xs
xsm
sm
md
lg

“สมเกียรติ” แฉ! ครูลอกผลงานปรับวิทยฐานะให้วุ่น หนักสุดหลังเลื่อนขั้นผลงานตัวเองก็จำไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากแฟ้มภาพ
“สมเกียรติ” ชี้การผลิตครูตอบคำถามสังคมไม่ได้ ระบุปัญหาสถาบันผลิตครูแย่งนักศึกษา จบออกไปล้นตลาด ไม่มีอัตรารองรับ ขาดครู 3 วิชาหลักอย่างรุนแรง สะท้อนผลสัมฤทธิ์เด็กต่ำ แฉคัดลอกผลงานวิชาการปรับวิทยฐานะเข้าขั้นโกลาหล ครูที่ไม่ได้สอนวิชาเอกนี้ แต่กลับเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉย บางรายผ่านประเมิน ปรับเลื่อนขั้นเงินเดือนแล้วแต่กลับจำหัวเรื่องผลงานตัวเองไม่ได้ เผยเตรียมเปิดโปงอีกเพียบ

วันนี้ (25 พ.ย.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายสัมพันธ์ ทองสมัคร อดีต รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาติดตามนโยบายและแผนการจัดการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมาธิการศึกษาฯ ว่า ที่ประชุมเห็นพ้องในการจัดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นใน 2 เรื่อง คือ การผลิตครู และการเลื่อนวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยจะมีการนำประเด็นปัญหาทั้ง 2 เรื่องนี้ มารับฟังความเห็นเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้จะมีความคิดที่เป็นอิสระเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข ปรับแก้ระเบียบที่ ศธ.ใช้อยู่ในปัจจุบัน และเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว หากยังไม่ชัดเจนอาจมีการเดินสายรับฟังความคิดเห็นจากส่วนภูมิภาค เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ครบทุกประเด็นปัญหา ก่อนนำเสนอผลต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศธ.และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีต่อไป

นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ รองประธานคณะอนุกรรมมาธิการศึกษาติดตามฯ กล่าวว่า การผลิตครูถือเป็นปมเงื่อนสำคัญ เพราะการผลิตครูตอบคำถามสังคมไม่ได้อยู่ 3 เรื่อง คือ 1.การผลิตครูยังได้ผลผลิตครูที่มีคุณภาพอยู่ในระดับไม่น่าพอใจ แม้จะมีความพยายามใช้โครงการคุรุทายาท หรือโครงการครูพันธุ์ใหม่ แต่คุณภาพของครูทุกวันนี้ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ จากสังคมค่อนข้างสูง 2.การผลิตครูมีลักษณะไม่แบ่งการทำงาน แต่ละสถานบันการผลิตครูเกือบ 100 แห่งทั่วประเทศ ยังแข่งขัน แย่งชิงนักศึกษากันอยู่ ทำให้ระบบตลาดครูที่ผลิตออกไปล้น เกิดความสูญเปล่าทางการศึกษาอย่างมาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องจ่ายสำหรับนักศึกษาครูตกหัวละกว่า 4 หมื่นบาท แต่จบออกไปแล้วกลับไม่มีงานทำ ทำให้สูญเสียโอกาสและประเทศได้รับผลทางงบประมาณ 3.สำคัญที่สุด คือ การขาดครูกว่า 7 หมื่นคน มิได้สะท้อนการแก้ปัญหาที่แท้จริง เช่น ครูที่ขาดรุนแรงเกินหมื่นอัตราขึ้นไป ได้แก่ ครูคณิตศาสตร์ ครูภาษาต่างประเทศ และครูวิทยาศาสตร์ ซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพผู้เรียนที่เด็กยังมีผลสัมฤทธิ์ต่ำใน 3 วิชานี้เมื่อมีการวัดผลระดับชาติ จนนำไปสู่ความคิดที่จะจัดตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ แล้วทำให้เกิดความขัดแย้งและเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ตรงนี้รัฐบาลคิดดีในตัวปัญหา แต่เมื่อจะตั้งจริงก็เกิดข้อถกเถียงมากมาย

