รับตำแหน่งเลขาฯ กพฐ.วันแรก “ชินภัทร” พร้อมเร่งผลักดันโครงการ SP2 จัดซื้อครุภัณฑ์ คอมพิวเตอร์ ต้องโปร่งใส แย้มส่งทีมตามดูจัดซื้อจัดจ้าง เดินหน้ายกระดับคุณภาพการสอนเน้นโอกาสการเรียนรู้ ควบคู่กิจกรรม ให้โรงเรียนมีอิสระในการบริหารจัดการ เพื่อความคล่องตัว พัฒนาสื่อ ต่อยอดเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม
วันนี้ (8 ธ.ค.) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเข้ารับตำแหน่งใหม่เป็นวันแรกว่า งานที่จะต้องเร่งผลักดันเป็นลำดับแรกคือ การดำเนินการตามโครงการปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง (SP2) โดยเฉพาะเรื่องการจัดหาครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และซอฟแวร์ต่างๆ รวมทั้งครุภัณฑ์ห้องวิทยาศาสตร์ ที่ต้องมีการกำหนดสเปก ซึ่งต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยจะต้องปฏิบัติด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส และสมประโยชน์ ทั้งนี้สำหรับเรื่องการโอนงบประมาณเพื่อดำเนินการนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็กำลังจัดทำปฏิทินการดำเนินการ และจะส่งทีมงานลงพื้นที่ลาดตระเวนสอดส่องดูแลการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปด้วยความโปร่งใสด้วย
นายชินภัทรกล่าวต่อว่า นอกจากนี้จะเดินหน้ายกระดับคุณภาพการเรียนการสอน โดยจะนำความคิดเห็นจากการประชุมเชิงนโยบายเพื่อระดมความคิด เรื่อง “การพัฒนาการศึกษาทั้งระบบเพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนไทย” มาพิจารณา ซึ่งมีความชัดเจนว่าต้องปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในทุกช่วงชั้น โดยจะต้องกลับมาทบทวนว่ามีเรื่องใดบ้างที่มีความซ้ำซ้อน อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เคยเสนอต่อที่ประชุม กพฐ.ว่า เด็กควรมีโอกาสได้เรียนรู้ และทำกิจกรรมต่างๆ ควบคู่กันไป ซึ่งการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องหาในห้องเรียนเท่านั้น และหลักสูตรต้องมีความกระชับ โดยต้องมีการบูรณาการ และกำหนดคุณลักษณะให้ชัดเจน ซึ่งตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่การจัดทำแบบทดสอบ และการประเมินผล ซึ่งหากมีการเชื่อมโยงกันมั่นใจว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กจะดีขึ้น
“จะเน้นเรื่องพัฒนาครูทั้งระบบ โดยจะหารือร่วมกับเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งอาจต้องใช้วิธีผสมผสานกันระหว่างการฝึกอบรม การประชุมสัมมนา และการฝึกอบรมแบบออนไลน์ โดยจะต้องขยายผลให้มากขึ้น ขณะเดียวกันเรื่องการบริหารจัดการจะมุ่งเน้นให้โรงเรียนมีความเป็นอิสระ และมีความคล่องตัวมากขึ้น นอกจากนี้จะเน้นพัฒนาสื่อการเรียนการสอน โดยจะขยายผลโครงการจัดการศึกษาด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี โดยจะมีการติดตามการดำเนินการโครงการดังกล่าวที่มีการใช้สื่อนี้ไปแล้วในโรงเรียน 4,000 กว่าโรงให้มีความเข้มข้นและจริงจังมากขึ้น และให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นพี่เลี้ยงให้โรงเรียนแต่ละโรงจะต้องมีแผนการใช้สื่อในการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มคุณภาพเป็นรายโรง โดยในปี 2553 จะขยายเพิ่มอีก 5,000 โรง และจะเพิ่มรายวิชาสอนมากขึ้นจากเดิมวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ก็จะเพิ่มวิชาภาษาไทย และสังคมศึกษา รวมทั้งจะขยายการสอนไปยังช่วงชั้นที่ 1 และ 2 ด้วย ส่วนช่วงชั้นที่ 4 จะใช้ลักษณะการสอนในรูปแบบเดียวกับติวเตอร์ชาเนล ซึ่งจะมีการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กก่อนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วย” เลขาฯ กพฐ.กล่าว