ระดมความเห็นนักวิชาการนักการศึกษาชี้ประเด็นตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ ตามนโยบายปฏิรูปการศึกษารอบสอง หลังมีกระแสค้านจัดตั้ง เลขาธิการสภาการศึกษายืนยัน ไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่ ขณะที่เลขาธิการคุรุสภาไม่เห็นด้วยกับการตั้งสถาบันฯ ชี้ครูตกต่ำเพราะการศึกษาผูกกับการเมืองมายาวนาน
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดเวทีเสวนา เรื่อง “สถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติกับการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง” โดยเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหรือมีความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ ตามนโยบายหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษารอบสอง ทั้งในแง่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาร่วมกันพูดคุยถึงสิ่งที่ยังเห็นไม่ตรงกัน เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและข้อสรุปเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เพื่อตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป
รศ.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา บรรยายพิเศษเปิดเวทีเสวนาว่า ในปัจจุบันกลไกการผลิตครูอาจารย์เกี่ยวข้องกับหลายองค์กร ซึ่งต่างก็มีอำนาจหน้าที่ในแต่ละส่วน เกี่ยวข้องกันแต่ไม่ซ้ำซ้อนกัน โดยคุรุสภามีอำนาจออกใบมาตรฐานวิชาชีพให้กับครู ขณะที่สภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งก็มีอำนาจในการอนุมัติปริญญาให้กับผู้เรียนครู โดยคณะกรรมการการอุดมศึกษาจะทำหน้าที่เสนอให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนประเมินรับรองกรณีทำงานกับราชการ ขณะเดียวกันสำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ก็ทำหน้าที่ประเมินคุณภาพสถาบันแต่ไม่มีผลผูกมัดทางกฎหมาย ซึ่งในอนาคตจะเกิดความกังวลเรื่องคุณภาพ ทั้งนี้ ยืนยันว่า หน้าที่ของสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ ไม่ทับซ้อนกับหน่วยงานปัจจุบันแต่จะมาเสริมหรือมาช่วย และไม่ได้มาแข่งขันการผลิตครู โดยเฉพาะการรับรองมาตรฐานสถาบันผลิตครู ผลิตพัฒนาครูของครู และวิจัยพัฒนาระบบมาตรฐานการสร้างครู
รศ.สมบัติ นพรัก ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันไม่มีหน่วยงานที่ดูแลการผลิตและพัฒนาครูโดยตรงในระดับกรมและสถาบัน เช่น กรมการฝึกหัดครู ในอดีต ขณะที่ศักยภาพการผลิตครูอ่อนแอลง เพราะการเกษียณอายุและย้ายอาจารย์ไปจัดตั้งคณะใหม่ จำนวนบุคลากรน้อยลง ใน 10 ปีข้างหน้า จะมีครูของครูเกษียณร้อยละ 32 สพฐ.ต้องการครูมาทดแทนร้อยละ 48 ในขณะที่ครูจะเกษียณนับแสนคน หน่วยงานใดจะเป็นคนรับผิดชอบผลิตครูมาทดแทน ทั้งนี้ ไม่เห็นด้วยถ้าตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติมาแข่งกับ 100 คณะหน่วยงาน รัฐ 69 แห่ง เอกชน 31 แห่ง ที่ทำอยู่แล้ว หรือมากำกับมาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพซ้ำซ้อนกับคุรุสภา แต่จะเห็นด้วยถ้ามาทำหน้าที่พัฒนาทางวิชาการกับครู ส่งเสริมมาตรฐานสถาบันผลิตครู และเป็นเจ้าภาพแก้ปัญหาครูทั้งหมด