นายสมเกียรติกล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการเลื่อนวิทยฐานะนั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก คือ แม้จะได้เลื่อนจากครูปกติเป็นครูชำนาญการโดยอัตโนมัติ ที่ได้พร้อมกันทั้งประเทศ 2 แสนกว่าคน และครูชำนาญการพิเศษอีก 8 หมื่นกว่าคน ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มที่รวดเร็วและใช้งบกว่า 3 หมื่นล้านบาท ตรงนี้รัฐจะต้องแบกรับงบประมาณในเชิงที่ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากผลที่สะท้อนจากตัวเด็กเป็นข้อบ่งชี้อยู่ ขณะที่ระบบการจ้างผลิตผลงานวิชาการ การคัดลอกเลียนแบบยังเป็นปัญหา และการประเมินที่ไม่นำผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนเป็นตัวตั้ง ยังชี้ให้เห็นว่าไม่มีการปฏิรูปเพื่อผลประโยชน์ของเด็กจริงๆ อีกทั้งเรื่องเหล่านี้ทางคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ไม่เคยลงโทษใครได้เลย แม้ว่าจะจับได้มากกว่า 10 ราย ซึ่งหากปล่อยไปรัฐจะสูญงบประมาณอย่างมาก และเด็กถูกละเลยได้

เมื่อถามถึงการคัดลอกผลงานว่ามีลักษณะอย่างไรนั้น นายสมเกียรติกล่าวว่า ถือเป็นความรุนแรงในระดับโกลาหล เพราะมีการคัดลอกผลงานจนเกิดเป็นปรากฏการณ์ 2 อย่างในวงการการศึกษา คือ 1.ครูที่ไม่ได้สอนวิชาเอกนี้ แต่กลับเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ เช่น ไม่เคยสอนนาฏศิลป์ แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ เป็นต้น 2. จากรายงานของผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ที่รายงานต่อคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งมีการเรียกครูมาสอบถามหลังจับได้ว่ามีการคัดลอกผลงานวิชาการ แต่ปรากฎว่าครูกลับจำชื่อผลงานของตัวเองไม่ได้ ทั้งๆ ที่ผลงานวิชาการผ่านแล้ว จนมีการปรับเลื่อนขั้นเงินเดือน ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังไม่มีการลงโทษอย่างจิงจัง อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวนี้ ผอ.สพท. จากหลายพื้นที่พร้อมจะเปิดเผยข้อมูลเช่นกัน

นายประกอบ รัตนพันธ์
เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการศึกษาติดตามฯ กล่าวว่า ในการผลิตครูพันธุ์ใหม่ รัฐบาลให้ทุนเพื่อคัดเลือกนักเรียนที่จบชั้นม. 6 ที่มีผลการเรียนดี เพื่อเรียนต่อวิชาครู 5 ปี ซึ่งรัฐยังทำแบบครึ่งทาง ไม่ต่อเนื่อง เมื่อนักศึกษาจบมาแล้วมีปัญหาเรื่องของอัตราการบรรจุที่ทาง ศธ.ได้รับจัดสรรอย่างไม่สัมพันธ์กัน ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวก็ได้คลี่คลายไปในระดับหนึ่งแล้ว นอกจากนี้ในเรื่องการผลิตครูให้ตรงกับความต้องการของสถานศึกษา และให้ได้ครูที่สอนตรงตามความถนัด และการพัฒนาครูประจำการ ก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งทุกวันนี้ยังไปไม่ถึงไหน ในส่วนเรื่องวิทยฐานะที่มีการคัดลอกผลงานวิชาการ การเลื่อนวิทยฐานะที่แบบประเมินไม่สอดรับกับคุณภาพนักเรียน ที่เคยวางไว้ว่า ต้องประเมินเชิงประจักษ์ สะท้อนคุณภาพนักเรียน แต่วันนี้หลักเกณฑ์ยังประเมินแต่งานวิชาการ งานวิจัย เป็นตัวตั้ง อีกทั้งเมื่อส่งผลงานวิชาการไปแล้วก็ขาดคนประเมิน ตรงนี้จึงเป็นทำให้เกิดปัญหาขึ้น

“แม้รัฐบาลจะเพิ่งประกาศใช้เกณฑ์การประเมินวิทยฐานะใหม่ไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่เห็นว่าการให้น้ำหนักในเรื่องของคุณภาพนักเรียนยังน้อยเกินไป และเห็นว่ายังไม่สมบูรณ์ ที่ประชุมจึงเห็นว่าน่าจะให้ผู้ปกครอง มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพ การเรียนการสอนของครู อย่ามุ่งแต่ทฤษฎี แต่ต้องเน้นมาสู่การพัฒนาเพื่อนำมาสู่การเป็นครูที่ได้คุณภาพจริงๆ” นายประกอบกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น