“ชินภัทร” เผย ทุ่มงบ 220 ล้านบาท ซื้ออุปกรณ์จานดาวเทียม ซ่อมอุปกรณ์ที่ชำรุด ให้โรงเรียนสังกัด สพฐ.4 พันโรง ที่ติดตั้งจานไปแล้ว หวังให้โรงเรียนใช้งานเต็มประสิทธิภาพในเทอม 2
นายชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยความคืบหน้าจานดาวเทียม ว่า ในปีงบประมาณ 2552 จะดำเนินโครงการจำนวน 4,000 โรง จาก 9,000 โรง ซึ่งเป็นโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย คือโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนขยายโอกาส และคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของประเทศ ซึ่งโรงเรียน 4,000 โรงนั้น เคยได้รับการจัดสรรอุปกรณ์พื้นฐานมาแล้ว แต่จำเป็นจะต้องได้รับการจัดสรรอุปกรณ์เพิ่มเติมบางส่วน อาทิ อุปกรณ์การอ่าน ดีวีดี จอโทรทัศน์ เป็นต้น พร้อมกันนี้จะต้องซ่อมอุปกรณ์ที่ชำรุด ประมาณ 25% เพื่อที่โรงเรียนจะได้ใช้อุปกรณ์ได้เต็มประสิทธิภาพ สามารถดูรายการสดโดยระบบทางไกลผ่านดาวเทียมของโรงเรียนวังไกลกังวล นอกจากนี้ยังมีระบบไร้ลงแผ่น เพื่อดูในเวลาที่สะดวก
ทั้งนี้ สำนักงานปลัดฯ ได้โอนงบประมาณจำนวน 220 ล้านบาท ในส่วนที่เป็นค่าอุปกรณ์ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรียบร้อยแล้ว ส่วนการดำเนินการจัดซื้อ จะมีการกำหนดคุณลักษณะกลางโดยส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการ และมอบให้สำนักงานเขตพื้นที่ (สพท.) ไปกำกับดูแล สำหรับโรงเรียนจะเป็นผู้จัดซื้อ
นายชินภัทร กล่าวด้วยว่า การจัดซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม และซ่อมอุปกรณ์ที่ชำรุดนั้น เป็นการเตรียมความพร้อมให้ทันใช้ในภาคเรียนที่ 2 ขณะเดียวกันต้องเตรียมความพร้อมของครู ผู้บริหาร โดยจะมีการจัดพิมพ์คู่มือ 2 ฉบับ ฉบับแรกจะเป็นคู่มือการจัดการเรียนการสอน โดยใช้ต้นฉบับของมูลนิธิการศึกษาทางไกล ของวังไกลกังวล อีกฉบับ คือคู่มือบริหารจัดการ จะกำหนดแนวปฏิบัติของผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน จะดำเนินการจัดพิมพ์โดยสำนักงานปลัด และปลายเดือนตุลาคมจะมีการจัดอบรมผู้บริหาร และครูที่เกี่ยวข้อง ด้วย
“ปีงบประมาณ 2552 ได้มีการจัดสรรงบประมาณ 220 ล้านบาท เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ให้แก่โรงเรียน 4,000 แห่ง ส่วนที่เหลืออีก 5,000 แห่งนั้น ต้องรอเงินงบประมาณ ปี 2553 กับเงินจากโครงการไทยเข้มแข็ง (sp2) แต่จะเป็นวงเงินเท่าไหร่นั้นยังไม่สามารถระบุตัวเลขได้ เพราะต้องจัดซื้ออุปกรณ์ให้ครบชุด”
ผู้สื่อข่าวถามว่า เคยมีโรงเรียนที่ได้รับอุปกรณ์ไปแล้ว แต่โรงเรียนไม่มีไฟฟ้าจะดำเนินการอย่างไร นายชินภัทร กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวคงต้องประสานงานกับ สพฐ.จะต้องไปสอดส่องดูแลโรงเรียนที่จะได้รับการจัดสรรอุปกรณ์นี้ เพราะเราต้องการให้โรงเรียนทั้ง 4,000 โรง ได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ใช่จัดสรรไปแล้วครูไม่พร้อม คู่มือไม่พร้อม ไฟฟ้าใช้งานไม่ได้ หากมีอุปสรรคตรงจุดไหนก็ต้องเข้าไปแก้ไข อย่างไรก็ตาม ตนจะนัดหารือกับผู้บริหาร สพฐ. อีกเรื่องที่ต้องมีการพัฒนาควบคู่กันไปกับการติดตั้งจานดาวเทียมก็คือพัฒนาเนื้อหา โดยเราจะสานต่อที่เคยได้ดำเนินการมาใน 3 วิชาหลัก วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ของช่วงชั้นที่ 3 หรือ ม.1 ถึง ม.3
“จะใช้เนื้อหาของวังไกลกังวลเป็นหลัก เพราะฉะนั้น สื่อ หรือซอฟต์แวร์ ของโครงการจะผลิตขึ้นมาจะต้องไม่ทำซ้ำซ้อนกับเนื้อหาของวังไกลกังวล” นายชินภัทร กล่าวว่า ติวเตอร์ชาแนล ได้รับการตอบรับอย่างมาก ที่ประชุมองค์กรหลักมีความเห็นตรงกันว่า สื่อที่จะผลิตในโครงการอีเลิ่นนิ่ง น่าจะเน้นการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้เรียน O-NET, A-NET และ NT ดังนั้น จะเชิญคณะทำงานมาปรับแผนกันอีกครั้งหนึ่ง