ศ.กิตติคุณ สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ รักษาการผู้อำนวยการ สมศ.กล่าวยืนยันว่า สถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติจะไม่ทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่อย่างแน่นอน สาเหตุที่ไม่เป็นส่วนราชการ แต่เป็นหน่วยงานในกำกับรัฐมนตรี เพราะต้องการความเป็นอิสระ โดยเฉพาะใน 10 ปีข้างหน้า คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาจะเป็นข้าราชการน้อยลงมาก การตั้งเป็นส่วนราชการจึงไม่มีประโยชน์ ทั้งนี้จะมาทำภารกิจสำคัญในการปฏิรูปการศึกษารอบแรกที่ยังไม่มีหน่วยงานใดทำ ได้แก่ การพัฒนาครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง ประกันคุณภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการตั้งกองทุนพัฒนาครู และกองทุนส่งเสริมครูที่ริเริ่มสร้างสรรค์ รวมทั้งการรวบรวมองค์ความรู้จากท้องถิ่น
นายองค์กร อมรสิรินันท์ เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ ไม่ใช่เพราะซ้ำซ้อนหรือไม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้งบประมาณจัดตั้งสถาบันฯ ที่จะทำให้เกิดความไม่เห็นด้วยกัน ทั้งนี้ ไม่เห็นด้วยกับการโยนความผิดให้ครู ทำให้ครูเสียกำลังใจ เพราะที่ผ่านมานำการศึกษาไปผูกกับการเมืองจนทำให้การปฏิรูปไม่สำเร็จครบถ้วน และทำให้วิชาชีพครูตกต่ำมาโดยตลอด ดังนั้น จึงไม่ต้องการให้การปฏิรูปยึดติดกับการเมือง ไม่ต้องการให้เอากฎหมายมาเป็นเครื่องมือเพราะปรับแก้ไขยาก ที่สำคัญคือยังมีบรรยากาศแตกแยกของคนในวงการศึกษา ซึ่งจะทำให้การปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จ
รศ.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าวว่า อำนาจของสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ มีความซ้ำซ้อน ทำในสิ่งที่ไม่จำเป็น เป็นเหมือนมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่ง ตั้งขึ้นมากำหนดรับรองมาตรฐานมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกทั้งยังมีอัตรารองรับหลังสำเร็จการศึกษา เท่ากับเป็นการทำลายครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ของสถาบันอื่นๆ ทั้งนี้ การสร้างครูควรเปิดกว้างให้มีความหลากหลายเพื่อให้เหมาะสมกับการสร้างคนหลากกลุ่ม ที่ผ่านมาคนราชภัฏรู้สึกว่าเวลาจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่เคยถาม แต่เมื่อผลิตครูไม่ได้ดีกลับมาโทษราชภัฏ เช่นเคยให้เปลี่ยนจากเน้นวิชาการเติมความเป็นครู มาเป็นเน้นความเป็นครูแต่เติมวิชาการ จนทำให้ครูมีฐานความรู้ไม่แน่น และกลุ่มราชภัฏก็ตกเป็นฝ่ายผิด
รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ยอมรับว่ามีปัญหาในวงการศึกษาและการผลิตครู แต่ไม่ควรตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมา ซึ่งไม่สามารถไปกำหนดควบคุมองค์กรคุรุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ของสถาบันอยู่แล้ว แต่ควรร่วมกันแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ ในขณะที่ไทยมีสถาบันอุดมศึกษามากเกินพอ ไม่ควรใช้งบประมาณมาตั้งสถาบันใหม่อีก ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า แนวความคิดนี้มาจากการล็อบบี้นักการเมืองหรือไม่ ซึ่งการทำงานควรเป็นการมีส่วนร่วมทุกฝ่าย ไม่ควรจะนำการเมืองมาบีบ
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการวางแผนผลิตและพัฒนาครู กล่าวว่า ตั้งแต่ได้เข้ามาศึกษาสถานะการสร้างครูในประเทศไทย ทำให้พบว่ายังไม่มีหน่วยงานใดทำหรือสามารถทำหน้าที่ของสถาบันคุรุศึกษาฯ ได้ แม้แต่คุรุสภาก็ยังไม่เคยเห็นว่าจะทำได้ แม้แต่เรื่องจริยธรรม ล่าสุดมีข่าวครูค้าประเวณีก็ไม่มีคุรุสภาออกมาพูดถึงหรือควบคุมเรื่องนี้แต่อย่างใด ดังนั้น คุรุสภาทำหน้าที่ตามกฎหมายเรื่องการดูแลความประพฤติครูให้ดีเด่น ก็จะเป็นประโยชน์มากที่สุดแล้ว