า ให้ทุกแห่งไปดูว่าจะมีระบบคัดกรองอย่างไรถึงจะเหมาะสม แนะแนวอย่างไรถึงจะให้นักศึกษามาเรียนได้ตรงกับสิ่งที่นักศึกษาต้องการ ส่วนงบไทยเข้มแข็ง โดยจะนำมาใช้พัฒนาบุคลากร โดยมีทุนปริญญาเอก 80 ทุน ปริญญา 700-800 ทุน เพื่อเร่งให้ สอศ.นั้น ได้ไปถึงเป้าหมายได้ไวขึ้น

นายพรหมสวัสดิ์กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการจะมุ่งเน้นคุณภาพเป็นหลัก ปี 2553 จะมีการทดสอบ v-net เน้นวิชาสำคัญ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ในลักษณะประยุกต์ให้สอดคล้องกับวิชาชีพ เมื่อเด็กเรียนจบแต่ละระดับนักศึกษาจะต้องทดสอบคุณวุฒิวิชาชีพ ดังนั้น สถานศึกษาทุกแห่งต้องเตรียมความพร้อมเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้จะเร่งรัดจัดตั้ง 19 สถาบันโดยเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

จากนั้น นายพรหมสวัสดิ์กล่าวถึงการเลือกผู้แทนครูว่า ผู้แทนครูที่เลือกจะมีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดบรรจุแต่งตั้ง เลื่อนวิทยฐานะ การพัฒนาครู รับเรื่องร้องทุกข์ ดูเรื่องวินัยการปฏิบัติหน้าที่ของครู ดังนั้น อยากให้เลือกเลือกผู้แทนครูที่เหมาะสม ไปเป็นตัวแทนใน ก.ค.ศ.


กำลังโหลดความคิดเห็น