“จุรินทร์” ลั่นเดินเครื่องปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สอง รัฐทุ่มงบฯ พัฒนาการศึกษา 3.87 ของจีดีพี เผยเจรจาขอสื่อต้นแบบต่างชาติมาแปลเป็นภาษาไทยเพื่อสอนเด็ก พร้อมไฟเขียวสื่อที่จำเป็นต้องซื้อ
วันนี้ (28 ต.ค.) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานเปิดงาน “เวิลด์ไดแด็กเอเชีย 2009” (World DIDAC 2009) และการประชุมผู้นำด้านการศึกษาเอเชีย ครั้งที่ 3 เพื่อแสดงวิทยาการล่าสุดด้านสื่อการเรียนการสอน และเป็นเวทีวิสัยทัศน์ของผู้นำในวงการศึกษาจากทั่วโลก ระหว่างวันที่ 28-30 ต.ค. กล่าวตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง โดยจะใช้เวลาอีก 10 ปีเพื่อพัฒนาคนให้เป็นคนเก่ง ดี มีความสุข ภูมิใจในความเป็นไทย
ดังนั้น สื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคนและรัฐบาลให้ความสำคัญ จะเห็นได้จากงบประมาณที่จัดสรรเพื่อการศึกษามากถึงประมาณร้อยละ 3.87 ของจีดีพี เพื่อพัฒนาศักยภาพคนไทยให้พร้อมเผชิญความท้าทายของยุคเทคโนโลยีและสื่อสารสนเทศ และพยายามเจรจาแสวงหาความร่วมมือกับผู้ผลิตสื่อชั้นนำในต่างประเทศ ขอแปลเป็นภาคภาษาไทยเพื่อใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศ
ส่วนโครงการ ศธ.ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สื่อและเทคโนโลยี เช่น ระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ถ่ายทอดจากโรงเรียนวังไกลกังวล ไปยังโรงเรียนที่ต้องพัฒนาจำนวน 9,000 โรงทั่วประเทศ ติวเข้มข้นผ่านโทรทัศน์ (ติวเตอร์ชาเนล) โครงการเพิ่มสัดส่วนคอมพิวเตอร์ต่อนักเรียน จาก 1:40 มาเป็น 1:10 ในโรงเรียนระดับดี โครงการห้องสมุดสามดีในโรงเรียน 30,000 แห่ง เน้นการใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งขยายโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 50Gbps เชื่อมโยงมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนทั่วประเทศ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) วิทยาลัยอาชีวศึกษา ศูนย์เรียนรู้ชุมชน และโรงเรียนไม่ต่ำกว่า 3,000 โรง และโครงการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาที่รับชมได้โดยทั่วไป
หลังจากนั้น นายจุรินทร์เดินชมบูทภายในงาน และกล่าวภายหลังการชมบูทว่า งานนี้เป็นที่รวบรวมสื่อของบริษัททั่วโลก มีแถบยุโรป กลุ่มเอเชีย จีน ไทย ซึ่งผลิตสื่อการเรียนการสอนที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และจากการสังเกตพบว่ามีการพัฒนาไปมาก อยากให้ผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษามาเลือกดูว่าจะใช้สื่อแบบไหนที่จะปรับเข้ากับการเรียนการสอนในห้องเรียน สถานศึกษาในแต่ละระดับ ซึ่งงานนี้มีสื่อระดับอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย แต่ในส่วน ศธ.เรามีนโยบายชัดเจนที่จะสนับสนุนอยู่ที่ต้องการจะนำสื่อเทคโนโลยีมาช่วยจัดการเรียนการสอนมากขึ้น เพราะโลกหมุนไปข้างหน้าทุกวัน การพัฒนาการเรียนการสอนจำเป็นต้องใช้สื่อเข้ามาช่วย
“มีผู้บริหารมาร่วมงานหลายคนด้วย อยากให้คิดด้วยว่าถ้าไม่ซื้อจากเขาเราไปพัฒนาด้วยตนเองอย่างไรได้บ้าง เคยมอบเป็นนโยบายไปแล้ว ส่วนหนึ่งที่เราทำได้ โดยขอความร่วมมือกับองค์กรที่เขาประดิษฐ์คิดค้นในเรื่องสื่อการเรียนการสอน เราขอลิขสิทธิ์เขามาแล้วมาดัดแปลงเป็นภาษาไทย เพื่อสอนเด็กของเรา” นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนเดินทางไปจีน ไปดูองค์กรสื่อที่ใหญ่ที่สุดของจีน ทันสมัยมาก และเราเจรจาว่าจะขอสื่อต้นแบบมามาดัดแปลงปรับปรุงเพื่อใช้ในการเรียนการสอนสำหรับเด็กไทย เขายินดีให้ความร่วมมือ ระหว่างนี้กำลังประสานกันอยู่ แต่ชิ้นไหนจำเป็นต้องซื้อก็ซื้อ ชิ้นไหนไม่จำเป็นต้องซื้อเราก็มาดัดแปลงปรับปรุง
ถามว่าระหว่างชมสื่อตามบูธนั้นมีบูธไหนโดดเด่น นายจุรินทร์กล่าวว่า โดดเด่นทั้งหมด เพียงแต่ว่าสามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอน ในวิชาที่มีความแตกต่างกัน ระดับแตกต่างกัน เช่น ชีววิทยา จะทำสื่อแบบ การเกิดของมนุษย์เสมือนคนจริงๆ ตนคิดว่าผู้ใหญ่หลายคนก็ยังไม่เคยเห็น อยู่ในท้องแม่ มีวิวัฒนาการอย่างไร สื่อพวกนี้ทำแบบจำลองให้เหมือนของจริงทุกอย่าง และการใช้เทคโนโลยีอื่นๆ บันทึกหนังสือเข้าไปไว้ในซอฟต์แวร์รวดเร็วขึ้นดีกว่าระบบสแกนในปัจจุบัน พอถึงเวลาผู้สอนก็ฉายขึ้นบนจอให้เด็กรับทราบด้วยเวลาที่รวดเร็ว หรือครูมีเครื่องมือชิ้นหนึ่งสามารถเดินสอนได้ทั้งห้อง แล้วเขียนบนแผ่นกระดาษแล้วไปปรากฏบนจอ มีเทคโนโลยีที่ให้นักเรียนทำข้อสอบเมื่อเสร็จแล้ว ครูสามารถกดปุ่มประมวลผลได้ทันที ว่าเด็กตอบถูกกี่คน ผิดกี่คน ถ้าเด็ก 100 คน เด็กตอบผิด 60 ครูก็ต้องประเมินตัวเองด้วยว่า ครูก็มีปัญหาว่าสอน เด็กทำข้อสอบได้แค่ 40 คน