พงศ์เมธ ล่องเซ่ง : รายงาน
เริ่มไปแล้วสำหรับการยิงสด “Tutor Channel” สู่จอแก้วช่อง 11 เมื่อวันเสาร์ที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา โดย “อ.ปิง” ติวเตอร์ชื่อดังด้านภาษาไทย/สังคม เป็นผู้รับหน้าที่ประเดิมการสอนออกสู่สายตาเด็กนักเรียนทั่วประเทศ
ก็ต้องยอมรับว่า การเกิดขึ้นของ “Tutor Channel” เป็นการเปิดกว้างของโลกการศึกษาให้มีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง “ใครๆ ก็ดูได้”
แต่การลงทุนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ครั้งนี้จะคุ้มค่าหรือไม่ เด็กจะได้ประโยชน์จริงแท้แค่ไหนนั้น ในมุมของนักการศึกษาอย่าง “ดร.อุทุมพร จามรมาร” ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) มองว่า การเกิดขึ้นของ “Tutor Channel” ถือเป็นเจตนาดีของ ศธ.แต่หากมองอีกมุมจะพบว่าเด็กที่มีโอกาสทางการศึกษา มีฐานะ ที่สามารถจ่ายเงินกวดวิชาเองได้ ก็จะมีทางเลือกเพิ่มขึ้น อย่างวันธรรมดาเลิกเรียนก็ติวเสียเงิน หยุดวันเสาร์ก็ติวหน้าจอทีวีฟรี สรุปแล้วว่าทั้งสัปดาห์มีแต่ติวกับติว
ดร.อุทุมพร ยังบอกอีกว่า สำหรับการเปิดติวเพื่อเตรียมตัวเด็กในการสอบไม่ว่าจะเป็น O-NET หรือ GAT/PAT นั้นที่มีการบอกว่าจะติวเนื้อหาข้อสอบ GAT/PAT ซึ่งความจริงแล้วการสอบ GAT ไม่สามารถติวได้ เพราะต้องมาจากการฝึกฝน นอกจากว่าผู้สอนจะอธิบายและฝึกฝนไปพร้อมๆ กัน เพราะอย่างข้อสอบที่เป็นบทความ ต้องมีการอ่านบทความ และพิจารณาคำตอบซึ่งคำตอบไม่ได้มีคำตอบเดียว คำถามก็ไม่ได้ถามว่าอะไรถูก อะไรผิด แบบตรงไปตรงมา ส่วนของ PAT นั้นเนื้อหาอาจจะติวได้ แต่ในเรื่องของศักยภาพในตัวเด็กอาจทำได้ยากเช่นกัน อีกทั้งเวลาของโครงการมองว่าน้อยเกินไปด้วยซ้ำ
...หากโครงการนี้จบลง คำถามที่ตามมา คือ เด็กในพื้นที่ภูธรจะหันหน้าเข้าเมืองหลวงเพื่อเข้าคิวสมัครติวกับติวเตอร์ชื่อดังมากขึ้นหรือไม่นั้น ดร.อุทุมพร มองว่า จริงๆ แล้วการเปิดโอกาสตรงนี้ช่วยให้เด็กไม่ต้องเสียเงินติวได้เยอะ แต่ต้องขึ้นอยู่กับว่ามีการทำอย่างต่อเนื่องแค่ไหน หากหมดช่วงโครงการนี้แล้ว เงินทุนหมด จะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งครูผู้สอน ทุกภาคส่วนต้องเสียสละร่วมกัน เพื่อที่อนาคตของเด็กไทยที่ขาดโอกาสจะได้ถูกเติมเต็ม
ในส่วน “ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์” รักษาการ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน) (สมศ.) มองในทำนองเดียวกันว่า ติวเตอร์ที่มาสอนแต่ละท่านนั้นต้องยอมรับว่าเด็กๆ รู้จักเกือบหมด คงไม่ได้หวังมาเพื่อเป็นการเรียกคะแนนจากเด็ก ดังนั้น ตัวของครูเองต้องนึกถึงการศึกษาของเด็กเป็นหลัก อย่าคิดแต่เชิงธุรกิจ ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ซึ่งเป็นต้นสังกัดของโรงเรียน ก็น่าจะหาแนวทางปรับปรุงการสอนในโรงเรียน ให้มีรูปแบบ แนวคิดที่เหมือนกับติวเตอร์ เพื่อลดความต้องการของเด็กที่จะสนใจแต่การติว ซึ่งต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จริงจัง
