องค์กรวิชาชีพครู ค้านตั้ง “สถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ” ยันไม่เหมาะสมตั้งซ้ำซ้อนกับสถาบันผลิตครูที่มีอยู่ทั่วประเทศ เป็นเหยื่อจากการปฏิรูปฯ รอบแรก เผยสิ้นเปลืองทรัพยากรทางการบริหารจัดการ สับสนในทางปฏิบัติ ชี้เหมือนมหา’ลัยแห่งใหม่ แต่ไร้สังกัด หวั่นยุ่งการรับรองปริญญา สับ “วิจิตร-สมหวัง-สุวัฒน์” หัวโจกทำปฏิรูปฯ รอบแรกล้มเหลว ส่งผลถึงปัจจุบัน แนะแสดงความรับผิดชอบ ห้ามยุ่งเกี่ยวปฏิรูปฯ รอบสอง เตรียมยื่นข้อสรุป รายชื่อค้าน เสนอ “อภิสิทธิ์ – จุรินทร์” เร็วๆ นี้
วันนี้(5 ต.ค.) ที่ห้องประชุมคุรุสภา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) สถาบันผู้ผลิตครูทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรเครือข่ายพัฒนาวิชาชีพและบุคลากรทางการศึกษา จัดประชุมเสวนาเรื่อง “สถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ : สูตรสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษารองสอง จริงหรือ?” โดยนายองค์กร อมรสิรินันท์ เลขาธิการคุรุสภา กล่าวถึงผลสรุปว่า ที่ประชุมมีมติคัดค้านการก่อตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับหลายๆ หน่วยงานทางการศึกษา ที่มีอำนาจและภารกิจในลักษณะนี้อยู่แล้ว เช่น คุรุสภา สถาบันผลิตครูที่มีมากกว่า 90 แห่งทั่วประเทศ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) และสภาการศึกษา เป็นต้น ดังนั้นการตั้งหน่วยงานอื่นขึ้นมาอีกถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสม อีกทั้งยังเป็นองค์กรมหาชนภายใต้การกำกับ ดูแล ของรัฐมนตรี และจัดตั้งงบประมาณรองรับการบริหารจัดการมากกว่า 2,000 ล้านบาท
“สถาบันนี้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเหยื่อของการปฏิรูปการศึกษารอบแรก และเป็นสถาบันที่รวมศูนย์ผูกขาดการศึกษาของชาติ จากกลุ่มที่ผูกขาดการปฏิรูปการศึกษา โดยนักโครงสร้าง นักระบบ ภายใต้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ปราศจากการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาของชาติอย่างแท้จริง” เลขาฯ คุรุสภา กล่าว
นายองค์กร กล่าวต่อว่า จากผลสรุปที่ประชุมมีความเห็น ดังนี้คือ 1. สถาบันผลิตครูทั้งรัฐ เอกชน ได้ทำหน้าที่ผลิตระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) อยู่แล้ว แต่สถาบันคุรุศึกษาฯ กลับมีอิสระมากกว่า ที่ขึ้นตรงต่อ รมว.ศธ. ดำเนินการได้อย่างอิสระ 2. สถาบันคุรุศึกษาฯ ที่ผลิตเฉพาะระดับบัณฑิตศึกษา แต่ในร่าง พ.ร.บ. สถาบันคุรุศึกษาฯ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้ง วัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่ การกำกับดูแล กลับระบุการผลิตการพัฒนา ควบคุม กำกับดูแล ที่มีความหมายที่ครอบคลุมหน่วยงานอื่นแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เกิดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน ประสาน ขอความร่วมมือ จากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลายขั้นตอน เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรทางการบริหารจัดการและสับสนในทางปฏิบัติ
3. สถาบันคุรุศึกษาฯ เป็นการเพิ่มงบประมาณและเกิดความซ้ำซ้อนในการบริหารจัดการ มีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ แต่ไม่ได้อยู่ในกำกับดูแลของ ศธ. และ สกอ. จึงเป็นการสร้างความยุ่งยาก และซ้ำซ้อนภารกิจของสถาบันผู้ผลิตบัณฑิต ที่ต้องผ่านการรับรองปริญญา จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย อาทิ สภาวิชาการ สภามหาวิทยาลัย ศธ. โดย สกอ.และคุรุสภา 4. ขัดต่อเจตนารมณ์ ตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้เพิ่มเติม พ.ศ.2545 และขัดต่อเจตนารมณ์ พ.ร.บ.สภาครูและสถาบันการศึกษา พ.ศ. 2546 ที่มีวัตถุประสงค์ให้คุรุสภาในฐานะสภาครูฯ มีอำนาจหน้าที่และเป็นผู้กำหนดมาตรฐานวิชาชีพ กำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ การพัฒนาวิชาชีพครูฯ การรองรับปริญญา ประกาศนียบัตร วุฒิบัตร ของสถาบันต่างๆ ด้านส่งเสริมการศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพ 5. องค์กรคณะบุคคลไม่มีสัดส่วนของกรรมการที่มาจากตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ประกอบวิชาชีพ ทำให้ไม่ได้ข้อเท็จจริงที่เกิดจากบริบทของการจัดการศึกษาในระดับต่างๆ
นายองค์กร กล่าวอีกว่า 6.ผลงานการปฏิรูปฯ ครั้งที่ผ่านมาได้บ่งชี้ให้เห็นถึงการปฏิรูปฯ ภายใต้การชี้นำของกลุ่มผู้ก่อการ กลุ่มผู้ผูกขาดการปฏิรูปการศึกษา นักโครงสร้าง นักระบบ ที่นำโดย 9 อรหันต์ (สปศ.)ที่มี ศ.ดร.วิจิตร ศรีสะอ้าน, นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ และ นายสุวัฒน์ เงินฉ่ำ เป็นแกนนำ ซึ่งต้องแสดงความรับผิดชอบในความล้มเหลวของการปฏิรูปฯ ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาอย่างใหญ่หลวงให้พิจารณาตนเอง โดยการลาออกจากทุกตำแหน่งและไม่ควรมายุ่งเกี่ยวในการปฏิรูปฯ รอบสองอีกต่อไป 7. การปฏิรูปฯ รอบสอง ยังเป็นเพียงมุมมองการแก้ปัญหาเฉพาะด้านทั้งปัญหาคุณภาพการศึกษา ปัญหาเชิงระบบที่คนไทยทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบตั้งแต่ผู้นำระดับประเทศ จนถึงรากหญ้า และต้องร่วมกำหนด รับผิดชอบเสมือนการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยยกให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ
เลขาฯ คุรุสภา กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามเร็วๆ นี้ ทางเครือข่ายองค์กรวิชาชีพฯ จะยื่นหนังสือคัดค้านการจัดตั้งสถาบันคุรุศึกษาฯ ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศธ. พร้อมแนบรายชื่อแกนนำเครือข่ายองค์กรวิชาชีพฯ ในการคัดค้านครั้งนี้ด้วย
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่จะต้องรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ไปดำเนินการแล้ว เพื่อจะเชิญผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้โดยตรงมาหารืออีกครั้ง โดยตนพร้อมยินดีรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย เพราะอยากให้การตัดสินใจเรื่องนี้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงกับวงการศึกษา