xs
xsm
sm
md
lg

“สมเกียรติ” ชี้ดึงคนเก่งเป็นครูทำยาก เร่งแก้ปัญหาขาดแคลน ขุนคนเก่าให้พร้อมดีกว่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
“สมเกียรติ” ชี้ดึงคนเก่งมาเป็นครูทำยาก เร่งแก้ปัญหาขาดแคลน พัฒนาครูที่มีอยู่ดีกว่า แนะวัดผลครูทั่วประเทศประเมินความสามารถ ทุ่มงบนำวิทยากรช่วยสอนเด็ก เพิ่มเงินเดือนครูในพื้นที่ที่ขาด “อดีตคณบดีคณะคุรุศาสตร์ จุฬาฯ” รับครูเน้นสอนเด็กเก่ง เด็กรวย เด็กไม่เก่งไม่มีใครอยากสอน เผยหลักสูตรครู 5 ปี ไม่เน้นวิชาเอก คุรุสภาไม่มีมาตรฐานกำกับดูแล ขณะที่เกณฑ์วิทยฐานะใหม่ยังมุ่งผลงานวิชาการ ส่งผลจ้างทำ ลอกผลงานยังเกร่อ เสนอให้ยกเลิก เปลี่ยนพิจารณาปรับวิทยฐานะจากผลสอบครู ผลสัมฤทธิ์เด็กแทน

วันนี้ (8 ธ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร และคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาติดตามนโยบายและแผนงานการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ จัดการสัมมนาเรื่องทิศทางใหม่ “การผลิตครู-วิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา” โดย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวในการสัมมนาว่า เรื่องการผลิตครูถือเป็นเรื่องที่เรื้อรังมานาน และมีการพูดคุยกันถึงเรื่องนี้ที่ผ่านมาหลายครั้ง ซึ่งทางออกมีข้อสรุปทุกครั้ง คือ ให้หาคนดี คนเก่งมาเป็นครู แต่เป็นสิ่งที่ปฏิบัติยากมาก ปัจจุบันเรามีสถาบันผลิตครูทั้งสิ้น 118 แห่ง และอีก 35 แห่งเป็นของเอกชน ที่ร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ แต่ผลปรากฎว่าการใช้ครูที่จบการศึกษา ตามภาระงานพบครูขาดแคลนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ วิชาภาษาต่างประเทศ และวิชาวิทยาศาสตร์ ที่ขาดครูสาขาวิชาละกว่าหมื่นคน นอกจากนี้ยังมีรายงานจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ส่งข้อมูลการตรวจสอบมายังคณะกรรมาธิการฯ ยังพบข้อมูลที่ตรงกันด้วยว่า วิชาที่ผลสัมฤทธิ์ผู้เรียนมีค่าเฉลี่ยต่ำสุดในประเทศ คือ วิชาคณิตศาสตร์ ได้ 29.85 คะแนน วิชาภาษาต่างประเทศ ได้ 30.42 คะแนน วิชาวิทยาศาสตร์ ได้ 34.29 คะแนน จากทั้งหมด 100 คะแนน ซึ่งได้ระบุในรายงานไว้ว่าสาเหตุมาจากการขาดแคลนครูนั่นเอง

“เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่ตอนนี้หน่วยงานของรัฐเริ่มลงมาให้ความสนใจในการตรวจสอบปัญหาด้านผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา หน่วยงานอย่าง สตง.ที่ดูแลตรวจสอบเรื่องของงบประมาณ บัญชีต่างๆ ยังกระโดดลงมาให้ความสนใจตรงนี้ ถือว่าไม่ธรรมดา ถึงขั้นวิกฤตอย่างหนัก ดังนั้น ปัญหาจึงต้องมองไปที่ยุทธวิธีและแผนปฏิบัติงานพิเศษเพื่อแก้ปัญหาเรื่องครูขาดแคลน มากกว่าจะหาคนเก่งๆ มาเป็นครู” นายสมเกียรติกล่าว

นายสมเกียรติกล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ปัญหาด้านผลสัมฤทธิ์ของเด็กนั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปรับระบบการสอบโดยให้ยกเลิกการสอบปรนัย ซึ่งจากรายงานของ สตง.ก็ยังบอกถึงขั้นว่าจะมีการตรวจสอบเรื่องข้อสอบด้วย ซึ่งตรงนี้เด็กไทยมีความสามารถระดับหนึ่งแต่วิธีการ เครื่องมือที่ใช้วัดอาจจะไม่ดี อย่างไรก็ตาม ควรมีการวัดผลโดยการสอบครูกว่า 6 แสนคนด้วย และต้องพัฒนาครูที่มีอยู่มากกว่า การมุ่งหาแต่ครูพันธุ์ใหม่ นอกจากนี้ในส่วนของโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดครู ครูสอนไม่ตรงสาขาวิชานั้น ควรทุ่มงบเพื่อนำวิทยากรจากภายนอกมาช่วยสอนเพื่อเสริมศักยภาพของนักเรียน และนำครูในโรงเรียนขนาดเล็ก มาฝึกอบรมเพิ่มเติมเมื่อผ่านแล้วก็ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ จะถือเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ครูทางหนึ่ง