“Tutor Channel จะคุ้มค่ากว่านี้หากมีการต่อยอด แต่การที่จะต่อยอดนั้นก็เป็นเพียงแค่คำพูดของผู้บริหาร ศธ.ที่อยากจะให้เกิดขึ้นต่อไป ซึ่งต้องอาศัยกลไกหลายอย่าง ลำพังเพียงแค่นโยบายอย่างเดียวทำไม่ได้ แต่หากคิดจะพัฒนาเด็กเรื่องนี้ต้องเกิดขึ้นให้ได้ หากทุกคนมีสำนึกอย่างนี้เชื่อว่าการลงทุนเพื่อการศึกษาคุ้มเหลือคุ้ม” ดร.สมหวัง ฝากข้อคิด
ในมุมของ “รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ” คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับมองเป็น 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือ เด็กได้รับโอกาสทางการเรียนรู้มากขึ้น แต่อีกด้านก็ต้องระวังในประเด็นที่ ศธ.พูดเสมอมาว่า ไม่สนับสนุนให้มีการกวดวิชาแต่กลับผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น ดังนั้น ต้องมีการทำความเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง แก่ประชาชน และนักเรียน ว่าเป็นเพียงการสอนเสริม ไม่ใช่ให้เด็กมุ่งสนใจเรียนติวมากกว่าเรียนในห้อง ซึ่งตามความคิดของเด็กๆ ตอนนี้ก็มองว่า อาจารย์ในสถาบันติวเจอร์ ดีกว่าอาจารย์ในโรงเรียนปกติอยู่แล้ว ซึ่งต่อจากนี้บทสรุปสำเร็จของการศึกษาก็จะอยู่ที่การกวดวิชาอย่างเดียวซึ่งต้องระวัง
“ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ศธ.ต้องพยายามให้ Tutor Channel ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องติว ต้องมีการสอนแทรกข้อมูลการศึกษาอื่นๆ นอกจากนี้ ต้องมีการทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ให้เข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องด้วย” รศ.ดร.สมพงษ์ เสนอ
รศ.ดร.สมพงษ์ ประเมินด้วยว่า ถึงอย่างไรการเกิดขึ้นของ “Tutor Channel” ก็น่าจะทำให้คะแนนการสอบ GAT/PAT ของนักเรียนทั้งประเทศดีขึ้น เพราะก่อนหน้านี้แย่มาตลอด ซึ่งเด็กที่ตั้งใจ และต้องการให้มีอย่างนี้เกิดขึ้นก็มีมาก เมื่อเขาได้รับตรงนี้ก็จะเป็นทางออกที่ดีในการเตรียมตัว
“นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ ศธ.ต้องไม่ลืมคือต้องสำรวจ ประเมินโครงการ เช่นการนำครูติวเตอร์ชื่อดังมาสอน เราก็ต้องยอมรับในความสามารถ เทคนิคการสอน และจิตวิทยาที่สามารถดึงเด็กให้สนใจได้ทั้งห้อง ซึ่งก็ต้องหันมาดูตัวเองแล้วนำมาปรับใช้กับโครงการที่จะพัฒนาครูทั่วประเทศกว่า 5 แสนคนด้วย หากทำได้จริง เรื่องเด็กแห่ติวก็คงลดลงได้” รศ.ดร.สมพงษ์ ทิ้งท้าย
เริ่มไปแล้วสำหรับการยิงสด “Tutor Channel” สู่จอแก้วช่อง 11 เมื่อวันเสาร์ที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา โดย “อ.ปิง” ติวเตอร์ชื่อดังด้านภาษาไทย/สังคม เป็นผู้รับหน้าที่ประเดิมการสอนออกสู่สายตาเด็กนักเรียนทั่วประเทศ
ก็ต้องยอมรับว่า การเกิดขึ้นของ “Tutor Channel” เป็นการเปิดกว้างของโลกการศึกษาให้มีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง “ใครๆ ก็ดูได้”
แต่การลงทุนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ครั้งนี้จะคุ้มค่าหรือไม่ เด็กจะได้ประโยชน์จริงแท้แค่ไหนนั้น ในมุมของนักการศึกษาอย่าง “ดร.อุทุมพร จามรมาร” ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) มองว่า การเกิดขึ้นของ “Tutor Channel” ถือเป็นเจตนาดีของ ศธ.แต่หากมองอีกมุมจะพบว่าเด็กที่มีโอกาสทางการศึกษา มีฐานะ ที่สามารถจ่ายเงินกวดวิชาเองได้ ก็จะมีทางเลือกเพิ่มขึ้น อย่างวันธรรมดาเลิกเรียนก็ติวเสียเงิน หยุดวันเสาร์ก็ติวหน้าจอทีวีฟรี สรุปแล้วว่าทั้งสัปดาห์มีแต่ติวกับติว
ดร.อุทุมพร ยังบอกอีกว่า สำหรับการเปิดติวเพื่อเตรียมตัวเด็กในการสอบไม่ว่าจะเป็น O-NET หรือ GAT/PAT นั้นที่มีการบอกว่าจะติวเนื้อหาข้อสอบ GAT/PAT ซึ่งความจริงแล้วการสอบ GAT ไม่สามารถติวได้ เพราะต้องมาจากการฝึกฝน นอกจากว่าผู้สอนจะอธิบายและฝึกฝนไปพร้อมๆ กัน เพราะอย่างข้อสอบที่เป็นบทความ ต้องมีการอ่านบทความ และพิจารณาคำตอบซึ่งคำตอบไม่ได้มีคำตอบเดียว คำถามก็ไม่ได้ถามว่าอะไรถูก อะไรผิด แบบตรงไปตรงมา ส่วนของ PAT นั้นเนื้อหาอาจจะติวได้ แต่ในเรื่องของศักยภาพในตัวเด็กอาจทำได้ยากเช่นกัน อีกทั้งเวลาของโครงการมองว่าน้อยเกินไปด้วยซ้ำ
...หากโครงการนี้จบลง คำถามที่ตามมา คือ เด็กในพื้นที่ภูธรจะหันหน้าเข้าเมืองหลวงเพื่อเข้าคิวสมัครติวกับติวเตอร์ชื่อดังมากขึ้นหรือไม่นั้น ดร.อุทุมพร มองว่า จริงๆ แล้วการเปิดโอกาสตรงนี้ช่วยให้เด็กไม่ต้องเสียเงินติวได้เยอะ แต่ต้องขึ้นอยู่กับว่ามีการทำอย่างต่อเนื่องแค่ไหน หากหมดช่วงโครงการนี้แล้ว เงินทุนหมด จะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งครูผู้สอน ทุกภาคส่วนต้องเสียสละร่วมกัน เพื่อที่อนาคตของเด็กไทยที่ขาดโอกาสจะได้ถูกเติมเต็ม
ในส่วน “ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์” รักษาการ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน) (สมศ.) มองในทำนองเดียวกันว่า ติวเตอร์ที่มาสอนแต่ละท่านนั้นต้องยอมรับว่าเด็กๆ รู้จักเกือบหมด คงไม่ได้หวังมาเพื่อเป็นการเรียกคะแนนจากเด็ก ดังนั้น ตัวของครูเองต้องนึกถึงการศึกษาของเด็กเป็นหลัก อย่าคิดแต่เชิงธุรกิจ ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ซึ่งเป็นต้นสังกัดของโรงเรียน ก็น่าจะหาแนวทางปรับปรุงการสอนในโรงเรียน ให้มีรูปแบบ แนวคิดที่เหมือนกับติวเตอร์ เพื่อลดความต้องการของเด็กที่จะสนใจแต่การติว ซึ่งต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จริงจัง