รศ.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ อดีตคณบดีคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การขาดแคลนครูความจริงแล้วไม่ใช่เฉพาะวิชาในกลุ่มสาระหลักๆ เท่านั้น ซึ่งจากข้อมูลที่ตนเคยทำการวิจัยพบว่า กลุ่มสาขาวิชาที่ขาดครู และมีครูที่สอนไม่ตรงสาขามากที่สุดคือ วิชาการอาชีพ เทคโนโลยี แต่เมื่อมองเฉพาะผลสัมฤทธิ์ก็จะมองอยู่แค่วิชาหลักๆ อย่างไรก็ตาม วิกฤตศรัทธาในวิชาชีพครู ซึ่งขณะนี้ยังไม่ดีขึ้น ที่สำคัญคือครูเก่งก็ยังพอมีอยู่ แต่คนที่เก่งๆ กลับไม่อยากเรียนครู หรือคนที่เรียนครูอยู่เมื่อจบไปแล้วก็ไม่มาเป็นครู สรุปแล้วคือ ครูที่จบมาเป็นครูจริงๆ กลับเป็นเด็กที่เรียนระดับปานกลาง เมื่อถูกบรรจุไปอยู่ตามชนบท อยู่ได้ 2-3 ปี ก็ต้องแข่งกันขอย้ายเข้าเมือง เมื่อขั้นตอนยุ่งยากก็ขอลาออก ในส่วนของครูที่ยังพอเหลืออยู่ก็อยากจะสอนแต่เด็กเก่ง เด็กรวย ซึ่งอยู่ในเมือง จึงเกิดวิกฤตอีกอย่างหนึ่งคือ ขาดครูที่จะสอนเด็กไม่เก่งซึ่งยากมาก

รศ.พฤทธิ์ กล่าวต่อว่า ในหลักสูตรครู 5 ปีต้องยอมรับว่า มาตรฐานที่ทางคุรุสภากำกับอยู่นั้นได้ให้ความสำคัญเฉพาะหมวดวิชาครูเท่านั้น คือ ให้รู้วิธีการสอนแต่ไม่รู้เนื้อหาวิชาเอก กลุ่มสาระวิชา ว่ามีความเข้มแข็งพอหรือยัง ซึ่งคุรุสภาไม่ได้เข้าไปดูมาตรฐานตรงนี้ และมหาวิทยาลัยก็เปิดสอนตามแต่ความถนัดของตัวเอง ดังนั้นจึงต้องแยกพิจารณาว่าครูประถมควรสอนได้กี่กลุ่มสาระวิชา ครู ม.ต้น ม.ปลาย ควรสอนได้กี่กลุ่มสาระวิชา ซึ่งยังไม่มีมาตรฐานกำหนด ตรงนี้จะมีผลอย่างมากต่อโรงเรียนขนาดเล็ก

รศ.พฤทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องของวิทยฐานะนั้นระบบดี แต่วิธีการได้มาค่อนข้างมีปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะการกำหนดให้ทำผลงานวิชาการเพื่อใช้ในการประเมินปรับวิทยฐานะ ซึ่งหลักเกณฑ์ที่เพิ่งประกาศใช้ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็ยังมีเกณฑ์ที่พิจารณาจากการทำผลงานวิชาการอยู่ จึงทำให้ปัญหาการคัดลอกผลงาน การจ้างทำผลงานยังมีอยู่ ทำให้ครูมุ่งแต่ทำผลงานวิชาการ ไม่เน้นวิธีการสอน จึงน่าจะให้มีการยกเลิกการทำผลงานวิชาการ เปลี่ยนมาเป็นการสอบแทน คือ ดูผลสัมฤทธิ์จากผลการเรียนของเด็ก พร้อมทั้งพิจารณาจากการสอบของครูด้วย ซึ่งทุกอย่างต้องได้ผลไม่ต่ำกว่า 50% หากผ่านก็จะได้เลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งจะทำให้ทั้งครูและนักเรียนเก่งไปพร้อมๆ กัน

“อย่างในประเทศจีน ครูที่สอนตามชนบทเขตพื้นที่การศึกษามีสิทธิที่จะเพิ่มเงินพิเศษให้ได้ทันที ในบ้านเราจะทำอย่างไรให้ครูที่สอนบ้านนอกได้เงินเพิ่มเพื่อเป็นแรงจูงใจ ทำอย่างไรให้ครูที่จบใหม่อยากที่จะไปสอนยังโรงเรียนที่ห่างไกล อย่างไรก็ตามคนที่อยากเป็นครูยังมีอยู่จำนวนหนึ่ง แต่อยู่ตามต่างจังหวัด ดังนั้นจึงควรส่งเสริมเด็กช้างเผือกทั้งหลายให้มาเป็นครูให้มากที่สุด นอกจากนี้ควรมีการปรับเงินเดือนครูขั้นเริ่มต้นเพื่อดึงดูดใจ หรืออาจมีการกำหนดผังการทำงานในการขอเลื่อนวิทยฐานะโดยที่ใครจะเน้นผลงานเป็นครูชำนาญการ ครูเชี่ยวชาญต่างๆ ก็ทำไป ใครที่จะเลือกตามแนวทางสายชนบท คือเลือกสอนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำ แล้วสามารถไปเพิ่มศักยภาพด้านการเรียนการสอนได้ ก็จะได้รับการพิจารณาปรับวิทยฐานะเป็นพิเศษ ซึ่งดีกว่าจะมัวมานั่งทำผลงานแล้วต้องเสียเวลานั่งรอว่าผ่านหรือไม่” อดีตคณบดีคณะคุรุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น