“Tutor Channel จะคุ้มค่ากว่านี้หากมีการต่อยอด แต่การที่จะต่อยอดนั้นก็เป็นเพียงแค่คำพูดของผู้บริหาร ศธ.ที่อยากจะให้เกิดขึ้นต่อไป ซึ่งต้องอาศัยกลไกหลายอย่าง ลำพังเพียงแค่นโยบายอย่างเดียวทำไม่ได้ แต่หากคิดจะพัฒนาเด็กเรื่องนี้ต้องเกิดขึ้นให้ได้ หากทุกคนมีสำนึกอย่างนี้เชื่อว่าการลงทุนเพื่อการศึกษาคุ้มเหลือคุ้ม” ดร.สมหวัง ฝากข้อคิด
ในมุมของ “รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ” คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับมองเป็น 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือ เด็กได้รับโอกาสทางการเรียนรู้มากขึ้น แต่อีกด้านก็ต้องระวังในประเด็นที่ ศธ.พูดเสมอมาว่า ไม่สนับสนุนให้มีการกวดวิชาแต่กลับผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น ดังนั้น ต้องมีการทำความเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง แก่ประชาชน และนักเรียน ว่าเป็นเพียงการสอนเสริม ไม่ใช่ให้เด็กมุ่งสนใจเรียนติวมากกว่าเรียนในห้อง ซึ่งตามความคิดของเด็กๆ ตอนนี้ก็มองว่า อาจารย์ในสถาบันติวเจอร์ ดีกว่าอาจารย์ในโรงเรียนปกติอยู่แล้ว ซึ่งต่อจากนี้บทสรุปสำเร็จของการศึกษาก็จะอยู่ที่การกวดวิชาอย่างเดียวซึ่งต้องระวัง
“ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ศธ.ต้องพยายามให้ Tutor Channel ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องติว ต้องมีการสอนแทรกข้อมูลการศึกษาอื่นๆ นอกจากนี้ ต้องมีการทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ให้เข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องด้วย” รศ.ดร.สมพงษ์ เสนอ
รศ.ดร.สมพงษ์ ประเมินด้วยว่า ถึงอย่างไรการเกิดขึ้นของ “Tutor Channel” ก็น่าจะทำให้คะแนนการสอบ GAT/PAT ของนักเรียนทั้งประเทศดีขึ้น เพราะก่อนหน้านี้แย่มาตลอด ซึ่งเด็กที่ตั้งใจ และต้องการให้มีอย่างนี้เกิดขึ้นก็มีมาก เมื่อเขาได้รับตรงนี้ก็จะเป็นทางออกที่ดีในการเตรียมตัว
“นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ ศธ.ต้องไม่ลืมคือต้องสำรวจ ประเมินโครงการ เช่นการนำครูติวเตอร์ชื่อดังมาสอน เราก็ต้องยอมรับในความสามารถ เทคนิคการสอน และจิตวิทยาที่สามารถดึงเด็กให้สนใจได้ทั้งห้อง ซึ่งก็ต้องหันมาดูตัวเองแล้วนำมาปรับใช้กับโครงการที่จะพัฒนาครูทั่วประเทศกว่า 5 แสนคนด้วย หากทำได้จริง เรื่องเด็กแห่ติวก็คงลดลงได้” รศ.ดร.สมพงษ์ ทิ้งท้าย